เขาเป็นคนนอกล่ำซำคนเดียวที่มีอำนาจมากที่สุดในแบงก์ กล่าวกันว่า เบื้องหลังความสำเร็จของเขาอยู่ที่การเป็นนักบุกเบิกสินเชื่อใหม่
ๆ ที่มีผลในแง่ความผิดพลาดน้อยครั้งมาก บวกกับบุคลิกส่วนตัวที่ไม่เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานเกินขอบเขต
เส้นทางชีวิตในอาชีพจะยังคงยืนเคียงข้างไปกับพวกคนในล่ำซำต่อไป ในฐานะนักสร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจในเครือข่ายของตระกูลล่ำซำ…
คนระดับคณะกรรมการการจัดการชั้นสูงสุดในแบงก์กสิกรไทย นอกเหนือจากชนะ รุ่งแสง
ยศชั้น EXECUTIVE VICE PRESIDENT ณรงค์นี่แหละที่มีตำแหน่ง, ยศชั้นสูงที่สุดที่คนในตระกูลล่ำซำให้ความเชื่อถือและเกรงอกเกรงใจ
จนมีบางคนให้ข้อสังเกตถึงฐานะภาพของณรงค์ ที่มีถึงวันนี้ว่าเป็นเพราะณรงค์เป็นคนมีทั้งความสามารถและบารมีที่สามารถประสานบุคลิกภาพส่วนตัวที่สุขุมเยือกเย็นไม่ทะเยอทะยานจนเลยขอบเขต
เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในตระกูลล่ำซำได้อย่างกลมกลืน
เมื่อล่ำซำก็คือแบงก์กสิกรไทย หรือแบงก์กสิกรไทยก็คือล่ำซำ…!!! จึงไม่แปลกที่คนอย่างณรงค์ที่มีทั้งความสามารถและบารมีอีกทั้งไม่มีความทะเยอทะยานเกินขอบเขต
จะมีฐานะภาพในอำนาจในแบงก์กสิกรไทยที่สืบเนื่องในการเติบโตจนยืนยาวมาถึงวันนี้ได้คือ
เขาเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดอันดับ 3 รองจากบัญชาและบรรยงค์ ล่ำซำเท่านั้น
แต่เขา…ณรงค์ ศรีสอ้าน คือคนนอกล่ำซำที่มีอำนาจสูงสุดอันดับ 1 ที่บรรดาลูกค้าทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับ
VICE PRESIDENT ของแบงก์ต่างประเทศทั่วโลกรู้จักมากที่สุด นับตั้งแต่ใช้ชีวิตการทำงานในแบงก์แห่งนี้มานานถึง
33 ปี เดินทางมาแล้วทั่วโลก 40 ประเทศ จนวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ
ที่อดีตเคยเป็นลูกน้องทำงานใกล้ชิดกับณรงค์มาตั้งแต่สมัยทำงานอยู่แบงก์กสิกรไทย
สังกัดฝ่ายการธนาคารต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อน ปรารภให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า "คุณณรงค์เวลาเดินทางไปต่างประเทศจะมีบุคคลทั้งพ่อค้าและนายแบงก์ที่แกรู้จักอยู่เต็มไปหมดทุกเมืองที่แวะ"
การชอบเดินทางของณรงค์และการเป็นคนที่รู้จักบุคคลต่าง ๆ มาก โดยเนื้อแท้แล้วคือกลวิธีที่นำมาให้ณรงค์ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงานในฐานะเป็นแบงเกอร์ได้มีประสิทธิภาพมาก
ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะณรงค์ตระหนักกับตัวเองอยู่เสมอว่า มีพื้นฐานการศึกษาไม่มากนัก
เพียงแค่เตรียมจุฬาและได้มีโอกาสไปเรียนและฝึกอบรมด้านการธนาคารต่างประเทศหรือ
INTERNATIONAL BANKING BUSINESS ที่ STANDARD CHARTER BANK กรุงลอนดอน 2
ปีเท่านั้นก็เป็นได้
อย่างไรก็ดีสำหรับชีวิตในลอนดอน 2 ปีของณรงค์ กล่าวกันว่าเป็นจุดหักเหสำคัญที่สุดของชีวิต
กล่าวคือ หนึ่ง-ณรงค์ได้รับความรู้ธุรกิจธนาคารต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีจินตนาการใฝ่ฝันมานานจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานมานานก่อนหน้านี้
5 ปี ที่หอการค้าไทย (2490-2495) ซึ่งทำให้ณรงค์มีความรู้ในการทำธุรกิจการค้าส่งออกและนำเข้าจากพ่อค้านักธุรกิจสมัยนั้น
สอง-ณรงค์ได้รู้จักบรรยงค์ ล่ำซำ เป็นครั้งแรกและรับรู้ว่าบรรยงค์ก็คือหลานชายแท้
ๆ ของจุลินทร์ ล่ำซำ ซึ่งเป็นทั้งนายเก่าของณรงค์ช่วงที่ทำงานอยู่หอการค้าไทย
และเพื่อนสนิทของ สง่า วรรณดิษฐ์ ที่เป็นลูกคนน้องปู่ณรงค์ ที่ณรงค์ให้ความเคารพในฐานะเป็นปู่นั้นเอง
ความจริงแล้ว พื้นฐานชีวิตส่วนตัวของณรงค์ ในถิ่นกำเนิดที่ท่าสะอ้าน อ.
บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา ไม่ใช่หรูหราอะไรนักหนาเหมือนพวกล่ำซำ พ่อของณรงค์ที่ชื่อนิพนธ์
(สกุลแซ่กิม) หรือ "เฮียอึ่น" ที่คนในละแวกนั้นเรียกขานกันอย่างคุ้นเคย
และแม่ที่ชื่อแม้น ซึ่งได้รับการกล่าวขานในเชิงยกย่องว่าเป็นคนพูดจาอ่อนหวานมาก
บุพการีทั้ง 2 ท่านของณรงค์ก็ไม่ได้ทำมาหากินอะไรที่ใหญ่โต มีที่นาเพาะปลูกข้าวบ้างเล็กน้อย
ค้าขายพืชไร่บ้างนิดหน่อย ขณะเดียวกันก็ขายกาแฟควบคู่กันไปด้วย ฐานะในอาชีพอยู่ในขั้นปานกลางที่ใช้ความขยันหมั่นเพียร
เป็นพลังปรุงแต่งฐานะของครอบครัว จนลักษณะวิถีชีวิตของบุพการีเช่นนี้เองที่ถ่ายทอดมาสู่ณรงค์
ในฐานะลูกชายคนโตอย่างลึกซึ้ง
ด้วยเหตุนี้การที่ลูกบ้านนอกคนหนึ่ง ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตและศึกษาการทำธนาคารในลอนดอน จึงเป็นช่วงชีวิตและโอกาสที่หาได้ยากนักสำหรับคนทั่วไปที่มีพื้นฐานไม่ร่ำรวยอะไรอย่าง ณรงค์
ศรีสอ้าน
"ผมเป็นหนี้บุญคุณสง่า วรรณดิษฐ์ ที่มีศักดิ์เป็นปู่ผมอย่างมาก ท่านให้การสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผมไปฝึกและเรียนรู้การทำธุรกิจธนาคารต่างประเทศที่ลอนดอน"
ณรงค์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงที่มาของจุดหักเหในชีวิต
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับณรงค์เล่าให้ฟังว่า สง่า วรรณดิษฐ์ คือเจ้าของบริษัทก่อสร้างและค้าไม้ที่ใหญ่มากชื่อ
บริษัท ศรีสง่าพาณิชย์ จำกัด ในสมัยก่อนและหลังสงครามเล็กน้อย บริษัทของสง่าจัดว่าอยู่ในเกรด
TOP-FIVE ด้านธุรกิจก่อสร้างของประเทศ เทียบเท่าบริษัทคริสเตียนนี่แอนด์เนลสัน
บริษัทก่อสร้างชาติเดนมาร์กรายแรกที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยเลยทีเดียว "ตึกห้องแถวริมถนนราชดำเนินกลาง
ส่วนใหญ่บริษัทของสง่าเป็นผู้สร้างทั้งนั้น" แหล่งข่าวเน้น
ที่ณรงค์เข้าไปผูกพันกับสง่าในสมัยก่อนไปอังกฤษ ก็เชื่อมผ่านมาจากคุณอาของณรงค์ที่ในสมัยนั้น
(ช่วงระหว่างปี 2489-2495) นั่งทำงานเป็นเสมียนอาวุโสกับสง่า ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวของสง่าเป็นคนใจกว้าง
โอบอ้อมอารี และชอบช่วยเหลือเด็กที่ขยันขันแข็ง เมื่อสง่าพบกับณรงค์จึงรู้สึกประทับใจ
ขณะเดียวกันณรงค์เองก็มีฐานะเป็นเลขาคู่ใจของจุลินทร์ ล่ำซำ ที่หอการค้าไทยด้วย
ณรงค์จึงโชคดีที่ได้แรงหนุนหลายทางให้ชะตาชีวิตของเขาถูกผลักดันไปข้างหน้าอย่างชนิดที่น้อยคนนักที่มีภูมิหลังอย่างเขาจะมีโอกาส
เมื่อณรงค์กลับจากลอนดอนพร้อมความรู้เต็มเปี่ยมด้านธุรกิจธนาคารต่างประเทศ
ไฟอยากเป็นแบงเกอร์พวยพุ่งอย่างขีดสุดอย่างไม่มีอะไรมาดับมอด จุลินทร์ ล่ำซำ
นายเก่าของเขา จึงชวนมาทำงานที่แบงก์กสิกรไทยทันทีเมื่อปี 2497 ณรงค์จับงานแบงก์ที่เขาใฝ่ฝันมานานแล้วด้านการธนาคารต่างประเทศทันที
ในสมัยนั้นแบงก์กสิกรไทยเพิ่งตั้งมาได้เพียง 9 ปีเท่านั้น เกษม ล่ำซำ น้องชายของ โชติ
ล่ำซำ พ่อของบัญชา ล่ำซำ เป็นประธานแบงก์สืบต่อจากพี่ชายของเขาซึ่งเสียชีวิตลงหลังก่อตั้งแบงก์ได้เพียง
3 ปี
ช่วงที่ณรงค์เริ่มเข้ามาทำงานในแบงก์กสิกรไทย สาขาของธนาคารมีอยู่เพียง
30 กว่าสาขาเท่านั้น เงินทุนจดทะเบียนมีอยู่ประมาณ 10 ล้านบาท มีเงินฝากประมาณ
200 กว่าล้านบาท
กล่าวกันว่า จุดสตาร์ทของณรงค์ในแบงก์คือเจ้าหน้าที่ด้าน EXPORT-IMPORT
FINANCING ซึ่งเขาได้ใช้วิทยายุทธจากสำนัก STANDARD CHARTER BANK ลอนดอนที่ได้ฝึกปรือมาอย่างเต็มที่ในการให้บริการลูกค้า
"ผมเห็นณรงค์บ่อย ๆ เขามาที่แบงก์ชาติเพื่อขออนุญาตให้แบงก์ชาติทำ
EXCHANGE CONTROL ให้ลูกค้า" ประสิทธิ์ ณ พัทลุง อดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติวัย
75 ปี ย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
งานด้าน EXPORT-IMPORT FINANCING ที่ณรงค์ทำในสมัยนั้น ส่วนใหญ่สินค้าที่ค้าขายกับต่างประเทศของลูกค้าแบงก์เป็นพวกสินค้าเกษตรหลัก
เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ไม้สัก ซึ่งณรงค์มีความสันทัดอยู่แล้วตั้งแต่สมัยทำงานอยู่หอการค้าไทย
จึงทราบดีว่าขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการทางการค้าสินค้าเหล่านี้เป็นเช่นไร
อีกประการหนึ่งณรงค์รู้จักพ่อค้าส่งออก-นำเข้าหลายคน จึงไม่ยากนักที่ณรงค์จะอาศัยความรู้จักมักคุ้นชักชวนให้มาใช้บริการกับแบงก์
