Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์2 กุมภาพันธ์ 2552
ยุทธศาสตร์สงครามโรงหนัง เมื่อยักษ์เล็ก SF สบช่องบี้ยักษ์ใหญ่ Major             
 


   
www resources

โฮมเพจ เมเจอร์ซินีเพล็กซ์

   
search resources

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, บมจ.
เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้, บจก.
Theatre




* คู่กัดธุรกิจโรงหนังบี้กันดุเดือด ต่างจากภาพส่วนแบ่งตลาดที่ห่างกันสุดขั้ว
* ยักษ์ใหญ่เมเจอร์ฯ เดินหน้าขยายสาขาแนวราบ หวังแผ่ตลาดไปทั่วประเทศ
* ยักษ์เล็ก SF ได้ที จับมือเซ็นทรัล เลือกเจาะตลาดหลัก ชิงเค้กก้อนใหญ่ในพื้นที่

แม้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยวันนี้ มีภาพที่เห็นกันว่า เหมือนเป็นอีกธุรกิจที่มีการผูกขาดของเจ้าตลาด ภายหลังจากยักษ์ใหญ่อันดับ 1 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้คู่แข่งรายสำคัญ อีจีวี เข้ามาผนวกธุรกิจตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์ ราว 4,000-5,000 ล้านบาท กลุ่มเมเจอร์ฯ มีสูงถึง 80% ในวันนั้น ปล่อยให้ผู้ตามมาอย่าง เอสเอฟ ซีเนม่า, เมเจอร์ ฮอลลีวู้ด, นิวเวิลด์, ยูเอ ฯลฯ แบ่งส่วน 20% ที่เหลือ

ความยิ่งใหญ่ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในวันนี้ ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 4 แบรนด์หลัก เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, อีจีวี ซีนีม่า, พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และเอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รวม 38 สาขา 310 โรง 75,200 ที่นั่ง ตั้งอยู่ทั้งในรูปแบบสแตนด์อะโลน และภายในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ

นอกเหนือจากโรงภาพยนตร์ที่มีหลากหลายรูปแบบ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ทั้งโบว์ลิ่ง แบรนด์เมเจอร์ โบว์ฮิต และบลูโอ ริทึ่มแอนด์โบว์, คาราโอเกะ เมเจอร์ คาราโอเกะ, สเก็ตน้ำแข็ง ซับซิโร่ รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์, แมคโดนัลด์ และไทยทิกเก็ต เมเจอร์

แต่ความยิ่งใหญ่เช่นนี้ ก็ยังมีช่องว่าง ให้คู่แข่งที่ตามมาห่างๆ อย่าง เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ยักษ์ใหญ่จากภาคตะวันออก เจาะตลาดให้เป็นหมายเลข 2 ที่มีความเข้มแข็งในวันนี้ได้

เอสเอฟ ซีนีม่า ซิตี้ เข้ามาปักหลักรุกตลาดโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง ตั้งแต่ปี 2542 ยุคที่โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์เติบโตขึ้นจากการจุดประกายของค่ายอีจีวี ช่วงเวลานั้นเกิดผู้ประกอบการทั้งในไทยและต่างชาติ โดดเข้ามาในธุรกิจหลายราย ซึ่งแนวคิดในการเปิดสาขาโรงภาพยนตร์ของเอสเอฟฯ ต่างจากแนวทางของเมเจอร์ฯ ในยุคแรกโดยสิ้นเชิง ขณะที่เมเจอร์ฯ ใช้ความแข็งแกร่งของตนสร้างโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน แต่เอสเอฟฯ เลือกที่จะสร้างโรงหนังอยู่ภายในศูนย์การค้าแบรนด์ใหญ่ อย่าง เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ และมาบุญครอง เท่านั้น

แนวคิดผูกพันธมิตรกับศูนย์การค้าแบรนด์ใหญ่นี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เอสเอฟฯ ผ่านพ้นสถานการณ์ล่มสลายของธุรกิจโรงหนังในช่วง 5-6 ปีก่อนที่ทำให้โรงภาพยนตร์แบรนด์เล็กหลายรายล้มหายไปได้เท่านั้น หากแต่วันนี้ เอสเอฟ ซีนีม่า ซิตี้ กลับมีการเติบโตด้วนส่วนแบ่งตลาดที่สูงขึ้นถึงกว่า 30%

