ภาพยนตร์ชุด "แรมโบ้" ไม่ใช่พฤติกรรมความบ้าระห่ำซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างที่บางคนเข้าใจเท่านั้น
แต่ในมุมลึกของเรื่องสะท้อนให้เราได้เห็นถึงความรัก ความมีน้ำใจ ความกล้าที่จะรับผิดชอบ
และเชื่อมั่นต่อชีวิตกับงานที่ต้องทำว่าจะต้อง "สำเร็จ"
"ซิลเวสเตอร์ สตาโลเน" สวมหัวใจบ้าบิ่นลงทุนสร้าง-เล่นเอง จนสามารถพลิกผันชีวิตดารากระจอก
ๆ ชั้นปลายแถวอย่างเขาให้กลายเป็นอภิดาราโลกและเป็นมหาเศรษฐีอีกคนหนึ่งไปในชั่วพริบตา
"แรมโบ้" ที่ผ่านมาแล้ว 2 ภาคฟันกำไรเบ็ดเสร็จถึง 9,750 ล้านบาท
ส่งท้ายปีที่ผ่านมาเขายกกองถ่ายเข้ามาปักหลักในเมืองไทยนานถึง 3 อาทิตย์เพื่อถ่ายทำตอนใหม่ของ
"แรมโบ้" จากลำพูน-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ และพักอย่างหรูหราที่ห้องโอเรียนเต็ลสูท
โรงแรมโอเรียนเต็ล (ห้องพักเดียวกับลีกวนยิว) และทิ้งเงินไว้ในเมืองไทยไม่น้อยกว่า
150 ล้านบาท
หลาย ๆ คนพลาด-เสียใจที่ไม่ได้พบเขาอย่างใกล้ชิด และ 1 ในจำนวนนั้นน่าที่จะรวม
ไชยยุทธ ตรงกมลธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก (EAC) จำกัด
ไว้คนหนึ่ง!!??
ไชยยุทธคลั่งไคล้และโปรดปราน "สตาโลเน" เอามาก ๆ เขาอาจเหมือนกันตรงที่สตาโลเนเป็นแรมโบ้นักรบหินที่ความตายต้องรอ
ส่วนไชยยุทธนั้นเขาชอบที่จะเสี่ยงและท้าทายกับงานยาก ๆ โดยไม่ใส่ใจว่าเจ็บหรือล้มเหลวนั้นเป็นอย่างไร!?
และด้วยเหตุผลนี้กระมังที่ผสมผสานกับฝีไม้ลายมือจึงทำให้คนหนุ่มวัยเพียง
35 ปีอย่างเขาได้ก้าวขึ้นถึง "ผู้อำนวยการอาวุโส" ที่มีอายุน้อยที่สุดกับเทรดดิ้ง
คัมปะนี ที่มีอายุขัยกว่าร้อยปีเช่นอี๊สต์เอเชียติ๊ก ไชยยุทธถูกเลือกให้มาคุมกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นงานใหม่ที่
EAC เข้ามาเล่นในปีที่ผ่านมา
"ผมตัดสินใจไม่นานนักเพราะงานที่เอวอน POSSIBILITY ดูแล้วมันมาถึงจุดที่เรามีโอกาสเล่นได้น้อยเสียแล้วไม่เหมือนที่อี๊สต์เอเชียติ๊ก
ซึ่งเป็นเทรดดิ้ง คัมปะนี มันมี POSSIBILITY และ POTENTIAL ที่น่าลองหลายอย่าง
ทางบ้านผมก็เห็นดีบอกว่าไปเลย ผมมันคนชอบทำอะไรบ้าบิ่น ท้าทายอยู่แล้ว เอ้ามาก็มา"
เขาคุยกับ "ผู้จัดการ" ถึงการผละจากเอวอนมาสู่อี๊สต์เอเชียติ๊ก
ไชยยุทธเข้ามาแทนในตำแหน่งของสุภัทร ตันสถิติกร ผู้อำนวยการอาวุโสคนเดิมที่เป็นคนก่อตั้งแผนกสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นมาอย่างจริงจัง
(สุภัทร ไปรับตำแหน่งสูงขึ้นที่สิงคโปร์) และนี่เป็นงานหนักอีกชิ้นหนึ่งของไชยยุทธนอกจากการพิสูจน์ฝีมือให้บริษัทได้เห็น
"คุณสุภัทรแกวางฐานไว้ดี ผมคงต้องทำให้ดีขึ้นหรือไม่ก็ไม่เลวไปกว่าเดิม"
ไชยยุทธนั้นเคยตั้งความหวังไว้ว่าเมื่ออายุ 35-36 ปีควรเป็นวัยที่คนเราน่าจะก้าวขึ้นสู่
MANAGEMANT ขององค์กร ถึงวันนี้เขาทำได้แล้ว เป็นจริงเพราะความเชื่อมั่นในตนเอง
และตัวนี้ล่ะที่บอกกับเขาว่า "ปีหน้าคุณจะต้องใช้กับมันมาก ๆ"!?
