บีเอ็มดับเบิลยู เกหมดหน้าตักทับคู่แข่ง ประกาศส่งรถลุยทุกเซ็กเมนท์ ทั้งรุ่นประกอบใน และนำเข้า สร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องยนต์ดีเซลหวังไล่บี้ผู้นำตลาดในเวลานี้หลังพบตัวเลขขายเติบโต 26%สวนเศรษฐกิจปีที่แล้ว เบนซ์ตั้งป้อมรับมือเปิดไลน์ผลิต S-Class รับมือซีรี่ส์ 7 ใหม่ รถในเซ็กเมนท์รถนั่งหรูขนาดใหญ่
ปี 2551 เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดรถยนต์ระดับหรูในทุกเซ็กเมนท์ ไม่ว่าจะเป็น C-Class รถยนต์นั่งขนาดเล็กทำยอดจำหน่ายได้ 1,714 คัน ตามด้วย E-Class ทำยอดได้ 1,512 คัน และ S-Class เซ็กเมนท์รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ ทำยอดจำหน่ายได้ถึง 467 คัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 58.1 %, 59.2 % และ 72.1 % ตามลำดับ
ศ.ดร. อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์ ประธานบริหาร บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ระบุว่า “จากยอดจำหน่ายที่ผ่านมา บริษัทฯ ถือว่าประสบความสำเร็จและพอใจผลประกอบการที่ได้ โดยบริษัทฯยังคงสามารถรักษาความเป็นที่หนึ่งในตลาดรถหรูได้ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั้นชะลอตัว”
ในปี 2551 เมอร์เซเดส-เบนซ์ประสบผลสำเร็จในการแนะนำยนตรกรรมรุ่นใหม่ ๆสู่ตลาดหลากหลายรุ่น อาทิ C-Class โฉมใหม่, CLC-Class Sport Coup?, the new generation SL 350 และ the new generation SLK 200 สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายกับทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค พร้อมมั่นใจว่าจะยังคงรักษาตำแหน่งนี้ไว้ได้ในปี 2552 ได้อีกด้วย
โดยปีนี้ เบนซ์มีแผนจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น เริ่มจากไตรมาสแรกของปี 2552 จะมีการนำเปิดตัวรุ่น E 220 CDI Classic, E 230 2.5 Sports Premium Edition และ ML 280 CDI Sports new generation นอกจากนี้ยังประกาศเปิดไลน์ประกอบรถยนต์ S-Class ในประเทศไทย อีกด้วย
การครองแชมป์ยอดขายตลาดรถหรู.ในทุกเซ็กเมนท์ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ค่ายบีเอ็มดับเบิลยู คู่แข่งจากเยอรมันนี ต้องปรับแผนผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรุกไล่ผู้นำตลาดโดยตลอด และบาง ช่วงปีบีเอ็มฯสามารถทำยอดขาย แซงหน้าเบนซ์ในบางเซ็กเมนท์ ได้เช่นกัน
ในปี 2552 นี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มีแผนจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อีกหลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ย์ 7 ซีดานรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในต่างประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในเซ็กเมนท์ดังกล่าว บีเอ็มฯเคยประสบความสำเร็จด้านยอดขาย จนสามารถขึ้นนำเบนซ์ได้สำเร็จมาแล้ว แต่ในช่วงปลายโมเดล เบนซ์ก็สามารถโต้กลับด้วย S-Class รุ่นใหม่ จนสามารถตรองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 72.1% ซึ่งการเปิดไลน์ผลิตในประเทศครั้งนี้จะส่งผลให้ราคาของ S-Class มีราคาที่ต่ำลงกว่าคู่แข่ง ที่กำลังจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในเซ็กเมนท์เดียวกัน
การเปิดตัวซีรี่ส์ 7 ใหม่ ในเมืองไทยจึงเป็นเป้าหมายแรก ที่บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จะต้องชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาอยู่ในมือให้ได้ ซึ่งด้านผลิตภัณฑ์นั้น บีเอ็มฯ ซีรี่ส์ 7 ถือว่ามีภาพลักษณ์ เทคโนโลยี และคุณภาพ ทัดเทียมกับ S-Class ได้ทัดเทียมกัน และเป็นที่ยอมรับของตลาดรถหรูระดับบนอยู่แล้ว
มิคาเอล คอร์ดิส ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย บอกว่า ปี 2552 ยังคงจะเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก แต่บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ก็เตรียมพร้อมรับมือ ในด้านของอุตสาหกรรมรถยนต์ จะต้องเตรียมความพร้อมในการตอบรับกับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค สถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันในปีที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของประสิทธิภาพเครื่องยนต์ การประหยัดน้ำมัน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นตรงกับที่ทางบีเอ็มดับเบิลยูได้เล็งเห็นมาก่อน
สำหรับยอดขายของปีที่ผ่านมานั้น เราสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 28% ในกลุ่มระยนต์นั่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถเพิ่มยอดขายคือ เรื่องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเช่น เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี EfficientDynamics ที่มีชื่อเสียงของบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดน้ำมัน เพิ่มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดการคายก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ด้วย
นอกจากบีเอ็มฯ ซีรี่ส์ 7 ใหม่แล้ว ปีนี้จะมีการเปิดตัวรถใหม่อีกหลายรุ่น ทั้งรุ่นประกอบในประเทศและ รถยนต์นำเข้า ได้แก่ ซีรี่ย์ 3 ซีดาน, รถในเซ็กเมนท์ สปอร์ต Z4 โรสเตอร์ และ ซีรี่ย์ 1 คูเป้ ในส่วนของมินิจะมีการเปิดตัว มินิ คอนเวิร์ททิเบิล และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูจะมีการนำรุ่น HP2 สปอร์ต เข้ามาจำหน่าย
ทั้งนี้ผลจากการปรับแผนผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำเข้ารถยนต์บางเซ็กเมนท์เมื่อปีที่ผ่าน ทำให้บีเอ็มสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น และทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์เข็มแข็งขึ้นด้วย และยังทำให้มีความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์กับคู่แข่งได้อีกด้วย ซึ่งน่าจะมีส่วนทำให้ยอดขายของบีเอ็มดับเบิลยูในปีที่ผ่านเติบโตมากกว่าคู่แข่งด้วย
|