Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2531
"ดำรงค์ กฤษณามระ แบบฉบับนายธนาคารมืออาชีพ"แท้ ๆ"             
โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
 

 
Charts & Figures

แผนผังการจัดองค์กรของธนาคารกรุงเทพ


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
ดำรงค์ กฤษณามระ
Banking




"เมื่อเอ่ยชื่อธนาคารกรุงเทพ หลายคนมักจะนึกถึง "โสภณพนิช" กับความสำเร็จของแบงก์ แต่ไม่ค่อยมีใครมองว่าปัจจัยที่ทำให้แบงก์เติบโตยิ่งใหญ่ในทุกวันนี้ เพราะมีระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่ดีมาก ที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพะว้าพะวงกับ "หลังบ้าน" นั่นน่าจะเป็นเพราะแบงก์มี "แม่บ้าน" ที่ดีมาตลอด เมื่อก่อนตำแหน่งนี้เป็นของ บุญชู โรจนเสถียร แต่ปัจจุบันคือ ดำรงค์ กฤษณามระ หรือ "หัวหน้าดำรงค์" ของชาวบัวหลวง"

หมอดูกิตติมศักดิ์คนหนึ่งเคยทำนายไว้ว่า "คน ๆ นี้ถ้าไปเป็นทหาร ก็เกือบจะได้เป็นนโปเลียนทีเดียว…!"

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ 30 กว่าปีก่อนในงานกาชาดที่สวนอัมพร ซึ่ง ดำรง กฤษณามระ เริ่มเข้าทำงานที่แบงก์กรุงเทพแล้วไม่นานนัก แต่เมื่อ ชิน โสภณพนิช เข้ามาจัดระบบธนาคารใหม่ เขาต้องกรอกและยื่นใบสมัครใหม่พร้อมกับคนอื่น ๆ เมื่อ 1 พฤษภาคม 2496

แต่ด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง และวุฒิการศึกษาในประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงทางการสอบบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เทียบเท่าปริญญาโท) สมัยนั้นดำรงค์ก็ไม่ได้เบี่ยงเบนเข็มชีวิตไปเอาดีทางการทหาร และถึงวันนี้เขาได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเองแล้วในตำแหน่งนักการธนาคารมืออาชีพ ซึ่งไต่อันดับจากพนักงานธรรมดาจนมาถึง "กรรมการผู้อำนวยการ" ของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนในทุกวันนี้

คำทำนายนั้นก็อาจนับได้ว่าไม่ผิดความจริงเลย ดำรงค์ยังคงเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเช่นเดียวกับนโปเลียน เพียงแต่เขารบกันคนละสมรภูมิเท่านั้น ขณะที่นายทหารเช่นนโปเลียนรบบนยุทธภูมิและยุทธวิธีของการต่อสู้เอาชนะด้วยอาวุธสงครามที่รุนแรง นายธนาคารเช่น ดำรงค์ก็ต้องรบเพื่อเอาชนะในสงครามการเงินของระบบทุนนิยมที่แหลมคมทุกขั้นตอนเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ว่าแม้นโปเลียนกับดำรงค์จะมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ เช่น ความมุมานะบากบั่นและทุ่มเทให้กับภาระหน้าที่อย่างสุดชีวิตจิตใจ แต่สิ่งที่ต่างกันมาก ๆ ก็คือ ขณะที่ความเชื่อมั่นของนโปเลียนที่ว่า เขาสามารถจะทำในสิ่งที่ทุกคนในโลกทำไม่สำเร็จเสมอ นำไปสู่ความพินาศของจักรวรรดิฝรั่งเศสในที่สุด ความรู้จักประมาณการอย่างพอควรของดำรงค์กลับส่งเขาขึ้นมาเป็น "บิ๊กทรี" 1 ใน 3 บิ๊กของธนาคารกรุงเทพ (อีก 2 บิ๊กคือ ชาตรี โสภณพนิช และอำนวย วีรวรรณ) ในปัจจุบัน!?

การเอ่ยถึงธนาคารกรุงเทพโดยไม่พูดถึง ชิน โสภณพนิช เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!? (อ่าน "การต่อสู้ของชิน โสภณพนิช กับธนาคารอาณานิคม จาก "ผู้จัดการ" ปีที่ 4 ฉบับที่ 46)

แม้ว่าในปัจจุบันแวดวงวิชาการยังคงถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่า ธนาคารกรุงเทพเติบโตด้วยอำนาจทางการเมือง หรือเพราะปัจจัยภายในเป็นหลักกันแน่?

"ผู้จัดการ" ไม่ปฏิเสธว่าธนาคารกรุงเทพมีส่วนเติบโตด้วยปัจจัยทางการเมือง แต่เห็นว่าปัจจัยภายใน อาทิ อัจฉริยภาพของชิน โสภณพนิช ความสามารถในการจัดรูปบัญชีและวางระบบภายในของบุญชู โรจนเสถียร การจัดระบบการเปิดธนาคารสาขาของประยูร วิญญรัตน์ ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง

ชิน โสภณพนิช เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารใน พ.ศ. 2487 หลังจากนั้นไม่นาน ชินเข้ารับตำแหน่งกัมประโดแทนนายซ่งปู่ แซ่ก๊วย กัมประโดคนแรก

สงครามเกาหลีที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2492 และยุติลงในปี 2495 ผลจากการยุติสงครามได้ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟู (KOREAN BOOM) ต้องกลับชะงักงันลง เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสภาพของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบการธนาคาร ยิ่งกว่านั้นทางด้านธนาคารเองก็ยังเกิดปัญหาภายในขึ้นอีกด้วย นับตั้งแต่ปลายปี 2494 ธนาคารได้เกิดปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนขึ้น และปัญหานี้ได้เข้าสู่อาการที่รุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงต้นปี 2495

แต่เนื่องจากชิน โสภณพนิช ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานประจำวันของธนาคารมากนัก ชินจึงไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง!?