กล่าวกันว่า งานบริหารธุรกิจ EXPORT-IMPORT FINANCING ของแบงก์กสิกรไทยสมัยนั้นขยายตัวไปมาก
สามารถ SHARE OF MARKET ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารกรุงเทพและศรีนครซึ่งเป็นเจ้ายุทธจักรอยู่ในสมัยนั้นได้พอสมควร
จนแหล่งเงินทุนในธนาคารที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เงิน
ณรงค์จึงเสนอให้ผู้ใหญ่ของแบงก์สมัยนั้นใช้วิธีดึงเงินทุนจากแบงก์ในต่างประเทศที่ธนาคารมี
CREDIT LINE อยู่มาเปลี่ยนอีกต่อหนึ่ง "สมัยนั้นฐานสาขาของแบงก์ยังเล็ก
เงินทุนจดทะเบียนก็ไม่มาก เงินฝากก็ไม่กี่ร้อยล้านบาท ที่สำคัญแบงก์ชาติสมัยนั้นยังไม่มีระบบบริการเงิน
REPURCHASE ขณะที่ตลาดต้องการใช้เงินมาก" ณรงค์ย้อนความหลังให้ "ผู้จัดการ"
ฟังถึงเหตุผลที่แบงก์กสิกรโดย "เขา" ต้องวิ่งเต้นหาเงินจากต่างประเทศเป็นช่องทางแหล่งระดมเงินทุนมาเปลี่ยนให้ลูกค้าในประเทศอีกต่อหนึ่ง
ขณะเดียวกันด้วยความที่ณรงค์เป็นคนชอบเดินทางในทุกหนทุกแห่งเพื่อเก็บข้อมูลวิธีการทำมาหากินของคนในที่ต่าง
ๆ ผู้ใหญ่ในแบงก์จึงให้เขาทำหน้าที่ด้านสินเชื่อในประเทศด้วย ณรงค์บุกไปทุกแห่งในชนบทต่างจังหวัด
เพื่อแสวงหาลู่ทางใหม่ ๆ ในการอำนวยสินเชื่อ ผลพวงประการหนึ่งจากการเป็นคนที่ชอบเดินทางและมีคนรู้จักมาก
ณรงค์เป็นคนแรกในวงการแบงเกอร์เมืองไทยสมัยนั้นที่เปิดบริการสินเชื่อ STOCK
FINANCING ให้กับพ่อค้าพืชผลเกษตร
"ตอนนั้นผมเห็นว่าสินค้าในโกดังน่าจะเป็นหลักทรัพย์ที่ดีอันหนึ่งที่น่าจะมาค้ำประกันสินเชื่อโดยแบงก์แทบจะไม่มีความเสี่ยงเพราะเป็น
SHORT TERM FINANCE ซึ่งผู้ใหญ่ก็เห็นด้วย ปรากฏว่ามีพ่อค้ามาใช้บริการกันมาก"
ณรงค์เล่า
ว่ากันว่าแนวคิด STOCK FINANCING ของณรงค์ชิ้นนี้ ณรงค์ได้ไอเดียมาจากเพื่อนชาวสิงคโปร์คนหนึ่งที่เป็นแบงเกอร์ของ
OVERSEA BANK OF UNION (OBU) ของสิงคโปร์ชื่อ มร. ออยัง ปัจจุบันอายุเกือบ
90 ปีแล้ว เคยเป็นท่านทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยมาก่อน
บทบาทในหน้าที่การงานของณรงค์ส่อแววอนาคตการเป็นแบงเกอร์ดาวรุ่งในแบงก์กสิกรไทย
ในฐานะคนนอกตระกูลล่ำซำได้แจ่มชัดมาก ควบคู่ไปกับการขยายตัวในทุกด้านของแบงก์กสิกรไทยในปลายยุคเกษม
ล่ำซำ เมื่อต้นทศวรรษที่ 60 กล่าวคือฐานะของแบงก์ที่มีสาขากระจายไปทั่วประเทศ
42 สาขา เงินทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เงินฝากเกือบ 800 ล้านบาท มีขนาดของเงินฝากอยู่ในอันดับ
7 ของระบบธนาคารสมัยนั้น
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เกษม ล่ำซำ ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิตในปี
2506 เสียก่อน กระนั้นก็ตามตระกูลล่ำซำก็ยังไม่สิ้นคนดีคนเก่งมีความสามารถที่จะนำพาแบงก์ให้เจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไป
เมื่อบัญชา ล่ำซำ ลูกชายคนโตของโชติ ล่ำซำ และหลานชายของเกษม ล่ำซำ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ในฐานะประธานฯ
และกรรมการผู้จัดการใหญ่สืบแทนอาเมื่อปี 2506 ขณะเดียวกันกับที่บรรยงค์ ล่ำซำ
น้องชายของบัญชา ยังคงทำงานมีบทบาทเคียงคู่กับณรงค์ในสายงานธุรกิจการธนาคารต่างประเทศและสินเชื่อในประเทศ
ในระดับยศชั้นสูงกว่าคือกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ขณะที่ณรงค์มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นอาวุโส
แบงก์กสิกรไทยยุคสมัยบัญชา ล่ำซำ กล่าวกันว่า เป็นยุคการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของแบงก์อย่างมีระบบและแบบแผน พร้อมรองรับกับโครงสร้างการบริหารที่ทันสมัย สนองตอบอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงสินค้าเกษตรหลักเพียงไม่กี่ชนิดค่อย
ๆ แปรเปลี่ยนไปสู่ทิศทางระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตทางอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าและส่งออกเป็นลำดับ
การลงทุนทางอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นปฐม เริ่มวางหน่อและออกดอกผลในต่างจังหวัดมากขึ้น
พร้อม ๆ กับแบงก์กสิกรไทยก็เริ่มทะยานออกสู่ต่างจังหวัดในรูปการเปิดสาขา
เพื่อรองรับการอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ระบบการผลิตทางอุตสาหกรรมเกษตรเป็นจุดหนัก
กล่าวกันว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้คือยุคเศรษฐกิจใหม่ของไทย…และเช่นกันก็คือยุคใหม่ของแบงก์กสิกรไทยด้วย!!
