Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2531
"สรร อักษรานุเคราะห์ คนรวยเงียบๆ"             
 


   
search resources

สรร อักษรานุเคราะห์
Telecommunications
จตุรงคอาภรณ์, บจก.




ทุกครั้งที่เกิดสงครามที่แบงก์แหลมทอง โฟกัสมักจะมุ่งไปที่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ หรือสุระ จันทร์ศรีชวาลา ทั้ง ๆ ที่ยังมีอีกหลายคนที่น่าสนใจ

เหตุการณ์ครั้งที่สมบูรณ์ถือไพ่เหนือกว่าบังสุระครั้งหลังสุด ทำให้หลายคนสะดุดกับชายชราคนหนึ่งผู้เป็นคีย์ให้ฝ่ายสมบูรณ์ชะลอความปราชัยไว้ชั่วขณะ

สรร อักษรานุเคราะห์คือคน ๆ นั้น ชายชราผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะของสมบูรณ์หลายต่อหลายครั้ง "คุณสรรนี่แหละที่เป็นคนคอยเตือนคุณสมบูรณ์หลายต่อหลายครั้ง ไม่ให้ใช้อารมณ์มากในหลาย ๆ เหตุการณ์" คนรู้เรื่องดีเล่า

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักอดีตประธานกรรมการแบงก์แหลมทองคนนี้ดี

ว่ากันว่าวันที่สรร สั่งถอนเงินจากแหลมทองกว่า 80 ล้าน มีหลายคนถึงกับอุทานว่า "สรรรวยมาจากไหน"

ถ้าจะเข้าใจสรรก็ต้องหวนย้อนกลับไปดูอดีตเมื่อ 72 ปีที่ผ่านมา ที่โรงพิมพ์พิมพ์ไทย ถนนพลับพลาไชย หลังวัดเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม เป็นคนราศีมิถุน

เขาเรียน ม. 1-8 ที่เทพศิรินทร์ จบเมื่อายุ 19

สรรก็เหมือนเด็กหนุ่มคนอื่น ๆ เขารักความก้าวหน้า อยากเรียนสูง ๆ เพราะ "มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน" แต่เพราะ "ผมมีพี่น้องถึง 12 คน ตอนนั้นพี่ผมอยากเรียนหมอ ผมตอนนั้นเรียนพิเศษอยู่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย จึงสละไปเรียนสัตวแพทย์เพราะปีเดียวก็ได้เงินเดือนแล้ว 50 บาท แถมเวลาออกต่างจังหวัดยังได้เบี้ยเลี้ยงนับร้อย" สรร ทวนอดีตช่วงเสียสละให้ฟัง เพราะช่วงนั้นพ่อเสีย

พ่อของสรร พระสันทัด อักษรสาร เป็นคนมองการณ์ไกล หลังจากสรรจบมัธยมบริบูรณ์ (ม. 8) พ่ออยากให้เขาค้าขาย

สรรออกไปค้าข้าวสารทั้งปลีกและส่ง แถมไปประมูลขายให้กองทัพเรือส่งข้าวตามเรือรบ

พี่เขยของเขาก็เป็นกัมปะโด ทำงานกับบริษัทดีคูเปอร์ ซึ่งส่งออกข้าว ภายหลังตั้งร้านสามไทย อยู่เชิงสะพานนพวงศ์ เปิดไม่นานพ่อก็เสีย และการที่พ่อเสียนี่เองได้นำความลำบากมาสู่ครอบครัวเป็นอันมาก

"สมัยนั้นพ่อเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย หลังจากรัชกาลที่ 6 สวรรคต รัชกาลที่ 7 ให้คนอื่นมาทำแทน ที่ลำบากเพราะตอนที่พ่อยังอยู่ท่านได้เดือนละ 400 บาท สมัยนั้นมากโข ท่านเสียเราก็ลำบาก เพราะท่านเป็นข้าราชการสำนักไม่มีบำนาญ" สรรเล่าสาเหตุ

หลังจากที่พี่ชายเรียนแพทย์อยู่ปีสุดท้ายสรรก็ออกจากราชการมาฝึกงานอยู่ที่บริษัทข้าวไทย "ผมเป็นลูกน้องมาเลียบคุนนะ" สรรเล่า