ชินตัดสินใจแก้ปัญหาโดยจ้างทีมงานนักบัญชีจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบสภาพที่แท้จริงทุกด้านของแบงก์ บุญชูและทีมงานนักบัญชีระดับปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์เข้ามาตรวจสอบภายในอย่างละเอียด และได้รายงานความผิดพลาดด้านการจัดการเงินทุนของธนาคาร การอำนายสินเชื่อผิดประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการซื้อที่ดิน ซึ่งแม้ว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันจะคุ้มค่า แต่การซื้อขายที่ดินในยุคนั้นยังขาดความคล่องตัวอยู่มาก เงินทองจึงจมอยู่ เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องหรือขาดแคลนเงินหมุนเวียน

การตรวจพบดังกล่าวของทีมงานบุญชูเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ชินคิดว่าถ้าปล่อยให้แบงก์เป็นไปในสภาพเช่นนี้ ธนาคารคงเจ๊งแน่ ๆ เขาจึงตัดสินใจเข้าเทคโอเวอร์กิจการธนาคาร ชินได้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่จากหลวงรอบรู้กิจ พร้อมกันนี้ชินได้ชวนประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักงานมนูกิจ อันเป็นสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการบัญชีเข้าร่วมบริหารและได้ชวนบุญชู โรจนเสถียร ให้เป็นผู้สอบบัญชีภายในอีกด้วย

บุญชู โรจนเสถียร เป็นผลผลิตของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีธรรมศาสตร์ ขณะนั้นธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ในรุ่นของบุญชูซึ่งมีผู้เข้าสอบจำนวนมาก บุญชูเป็นคนเดียวที่สอบผ่าน เขาตั้งสำนักบัญชีของตัวเองชื่อ "บัญชีกิจ"

ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นนักศึกษารุ่นน้องของบุญชู เขาเป็น 1 ใน 6 คน ที่สอบผ่านจากผู้สอบเข้านับร้อยในปี 2495 ในขณะที่ดำรงค์เรียนอยู่นั้น เนื่องจากหลักสูตรกำหนดว่า นักศึกษาที่เรียนจบปี 2 ต้องไปฝึกหัดงานกับสำนักสอบบัญชี นอกจากดำรงค์จะไปขอฝึกงานกับสำนักสอบบัญชีของวิสัย สุขไพศาลอยู่ 1 ปี แล้วยังไปฝึกงานกับ "บัญชีกิจ" ของบุญชู ดำรงค์ได้ช่วยบุญชูตรวจบัญชีของบริษัทต่าง ๆ มากมายรวมทั้งธนาคารกรุงเทพด้วย บุญชูเห็นแวว "ความเฉลียวฉลาด" ของดำรงค์แต่ครั้งนั้น ครั้นเมื่อชินชวนบุญชูเข้าทำงานที่แบงก์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำงานนั้นมีคนชื่อ "ดำรงค์ กฤษณามระ" อยู่ด้วย

นอกจากนั้นบุญชูยังได้ชวนสุจินต์ ศิริเวช (ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายอาวุโสสายบริการกลาง) จารุ ศรีชลัมภ์ (ปัจจุบันเป็นรองผู้ว่าการเคหะฯ)

ทีมงานของบุญชู ได้ช่วยกันวางรากฐานการตรวจสอบและควบคุมภายใน ซึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นจนเป็นระบบ ต้องมีการเสนอรายงานต่อฝ่ายบริหารโดยตรงเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการจัดการให้ทันสมัย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเติบใหญ่อย่างมั่นคงของธนาคารกรุงเทพ เพราะองค์ธุรกิจใดก็ตามที่จะประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีระบบการควบคุมและตรวจสอบดีหรือไม่

"ผู้จัดการ" ตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารหลายแห่งที่มีปัญหา เช่น ธนาคารเกษตร, ธนาคารมณฑล…เอเชียทรัสต์, มหานคร ฯลฯ สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวส่วนหนึ่งมาจากการจัดระบบภายในที่หละหลวม!

ดังนั้น การพัฒนาระบบภายในจนเข้มแข็งมั่นคงของธนาคารกรุงเทพ ควรจะให้เครดิตบุญชูและทีมงานของเขาใช่หรือไม่?

ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นคนที่เกิดในตระกูลขุนนางโดยแท้

แดง กฤษณามระ รับราชการกระทรวงการคลัง ตอนหลังย้ายมาอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธนบัตรและเป็นผู้หนึ่งที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับธนบัตร

ดำรงค์ กฤษณามระ เรียนหนังสือตั้งแต่ประถมจนมัธยมปลายที่โรงเรียนเทเวศร์มีเพื่อนสนิทชื่อสังวรณ์ สุทธิสานนท์ (ปัจจุบันเป็นเจ้าสำนักบัญชีวิเนตร์) ซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้ดำรงค์เรียนบัญชีที่ธรรมศาสตร์

ดำรงค์และนักเรียนเก่ารุ่นแรก เช่น บุญชู โชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น อาจารย์ยุกต์ ณ ถลาง, อาจารย์หลวงดำริห์ อิศรางกูร

เพื่อน ๆ ที่เรียนรุ่นเดียวกับดำรงค์ แล้วต่อมามีชื่อเสียงหลายคน เช่น เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒนาการแห่งชาติ, หิรัญ ฤดีศรี ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย

การเรียนบัญชี จากธรรมศาสตร์ในยุคนั้นได้ชื่อว่าเรียนยากและเรียนหนักมาก สมัยนั้นใครเรียนจบได้ต้องถือว่าเก่งมาก ๆ เลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่านักศึกษาที่จบจากที่นี่ได้เข้าไปมีบทบาทในการวางระบบบัญชี

ต้นตระกูลกฤษณามระ คือ เจ้าพระยาพิทักษ์ทวยหาญ อดีตเจ้าเมืองปทุมธานี คำว่า กฤษณามระ มาจาก กฤษณะ (แปลว่าไม้หอม) บวก อมระ (เทพผู้ไม่ตาย) เป็นนามสกุลพระราชทานโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6

ตระกูลกฤษณามระรับราชการมาหลายชั่วคน แยกออกไปหลายสายชนิดที่ดำรงค์เองก็ลำดับญาติให้ฟังไม่ถูก ที่พอจะสืบสาวได้คือ คุณพ่อของดำรงค์ (นายแดง) เป็นคุณอาของเจ้าคุณไชยยศสมบัติ (อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักตรวจบัญชีไชยยศอันระบือชื่อ เจ้าคุณไชยยศเป็น เอซีเอ (ASSOCIATE OF THE INSTITUTE OF CHARTERD ACCOUNT ANT IN ENGLAND AND WELSH ซึ่งเป็นสถาบันบัญชีชั้นสูงของอังกฤษ) คนแรก เป็นผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งต่อมาลูกชายคนโตของเจ้าคุณคือ ศจ. กิติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เป็นคณบดีที่คณะนี้และเป็นอธิการบดีของจุฬาฯ ด้วย (อ่านเรื่องของเติมศักดิ์และครอบครัวจาก "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 48) และสำนักบัญชีไชยยศเป็นผู้ที่ตรวจบัญชีธนาคารกรุงเทพเป็นประจำทุกปี และระบบตรวจสอบให้กับองค์กรธุรกิจมากมาย

แรกเริ่มดำรงค์เข้าทำงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เพราะจรูญ วัฒนากร หัวหน้ากองผลประโยชน์ของการท่าเรือ ได้ขอให้บุญชูช่วยหาคนไปช่วยงานที่การท่าเรือ ซึ่ง MR. MC. CUNNIFF เพิ่งมาวางระบบบัญชีใหม่ บุญชูก็ส่งดำรงค์กับเพื่อนอีกสองคนคือ สุจินต์ ศิริเวช และมานะ (เสียชีวิตแล้ว) ทำอยู่ที่นั่น 1 ปี ก็ขอลาออก เพราะมองไม่ค่อยเห็นความก้าวหน้า

เดิมทีดำรงค์เคยมีความใฝ่ฝันที่จะตั้งสำนักสอบบัญชีของตัวเอง แต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำบุญชูก็มาชวนเข้าไปทำงานที่แบงก์กรุงเทพเสียก่อน ตอนนั้นแบงก์กรุงเทพยังเล็กนิดเดียว มีเงินฝากสิ้นปี 2496 เพียง 221 ล้านบาท

ดำรงค์ไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการ เมื่อเขาตัดสินใจเป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเขาพอใจกับผู้คนที่นั่นมากตั้งแต่ ชิน โสภณพนิช, ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ที่เขาถือเป็นแม่แบบทางด้านความขยันขันแข็ง ความอ่อนน้อมและซื่อสัตย์สุจริต และที่ดำรงค์ถือว่าเป็นทั้งนายทั้งครูที่เขาถือเป็นแบบอย่างคือ บุญชู ทำให้ดำรงค์พอใจและตั้งใจที่จะทุ่มเทให้กับงานที่นี่และตลอดเวลาไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนงานเลย

ดำรงค์เคยบอกว่าเป้าหมายในชีวิตเขามิใช่ความมั่งมีหรือความกว้างขวางในสังคม "เป้าหมายของผมก็คือ ต้องการเป็นนักการธนาคารมืออาชีพ เพราะผมมาจากตระกูลที่เป็นมืออาชีพด้านการบัญชี การเงิน การธนาคาร เป็นครูบาอาจารย์ทั้งนั้น ผมจึงต้องสืบทอดเจตนารมณ์นี้"

ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นพนักงานตรวจสอบคนแรกของธนาคาร!?

แต่เดิมธนาคารยังเล็กมีแต่ฝ่ายบัญชี ดำรงค์เข้ามาบุกเบิกงานด้านตรวจสอบโดยตรง โดยบุญชูคุมนโยบาย แต่ดำรงค์เป็นคนลุยในภาคปฏิบัติ

"แต่เดิมมีแต่ด้านบัญชีอย่างเดียว เราต้องจัดระบบตั้งแต่ต้น การที่ยังไม่เคยจัดระบบมาเลยนี่ผมว่าจัดง่าย ทำระบบตรวจบัญชี ระบบการรายงาน ระบบจัดไฟล์ เริ่มมีการทำงบกระทบยอดเปรียบเทียบกัน ต้องมาสะสางและตรวจผ่านบัญชี ซึ่งตอนนั้นมีการทุจริตพอสมควร การตรวจบัญชีเงินฝากนั้น แต่ก่อนบัญชีเงินฝากเล่มใหญ่มากยกแทบไม่ไหว คนที่ทำทุจริตทำกันได้ง่าย เพราะไม่มีระบบควบคุม…" ดำรงค์เล่ากับ "ผู้จัดการ" ถึงการทำงานในช่วงแรก

