ปัจจุบันยอดนักท่องเที่ยวเยือนฮ่องกงตลอดปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 29,506,616 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งมียอดนักท่องเที่ยว 28.17 ล้านคน คิดเป็นอัตราเติบโต 4.7% จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดนักท่องเที่ยวไทยเยือนฮ่องกงในปี 2551 เติบโตขึ้นจากปี 2007เล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 4.2%
ขณะเดียวกันตลาดที่มีการเติบโตนำโด่งตลาดภูมิภาคอื่นๆ คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเยือนฮ่องกงทั้งสิ้น 16,862,003 คน สูงกว่าปี 2550 ถึง 8.9% และคิดเป็นสัดส่วน 57.1% ของยอดนักท่องเที่ยวเยือนฮ่องกงในปี 2551 ทั้งหมด ในขณะที่ตลาดภูมิภาคอื่นๆโดยรวมมียอดนักท่องเที่ยวทั้งสิ้นประมาณกว่า 12,644,613 คน ลดลง 0.3% โดยเฉพาะตลาดระยะไกล
การโหมประชาสัมพันธ์กระหึ่มไปทั่วทั้งเอเชียว่าจะยึดโซนแถบอาเซียนและเอเชียของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิกเริ่มปลุกกระแสการแข่งขันด้วยดีกรีที่ร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะการหั่นราคาตั๋วลงถึง 50%ในช่วงเวลาแบบนี้ เนื่องจากคาเธ่ย์มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานที่มั่นทางการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด
หลังจากที่คู่แข่งขันอย่างแอร์เอเชียที่นำโลว์คอสต์แอร์ไลน์บินเข้ามายังไทย ด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-300 ขนาด 148 ที่นั่ง นำร่องเปิดให้บริการใน 2 เส้นทางจากนั้นก็เพิ่มทั้งฝูงบินใหม่อย่าง แอร์บัส A320 เข้ามาพร้อมกับขยายเส้นทางบินไปเรื่อยๆตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลักจนกระทั่งล่าสุดมีเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ด้วยการวางตำแหน่งทางการตลาดในราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือต่ำกว่าราคาตลาดที่สายการบินนานาชาติบินกันอยู่
และด้วยโครงสร้างราคาตลาดที่วางไว้ถึง 11 ราคาของแอร์เอเชีย ซึ่งจะมีราคา สูง-ต่ำแตกต่างกันประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับใครจองก่อน ขณะเดียวกันก็เน้นตัวโปรดักส์ในเครื่องบิน เก้าอี้สบาย มีเทคโนโลยีสมัยใหม่
ด้วยจุดขายนี้เองส่งผลให้ผลประกอบการของ "แอร์เอเชีย"เติบโตแบบดีวันดีคืนสามารถสร้างเม็ดเงินกำไรเข้าสู่บริษัทได้เป็นอย่างกอบเป็นกำ จนทำให้คู่แข่งขันในวงการธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเกิดการขยายตัวเปิดให้บริการกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศที่นับวันจะมีการขยายตัวและแข่งขันกันมากขึ้น
ผลกระทบจะตกมาที่สายการบินที่มีต้นทุนสูง แม้ว่าผู้ประกอบการหลายค่ายของแต่ละสายการบินดังกล่าวจะออกตัวว่าลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกันก็ตาม แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนแบบนี้อาจส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้โดยสารเปลี่ยนแนวคิดและเริ่มหันไปใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
สอดคล้องกับสายการบินเจ็ตสตาร์ที่เดินหน้าขยายบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศหวังตอบรับความสำเร็จจากการเปิดให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลในปีแรก ด้วยการเปิดแคมเปญคืนเงินส่วนต่าง 2 เท่าหากมีสายการบินอื่นเปิดจองที่นั่งบนเว็บไซต์ในราคาที่ต่ำกว่าที่สำคัญสายการบินเจ็ตสตาร์มีการเติบโตมากกว่า 3 เท่าหลังจากเริ่มเปิดดำเนินการด้วยการเป็นสายการบินภายในประเทศออสเตรเลียเมื่อ 3 ปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกเกือบ 10 เท่าในปี 2553/2554 และในปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมา เจ็ตสตาร์ให้บริการรับส่งผู้โดยสารไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 7.6 ล้านคน
ขณะที่ แอร์เอเชีย มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ออกมาอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นสายการบินที่มีค่าโดยสารราคาประหยัดรายแรกของโลก โดยเฉพาะการเปิดบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งในระยะใกล้และไกลเพียงเพื่อหวังกินรวบตลาดทั้งหมดให้มาอยู่ในมือมากที่สุดนั่นเอง