อะไรคือช่องว่างที่ทำให้เอสเอฟฯ ยืนอยู่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างมั่นคงได้

2 ค่ายขยายต่างขั้ว เมเจอร์ฯ วิ่งหาโลตัส -SF เกาะเซ็นทรัล

หากมองถึงแนวทางการขยายสาขาของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จะเห็นว่า ผู้นำในตลาดโรงภาพยนตร์ มุ่งในการขยายสาขาในแนวกว้าง เน้นการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศด้วย 4 โมเดล ประกอบด้วย โมเดลสแตนด์อะโลน, โมเดลการขยายสาขาในศูนย์การค้า, โมเดลการขยายสู่ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ซึ่งมีสยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ และโมเดลขยายสาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะเทสโก้ โลตัส ทำให้ปัจจุบันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีสาขามากกว่าเอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ อยู่ถึง 3 เท่า

วิชา พูนวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการขยายสาขาของเมเจอร์ฯ ในปีนี้ว่าจะเน้นการขยายสาขาไปกับไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้ โลตัส ให้มากขึ้น และมุ่งไปในสาขาต่างจังหวัด โดยเน้นในสาขาที่มีลักษณะเป็นช้อปปิ้งมอลล์ และมีศักยภาพในการทำรายได้ค่อนข้างสูง ที่ผ่านมา เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีการเปิดสาขาในเทสโก้ โลตัส ไปแล้ว ประกอบด้วย บางกะปิ, สมุย พิษณุโลก, กระบี่, เพชรบูรณ์, ศาลายา บ้างโป่ง และศรีนครินทร์ รวมไปถึงในบิ๊กซี อ้อมใหญ่, นวนคร, นครสวรรค์, ฉะเชิงเทรา และธัญบุรี ส่วนในปีนี้จะมีการขยายเปิดโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ ขึ้นที่บริเวณเทสโก้ โลตัส รัตนาธิเบศร์ รวมถึงภายในพื้นที่ของเทสโก้ โลตัส พระราม 4 รวมทั้งสิ้นมากกว่า 30 โรง

"การขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์ออกสู่ต่างจังหวัด นอกเหนือจะสร้างการเติบโตให้กับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์แล้ว ยังเป็นการสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพราะปัจจุบันกำลังซื้อของผู้ชมในต่างจังหวัดถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพไม่แพ้ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทยที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูง หากจังหวัดต่างๆ มีโรงภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ผู้ชมภาพยนตร์มากขึ้นด้วย ผลที่ตามมาคือผู้ผลิตภาพยนตร์ก็จะมีกำลังใจในการลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยต่อไป" วิชากล่าว

ขณะที่เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ในวันนี้มีโรงภาพยนตร์อยู่ 15 สาขา จำนวนโรง 130 โรง สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด กล่าวว่า แนวทางการขยายสาขาของเอสเอฟฯ จะมองที่พื้นที่เป็นหลักว่ามีศักยภาพในการทำตลาดหรือไม่ ไม่เน้นที่จะขยายสาขาให้มากเหมือนที่เมเจอร์ฯ ทำอยู่ ซึ่งแนวคิดของเอสเอฟฯ นี้ เมื่อได้กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ก็ทำให้การขยายสาขาไปกับเซ็นทรัลในแต่ละครั้งสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะประสบความสำเร็จ

"การที่เอสเอฟฯ ลงทุนไปกับเซ็นทรัล ทำให้มั่นใจได้ว่าเรามีโอกาสเติบโตแม้สภาพเศรษฐกิจอาจไม่ดี แต่เซ็นทรัลจะเป็นใบเบิกทางให้ เพราะเขาลงทุนแต่ละครั้งเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท ทำให้เรามั่นใจว่าเขาเจาะตลาดไม่พลาดแน่"