งานด้านตรวจสอบถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับงานตำรวจจับผู้ร้าย ซึ่งบางครั้งเป็นหน้าที่ที่ค่อนข้างเสี่ยงในกรณีที่ผู้ถูกตรวจเป็นผู้มีอิทธิพล

"แรก ๆ มีผมออกไปตรวจสาขาต่างจังหวัดคนเดียวอยู่หลายปี ตอนนั้นฝ่ายตรวจสอบมี 4 คนแล้ว ก็ไม่ยากอะไร เพราะระบบไม่ซับซ้อน บางสาขาเคยเจอขู่เหมือนกัน เช่น สุไหงโกลก ก็เอาลูกปืนมาคุยกันหน่อย (หัวเราะ) แต่ก็ไม่น่ากลัวอะไร เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้น เพราะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าถ้าผิดก็ขอให้ยอมรับเสีย เรื่องมันจะได้เบาบางลง ตอนแรกตรวจเจอทุจริตบ่อยเพราะระบบมันอ่อน ตอนหลังปรับระบบดีขึ้นก็พบทุจริตน้อยลง"

งานตรวจสอบเป็นงานที่จะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ มิฉะนั้นการจะเข้าไปจับจุดว่ามีข้อบกพร่องที่ตรงไหน จะใช้เวลามาก และปกติผู้ตรวจสอบกับผู้ถูกตรวจสอบมักเข้ากันไม่ค่อยได้ แต่จากการที่ดำรงค์เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นคนยิ้มง่าย ที่สำคัญเขาเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงไม่ใช่นักตรวจสอบที่ "โหด" แต่เมื่อคราวต้องตัดสินใจเขาเป็นคนหนึ่งที่เฉียบขาดทีเดียว ทำให้เขาไม่ค่อยมีปัญหาเข้ากันไม่ได้ดังกล่าวมากนัก

กว่างานด้านตรวจสอบจะลงตัวก็ราวปี 2498 ก็พอดีย้ายสำนักงานจากราชวงศ์มาบริเวณห้าแยกพลับพลาไชย ถนนเสือป่า ซึ่งพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นขั้วอำนาจที่ชินเกาะเกี่ยวอยู่มาเป็นผู้เปิดตึก

ปี 2501 ดำรงค์ ได้รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนตรวจสอบคนแรกของธนาคาร ขณะที่บุญชูดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป รองจากชิน

ปลายปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีผลกระทบถึงธนาคารกรุงเทพซึ่งถือหางทางฝ่ายพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ทำให้ชิน ต้องเดินทางไปต่างประเทศโดยฉับพลัน

งานทั้งหมดของแบงก์กรุงเทพจึงตกอยู่ในมือของบุญชู ซึ่งบุญชูก็บุกเบิกงานภายในประเทศ (ชินไปบุกเบิกงานด้านสาขาต่างประเทศ) ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตอนนั้นดำรงค์กลายเป็น "มือขวา" ของบุญชู เขาไม่เพียงทำหน้าที่ด้านตรวจสอบเท่านั้น เขาต้องก้าวออกมาช่วยงานด้านบริหารและควบคุม ซึ่งถือเป็นงานหน่วยสนับสนุนทั้งหมด ตั้งแต่งานสมองถึงงานแม่บ้าน เช่น การกำหนดนโยบาย งานวางแผน งานจัดวางระบบงาน การจัดสรรและควบคุมงบประมาณ การบริหารงานบุคคล งานบัญชี งานตรวจสอบ รวมทั้งงานเลขาธิการด้วยจนปี 2505 เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายเลขาธิการ

"งานเลขาธิการนั้น ควบคุมดูแลหลายจุด คล้ายสำนักผู้จัดการ งานเลขาแยกเป็นหลายส่วน และรวมทั้งส่วนอะไรก็ตามที่ไม่สามารถสังกัดอยู่หน่วยใดก็จะนำมาสังกัดที่นี่" ดำรงค์อธิบาย

ชิน โสภณพนิช เดินทางกลับหลังอสัญกรรมของสฤษดิ์ (8 ธันวาคม 2506) บุญชูมอบทุกอย่างคืนแก่ชิน ในปีเดียวกันบุญชูได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่

ปี 2510 ดำรงค์ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ เขาได้กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของหน่วยตรวจสอบของที่นี่ว่า "งานบัญชี และตรวจสอบเป็นหน่วยงานที่ใหญ่มาก เป็นจุดที่มีพนักงานมากที่สุดจุดหนึ่ง แต่ถ้าดูจำนวนรายการทางบัญชี คนของเราก็ยังไม่พออยู่นั้นเอง ในความเป็นจริงเราตรวจทุกรายการไม่ได้ เราต้อง SAMPLING เลือกบางจุด เป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลมากพอสมควร เพราะลักษณะการตรวจสอบของเราไม่เพียงเป็นเฉพาะการตรวจสอบตามหลักวิชาเท่านั้น ซึ่งฝ่ายตรวจสอบจะไม่มี AUTHORITY ไปสั่งการ ตรวจสอบได้แต่แนะนำผู้บริหารแล้วรายงานมายังสำนักงานใหญ่ แล้วผู้จัดการค่อยสั่งการลงมา ของเราให้อำนาจฝ่ายตรวจสอบในการที่จะสั่งการได้เลย ความคล่องตัวในการเข้าจัดการจึงสูง เวลาเราตรวจเจอทุจริตเราวางระบบแก้ไขทันที ในขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่เราตรวจพบ ช่วงแรกก่อนปี 2510 มีราว 100 กว่าคน ปัจจุบันเรามีฝ่ายตรวจสอบกว่า 300 คน ฝ่ายบัญชี 400 กว่าคน…"