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเส้นทางระยะไกล แอร์เอเชีย ดึงเอา "เวอร์จิ้น บลู" เข้าถือหุ้นส่วนถึง 20% พร้อมตั้งเป้าบุกเบิกธุรกิจโลว์คอสต์เจาะตลาดบินระยะไกลชนิดข้ามทวีป โดยมีเส้นทางนำร่อง กัวลาลัมเปอร์-ออสเตรเลีย พร้อมกับงัดกลยุทธ์เดิมดั๊มฟ์ราคาตั๋วโปรโมชั่นจูงใจนักเดินทางลดลงเหลือเพียง 900-19,000 บาทและใช้ฝูงบินก่อนเพียง 1 ลำ ขณะเดียวกันก็มีการสั่งซื้อฝูงบินแอร์บัส A330-300s ใหม่ 15 ลำ ไว้รองรับการขยายเส้นทางตลาดระยะไกลในทันที
แม้แต่ตลาดจีนก็ไม่อาจมองข้ามแถมยังเป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ที่เดินทางไปทั่วโลกของสายการบินคาเธ่ย์ด้วยเช่นกัน ล่าสุด แอร์เอเชียมีแผนพร้อมจะเปิดเพิ่มเส้นทาง หางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หวังเชื่อมเครือข่ายตลาด แอร์เอเชียเพื่อหวังจะเจาะเข้าสู่ออสเตรเลีย ว่ากันว่านี่คือการวางตำแหน่งทางการตลาดของ แอร์เอเชีย เพื่อให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำอย่างแท้จริง เปิดให้บริการบินระยะใกล้หรือไกลเป็นรายแรก ขณะที่เดียวกันก็ใช้ อิมเมจของ เวอร์จิ้น บลู ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของแอร์เอเชีย ในตลาดโลก รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธ์กับสนามบินนานาชาติ
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิก ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนต้องออกมาเปิดเกมรุกทางการตลาดด้วยการสร้างสงครามดัมพ์ราคาค่าโดยสารชนิดที่ถูกที่สุดในรอบหลายปีสั่นสะเทือนวงการธุรกิจการบิน
สอดคล้องกับ ยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำประเทศไทยและพม่า สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่ออกมายอมรับว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ปี 2552 เป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน ส่งผลทำให้แต่ละสายการบินมีการแข่งขันกันสูงขึ้น และต้องคิดกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ อีกทั้งปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
"ในปีนี้ เป้าหมายของสายการบินคือ ขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ฮ่องกงเป็นฮับ หรือเป็นศูนย์กลางการให้บริการทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก" ยงยุทธ กล่าว
ความร้อนแรงในช่วงไตรมาสแรกของปี 52 สายการบิน คาเธ่ย์ฯ ได้ออกแคมเปญกระตุ้นตลาดด้วยตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด ส่วนช่วงไตรมาส 2-4 ของปีนี้เชื่อว่าจะมีการประเมินสถานการณ์จากไตรมาสแรกเพื่อจัดทำโปรโมชั่นและแพ็คเกจทัวร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันแผนการตลาดในปี 2552 ของคาเธ่ย์ฯ จึงมีการวางแผน ทั้งด้านการกระตุ้นตลาดและการควบคุมค่าใช้จ่าย เริ่มจากกลยุทธ์แรก คือ ลดราคาค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) ให้เหมาะสมในทุกเส้นทาง เพื่อหวังจูงใจให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการเริ่มปรับราคารอบใหม่ไปแล้วเมื่อต้นปีนี้ ในเส้นทางที่ทำโปรโมชั่นไปยังจุดหมายต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ - ฮ่องกง เริ่มต้นเพียง 6,100 บาท กรุงเทพฯ - สิงคโปร์ เริ่มต้นที่ 3,500 บาท กรุงเทพฯ - ปักกิ่ง เริ่มต้นที่ 9,000 บาท หรือ กรุงเทพฯ - โอซาก้า เริ่มต้นที่ 11,600 บาท ทวีปยุโรป เส้นทางกรุงเทพฯ - ลอนดอน เริ่มต้นที่ 23,100 บาท และทวีปอเมริกา เส้นทางกรุงเทพฯ - ลอส แองเจลิส เริ่มต้นที่ 25,200 บาท เป็นต้น โดยทุกเส้นทางจะถูกเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง
ในขณะเดียวกันการเพิ่มเส้นทางบินตามความต้องการของผู้โดยสารก็กลายเป็นเรื่องที่ สายการบินค่าเธ่ย์ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยล่าสุดมีแผนที่จะขยายเส้นทางบินกรุงเทพ - เดลี ให้บริการทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม เป็นต้นไป ขณะที่เส้นทางบิน กรุงเทพฯ-ฮ่องกง ยังคงใช้บริการสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค และหันไปเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปภูเก็ต โดยสามารถบินตรงจากภูเก็ต ไปยังฮ่องกง โดยสารการบินด้วย ดราก้อนแอร์