ตามที่คาดหมายเชื่อว่าปี 31 จะเป็นปีเผด็จศึกทางการตลาดที่ดุเดือดที่สุด
เพราะมีข่าวว่ายักษ์ใหญ่สินค้าคอนซูเมอร์ทั้งหลายอยากจะ "แห่"
กันมายึดเมืองไทยเป็นสนามประลองยุทธ์ที่น่าสนใจมากที่สุด ที่เริ่มชักแถวเข้ามาแล้วก็เห็นมี
พีแอนด์จี, อเมริกันแบรนด์ บีพี. ส่วน MARKET LEADER เก่า ๆ ไม่ว่าจะเป็นลีเวอร์
คอลเกต สหพัฒน์ เบอร์ลี่ ฯลฯ ต่างก็จัดทัพพร้อมรับมืออย่างขมีขมัน!!
ทั้งที่ใหญ่อยู่แล้วและที่คิดจะมาใหญ่ เปรียบเทียบกันไปแล้ว EAC ค่อนข้างใหม่และอ่อนในเชิงสินค้าประเภทนี้มากกว่าใคร
ๆ EAC โดดเข้ามาเล่นสินค้าในไลน์เวชภัณฑ์และกลุ่มอาหารเป็นกำลังหลักพื้นฐานโดยเป็น
DISTRIBUTOR ให้กับช็อกโกแลต M&M และน้ำส้มสายชูกลั่น
แต่ถึงจะใหม่ในสินค้าสายนี้ทว่าด้วยศักดิ์ศรีของ EAC ที่สำนึกเสมอว่า "ประเทศไทยนั้นคือเกียรติภูมิของบริษัท
เป็นแม่แบบของสาขาต่าง ๆ ระดับใหญ่ของบริษัทแม่ต้องผ่านงานที่นี่มาก่อน"
จึงทำให้ EAC และไชยยุทธคนที่ชอบทำอะไรเสี่ยง ๆ เดินหน้าอัดฉีดพลังอย่างเต็มที่
ด้วยการตั้งทีมขายมากถึง 30 คน และมีรถหน่วยสินค้าถึง 11 คัน
เทียบกับบริษัทเก่า ๆ บางแห่งแล้วยังมีไม่ถึงขั้นนี้-สงครามใหม่ของ EAC
จะแพ้ไม่ได้!?
ไชยยุทธบอกว่าปีหน้าเขาจะต้องสร้างแผนกคอนซูเมอร์ขึ้นมาอย่างจริง ๆ จัง
ๆ และสำทับอย่างมั่นใจเหลือล้นว่าจะต้องทำรายได้ให้กับบริษัทฯ ไม่น้อยกว่า
100 ล้านบาท "ผมดูจากทิศทางเศรษฐกิจ ศักยภาพในตัวสินค้า และทีมงานที่เราดึงมาจากค่ายต่าง
ๆ แล้วเชื่อว่าต้องทำได้ ผมรับปากกับนายใหญ่ไว้แล้วจะต้องทำให้มันเป็นจริง"
แรมโบ้คนใหม่ของ EAC กล่าวอย่างไม่สะท้านยักษ์ใหญ่ใด ๆ
เขาเชื่อว่าทั้งตัวเขาและ EAC ยังไม่ช้าเกินไปที่เลือกเดินทางสายนี้!!!
แต่เป้าหมายหลักจริง ๆ ของไชยยุทธและ EAC นั้นเขากระซิบให้ฟังว่า อนาคตของที่ผมจะเสนอก็คือ
หนึ่ง-ร่วมลงทุนกับบริษัทชั้นนำต่างประเทศในเมืองไทย สอง-ทำสงครามการขยายตัวแบบรวบรัดด้วยการเข้าไปครอบครองกิจการ
(ACQUISITION) บางแห่ง
เขากำลังศึกษางาน 2 แนวทางนี้อย่างเงียบ ๆ ลึก ๆ โดยเฉพาะการครอบครองกิจการนั้นเป็นทางเลือกที่ไชยยุทธบอกว่า
"มันน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด"!!
ไดอารี่ชีวิตคนหนุ่มเช่นเขาเคยบันทึกความทรงจำดีงามไว้แล้ว 2 เหตุการณ์คือ
หนึ่ง-การเป็นนักเรียนทุน เอ.เอฟ.เอส. สอง-การเข้ามีส่วนร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในกรณี
14 ตุลาคม 2516 ในฐานะนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และแม้ว่าเขาจะเคยผ่านงานสำคัญ ๆ มาแล้วกับหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า
นิรมิตสากล กมลสุโกศล จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อเมริกันเอ็กซ์เพรส หรือเอวอน
ทว่าย่างก้าวที่ผ่านมาเหล่านั้นยังดูเป็นเรื่องปกติ บันทึกเหตุการณ์สำคัญ
ๆ ในชีวิตครั้งที่ "สาม"-สำหรับเขานั้นกำลังรอการพิสูจน์อยู่แล้วในอนาคตอันใกล้กับอี๊สต์เอเชียติ๊ก
เขาเคยแต่ลักยิ้มข้างเดียว คงมีสักวันให้ลักยิ้มได้สองข้างเสียที!!!