ช่วงที่สำคัญอีกช่วงคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐีหลายคนตั้งตัวได้เพราะมัน และช่วงนี้นี่เองที่สรรแต่งงานกับสมจิตต์ เลิศดำริห์การ เมื่อตอน 2485 ระหว่างสงครามกำลังปะทุ

พ่อตาของสรรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อเขาอยู่ไม่น้อย ขุนเลิศมีโรงงานทอผ้าที่ทันสมัยเอามาก ๆ ในสมัยนั้น เพราะเป็นโรงงานแรก ๆ ก็ว่าได้ที่ใช้เครื่องไฟฟ้า ขณะที่แห่งอื่น ๆ ยังใช้กี่กระตุก แต่ขณะที่เกิดสงครามทุกอย่างก็หยุดหมด

ระหว่างนั้นขุนเลิศหลงไหลกลิ่นอายการเมือง ทิ้งธุรกิจหมด "ผมก็ต้องรับทำแทนท่าน" ลูกเขยเล่าให้ฟัง

ความเป็นอัจฉริยะทางการค้าของสรรเริ่มฉายแววก็ตอนสงครามนั่นเอง

สมัยสงครามข้าวของทุกอย่างขาดแคลน "สินค้าส่วนมากใช้บัตรปันส่วน" คนเก่าคนแก่อรรถาธิบาย

ผ้าเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่อยู่ในลักษณะนี้ด้วย

สมัยสงครามสรรอพยพไปอยู่บ้านญาติที่ระยอง เขาสังเกตเห็นว่าแถว ๆ ระยองมีบัตรปันส่วนมากแต่หาผ้าแลกไม่ได้ เขาก็เลยนำผ้าจากกรุงเทพไประยอง

"แต่มันไม่คุ้มหรอกนะ เพราะเมตรนึงเราได้แค่ 10% เท่านั้นเอง" อดีตประธานแบงก์แหลมทองพูดถึงกำไร

เขาเริ่มพลิกแพลงตรงนี้ เพราะว่ารัฐบาลควบคุมราคาผ้าไม่ให้ขายเกินราคาที่ตั้งไว้ ถ้าทำตามกฎของรัฐมันจะไปได้อะไร สรรมาคิด ๆ ดูว่า รัฐคุมแต่ผ้าผืน ๆ แต่ไม่ได้คุมราคาผ้าถุง "ผ้าถุงหนึ่งผืนมันใช้ประมาณเมตรครึ่ง ซึ่งผ้าขนาดนี้เอามาตัดเสื้อเชิ้ตได้ตัวนึง" สรรคำนวณให้ฟัง

นำผ้าถุงจากกรุงเทพไปขายผืนละ 5 บาท "ขายเร็วมาก กำไรเยอะเลย เพราะยังไม่มีคนอื่นคิดทำแบบผม" สรรเล่าเหตุการณ์ตอนนั้น

การนำผ้าถุงไปแลกกับบัตรผ้าปันส่วนสมัยนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นทางการค้าของเขาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ว่าได้

สงครามสงบ เขาก็เริ่มอาชีพใหม่โดยเป็นตัวแทนขายเครื่องรับวิทยุยี่ห้อเทสลาจากเชโกสโลวะเกีย "ผมเซ้งตึกแถว 3 ห้องในราคา 1 หมื่น แถว ๆ บำรุงเมือง"

เขาเริ่มต้นด้วยเงิน 2 หมื่น แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ต้องเลิก "เพราะตำรวจบอกให้เลิกค้าขายกับเชโกฯ เพราะว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์"

ร้านจาตุรงคอาภรณ์ที่เขาตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อร้านของขุนเลิศที่ยุติกิจการในช่วงสงครามก็ต้องเริ่มสินค้าตัวใหม่ เพราะเทสลาถูกเหตุผลทางการเมือง