สุวิทย์กล่าวต่อว่า เมื่อได้ทำเลที่ถูกต้อง ประกอบกับการบริหารจัดการโรงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ การลงทุนสร้างโรงหนังที่มีมาตรฐาน การตกแต่ง และการบริการที่ทำให้ให้ลูกค้าเชื่อมั่น สร้างคุณค่าของแบรนด์เอสเอฟฯ ในใจลูกค้า ทั้งการเป็นโรงภาพยนตร์หรูหรากว่า และมีจำนวนโรงมากกว่า ระดับ 8-10 โรง

แนวทางการสร้างโรงภาพยนตร์ที่เน้นคุณภาพของเอสเอฟฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางของศูนย์การค้าที่ร่วมเป็นพันธมิตรอย่างเซ็นทรัล รวมไปถึงเดอะมอลล์ ที่เจาะตลาดกลางถึงบน การขยายสาขาจะเน้นความยิ่งใหญ่ในทำเลที่ตั้ง ทำให้เอสเอฟฯ สามารถยกระดับคุณภาพของโรงภาพยนตร์ให้อยู่ในใจลูกค้าได้

ต่างไปจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งระยะหลังมุ่งขยายไปกับไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นตลาดกลางลงไปล่าง การนำโรงภาพยนตร์เข้าไปฝังตัวอยู่ภายในเทสโก้ โลตัส หรือบิ๊กซี ส่วนใหญ่มีโรงภาพยนตร์เพียง 5-7 โรง เจาะลูกค้าระดับกลางถึงล่าง แม้จะเป็นแนวทางที่ทำให้การขยายตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่กลุ่มเหล่านี้ก็เสี่ยงกับปัญหาการหันไปบริโภคสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งแผ่นผี หรือเคเบิลทีวีท้องถิ่นเถื่อน ค่อนข้างสูง

แจ้งวัฒนะ - ราชดำริ ถึง สยาม 2 จุดยุทธศาสตร์ SF เจาะ เมเจอร์

แม้วันนี้ ส่วนแบ่งตลาดโรงภาพยนตร์ของ 2 ค่ายผู้นำ จะห่างกันครึ่งต่อครึ่ง แต่แนวทางการขยายโรงภาพยนตร์ของทั้ง 2 ค่าย ดังกล่าว ทำให้แนวรบในทุกจุดที่เอสเอฟฯ ขยายเข้าไป มีสีสันต์การแข่งขันที่น่าสนใจ หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่ดุเดือดอยู่ในขณะนี้ ต้องลงไปดูที่ถนนแจ้งวัฒนะ

แจ้งวัฒนะ คือ ถนนเศรษฐกิจเส้นดาวรุ่งของวันนี้ พื้นฐานของผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ คือ ผู้มีรายได้ระดับค่อนข้างสูง ที่กระจายอยู่ทั้งบนถนนแจ้งวัฒนะ ย่านประชานิเวศน์ เมืองทองธานี ติวานนท์ ไปจนถึงวิภาวดีรังสิต รวมไปถึงกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ของกระทรวงหลากหลาย ทั้งยุติธรรม กลาโหม ไอซีที ศูนย์ราชการแห่งใหม่ และที่ตั้งขององค์กรใหญ่ อย่าง ทีโอที และCAT

แต่โรงภาพยนตร์กลุ่มแรกที่เข้าไปปักหลักเก็บรายได้บนถนนเส้นนี้ กลับเป็นกลุ่มเมเจอร์ ฮอลลีวู้ด ซึ่งเปิดโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน 7 โรง อยู่ในย่านห้าแยกปากเกร็ด ที่ความหรูหราจะน้อยกว่า จนดูเหมือนเป็นโรงหนังที่เจาะตลาดล่างในย่านนั้นในวันนี้

จนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขยับเข้ามาพร้อมกับการเปิดคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ของกลุ่มสยามฟิวเจอร์ฯ ในชื่อ The Avenue ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบนอย่างชัดเจนแห่งแรกบนถนนเส้นนี้ หากมองถึงศูนย์การค้าที่เปิดมาก่อนหน้า ทั้งเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, คาร์ฟู หรือแมคโคร

