* “บอร์ด-เรกูเรเตอร์” รวมพลังช่วย กฟผ.
* ชี้ฐานะทางการเงินเข้าขั้นวิกฤต
* ระดมทุกฝ่ายช่วยกันอุ้มไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเจอวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่
* วอนประชาชนเห็นใจควักจ่ายค่าไฟเพิ่ม เพราะวันนี้ กฟผ.มีหนี้ท่วมและมีสถานะไม่ต่างจาก “ร.ฟ.ท.-บินไทย”
* วงใน ปชป.ชี้ ปีหน้าอาจแปรรูป กฟผ.หากออกบอนด์ล้มเหลว
* พร้อมขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อใช้ในการพัฒนาและให้บริการทั่วถึง-เป็นธรรม สกัดการต่อต้านจากเอ็นจีโอ
เป็นข่าวที่ทุกคนให้ความสนใจในการปรับขึ้นค่าไฟรอบใหม่ ม.ค.-เม.ย. ที่ราคา 14.85 สตางค์เพราะผลกระทบมันกระจายไปทุกภาคส่วนหรือพูดง่ายๆ ว่า คนที่ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องจ่ายเงินเพิ่มแน่นอน คำถามที่ตามมาคือ จำเป็นแค่ไหนในการปรับค่าไฟครั้งนี้ อะไรคือไส้ในของเรื่องดังกล่าว เพราะราคาน้ำมันก็ดิ่งลงแล้ว แต่ราคาไฟฟ้าในบ้านเรากลับสูงขึ้น มันสวนทางกันชัดเจน
ขณะเดียวกัน มีคำถามที่หลายคนสงสัยตามมาว่า กฟผ.กำลังขาดทุนสะสมและมีสภาพคล่องไม่ต่างจากการบินไทยใช่หรือไม่ เพราะล่าสุดบอร์ด กฟผ.ได้อนุมัติออกพันธบัตร 50,000 ล้านเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอีก ส่อเค้าลางว่าข่าวลือที่เป็นจริง หรือเพราะว่าก่อนหน้านี้กฟผ.คำนวนการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดทำให้เกิดการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าจึงจำเป็นต้องปรับค่าไฟเพื่อเอาเงินมาโปะหนี้ แต่ความผิดพลาดดังกล่าวทำให้ประชาชนต้องร่วมแบกรับชะตากรรมในครั้งนี้!
กฟผ.ย่ำรอย “บินไทย” เป็นไปได้
ด้วยสภาพคล่องของ กฟผ.ที่มีปัญหา ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลใจว่ารัฐวิสาหกิจแห่งนี้กำลังจะเดินซ้ำรอยวิสาหกิจที่ขาดทุนอย่าง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ต้องคอยพึ่งพาการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวหรือแม้แต่บริษัท การบินไทย จำกัด ที่ยอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก ซึ่งแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง อธิบายกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ว่าต้องยอมรับว่าลักษณะของกิจการแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันอย่างการบินไทยเป็นตลาดแข่งขันเสรี แต่กฟผ.นั้นแทบจะผูกขาดกิจการไฟฟ้าเพียงรายเดียว และยังได้รับอุดหนุนจากภาครัฐ แต่การบินไทยต้องแข่งขันเสรีกับสายการบินอื่นๆ และภาครัฐไม่มีหน้าที่เข้าไปสนับสนุนทางด้านการเงิน การอยู่รอดของการบินไทยแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องปรับตัวแบบบริษัทมหาชนทั่วไปเพื่อความอยู่รอดทั้งลดคนงาน ลดโบนัส ลดสายการบินที่ขาดทุนเป็นต้น
“ดังนั้น ที่คิดว่า กฟผ.จะเป็นแบบการบินไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะเกิดขึ้นตราบใดที่ภาครัฐยังเข้าสนับสนุนด้านการเงินอย่างเต็มที่ แต่หากเปิดการแข่งขันเสรีก็ไม่แน่ว่า กฟผ.ก็ไม่ต่างจากการบินไทยก็ได้”
แต่อย่างไรก็ดี หากมองในลักษณะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกันแล้วความตกต่ำและขาดทุนสะสมอย่าง ขสมก.-การรถไฟฯ อาจจะถูกนำมาเปรียบเทียบได้ ซึ่งหากไปดูงบดุลบัญชีของการรถไฟฯเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2551 พบว่า ร.ฟ.ท.ยังไม่สามารถปิดบัญชีไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2551 ได้ และปัจจุบัน งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบจาก สตง.ได้ถึงไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2551 เท่านั้นโดยรฟท.ประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องและมีการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 มีผลขาดทุนสะสมกว่า 42,000 ล้านบาทและมีเงินกู้ยืมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องกว่า 30,000 ล้านบาท