การที่ฝ่ายบริหารกล้าตัดสินใจให้อำนาจฝ่ายตรวจสอบนั้น เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก จะเห็นว่าหลังจากเกิดวิกฤติการณ์ในช่วงแรกแล้วหลังจากนั้น แทบจะไม่มีการทุจริตที่ร้ายแรงหรือมากเกินกว่าที่ฝ่ายตรวจสอบจะรับได้เลย

แม้ว่าจะมีการโกงกันอย่างซับซ้อนพิสดาร ฝ่ายตรวจสอบก็มักจะตรวจพบเสมอ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็จับได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ (ปลายเดือนพฤศจิกายน 2530) เป็นข้อหาฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ เป็นเงินถึง 166,660,000 บาท โดย นายชาตรี หิมะทองคำ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการภาค 1 นายวีระโชติ หิมะทองคำ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการภาค 1 นายวีระโชติ เหรียญวิโรจน์ อดีตผู้จัดการสาขาท่าเตียน และนายประวิทย์ วัฒโนดม อดีตรองผู้จัดการสาขาท่าเตียน ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบตรวจพบการทุจริตตั้งแต่ปี 2527 แต่เพิ่งแจ้งจับ เพราะเพิ่งจะรวบรวมหลักฐานครบ ซึ่งฝ่ายตรวจสอบเปิดเผยวิธีการกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"โดยสรุปก็เป็นอนุมัติสินเชื่อเกินอำนาจที่ได้รับและฉ้อโกงทรัพย์ธนาคารโดยผลักภาระหนี้ส่วนตัวให้เป็นภาระหนี้ของแบงก์ คือผู้ต้องหาได้เปิดทรัสต์เถื่อนขึ้นมา และต่อมาได้นำเช็คของธนาคารกรุงเทพสาขาท่าเตียน ไปขายให้กับทรัสต์ที่เปิดดำเนินการเอง หลังจากนั้นจะนำเช็คดังกล่าวไปขายต่อให้บริษัทเงินทุนที่ถูกกฎหมาย ทางบริษัทเงินทุนก็นำเช็คไบดังกล่าวไปขึ้นที่ธนาคารกรุงเทพสาขาท่าเตียน และบุคคลทั้ง 3 ได้ใช้อำนาจสั่งจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวโดยกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และยังมีวิธีอื่น ๆ อีกหลายวิธีด้วยกัน"

นอกจากแบงก์กรุงเทพจะมี FINANCIAL AUDIT ยังมี OPERATION AUDIT ซึ่งเจริญ เจษฎาวัลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบอธิบายว่า "FINANCIAL AUDIT เป็นฝ่ายตรวจสอบความถูกต้องทางบัญชี มุ่งเน้นเรื่องทุจริต มีลักษณะเป็นการจับผิดค่อนข้างมาก เป็นการมองการทำงานในอดีต ส่วน OPERATION AUDIT เป็นการมองไปที่อนาคต มองไปข้างหน้าว่าเราสามารถทำอะไรดีกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น มองหรือเปล่าว่าทำอย่างไรต้นทุนจึงจะถูกลงเป็นต้น"

จะเห็นว่า ดำรงค์คุมฝ่ายตรวจสอบอันเป็นหัวใจของงาน เป็นเครื่องมือที่ทำให้ฝ่ายบริหารแน่ใจว่ากำลังดำเนินการไปข้างหน้าอย่างถูกต้องมั่นคง

ดำรงค์ หรือ "หัวหน้าดำรงค์" ที่คนแบงก์กรุงเทพเรียกกันติดปากด้วยความนับถือ เป็นคนที่มีคุณสมบัติเด่นหลายประการที่เป็นที่ประทับใจของคนแบงก์

"ความสม่ำเสมอในการทำงาน และทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานอย่างสุดจิตสุดใจ" ดำรงค์เป็นคนที่มาทำงานแต่เช้าตรู่ราว ๆ 7 โมงเช้า หรืออย่างสายไม่เกิน 8 โมงเขาจะมาถึงแบงก์และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในช่วงแรกนั้นต้องทำอยู่ถึง 4-5 ทุ่ม ถ้างานยังไม่เสร็จก็จะหอบงานกลับไปทำที่บ้าน และเสาร์-อาทิตย์ก็มาทำงาน ยิ่งในช่วงที่ใกล้ปิดบัญชีแบงก์เนื่องจากต้องทำให้เสร็จเร็ว บางคืนทำอยู่จนตี 1 ตี 2 พอ 6 โมงเช้ามาอีกแล้ว บางทีทำงานมาจนเดิน ๆ อยู่ยังไม่ถึงตึกเป็นลมหมดสติไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่ออยู่โรงพยาบาลแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ (ราวเดือนพฤศจิกายน 2530) ดำรงค์แพ้ยาต้องไปนอนรักษาตัวอยู่ที่บำรุงราษฎร์ ก็ให้เลขาขนงานมาทำกันในห้องคนไข้นั่นเอง

งานเพิ่งมาเพลาลงเมื่อ 3-4 ปีหลังนี้เองที่ดำรงค์รู้จักคำว่า เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเขาจะเดินทางไปอยู่ที่สวนในซอยบ้านอยู่สุขที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ซึ่งเขาไปซื้อไว้เมื่อ 7-8 ปีก่อน