แม้จะดูเป็นการลงทุนที่ใช้ความแข็งแกร่งของ 2 องค์กรใหญ่ อย่างสยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป แต่เมื่อมองถึงขนาดของ The Avenue ที่มีพื้นที่เพียง 8 ไร่ และสร้างอยู่ภายใต้รูปแบบเดียวกันของทุกโครงการของสยามฟิวเจอร์ คือ อาคารศูนย์การค้าสูงในระดับ 4-5 ชั้น ทำให้เมเจอร์ฯ สามารถสร้างโรงภาพยนตร์รองรับความต้องการของผู้ชมได้เพียง 5 โรง 1,000 ที่นั่ง ทำให้บางทีอาจดูเหมือนการผูกพันธมิตรดิวนี้ พลิกให้เมเจอร์ฯ กลับเสียเปรียบคู่แข่งด้วยซ้ำ

ต่างจากเอสเอฟ ซีนีม่า ซิตี้ ที่นำโรงภาพยนตร์ SFX Cinema มาเปิดบนถนนแจ้งวัฒนะเป็นรายสุดท้าย แต่ความยิ่งใหญ่ของเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 24 ไร่ มีความสูง 7 ชั้น ทำให้เอสเอฟฯ สามารถเดินตามแนวทางการขยายสาขาของตนได้อย่างเต็มที่ เปิด 10 โรงภาพยนตร์ 2,538 ที่นั่ง พร้อมชูภาพโรงภาพยนตร์ระดับเวิลด์คลาสแห่งเดียวบนถนนเส้นนี้ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ชมในย่านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ที่จะสามารถเลือกชมภาพยนตร์ และเลือกรอบชมได้ตรงตามต้องการมากกว่า เนื่องจากโปรแกรมภาพยนตร์ในวันนี้ แต่ละสัปดาห์มีภาพยนตร์เข้าฉายมากกว่า 10 เรื่อง และมีภาพยนตร์เข้าใหม่ 3-4 เรื่องหรือมากกว่านั้นทุกสัปดาห์

อีก 1 จุดยุทธศาสตร์ที่ เอสเอฟฯ สามารถปะทะกับยักษ์ใหญ่อย่างเมเจอร์ฯ ได้อย่างน่าสนใจ คือทำเลย่านการค้าใจกลางเมือง ตั้งแต่ราชดำริ มาจนถึงสยาม ในอดีตเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ยึดครองพื้นที่นี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีโรงภาพยนตร์กระจายอยู่ในศูนย์การค้าสำคัญตั้งแต่ เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์, บิ๊กซีราชดำริ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เหลือเพียงมาบุญครอง ให้เอสเอฟฯ ตั้งรับ

ตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเทคโอเวอร์เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ เปลี่ยนโฉมเป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พันธมิตรอย่าง เอสเอฟฯ จึงถูกชักชวนให้เข้ามาอยู่ด้วย เปิดโรงภาพยนตร์แบรนด์ใหม่ SF World Cinema 15 โรง 3,658 ที่นั่ง ผลักให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ต้องทิ้งฐานที่มั่นแห่งนี้ ปล่อยให้อีจีวี บนอาคารบิ๊กซี ราชดำริ เป็นตัวชนที่ไม่ถูกคู่แทน

ด้านเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ หลังจากทิ้งฐานจากเซ็นทรัลเวิลด์ ก็พอดีกับการได้สิทธิ์ในการเปิดโรงภาพยนตร์ในสยามพารากอน เปิดโรงภาพยนตร์ระดับไฮคลาส 16 โรง 4,600 ที่นั่ง มากที่สุดในประเทศ ซึ่งผลกระทบกลับกลายเป็นโรงภาพยนตร์ของอีจีวี บนสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่รับหนักกว่า ทำให้ผู้บริหารอีจีวี ต้องปรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ลดราคาค่าชมลง หันไปเจาะกลุ่มนักศึกษาแทน ขณะที่เอสเอฟฯ ประกาศรับมือ ด้วยการเตรียมยกเครื่อง เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ บนมาบุญครอง ในปีนี้ ทำให้การแข่งขันของโรงภาพยนตร์ย่านกลางใจเมืองระหว่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า สูสีคู่คี่ต่างจากตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของทั้ง 2 ค่าย