ณรงค์ในยุคสมัยบัญชา บุกเบิกลู่ทางสินเชื่อเกษตรในลักษณะ PROJECT LOAN
อย่างหนัก เขาตระเวนไปทั่วทุกแหล่งผลิตในชนบทอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาเก็บข้อมูลความเป็นไปได้ในการแสวงหาลู่ทางอำนวยสินเชื่ออุตสาหกรรมเกษตรใหม่
ๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย
เหตุเพราะณรงค์ตระหนักดีว่า จากประสบการณ์ความรู้ที่เขาได้รับจากการคลี่คลายขยายตัวการทำธุรกิจอำนวยสินเชื่อของแบงก์ในอังกฤษและญี่ปุ่นที่มักจะเริ่มต้นที่แหล่งการค้าแล้วค่อย
ๆ ปรับมาที่แหล่งอุตสาหกรรม และแหล่งทางเกษตรเป็นลำดับ ซึ่งในเมืองไทมยก็ไม่มีอะไรน่าจะแตกต่างกันในทิศทางการทำธุรกิจสินเชื่อของแบงก์กสิกรไทย
"ผมไปเห็นที่อังกฤษและญี่ปุ่น เริ่มต้นทำแบงก์เขาก็เน้นด้านการค้ามาก่อนแล้วมาจับสินเชื่ออุตสาหกรรมและเกษตรตามลำดับ
ทิศทางการทำธุรกิจสินเชื่อมันเป็นแบบนี้เสมอ" ณรงค์กล่าว
ปี 2510 ณรงค์ได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารต่างประเทศยศชั้น
VICE PRESIDENT เมื่ออายุได้เพียง 39 ปี หรือหลังจากทำงานกับแบงก์มาได้เพียง
13 ปีเท่านั้น การเติบโตในยหน้าที่การงานของณรงค์ครั้งนี้ไม่มีใครปฏิเสธเลยว่าเขาคือคนนอกล่ำซำคนเดียวที่ก้าวมาเร็วมาก
ด้วยผลงานจากลำแข้งและความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเสมอต้นเสมอปลายของตัวเอง
ในฐานะเจ้าหน้าที่ยศชั้น VICE PRESIDENT ของแบงก์ ณรงค์ได้รับบัญชาจากกรรมการผู้จัดการใหญ่
บัญชา ล่ำซำ ที่มองการณ์ไกลเหมือน ชิน โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพว่า ถึงเวลาแล้วที่แบงก์กสิกรไทยจะต้องเปิดประตูตัวเองทะยานสู่แหล่งทำมาหากินในดินแดนต่างประเทศ
และคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวดำเนินงานก็มีณรงค์ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญนี้ที่จะบุกเบกเปิดสาขาต่างประเทศที่มองไว้คือมหานครลอนดอนให้ได้
ณรงค์ทำได้สำเร็จในปี 2518 และเดินทางไปต่างประเทศถี่ขึ้นว่ากันว่าเฉลี่ยปีละ
3-4 เดือน ที่เขาใช้ชีวิตในต่างประเทศเพื่อสร้าง CONNECTION กับพวกแบงเกอร์ในต่างประเทศ
อีก 3 ปีต่อมา สาขาในนิวยอร์ก ฮัมบูร์ก ฮ่องกงและลอสแองเจลิส ก็เกิดขึ้นตามมา
บรรลุเป้าหมายทางนโยบายของแบงก์ที่กำหนดได้ว่า สาขาของแบงก์ในต่างประเทศจะต้องมีอยู่ในศูนย์กลางทางการเงินของโลกให้ได้ก่อนปี
2523
การเปิดสาขาในต่างประเทศ ณ ศูนย์กลางทางการเงินของโลก เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจด้านธนาคารต่างประเทศของแบงก์กสิกรไทยมาก
ส่วนใหญ่จะมีบทบาทเป็นกลไกในการระดมทุนจากต่างประเทศมาให้สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ
มากกว่าการมุ่งอำนวยสินเชื่อเพื่อสร้าง PROFIT ABILITY ซึ่งทิศทางเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากสาขาของธนาคารกรุงเทพ
ไทยพาณิชย์ที่เปิดสาขาในต่างประเทศแต่อย่างใด
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลังวิกฤติการณ์น้ำมันเมื่อปี 2517 อยู่ในอัตราสูงมากถึงเฉลี่ยปีละ
7% ขณะที่การเติบโตของระบบธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยเฉลี่ยปีละ 20% กันส่วนใหญ่
แต่ด้วยกลไกการระดมทุนจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4-5% ต่อปี
เพื่อนำมาปล่อยให้ลูกค้าในลักษณะ PROFIT LOAN ที่มีความต้องการใช้เงินจำนวนมากนับ
100 ล้านบาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเฉลี่ย 10-11% ต่อปี นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างผลกำไรให้แบงก์อย่างมาก
ณรงค์เล่าให้ฟังว่า หลังจากมีวิกฤติการณ์น้ำมัน 2517 ไม่นานนักจำไม่ได้ชัดว่าปีไหน
แบงก์กสิกรไทยมีอัตราการเติบโตทุกด้านโดยเฉลี่ยสูงถึง 40 กว่าเปอร์เซนต์
สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งระบบถึง 1 เท่าตัว
หลังจากณรงค์ ใช้ชีวิตบุกเบิกเขตงานต่างประเทศตามนโยบายของบัญชา ล่ำซำ
อย่างต่อเนื่องจนเป็นผลสำเร็จนั้น ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับจากบัญชามากขึ้นเรื่อย
ๆ เจ้าหน้าที่ยศชั้น VICE PRESIDENT ที่ณรงค์ได้รับสำหรับ "เขา"
แล้วถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เด็กบ้านนอกอย่างเขาจะพบกับความสำเร็จ
"ชั้นสูง" ในหน้าที่การงานเช่นนี้
ณรงค์เล่าให้ฟังว่า ความสำเร็จระดับหนึ่งในหน้าที่นี้ถึงกับเป็นตัวแปรชี้ขาดให้เขาล้มเลิกแผนการมีชีวิตที่วางไว้เป็นขั้นตอนที่จะเป็น