กฟผ.กำลังจะเป็น “รถไฟ-ขสมก.” ภาค 2
ขณะที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังคงมีแนวโน้มการขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายพนักงาน จากการที่ ขสมก. มีรายได้ค่าโดยสารที่นำมาชำระได้เพียงค่าใช้จ่ายพนักงานและลดภาระดอกเบี้ยจ่ายบางส่วน ทำให้ ขสมก.ต้องค้างชำระหนี้ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อม และต้องกู้เงินในรูปของพันธบัตร และเงินกู้ระยะยาวเพื่อนำเงินกู้มาชำระหนี้ค่าน้ำมัน และค่าเหมาซ่อม โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตรและเงินกู้ดังกล่าวมาตลอดโดยในไตรมาส 4 ยอดขาดทุนสะสมของปี 2551 ขสมก.หนี้สินรวม 57,381 ล้านบาท และภาระค้ำประกันของกระทรวงการคลังก็เพิ่มขึ้นมาตลอดเช่นกัน โดยมีภาระสูงถึง 43,156 ล้านบาทในปี 2551
ส่วนสถานะทางการเงินของ กฟผ.ในไตรมาส 3 ปี 2551 ทั้ง กฟผ.และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 92,225 ล้านบาท ลดลง 601 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.6 เนื่องจากรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติของ กฟผ.ให้บริษัทในเครือลดลง 1,419 ล้านบาท ด้านค่าใช้จ่ายรวมกฟผ. และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 89,279 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4,008 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 จากไตรมาส 3ปี 2550 โดยมีสาเหตุมาจากค่าซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นถึง 19,177 ล้านบาทจากการที่มี IPP รายใหญ่ ได้แก่ บจ.ราชบุรีเพาเวอร์ และ บจ.กัลฟ์เพาเวอร์เจเนอร์เรชั่นขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายจากการจัดสรรเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจำนวน 635 ล้านบาท
ส่วนกำไรสุทธิ ในไตรมาส 3 กฟผ. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวมเพียงแค่ 1,435 ล้านบาทลดลง 3,504 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวมของ กฟผ. และบริษัทย่อยรวม ณ วันที่ 30 ก.ย. 51 มีจำนวน 430,693.25 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี2550 แต่เงินสดลดลง 21,919 ล้านบาท เนื่องจาก กฟผ.นำส่งรายได้แผ่นดินจำนวน 13,307 ล้านบาทชำระคืนเงินกู้ยืมสุทธิจำนวน 4,410ล้านบาท ขณะที่ กฟผ.หนี้สินรวม ณ วันที่ 30 ก.ย. 51 มีจำนวน 183,118 ล้านบาท ลดลง 12,247 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเจ้าหนี้การค้าลดลง 6,397 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงในเจ้าหนี้การค้าค่าเชื้อเพลิง, เงินกู้ยืมระยะยาวที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี เพิ่มขึ้นจำนวน 9,479 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวลดลง 14,853 ล้านบาท เนื่องจากครบกำหนดชำระ
“จุดต่างที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่ง คือ ขสมก.และการรถไฟฯ มีภาระหนี้สินสูงมากและการจะขอปรับราคาตั๋วโดยสารก็ขอบอร์ดเป็นครั้งคราว แต่ กฟผ.มีข้อดีคือ มีค่า FT ในการขอปรับค่าไฟแต่ละครั้งเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้ ขสมก.และการรถไฟไม่มีทำให้ กฟผ.มีสภาพคล่องสูงกว่าอย่างล่าสุดในการขึ้นค่าไฟ กฟผ.มีเงินจะได้ส่วนแบ่งถึง 7,000-8,000 ล้านบาท แต่หากภาครัฐไม่สนับสนุนด้านการเงินก็อาจเป็นไปได้ว่า กฟผ.ก็อาจะมีสถานะคล้ายๆ กับ ขสมก.และการรถไฟก็ได้” แหล่งข่าวจาก สคร.ยืนยัน
กฟผ.บักโกรก ขาดสภาพคล่อง!