SF ตามเซ็นทรัล เปิดอีก 4 ใช้โลคอล มาร์เก็ตติ้ง ขยายตลาด

สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ แสดงความเห็นถึงตลาดโรงภาพยนตร์ในปีนี้ว่า ตลาดจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมเจอร์ฯ จะมีการขยายสาขามากขึ้น ประกอบกับในส่วนของภาพยนตร์ที่จะมีโปรแกรมหนังใหญ่เข้ามาฉายตลอดทั้งปี อาทิ นเรศวร 3, ก้านกล้วย 2, ทรานฟอร์เมอร์ 2 และแฮรี่ พอตเตอร์ ตอนใหม่ ฯลฯ จะทำให้ตลาดภาพยนตร์กลับมาเติบโตได้ หลังจากตกลงในปีที่ผ่านมา

โดยในส่วนของเอสเอฟฯ ในปีนี้จะมีการสาขาด้วยการลงทุนในกับโครงการของเซ็นทรัลในต่างจังหวัด ประกอบด้วย เซ็นทรัลพัทยา, เซ็นทรัล ชลบุรี, เซ็นทรัลขอนแก่น และฮาเบอร์มอลล์ แหลมฉบัง มีโรงภาพยนตร์รวมทั้งหมดราว 35 โรง ใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาท พร้อมปรับปรุงสาขาเดิม 3 สาขา ประกอบด้วย มาบุญครอง เอ็มโพเรียม และเซ็นทรัล ลาดพร้าว

ด้านการทำตลาด จะใช้นโยบายในการจัดกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจให้มากขึ้น โดยมีการครอสโปรโมชั่นกับพันธมิตรเพื่อกระตุ้นยอดขายระหว่างกัน ปัจจุบันพันธมิตรที่จับมือกับเอสเอฟฯ ประกอบด้วย โออิชิ ดีแทค โค้ก และธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ นอกจากนั้น ใช้กลยุทธ์โลคอล มาร์เก็ตติ้ง ให้โรงภาพยนตร์ในแต่ละสาขา จัดกิจกรรมการตลาดให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของตน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบันมากกว่าการจัดโปรโมชั่นรวมมาจากส่วนกลาง

"แต่ละสาขาของเราเริ่มมีการเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาใช้บริการ จากการออกบัตร SF Smart Purse ที่สามารถเก็บข้อมูลลูกค้า ตลอดจนการเข้าใช้บริการของลูกค้าผ่านเว็บไซต์ของ www.sfcinemacity.com เพื่อนำมาทำ CRM ตลอดเวลา ซึ่งในปีนี้จะเน้นผลักดัน Local Area Marketing ให้มากขึ้น จนแทบเป็นการไปเคาะประตูทุกบ้าน" สุวิทย์กล่าว

การขยายสาขาอย่างรวดเร็วของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ นับจากนี้ อาจทำให้ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจโรงภาพยนตร์ระหว่างผู้นำตลาด และผู้ตามมาอย่าง เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ห่างออกไปด้วยจำนวนสาขา จำนวนโรง และจำนวนที่นั่งที่มากกว่ากันมหาศาล หากแต่ก้าวเดินของเอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ต่อจากนี้ ก็ยังน่าติดตาม หลังการยกระดับรายได้ของพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านศูนย์การค้ากลางใจเมืองขึ้นมาเทียบเคียงเจ้าตลาด และการเข้ามาเป็นรายสุดท้าย แต่กลับครองความเป็นผู้นำบนพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

ต่อจากนี้ แนวรบที่จะดุเดือดต่อไป ชลบุรี พัทยา ศรีราชา และแหลมฉบัง คือ ยุทธศาสตร์โฟกัสของปีนี้ ที่ทั้งคู่จะรุกเข้าไป และเอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ประกาศไม่ยอมเป็นรองเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ แน่นอน