สินค้าใหม่นี่เองที่สร้างความเป็นปึกแผ่นให้เขา

หลายคนในวงการค้าได้ดีเพราะ "เพื่อน" สรรก็อยู่ในประเภทนี้

เพื่อของสรรที่ชื่อสำเริง เนตรายนต์ ทำงานในสถานทูตไทย แต่เป็นข้ารัฐการของอเมริกาแนะนำว่าควรค้าขายกับญี่ปุ่น สรรก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ "ผมเริ่มติดต่อสถานทูต ให้เขาแนะนำบริษัทให้ และผมก็ทำจดหมายโต้ตอบเองทุกอย่าง" สรรซึ่งจบแค่ ม. 8 เทพศิรินทร์และจบสัตวแพทย์ซึ่งเรียนเพียง 1 ปี แต่เพราะมีอาจารย์ฝรั่งคอยเทรนให้ การเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษโต้ตอบจึงไม่เป็นปัญหา

สรรได้เป็นเอเยนต์เอ็นอีซี ซึ่งเป็นบริษัทผิตโทรทัศน์รายใหญ่ของญี่ปุ่น สรรมือขึ้นมาก ๆ เขาขายผลิตภัณฑ์ของเอ็นอีซีให้สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และองค์การโทรศัพท์

(ช่วงทำการค้านี้นี่เองที่เขาใช้บริการของธนาคารแหลมทอง)

หลังจากนั้นเขาก็หลุดจากการเป็นเอเยนต์ของเอ็นอีซีที่เขากำลังขึ้น

ว่ากันว่าสรรเสียรู้ญี่ปุ่นเข้าให้แล้ว เขาถูกใช้เป็นสะพานเพื่อบุกเบิกตลาดในเมืองไทยเท่านั้น และ "หลังจากนั้นเขาก็ให้มิตซุยเข้ามาเป็นตัวลุยตลาดในไทยและปรากฏบริษัทแจแปน เรดิโอ คอร์ป (เจอาร์ซี) ขึ้นมาแทน" ผู้รู้ในวงการเล่า

จากนั้นสรรก็ไม่ย่อท้อแม้จะเจ็บปวดอยู่ลึก ๆ ก็ตามกับเล่ห์เหลี่ยมของลูกพระอาทิตย์ สรรเป็นตัวแทนของมาร์โคนีของอิตาลี และที่สำคัญคือบริษัทแมคโดนัลซึ่งเขาขายดีมากจนได้โล่

ถ้าจะพูดถึงความเป็น "นักบุกเบิก" ของสรร ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือน "เดอะเฟิร์สท์ ไทคูน" อย่างสุริยน ไรวา แต่ก็นับว่าเป็น "ไพโอเนียร์" มีระดับอีกคนหนึ่ง

ประมาณปี 2520 สรรได้เป็นเอเยนต์ซูบารุ "ซึ่งขายดีมากในสมัยนั้น เป็นรถรุ่นแรก ๆ ของเมืองไทยมั้งที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า" นักเลงรถคนหนึ่งเล่า แต่เพราะว่าเขาถูกบีบให้ตั้งโรงงานประกอบรถราคาเป็นร้อย ๆ ล้าน "ผมจะไปเอาเงินขนาดนั้นมาลงได้ยังไง รถคันหนึ่งกำไรหมื่นกว่า ๆ ผมยกให้คุณถาวรไป" และถาวร พรประภาก็ไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อจากสรรอยู่นานพอสมควร

และใครสักกี่คนจะรู้บ้างว่าคนที่นำวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อโซนี่เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ๆ ก็คือ สรร และสรรนี่แหละเป็นผู้ค้าอาวุธให้กองทัพเรือยุคแรก ๆ ก่อนเนาวรัตน์ พัฒโนดมมานานมาก "แต่วงการนี้ก็อย่างที่รู้กันต้องมือถึงและอาวุธมันเอามาฆ่ากัน มันบาป ผลเลยเลิก" วิคเตอร์ อาร์มสตรอง ยี่ห้อที่เขาเป็นตัวแทนก็เปลี่ยนมือ

สรรอีกแหละที่เป็นผู้ร่วมคิดประดิษฐ์เครื่องโทรพิมพ์ไทย-อังกฤษในเครื่องเดียวกันได้ เขาคิดร่วมกับสมาน บุณยรัตพันธ์

นอกจากนี้เขายังเป็นคนเริ่มชักชวนอิสราเอลมาร่วมในโครงการอโกร-อินดัสตรี้ด้วย แต่โครงการนี้ล้มอย่างไม่น่าเป็นไปได้

โครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และธนาคารอีก 3-4 แห่ง

เป็นโครงการตั้งโรงงานปลูกผักบรรจุกระป๋อง โดยดึงเอาอิสราเอลเข้ามาถ่ายทอดโนว์ฮาว โครงการนี้ลงทุนหลายร้อยล้านบาท ถ้ามีใครบอกว่าโครงการนี้จะเจ๊งตอนนั้นคงมีคนหัวเราะจนฟันโยกแน่ ๆ

แต่โครงการนี้ล้มเพราะคน ๆ เดียวไปปลุกระดม?