"เถ้าแก่" ให้ได้ลงสิ้นเชิง
"ตอนสมัยผมเป็นเด็กเริ่มหนุ่ม ผมวางแผนในชีวิตว่า เมื่อผมอายุ 20-30
ปี ผมจะสร้างงานให้กับตัวเอง อายุ 30-40 ปี จะสร้างเนื้อสร้างตัวให้ครอบครัวและพออายุถึง
40-50 ปี ผมจะต้องเป็นเถ้าแก่ให้ได้" ณรงค์เล่า
แน่นอน ณรงค์ได้ประเมินแล้ว สิ่งที่เขาได้รับผลตอบแทนในหน้าที่ที่ทุ่มเทให้แบงก์มันมีมากกว่าการที่เขาจะออกไปเสี่ยง
บินเดี่ยวในยุทธจักรธุรกิจข้างนอกแต่เพียงลำพัง เพราะถ้าหากมันล้มเหลวแล้วจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวณรงค์อย่างมาก
ซึ่งณรงค์ไม่กล้าเสี่ยงในลักษณะเช่นนี้แน่นอน
"เขากลัวมากในสิ่งนี้ ด้วยอาจเป็นเพราะเคยร่วมลงทุนทำสวนกับคุณอาที่ต่างจังหวัด
(อ. บางปะกง) แล้วไม่ประสบความสำเร็จจนต้องขายทิ้งไปให้เพื่อนสนิท (เดี๋ยวนี้เสียชีวิตแล้ว)
ในท้ายที่สุด" แหล่งข่าวเล่าย้อนอดีตถึงความผิดพลาดครั้งหนึ่งของณรงค์ให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ณรงค์ก้าวต่อไปในอาชีพแบงเกอร์กสิกรไทย เขาจับงานด้านธุรกิจธนาคารต่างประเทศสลับกับลุยงานสินเชื่อในประเทศในลักษณะ
PROJECT LOAN ปี 2521 เขาได้รับโปรโมทเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และบัญชา ล่ำซำเป็นประธานบริหาร
แต่ก่อนหน้านี้ 5 ปีคือปี 2516 ณรงค์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแบงก์ด้วยอยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งกล่าวกันว่า เขาดีใจมากที่สุดในชีวิต
ในช่วงนี้ ฐานะการประกอบการของแบงก์ขยายตัวเร็วมาก ปริมาณเงินฝากและสินเชื่อพุ่งสูงระดับหลักหมื่นล้านบาทแล้ว
PROJECT LOAN ในหลายสาขาธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ น้ำตาล โรงสีข้าว
ผักและผลไม้กระป๋อง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นกลางของประเทศปรากฏขึ้นอย่างมากมายที่ผลิตเพื่อส่งออกและตอบสนองความต้องการภายในประเทศ
กล่าวกันว่า ธุรกิจผักและผลไม้กระป๋องของบริษัทอาหารสยาม ซึ่งจัดว่าเป็นยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้
ณรงค์เป็นคนบุกเบิกให้ทั้งด้านการผลิตและการตลาดส่งออกในฐานะเป็นแบงเกอร์ที่กว้างขวางและรู้จักตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศที่ดีที่สุดคนหนึ่ง
จนกล่าวได้ว่าความสำเร็จและยิ่งใหญ่ของบริษัทอาหารสยามในทุกวันนี้ชนิดที่นาม
พูนวัตถุ ประธานกรรมการเพื่อนซี้ณรงค์สมัยเป็นนักเรียนที่เตรียมจุฬา และวิวัฒน์
จรัญวาสน์ กรรมการผู้จัดการ จะต้องรำลึกถึงหนี้บุญคุณของณรงค์ไปตลอด
"บริษัทนี้ ณรงค์ช่วยบุกเบิกมากตั้งแต่มีไร่สับปะรดไม่กี่พันไร่จนขยายไปถึง
20,000 ไร่ ณรงค์เป็นคนบุกเข้าไปดูและให้คำแนะนำในการขยายพื้นที่เพาะปลูกถึงไร่เลยทีเดียว
ขนาดไปกินนอนที่ไร่ก็หลายครั้ง" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม สัจจะของมนุษย์ที่ตราไว้เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ว่าไม่มีใครเลยที่สมบูรณ์ถูกต้องไม่เคยผิดพลาดเลย
100% คนอย่างณรงค์ก็เช่นกันไม่อาจหลีกพ้นกฎธรรมชาติอันเป็นสัจจะนี้ไปได้
เพียงแต่ว่าเขาได้มากกว่าพลาดนั่นเอง
กรณีการขยายสินเชื่อแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลสิงห์บุรีเป็นตัวอย่างหนึ่งที่อาจชี้ได้ว่า
เป็นความพลาดของณรงค์ (ความจริงก็รวมถึงคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อบอร์ด 1
ของแบงก์ด้วย) บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลสิงห์บุรีเป็นหนึ่งในเครือข่ายของกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่งที่วิบูลย์
ผานิตวงศ์ เป็นตั้วโผใหญ่ปี 2526 กลุ่มบ้านโป่งกำลังห้าวสุดขีด หลังจากขยายเครือข่ายในธุรกิจน้ำตาลด้วยวิธีการเข้าซื้อกิจการจากกลุ่มไทยรุ่งเรืองคือโรงงานน้ำตาลกรุงไทยและร่วมกำลาภู
ที่ภายหลังวิบูลย์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโรงงานน้ำตาลเกษตรผลและเกษตรไทยตามลำดับ----ได้เข้าซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลมหาคุณของกลุ่มเตชะไพบูลย์และมหาคุณซึ่งขายให้แก่วิบูลย์ไปด้วยเหตุผลว่ากันว่าเพื่อนำรายได้จากทรัพย์สินนี้ไปต่อสู้กับกลุ่มของเถลิง
เหล่าจินดา (สุราทิพย์) ในการประมูลเหล้า 12 จังหวัดของกรมสรรพสามิต ขณะที่วิบูลย์เองก็ประมาณการด้วยความมั่นใจว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปี
2527/28 จะต้องสูงอย่างแน่นอน…เตรียมฟันกำไรเต็มที่!