ย้อนอดีตโรงหนังเมืองไทย

พัฒนาการของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเมืองไทย มีเรื่องราวส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ย้อนไปในอดีต ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปแบบเริ่มมาจากอาคารโรงไม้ หลังคามุงสังกะสี ดัดแปลงมาเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก มีกระจายอยู่ในเขตรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ราว 20 โรง หนึ่งในนั้น ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ เฉลิมธานี ตลาดนางเลิ้ง

จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพระนคร ครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงโปรดภาพยนตร์เป็นพิเศษ ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ เป็นที่มาของการเกิดโรงภาพยนตร์ทันสมัยที่สุดในเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำเป็นแห่งแรก จุผู้ชมได้ 2,000 ที่นั่ง ในชื่อ ศาลาเฉลิมกรุง เปิดฉายครั้งแรกวันที่ 2 กรกฎาคม 2576

นับจากนั้นเป็นต้นมา ธุรกิจโรงภาพยนตร์จึงเริ่มเติบโต และมีมาตรฐานมากขึ้น โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ที่มีความหรูหรา เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่ยังคงตั้งอยู่บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ศาลาเฉลิมไทย ที่ปรับมาจากโรงละครในยุคเปิดตัว กลายเป็นโรงภาพยนตร์ที่หรูหราที่สุดในยุคนั้น ในย่านวังบูรพา มีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ 3 โรง แกรนด์, คิงส์ และควีนส์ เช่นเดียวกับย่านเยาวราช ที่มีโรงภาพยนตร์กระจายอยู่หลายโรง อาทิ เฉลิมบุรี, ศรีเยาวราช, ศรีราชวงศ์, โอเดียน ฯลฯ

โรงภาพยนตร์เริ่มขยับเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ หลังปี 2500 โดยรูปแบบยังคงเป็นโรงภาพยนตร์สแตนอะโลนขนาดใหญ่ ฉายภาพยนตร์หลากหลายทั้งหนังไทย หนังจีน และหนังจากฮอลลีวู้ด กระจายอยู่ในย่านสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ทั้งย่านสยามสแควร์ มีโรงดังอย่าง สยาม ลิโด สกาลา บนถนนเพชรบุรี และประตูน้ำ มีโรงภาพยนตร์ใหญ่ อย่าง ปารีส, โคลีเซียม, ฮอลลีวู้ด, เมโทร, พาราเม้าท์, อินทรา และเพชรรามา ตั้งอยู่

โรงภาพยนตร์สแตนอะโลนขนาดใหญ่ ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ จวบจนเข้าสู่ช่วงหลังปี 2530 ธุรกิจโรงภาพยนตร์ถึงคราปรับตัวอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจภาพยนตร์เติบโตอย่างรวดเร็ว จากการเปิดตลาดเมืองไทยอีกครั้งของภาพยนตร์จากค่ายหลักในฮอลลีวู้ด ที่เคยทิ้งตลาดเมืองไทยไปเนื่องจากปัญหาภาษี พร้อมกันนั้น ธุรกิจค้าปลีกอย่างศูนย์การค้าก็อยู่ในช่วงเติบโตเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในบริการที่เป็นแม่เหล็กในการดึงลูกค้าเข้าสู้ห้างในยุคนั้น คือการเปิดโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก หรือมินิเธียเตอร์ขึ้นภายในห้าง

โรงภาพยนตร์ในชื่อ มินิเธียเตอร์ เป็นห้องฉายขนาดเล็ก จุได้ระดับร้อยกว่าที่นั่ง ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ทั้งมาบุญครอง เซ็นทรัล เวลโก้ ฯลฯ มีข้อดีคือ ใช้ลงทุนต่ำกว่าโรงภาพยนตร์สแตนอะโลนแบบเดิมมาก และมีจำนวนโรงมากกว่า 1 โรงต่อ 1 สาขา อีกทั้งสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อจำกัดที่เป็นผลให้โรงภาพยนตร์ลักษณะนี้ต้องเลิกไปในเวลาไม่นาน คือ ขนาดของโรงภาพยนตร์ที่มีพื้นที่น้อย จอเล็ก ที่นั่งแคบ ลำดับขั้นของที่นั่งแต่ละแถวค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดการบังกัน

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2537 กลุ่มพูนวรลักษณ์ ตระกูลคนภาพยนตร์ โดยวิชัย พูนวรลักษณ์ ทายาทรุ่นที่ 2 นำบริษัทเอ็นเตอร์เทน เธียเตอร์ เน็ตเวิร์ค เข้าร่วมธุรกิจกับกลุ่มโกลเด้น วิลเลจ (กลุ่มร่วมทุนระหว่างโกลเด้น ฮาร์เวสต์ จากฮ่องกง และวิลเลจ โรดโชว์ จากออสเตรเลีย) ตั้งบริษัท เอ็นเตอร์เทน โกลเด้น วิลเลจ หรืออีจีวี ขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ในประเทศไทย

โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ คือ โรงภาพยนตร์ครบวงจรที่มีตั้งแต่ 6 โรงขึ้นไปในบริเวณเดียวกัน มีระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชม ทั้งการจองตั๋ว-ขายตั๋วผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเสียง และห้องฉาย พร้อมกับร้านค้าต่างๆ รูปแบบนี้กำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่พัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบในออสเตรเลีย

อีจีวี เปิดโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์แห่งแรก จำนวน 10 โรง ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างสูง เนื่องจากเป็นการนำจุดเด่นของโรงภาพยนตร์รูปแบบต่างๆ ในอดีตมาไว้รวมกัน ตั้งแต่การมีความหรูหราเทียบเท่าโรงภาพยนตร์สแตนอโลน ทั้งขนาดของโรง จอฉาย และระบบเสียง แต่มีความสะดวกสบายในการเดินทางเทียบเท่ามินิเธียเตอร์ แต่แต่ละสาขามีโรงภาพยนตร์จำนวนมากกว่า อาทิ สาขาซีคอนสแควร์ มีจำนวน 14 โรง, สาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า มีจำนวน 12 โรง

ธุรกิจโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อกลุ่มเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยวิชา พูลวรลักษณ์ อีกหนึ่งในตระกูลเจ้าพ่อโรงหนัง มองเห็นการเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์ที่สามารถยืนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งศูนย์การค้า ดึงโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ที่ตั้งอยู่บนศูนย์การค้า กลับมาตั้งสแตนอะโลนอีกครั้ง ทุบศูนย์การค้าเวลโก้ ปิ่นเกล้า สร้างเป็นโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขาแรก 13 โรง 4,200 ที่นั่ง ก่อนขยายไปในย่านสำคัญรอบนอกกรุงเทพฯ ทั้งเอกมัย, รัชโยธิน และรังสิต

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เขย่าธุรกิจโรงภาพยนตร์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อตลาดได้รับผลกระทบจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ประกอบกับความเข้มแข็งของเจ้าตลาดอย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้ามาในตลาด อาทิ กลุ่ม United Artist,กลุ่มนิวเวิร์ล เริ่มถอดใจ บ้างปิดโรง บ้างเลิกกิจการไป ในปี 2547 ผู้บุกเบิกตลาดอย่าง อีจีวี ก็ยังทานความแข็งแกร่งของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ไม่ไหว ยกอีจีวี เข้ารวมกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

ถึงวันนี้ ธุรกิจโรงภาพยนตร์แม้จะมีผู้เล่นอยู่หลากหลายหน้าตา แต่บนเวทีการแข่งขัน ที่เคยมี เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ วัดฝีมือการตลาดอยู่กับ อีจีวี จึงเปลี่ยนไปเป็นคู่ต่อกรจากภูธร กลุ่มทองร่มโพธิ์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงหนังจากภาคตะวันออก ที่เข้ามาร่วมสร้างเส้นทางธุรกิจโรงภาพยนตร์เมืองไทย อยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2542 แต่สามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วจนขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2

โรงภาพยนตร์ในเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปในทางใด เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเอสเอฟ ซีเนมา ซิตี้ คือผู้ให้คำตอบ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us