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ทางโรงงานซึ่งได้ทีมงานจากอิสราเอลได้จ้างให้ชาวบ้านปลูกพืชที่ต้องการ (จังหวัดที่ว่าอยู่แถว ๆ เหนือ) โดยออกเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ทุกอย่างให้ และจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 10 บาท "แต่พอถึงเวลาจะไปรับซื้อของมาป้อนโรงงาน ชาวบ้านหาว่าเราไปหลอกเพราะราคาตลาดให้ 20 บาท เขาไม่คิดถึงทุนที่เราลงไปให้เขา โรงงานเราก็ไม่มีของป้อน หนัก ๆ เข้าก็ขาดทุน ตั้งมาสองปีขาดทุนไปหลายร้อยล้านบาท ตอนหลังมาถึงบางอ้อว่าเพราะมีคนมาปลุกระดม" สรรทวนอดีตที่เจ็บปวดให้ฟัง

เวลานั้นอยู่ในราว ๆ ปี 2516

จนปัดนี้โรงงานนี้ก็ยังอยู่ สรรว่ายังสภาพดี "ผมอยากจะให้รัฐบาลเข้าจัดการกับโครงการเพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน"

สรรเป็นคนทำอะไรจริง ๆ จัง ๆ "แตกฉานเกือบทุกเรื่องที่จับ" และเสียดายกับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชนที่รัฐบาลน่าจะเข้ามาจับ

สรรเป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับงานหรืออะไรทุกอย่างที่เขาสนใจ ถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น "ผมก็จะถามเขา ไม่กลัวคนหาว่าโง่หรอก"

แบงก์แหลมทองเป็นตัวอย่างที่ดี จริง ๆ แล้วสรรเข้ามาในแหลมทองเป็นครั้งแรกในฐานะลูกหนี้ด้วยซ้ำ แต่ก็ก้าวขึ้นมาเป็นประธานกรรมการแบงก์ที่มีปัญหาวุ่นวายมากที่สุดอย่างแบงก์แหลมทองนี้ได้ "ผมเป็นลูกค้าที่ดีมาตลอด ไม่เคยขอโอ/ดีเลย เขาก็ชวนผมซื้อหุ้น ผมก็ซื้อ แล้วก็ได้เป็นกรรมการในที่สุดเพราะเครดิตผมดี" สรรเท้าความ

จนถึงวันนี้ วันที่แหลมทองไม่มีประธานชื่อสรร วันที่อาบังเป็นใหญ่แต่สรรก็ยังเป็นประธานกรรมการบริษัทจาตุรงคอาภรณ์ (1923) จำกัด ขายอุปกรณ์โทรคมนาคม เส้นเลือดใหญ่ของเขา

เป็นประธานกรรมการบริษัทพัฒนานาฬิกา ที่ผลิตตัวเรือนให้นาฬิกาชื่อดังของสวิสอย่าง มิโด้ ฯลฯ

เป็นรองประธานอุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทยที่มีลูกเขยคนเก่งจัดการ

เป็นประธานกรรมการบริษัท จี. เอส. สตีล ที่มีสมบูรณ์นั่งเป็นแชร์แมน และยังมีหุ้นในอี๊สต์เอเชียติ๊กอีกจำนวนหนึ่ง แถมยังมีที่ดินที่นนทบุรีอีกนับร้อยไร่ ทั้ง ๆ ที่ "ผมไม่นิยมเล่นที่และเล่นหุ้น"

วันนี้ของสรรผ่านการต่อสู้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย พบกับความสำเร็จ และมีบ้างที่ล้มเหลว เพราะบางสิ่งอยู่เหนือขีดความสามารถ แต่สรรก็ยังเป็นสรร

เป็นคนรวยเงียบ ๆ อยู่เช่นเดิม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us