"ท่านเป็นคนที่มี CALIBER สูงมากสามารถใช้ดุลยพินิจ ตัดสินใจงานทุกอย่างอย่างรอบคอบสุขุม ตลอดเวลาที่ทำงานแบงก์แทบจะไม่เคยมีการตัดสินใจสำคัญที่ทำให้แบงก์เสียหาย มีแต่ก้าวไปข้างหน้า" ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสคนหนึ่งเล่ากับ "ผู้จัดการ"

ที่สำคัญดำรงค์เป็นคนที่เป็นกันเองกับคนทุกระดับ นั่นเป็นบุคลิกภาพที่คนที่ได้สัมผัส จะรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้อยู่ใกล้กับนายธนาคารผู้นี้ ทุกคนสามารถเข้าหา "หัวหน้าดำรงค์" เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนหรือมีเรื่องจะปรึกษา

คุณสมบัติต่าง ๆ ของดำรงค์เป็นสิ่งที่ "ผู้ใหญ่แบงก์กรุงเทพเห็น" เขาจึงเติบโตเป็นลำดับโดยสม่ำเสมอ ปี 2514 ดำรงค์ได้เป็นกรรมการธนาคาร (EXECUTIVE DIRECTOR)

ปี 2517 เป็นยุคสมัยที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน บุญชูได้ขอลาออกจากกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

ธนาคารกรุงเทพมีชิน โสภณพนิชเป็นทั้งประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ชาตรี โสภณพนิช เป็นกรรมการรองผู้จัดการ (อ่านการเติบโตของชาตรีในแบงก์จากผู้จัดการ ฉบับที่ 51) ปิยะ ศิวยาธร, วีระ รมยรูป, ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่

เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงในปี 2519 ผู้นำรัฐบาลคือธานินทร์ กรัยวิเชียร ธนาคารกรุงเทพก็ยังคงบริหารงานไปอย่างไม่หยุดยั้ง ชินขอลาออกจากกรรมการผู้จัดการใหญ่และเสนอให้บุญชูเป็นแทน

ราวปี 2523 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ขึ้นเป็นนายก ได้เชิญบุญชูมาเป็นรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ บุญชูจึงลาจากแบงก์ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับการบริหารในแบงก์กรุงเทพ ชาตรีได้ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ และดำรงค์ได้เป็นรองผู้จัดการใหญ่

มีการเปรียบเทียบผู้นำของธนาคารสองสมัยเป็นภาพสองภาพที่กำลังเคลื่อนที่ไปสู่จุดเดียวกัน ภาพแรกคือบุญชู โรจนเสถียร ผู้วางรากฐานงานควบคุมและตรวจสอบภายใน ถือว่ามีอำนาจในระดับเดียวกันแต่หน้าที่ต่างกัน คือชินดูทางด้าน MARKETING ผลจากการจัดวางอำนาจระหว่างชินกับบุญชูก่อให้เกิดสมดุลอำนาจที่ดีมาก เป็นเหตุให้งานของแบงก์รุดหน้าไปด้วยดี ซึ่งชินเองเคยพูดไว้ใน "กว่าจะถึงวันนี้" (หนังสือประวัติของแบงก์กรุงเทพ)

"ระหว่างที่ผมอยู่ในกรุงเทพก็ไม่ได้แบ่งเราสองคนช่วยกัน คือบุญชูเป็นคนเข้มแข็ง ผมก็อ่อนน้อม สองคนรวมกันพอดี ๆ ระหว่างผมไม่อยู่ผมก็มอบหมาย ทีแรกเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ตอนหลังเป็นรองผู้จัดการใหญ่ระหว่างผมไม่อยู่ 5 ปี นโยบายสาขาในประเทศส่วนใหญ่คุณบุญชูเป็นคนออกแผนต่างประเทศซิ ผมเป็นคนขยาย เป็นคนขออนุญาต ลงมือเอง…"เมื่อกลับมาบุญชูคืนให้ทุกอย่าง บุญคุณน้ำมิตรอันนี้ประทับใจนายห้างมาก ความเกรงใจและให้เกียรติบุญชูจึงมีมาก

กล่าวกันว่าภาพที่สองคล้ายกับว่าจะซ้ำรอยเดิมคือชาตรี โสภณพนิช เป็นผู้นำที่ทำหน้าที่ด้าน MARKETING ส่วนดำรงค์ กฤษณามระ ซึ่งปี 2529 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "กรรมการอำนวยการ" มีหน้าที่ดูแลการบริหารภายในเหมือนบุญชูสมัยก่อน

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานกรรมการแบงก์ ได้กล่าวในวันแต่งตั้ง "กรรมการอำนวยการ" ว่า "เหมือนคนสองคนที่แต่งงานกัน ดำรงค์เป็นภรรยา ชาตรีเป็นสามี เป็นบุคคลเดียวกันตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่เท่ากัน"

สำหรับตำแหน่งดังกล่าว ดำรงค์ได้อธิบายเพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" ว่าทำไมต้องมีตำแหน่งนี้ในเมื่อแต่ก่อนไม่มี "ก็หมายความว่าผมเป็นหัวหน้าทีมงานด้านโอเปอร์เรชั่นดูแลพนักงานทั้งหมดทุกฝ่าย ผู้จัดการใหญ่มอบอำนาจที่เท่าเทียมนี้ เพราะผมรู้สึกว่าอำนาจที่ได้รับมอบหมายทำอย่างไรให้ดีที่สุด มีบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าท่าน (ชาตรี) ควรจะตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง บางอย่างเห็นว่าควรจะร่วมกันรับรู้ เว้นแต่สายงานด้านสินเชื่อส่งตรงไปทางท่าน แล้วก็จะเอาเข้ากรรมการบริหารอีกที ถ้าต้องส่งมาทางผมก่อนจะทำให้เกิด LAYER ขึ้นอีกชั้นเปล่า ๆ…"