โรงงานน้ำตาลมหาคุณตอนที่อยู่ในมือกลุ่มเตชะไพบูลย์และมหาคุณนั้นได้เครดิตไลน์บางส่วนจากณรงค์ของแบงก์กสิกรไทยด้วย
(ประมาณ 200 ล้านบาท) เหตุผลอาจเนื่องมาจากว่าณรงค์ทราบดีว่า โรงงานน้ำตาลนี้ผลิตเอา
BY PRODUCT ไปทำโมลาสซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล้า ที่กลุ่มเตชะไพบูลย์และมหาคุณควบคุมการมีกรรมสิทธิ์ในการผลิตและขายสุราอยู่ที่บางยี่ขันยี่ห้อแม่โขง
และอีกส่วนหนึ่งนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายดิบเพื่อส่งออกต่างประเทศ
เรื่องนี้ก่อนหน้าที่ณรงค์จะตัดสินใจให้เครดิตไลน์ไป เขาก็ศึกษาวิเคราะห์ดูถี่ถ้วนแล้ว
ลงทุนขนาดเดินทางไปพบปะพูดคุยศึกษาเก็บข้อมูลเอาจากพ่อค้าน้ำตาลทั้งในรอตเตอร์ดัมและชิคาโกกันเลยทีเดียว
แต่แล้วก็พลาดจนได้ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2520 เป็นต้นมา ปักหัวดิ่งลงหลังผงกหัวขึ้นมาตลอด
2 ปีก่อนหน้านี้ สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้บริหารโรงงานแห่งนี้มาก ประกอบกับเข็มมุ่งที่แท้จริงของกลุ่มเตชะไะบูลย์และมหาคุณในตอนนั้นกำลังคิดจะถอนตัวออกจากธุรกิจนี้
เพื่อรวบรวมกำลังไปช่วงชิงเอาธุรกิจเหล้ามากกว่า
ทั้งณรงค์และกรรมการบอร์ด 1 คนอื่น ๆ ต่างคิดกันหนักกับสถานการณ์น้ำตาลและภาระหนี้สินของลูกค้านี้มาก
และเป็นเหตุผลสำคัญที่ณรงค์และแบงก์กสิกรไทยตั้งแต่นั้นมาเข็ดเขี้ยวต่อการขยายสินเชื่อแก่ธุรกิจนี้อีก!
เมื่อวิบูลย์เข้ามาซื้อกิจการ ณรงค์และผู้ใหญ่ในแบงก์กสิกรไทยก็ไม่ขัดข้องเพราะชื่อเสียงของวิบูลย์ในวงการธุรกิจนี้ทำไว้เป็นที่เชื่อถือมากพอสมควรเมื่อปี
2523 ที่สามารถบริหารธุรกิจน้ำตาลในเครือข่ายของตนจะมีกำไรพอที่จะชำระหนี้แบงก์ได้ไม่ติดขัด
…ว่ากันว่า แม้แต่เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิชแห่งแบงก์กรุงเทพ เจ้าหนี้รายหนึ่งของวิบูลย์
ก็ยังยกนิ้วให้วิบูลย์ว่าเป็นคนเก่งในการขายน้ำตาล…!
ปี 2527/28 ปีเดียวหลังวิบูลย์ซื้อกิจการน้ำตาลมหาคุณ การคาดหวังทั้งสองของณรงค์ในฐานะเจ้าหนี้ชั้น
4 มูลหนี้ประมาณ 180 ล้านบาทและวิบูลย์ต่างผิดพลาดไปอย่างสิ้นเชิง ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปักหัวดิ่งลงเหลือ
2 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ต้นทุนอยู่ในราว ๆ 9-10 เซนต์!
งานนี้วิบูลย์ต้องขายน้ำตาลของเขาจากโรงงานทุกโรงไปในราคาขาดทุนปอนด์ละ
5-8 เซนต์เพื่อหมุนเงินมาชำระหนี้ระยะสั้นที่ไปโอดีมาจากแบงก์
แต่ดอกเบี้ยก็มีมากจนเกินไปกว่าที่วิบูลย์จะรับไว้ทันเสียแล้ว ณรงค์เองในฐานะเจ้าหนี้ก็เข็ดเขี้ยวกับธุรกิจนี่ที่ไม่มีอะไรแน่นอน
ราคาตลาดโลกผันผวนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ราคาอ้อยและต้นทุนปัจจัยการผลิตอื่น
ๆ ก็ไม่เป็นไปตามกลไกการค้าเสรีจริง ๆ มีการต่อรองด้วยอำนาจทางการเมืองอยู่เป็นประจำทุกฤดูกาล
การแก้ปัญหาลูกหนี้โรงน้ำตาลสิงห์บุรีของวิบูลย์ครั้งนี้ แทนที่จะเป็นณรงค์เหมือนดังเคยที่บัญชาและกรรมการท่านอื่น
ๆ เคยใช้ให้เขาเป็นมือปราบแก้ปัญหาหนี้สินลูกค้าหลายแห่ง เช่น มาบุญครองที่ณรงค์เองใช้ความสามารถติดตามหนี้สินมาจากกลุ่มนี้กลับคืนมาได้ไม่ใช่น้อย
หลายสิบล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ตอนมาเปลี่ยน LOANS ให้แก่กลุ่มมาบุญครองในโครงการมาบุญครองเซนเตอร์
ณรงค์ไม่ได้เป็นผู้ร่วมพิจารณาให้เงินกู้ด้วยเลย เพราะเดินทางไปต่างประเทศพอดี…ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นแบงเกอร์รุ่นเด็กกว่าเขาอย่าง