นอกจากนี้การเพิ่มบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนไทยยังคงเป็นแผนการที่ถูกวางไว้เช่นกัน ว่ากันว่าลูกเรือที่ประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ มีความพร้อมที่จะให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป รวมถึงการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และเส้นทางที่เพิ่มขึ้น
การปรับตัวเพื่อรองรับตลาดใหม่ๆยังคงเป็นแนวนโยบายที่สายการบินฯมีความต้องการไม่แพ้ตลาดหลักๆที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงภาวะการแข่งขันทางธุรกิจการบินที่ค่อนข้างรุนแรงภายในแรงกดดันรอบข้างส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายที่ถูกเลือกจากค่าเธ่ย์ฯจะโฟกัสมุ่งเน้นไปที่ตลาดลูกค้ากลุ่มองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก
"วิธีนี้จะเน้นขยายช่องทางการขาย เพิ่มบริการออนไลน์ที่เรียกว่า Small Business Solutions และได้วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการออนไลน์ให้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้" นายยงยุทธ กล่าว
ขณะเดียวกัน แอร์เอเชียมีแผนที่จะเปิดข่ายการบินแบบโลว์คอสต์เชื่อมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ในภูมิภาคนี้น่าทึ่งจริงๆ หากใครเดินเกมไม่ทันก็จะกลายเป็นผู้ตามทันที
ว่ากันว่าแผนการจัดตั้งสายการบินโลว์คอสต์แห่งที่ 2 นี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสายการบินในภูมิภาคเอเชีย ที่เชื่อมปลายทางต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเปิดตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียแน่นอนที่สุดย่อมส่งผลให้การบินโลว์คอสต์เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
สังเกตได้ว่าการรุกคืบของแอร์เอเชีย จะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนจากออสเตรเลียในแปซิฟิกแอร์ไลน์โดยตรง ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น การปรากฏตัวของฮับการบินเอเชียแห่งที่ 2 ของ แอร์เอเชีย ในเวียดนามยังจะส่งผลโดยตรงถึงสายการบินแห่งชาติเวียดนามแอร์ไลน์สอีกเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการครอบครองเส้นทางหลักภายในประเทศ ที่ล้วนเป็นเส้นทางทำกำไรแทบทั้งสิ้น
จึงไม่แปลกที่ แอร์เอเชียมีการประกาศขยายเส้นทางใหม่จากไทยและมาเลเซียไปยังฮ่องกง เนื่องจากปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องบินใช้งานจำนวน 50 ลำ เป็นเครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 15 ลำ กับ โบอิ้ง737-300s อีก 35 ลำ แต่เมื่อปี 2548 บริษัทแม่แอร์เอเชียในมาเลเซียได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องแอร์บัส A320 ล็อตใหญ่จำนวน 150ลำ ทั้งหมดมีกำหนดจะขึ้นบินได้ในปี 2552
การสั่งซื้อครั้งใหม่นี้จะทำให้แอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชย มีเครื่องบินรวมประมาณ 200 ลำมากกว่าสายการบินขนาดใหญ่ในเอเชียทุกสายในปัจจุบัน และยังเป็นสายการบินที่มีเครื่องแอร์บัส A320 ในฝูงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งท้ายที่สุดว่ากันว่าแอร์เอเชียอาจจะใช้ฐานในเวียดนาม เปิดบินเชื่อมปลายทางต่างๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย
โมเดลการตลาดที่แยบยลเต็มไปด้วยสงครามหั่นราคาตั๋วโดยสารสำหรับเส้นทางระยะไกลข้ามทวีปแบบนี้ กอปรกับแนวคิดที่จะหาวิธีช่วงชิงลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการให้มากที่สุดจึงต้องจับตาดูว่า ระหว่างโลว์คอสแอร์ไลน์อย่าง แอร์เอเชีย กับสายการบินยักษใหญ่อย่าง คาเธ่ย์ แปซิฟิก ทั้งสองแห่งพร้อมที่จะเติมดีกรีเพิ่มความร้อนแรงในสนามแข่งขันทางธุรกิจการบินเพื่อหวังจะสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม!..ได้หรือไม่?...ต้องติดตาม
|