จากการวิเคราะห์ของแหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าอำนาจของดำรงค์นั้นต่างกับบุญชูมากซึ่งอาจจะมาจากข้อสมมุติฐาน 3 ประการ

1) ชินกับบุญชูมีประวัติศาสตร์ร่วมกันในช่วงที่ชินไม่อยู่ ดังที่กล่าวมาแล้วขณะที่ชาตรีไม่เคยต้องพึ่งพาดำรงค์เป็นกรณีพิเศษ

2) สไตล์การบริหารของชาตรี ค่อนข้างจะมีลักษณะ DICTATORSHIP (เผด็จการ) ชาตรีมีอำนาจล้นฟ้า บางคนกล่าวว่าชาตรีต่างกับพ่อตรงที่เขาเป็น BIG BOSS อยู่สูงเกินไป ขณะที่สมัยชินเขาฟังทุกคน และมีคนคอยทัดทานเขาได้

3) สไตล์ของบุญชูกับดำรงค์แม้จะมีส่วนเหมือนกันมากในแง่ของความสามารถในการบริหารและความรอบคอบ แต่บุญชูนั้นบริหารงานแบบกล้าใช้นโยบายที่หวือหวากว่าและเฉียบขาดกว่าดำรงค์ บทบาทบุญชูจึงดูโดดเด่นกว่า

มีการวิเคราะห์โครงสร้างอำนาจระดับสูงของแบงก์กรุงเทพอีกกระแสหนึ่งว่า หลังปี 2526 ซึ่งชาตรีดึง ดร. อำนวย วีรวรรณ มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ชาตรีเป็นพ่อค้าคนจีนซึ่งตัวเองมีจุดอ่อนด้านวิชาการที่เรียนมาน้อย แม้แต่พูดไทยยังพูดไม่ค่อยชัด ขณะที่ ดร. อำนวย วีรวรรณเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีสายสัมพันธ์กว้างและลึก เป็นที่นับหน้าถือตาของหน่วยงานต่างประเทศ (เมื่อเร็ว ๆ นี้ อำนวยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของเรแกน) ดังนั้น ดร. อำนวยจะช่วยแบงก์ได้ในระดับหนึ่ง ความจริงก็อาจใกล้เคียงกับคอนเซ็ปต์เก่าที่แบงก์เคยเชิญ พลตรีศิริ ศิริโยธิน หรือจอมพลประภาส จารุเสถียรมาเป็นประธาน

เพียงแต่คราวนี้ได้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยพอใจอย่างกว้างขวาง เพราะ ดร. อำนวยเหมือนลอยมาจากบนฟ้า มารับตำแหน่งใหญ่โตในแบงก์ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในเจ้าหน้าที่ระดับสูง ช่วงแรกที่ ดร. อำนวยเข้ามาดูทางด้านประชาสัมพันธ์และฝ่ายต่างประเทศ จนทำให้พนักงานระดับสูงบางคนเกิดความรู้สึกเหมือนถูกแย่งงานไปทำ บางคนก็หันเข้ามาหาขั้วอำนาจใหม่ สหภาพแรงงานร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงบางคนโจมตี ดร. อำนวยผ่านทางสื่อมวลชนบางฉบับ

หลังจากปั่นป่วนอยู่พักใหญ่ ระดับสูงได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งและอำนาจหน้าที่หลายครั้งกว่าจะมาถึงโครงสร้างที่ค่อนข้างลงตัวเมื่อปลายปี 2529 (ดูแผนผังการจัดองค์กร)

ดำรงค์นั้น พนักงานโดยทั่วไปเป็นเดือดเป็นร้อนแทนเขาว่าถูก "DEMOTE" เป็นครั้งแรก หลายคนกล่าว "หัวหน้าดำรงค์อยู่เฉย ๆ ก็เหมือนถูกลดอำนาจลง ทำให้ท่านท้อแท้" แต่ดำรงค์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาไม่รู้สึกเช่นนั้น การที่ ดร. อำนวยเข้ามาเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ และมาเสริมด้านนโยบาย

แต่คนที่เชื่อในการวิเคราะห์ดังกล่าวก็ว่า ชาตรีคงจะรับรู้กระแสความรู้สึกของดำรงค์ และพนักงานทั่วไป จึงคิดตำแหน่ง "กรรมการอำนวยการ" ซึ่งใหญ่กว่าเก่าให้ดำรงค์เป็นการยืนยันว่ายังเห็นความสำคัญของดำรงค์

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนับว่าการจัดสรรอำนาจหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ ในระดับสูง อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างสมดุล และอยู่ในจุดที่ธนาคารกรุงเทพยังจะพัฒนาไปได้อีกไกล

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จะเห็นว่าฝ่ายบริหารของธนาคารสามารถกะเก็งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงความเป็นจริง อันทำให้ธนาคารได้รับผลเสียหายจากภาวะเศรษฐกิจน้อยมาเมื่อปี 2526 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจบูมมาก เฉพาะเงินฝากของธนาคารเพิ่ม 25% และสินเชื่อเพิ่ม 38% ได้คาดการณ์ว่าปี 2527 ภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำ

"ช่วงนั้นเราเตรียมพร้อมทุกด้าน ปรับแก้นโยบายให้สอบตัวลงทุกด้าน ซึ่งธนาคารถูกโจมตีมากในช่วงนั้น ว่าทำไมเราตัดโอดีลูกค้า…ซึ่งผมมองว่าเป็นความบกพร่องด้านการสื่อสารของเรา" ดำรงค์กล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน การคาดการณ์ของแบงก์กรุงเทพถูกต้อง ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศนโยบายจำกัดสินเชื่อไม่เกิน 18% ซึ่งแบงก์อื่น ๆ และบริษัทเงินทุนหลายแห่งไม่ได้เตรียมตัว จึงเจ็บตัวกันระนาว

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความพรักพร้อมของทีมงานและประสิทธิภาพในการคาดการณ์ของผู้บริหารแบงก์กรุงเทพ

ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นแบบฉบับของนักการธนาคารมืออาชีพอย่างแท้จริง เขามีสปิริตแบบ "ลูกจ้าง" ที่ภักดีต่อองค์กรอย่างหมดจิตหมดใจ เขาไม่เคยประกอบกิจการส่วนตัว หรือแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งนายธนาคารอย่างที่หลายคนนิยมทำกัน เขาเคยเป็นกรรมการบริษัทบางแห่งก็เพราะแบงก์ส่งไปเท่านั้น และตอนหลังเมื่อเห็นว่างานแบงก์มีมาก เขาก็ทยอยลาออก ปัจจุบันเหลือเพียงกรรมการบริษัทผาแดง อินดัสทรี เพียงแห่งเดียว เขาเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ชนิดที่ตัวเองและผู้ร่วมงานยืนยันได้ว่าไม่เคยด่างพร้อยจากการทำงาน เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่อแบงก์ที่เขารักชนิดที่มีคนเคยแซวว่า "ชีวิตคุณดำรงค์ รู้จักแต่บ้านกับแบงก์"

"ผู้จัดการ" ถามดำรงค์ว่าเคยไปเที่ยวกลางคืนหรือดิสโก้เธคไหม เขาตอบทันทีว่าไม่เคย เขาเป็นคนที่หาความสุขได้จากการทำงาน พอใจในชีวิตที่สมถะเรียบง่ายและไม่ชอบออกงานสังคม เวลาว่างชอบฟังเพลงไทยเดิม เพลงที่ชอบที่สุดคือ ชั่วฟ้าดินสลาย

ดำรงค์นั้นจัดเป็นคน TYPE A ในสายตานักจิตวิทยา ซึ่งเป็นคนขยันผิดปกติเป็นคนที่ทำอะไรแข่งกับเวลาเสมอ ชีวิตของเขาคือการต่อสู้อย่างแท้จริง คน TYPE A นี้จะมุ่งที่ความสำเร็จคือจะทำทุกอย่างให้ตัวเองประสบความสำเร็จ และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็จะสบายใจ แล้วก็จะมีความสุข

ดำรงค์เป็น FAMILY MAN ที่รักครอบครัวอย่างมาก ๆ เวลาที่เหลือจากงานก็จะเป็นเวลาของที่บ้านที่เขาสร้างขึ้นเองหลังจากทำงานที่แบงก์ไม่นาน ในบริเวณไม่ถึงหนึ่งไร่ย่านเอกมัย ภรรยาของเขาทองพูน กฤษณามระหรือ "อ้อย" เป็นแม่บ้านอย่างแท้จริง ปล่อยให้ดำรงค์สนุกกับงานอย่างเต็มที่ โดยที่เธอเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่อย่างดี

ดำรงค์มีบุตร 2 คน ลูกสาวคนโตชื่อ พูนศิริ ทำงานด้านหาลูกค้า ที่ บงล. ร่วมเสริมกิจ แต่งงานแล้วกับวิชัย ตรีเพ็ชร์ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสาขาคลองเตย ส่วนลูกชายอายุสม์ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยา PENNSYLVANIA และจบเอ็บมีเอที่มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดส์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าส่วนบริหารสินทรัพย์สภาพคล่อง สำนักงานจัดสรรเงินตราธนาคารกรุงเทพ จะเห็นได้ว่าครอบครัวดำรงค์ทำงานเกี่ยวข้องกับแบงก์กรุงเทพทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงความผูกพันที่มีต่อแบงก์ว่ามากเพียงใด

เขามีเพียงหุ้นหมื่นกว่าหุ้นในแบงก์กรุงเทพ กับสวนราว 40 ไร่ ไร่ละสองหมื่นกว่าบาทที่ปทุมธานี เขาบอกว่าในอนาคตหากเกษียณแล้ว นอกจากตำแหน่งกรรมการบริหารแบงก์กรุงเทพแล้วเขาจะไม่ทำงานในองค์กรธุรกิจใด เพราะเขาเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากแบงก์ไปเพื่อองค์กรอื่น ยังมีอีกไหม? คนที่คิดแบบเขา บางคนอาจจะมองว่าเขาซื่อและโง่เกินไป แต่นั่นเป็นอุดมคติของเขา เขาพอใจจะหยุดตัวเองไว้แค่นั้น บั้นปลายชีวิตเขาปรารถนาชีวิตที่สงบสุข เป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่ง

หลายคนในแบงก์กรุงเทพกล่าวว่าถ้ามีการลงคะแนนเสียงกันว่าใครเป็นผู้บริหารที่ตนชื่นชอบที่สุด ดำรงค์ กฤษณามระคนนี้จะได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง

แม้ดำรงค์ จะไม่เคยได้รับตำแหน่งนายธนาคารแห่งปีจากนิตยสารฉบับไหนแต่สำหรับ "ผู้จัดการ" เขาคือนักการธนาคารมืออาชีพอย่างแท้จริง เขาเป็นหนึ่งใน THE MAN BEHIND THE SUCCESS OF BANGKOK BANK.

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us