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการการรองผู้จัดการกับภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการ
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแทน
แหล่งข่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า กรณีหนี้สินโรงงานน้ำตาลมหาคุณที่ในภายหลังผ่องถ่ายมาอยู่กับโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรีของกลุ่มบ้านโป่ง
(วิบูลย์ ผานิตวงศ์) จำนวนประมาณ 180 ล้านบาทนี้ เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของแบงก์กสิกรไทยและณรงค์ในการเปลี่ยนสินเชื่อแก่ธุรกิจน้ำตาล
และเป็นจุดที่ทำให้แบงก์กสิกรไทยเข็ดเขี้ยวต่อธุรกิจน้ำตาลตั้งแต่นั้นมา
นักวิเคราะห์ระดับ PH.D. ของสถาบันบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
แบงเกอร์ระดับมืออาชีพนั้นจะพยายามทำงานให้ผิดพลาดน้อยที่สุด ถ้าหากพลาดแล้ว
จะถือเป็นบทเรียนและจะไม่กลับไปหามันอีก ตลอดชีวิตการทำงานจะมุ่งแต่เพียงความสำเร็จของโครงการที่รับผิดชอบเท่านั้น
ณรงค์ ศรีสอ้านในสายตาของนักวิเคราะห์ท่านนี้ก็เช่นกัน เขาให้ความเห็นว่า
ณรงค์เป็นแบงเกอร์มืออาชีพแท้จริงที่คนในตระกูลล่ำซำให้ความนับถือและเกรงใจในความเสียสละ
ทุ่มเทให้กับแบงก์อย่างจริงใจ
"ณรงค์มีความหวังสำหรับอนาคตของเขาเพียงอย่างเดียว คือบุกเบิกโครงการสินเชื่อใหม่
ๆ พร้อมกับความสำเร็จในโครงการ" นักวิเคราะห์ให้ความเห็นถึงจินตภาพแห่งอนาคตของชีวิตของณรงค์ให้
"ผู้จัดการ" ฟัง ซึ่งมีส่วนถูกต้องอย่างมากเพราะณรงค์เองก็กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า อนาคตของเขาในชีวิตการเป็นแบงเกอร์ให้กสิกรไทยจากนี้ไปอีก
6 ปี ถึงจะครบเกษียณอายุ (66 ปี) เขาจะพยายามทำหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจเขาอย่างดีที่สุด
เหตุผลเพราะผู้ใหญ่ในแบงก์ไม่ว่าจะเป็นบัญชาและบรรยงค์ ล่ำซำ เจ้านายของเขา
ปฏิบัติต่อตัวเขาอย่างเพื่อนฝูงมากกว่าเจ้านายทำให้เขาสบายใจและมีความสุขขณะปฏิบัติหน้าที่
"แม้จะมีหลายสถาบันธุรกิจชวนผมให้ไปทำงานด้วยโดยเสนอผลตอบแทนสูง ๆ
ผมก็ไม่ไป" ณรงค์เล่า
ความมั่นคงในสถาบันแบบนี้ของณรงค์ตรงกับข้อเท็จจริงที่ลูกน้องเก่าของเขาหลายคนเคยกล่าวว่า
ณรงค์เป็นมืออาชีพด้านแบงเกอร์แบบไทย ๆ ที่มีฝีมือและจงรักภักดีต่อแบงก์กสิกรไทยมาก
ลูกสาวของณรงค์ที่ชื่อหนุงหนิง หรือนพพร ศรีสอ้าน ก็ทำงานอยู่ที่นี่ด้วย
ลักษณะแบบนี้ต่างกับพวกแบงเกอร์มืออาชีพในสไตล์อเมริกันที่อยู่ในสถาบันการเงินอื่น
ๆ ที่มักจะแสวงหาผลตอบแทนสูงสุดเป็นจุดใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังกัดสถาบัน…
มันเป็นความโชคดีของคนในตระกูลล่ำซำที่เป็นเจ้าของแบงก์กสิกรไทยใช่ไหม?
ที่มีคนอย่างณรงค์ทำงานด้วยในแบงก์มายาวนาน และมีความภักดีสูงเช่นนี้ แม้ว่าเขาจะเคยผิดพลาดมาบ้าง
แต่ผลงานของเขาก็สร้างความสำเร็จให้แบงก์มามากกว่าเสีย มิใช่หรือ!
ตลอดชีวิตของณรงค์ เส้นทางในการสร้างหลักฐานให้ตัวเองและครอบครัวจะไม่มีวันเบี่ยงเบนออกจากเส้นทางของคนในล่ำซำแน่นอน
การมีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในแบงก์แห่งนี้และในธุรกิจอื่น ๆ อีก
6 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบได้-ดูตารางประกอบ) ของณรงค์จะเคียงคู่ไปกับคนในตระกูลล่ำซำทั้งสิ้น
มันเหมือนกับว่าในโลกธุรกิจใบนี้เมื่อมีผลประโยชน์ของคนในล่ำซำอยู่จะต้องเกาะเกี่ยวกับผลประโยชน์ของณรงค์เคียงคู่ไปด้วยเสมอ!
เหตุผลเพราะณรงค์คือคนนอกจากล่ำซำคนเดียวที่คนในล่ำซำได้วิเคราะห์แล้วว่า
เขาคือคนที่ไว้ใจได้ เป็นนักบุกเบิกเหมือน "มร. โคลัมบัส" ที่มีความทะเยอทะยานในขอบเขต
และมีความจงรักภักดีกตเวทิตาคุณนั่นเอง โดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณนี้ ณรงค์ปฏิบัติมาสม่ำเสมอ
แม้กระทั่งงานทอดกฐินเพื่อหาเงินสร้าง ร.ร. ประชาบาล วัดถนนแค จ. ลพบุรี
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพ่อตาของเขามาในอดีต ณรงค์ก็สามารถจัดหาเงินมาสร้าง
ร.ร. ได้ถึง 250,000 บาท หรือแม้กระทั่งวันเสียชีวิตของแม่แม้น ศรีสอ้าน
ณรงค์ก็ได้จัดตั้งกองทุนณรงค์ ศรีสอ้าน จำนวน 3 ทุน ๆ ละ 3,000 บาท ให้กับ
น.ศ. คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และกองทุนแม้น ศรีสอ้านให้กับ น.ศ. เศรษฐศาสตร์
จุฬาฯ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับมารดาของเขา
วันนี้ของณรงค์ เขาคือกรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสยศชั้น SENIOR EXECUTIVE
VICE PRESIDENT ที่ควบคุมบริหารนโยบายสายงานธุรกิจมากถึง 5 สายงานคือ ธนาคารต่างประเทศ
บริหารเงิน พัฒนาธุรกิจ บริหารหนี้สิน และหลักทรัพย์และสำนักกฎหมาย ซึ่งสายงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสายงานที่หารายได้เข้าแบงก์ทั้งสิ้น
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตลูกน้องในสายงานธุรกิจธนาคารต่างประเทศ ปัจจุบัน
กรรมการรองกรรมการผู้จัดการที่ดูแลสายงานด้านวางแผนและวิชาการซึ่งเป็นงานสนับสนุน
ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า ณรงค์มีลูกน้องมากมาย เขามีจุดเด่นในการบริหารงานอยู่
2 จุด คือ หนึ่ง-รู้จักเลือกใช้คนว่าคนไหนเหมาะกับงานประเภทไหนที่สามารถ
KEEP ON TIME งานนั้น ๆ ได้ตามกำหนด สอง-ณรงค์เป็นคนรู้เรื่องธุรกิจแต่ละชนิดอย่างลึก
ๆ การพิจารณาสินเชื่อโครงการ ณรงค์จะไม่ดูแต่เพียงโครงการศึกษา แต่ละลงไปลึกถึงบุคคลต่าง
ๆ ที่อยู่ในวงการธุรกิจนั้น ๆ อย่างแท้จริง
"ณรงค์ไม่ได้เรียนเอ็มบีเอมา แต่การบริหารงานของแกเก่งกว่าคนที่เรียนเอ็มบีเอมาอย่างผมเสียอีก"
หม่อมปรีดิยาธร เทวกุลเล่า
กล่าวกันว่าในสมัยหนึ่งเมื่อปี 2527 ณรงค์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประปานครหลวง
(ก.ป.น.) เขาสามารถช่วยการประปาฯ ประหยัดเงินได้ถึง 800 ล้านบาทจากงานประมูลก่อสร้างระบบการส่งน้ำโครงการ
3 ระยะ 2 เฟสที่ 1A ภายใต้การช่วยเหลือทางการเงินจาก OECF ญี่ปุ่น เพราะณรงค์เห็นว่าบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นเสนอราคาค่าก่อสร้างสูงเกินไปจากต้นทุนที่แท้จริงตามราคาประเมินของการประปา
"คุณณรงค์ออกเก็บข้อมูลต้นทุนวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ จนแน่ใจว่าราคาที่ประมูลเสนอมาสูงเกินไป
ปรากฏว่าคณะกรรมการ ก.ป.น. เห็นด้วยกับณรงค์ที่ให้ยกเลิกโครงการประมูลครั้งนั้นเสีย
แล้วเปิดประมูลใหม่ได้ในราคาที่ต่ำกว่าคราวแรกมากถึง 800 ล้านบาท" คนใน
ก.ป.น. เล่าถึงเกร็ดสไตล์การทำงานของแบงก์ให้ฟังด้วยความรู้สึกที่ชื่นชม
ความจริงแล้วแผนการปรับปรุงฐานะการเงินในรัฐวิสาหกิจที่เคยขาดทุนให้มีกำไรและสามารถอุดช่องโหว่การรั่วไหลได้นั้น
ในฐานะเป็นแบงเกอร์มานาน ไม่ใช่สิ่งยากเย็นอะไรเลยสำหรับณรงค์ เพราะมีประสบการณ์มามากในภาคธุรกิจ
แต่ณรงค์ก็ถ่อมตัวกับ "ผู้จัดการ" ว่า นักบริหารการเงินใน ก.ป.น.
ที่เก่ง ๆ มีมาก เพียงแต่ผู้ใหญ่ใน ก.ป.น. ซึ่งมาจากสายวิศวกร ไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
ตัวอย่างเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ อันหนึ่งของณรงค์ในการบริหารทั้งในฐานะเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ
หรือแม้แต่ในภาคธุรกิจเอกชนเช่นแบงก์กสิกรไทยนี้สะท้อนให้เห็นแจ่มชัดว่า
ในการบริหารชีวิตส่วนตัว ณรงค์ก็คงจะเป็นผู้บริหารที่ระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากพอสมควร
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเขาให้ความเห็นว่า "ณรงค์เป็นคนประหยัด มัธยัสถ์"
ความเห็นนี้น่าจะถูกต้องส่วนหนึ่ง ที่มากกว่านั้น ณรงค์เป็นนักบริหารเงินทุนส่วนตัวมือฉกาจด้วย
เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า รายได้จากเงินเดือนและค่าจ้างในรูปแบบอื่น
ๆ ของเขาที่ได้มาจากการทำงานหนักนั้น เขาจะใช้จ่ายออกไปใน 4 ทางคือ หนึ่ง-ฝากธนาคารกินดอกเบี้ย
สอง-ลงทุนซื้อพันธบัตร สาม-ลงทุนซื้อที่ดิน และสุดท้าย-ลงทุนร่วมหุ้นกับกรรมการในแบงก์กสิกรไทย
"ผมบริหารการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของผมแบบนี้ ใครจะเอาเป็นแบบอย่างก็ได้"
ณรงค์เสริมให้ฟัง…
เส้นทางแห่งอนาคตของณรงค์ (หลังเกษียณ) จะจบลงด้วยการล้างมือในอ่างทองคำ
ในฐานะผู้มีรายได้สูงสุดของประเทศค่อนข้างแน่นอน เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"
ว่า
"ใครมาชวนผมไปเลี้ยงวัวนม ผมเอา"