ล่าสุด เพื่อเพิ่มความคล่องตัว บอร์ด กฟผ.อนุมัติให้ออกพันธบัตร 50,000 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ และเร่งติดตามหนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาอุดหนุนสภาพคล่อง ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะนำมาใช้บริหารสภาพคล่องของ กฟผ.ที่เกิดจากการลงทุนดำเนินกิจการของ กฟผ.เอง ประมาณ 30,000 ล้านบาท และการดูแลภาระค่าไฟฟ้าอัติโนมัติ (FT) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (เรกูเรเตอร์) ให้กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไปก่อนประมาณ 21,000 ล้านบาท
“หากงวดนี้และงวดหน้ากกพ.ไม่อนุมัติให้ขึ้นค่า FT กฟผ.จะต้องแบกภาระหนี้สูงถึง 30,000 หมื่นล้านบาทและหากไม่ให้ขึ้นค่าไฟ รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนสภาพคล่องซึ่งจัดเรตติ้งก็จะปรับเกณฑ์ กฟผ.ไม่ดีในสายตาต่างชาติ” แหล่งข่าวจาก กฟผ.ระบุ และว่าอาจจะมีการปรับขึ้นค่า FT ในงวดหน้าอีก 6 สตางค์ก็ได้
ยืนยันขึ้นค่า FT กระทบน้อย!
ขณะที่การปรับค่า FT เพื่อช่วยเหลือ กฟผ.ในด้านสภาพคล่องจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงาน หรือเรกูเรเตอร์เข้ามาดูแลในการปรับขึ้นแต่ละครั้งโดยเรกูเรเตอร์ให้คำตอบว่าการคิด FT บนสมมติฐาน 3 ข้อด้วยกัน 1.ราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิต 2.อัตราแลกเปลี่ยน 3.ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าตามค่าประมาณการณ์มากหรือน้อยกว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผลิตและผู้ใช้ รวมทั้งต้องช่วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการ และการลงทุน เพราะกฟผ.มีรายได้ค้างรับที่มีภาระต้นทุนของกฟผ.สูงถึง 21,000ล้านบาท
โดยคณะกรรมการชุดปัจจุบันมี ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้อธิบายถึงการปรับครั้งล่าสุดว่า กกพ.ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) สำหรับเรียกเก็บจากผู้ใช้เดือน ม.ค.-เม.ย.เพิ่มขึ้น 14.85 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 77.70 สต.ต่อหน่วยรวมเป็น 92.55 สต.ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟที่เรียกเก็บในบิลรอบนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.02 บาทต่อหน่วย เป็น 3.17 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 4.91%
โดยผู้ที่รับผลกระทบมี 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 150 หน่วยทั้งประเทศมี 9.8 ล้านรายจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 11 บาท/เดือน/ราย 2.ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เกิน 150 หน่วยมีประมาณ 5.4 ล้านรายต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 53 บาท/ราย/เดือน ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กต้องจ่ายเพิ่ม 122 บาท/ราย/เดือน
“ที่จริงแล้วหากปรับราคาเพื่อสะท้อนราคาต้นทุนที่แท้จริงราคาจะอยู่ที่ 50 สตางค์ แต่ก็เป็นห่วงว่าจะสร้างภาระแก่ประชาชนจำนวนมากเลยปรับลดลงมาเหลือ 14.85 สตางค์อย่างที่ทราบกันและเพื่อช่วยให้ กฟผ.มีเงินสดในมือในการบริการกิจการต่อไปได้”
ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตมีแนวโน้มจะปรับค่า FT อีก 2 ครั้งจึงอยากวิงวอนให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่ กกพ.จะช่วยเหลือ กฟผ.ซึ่งครั้งต่อไปอาจจะปรับขึ้นอีก 6 สตางค์ แต่ต้องรอดูราคาก๊าซก่อนว่ามากหรือน้อยกว่าค่าประมาณการณ์แค่ไหนและอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งหากในอนาคตไม่สามารถปรับค่า FT ได้ กกพ.ก็ต้องไปประสานภาครัฐให้หาเงินมาช่วยเหลือ กฟผ.เหมือนเดิม ดังนั้น การปรับค่า FT จึงดูเหมือนว่าประชาชนทุกคนช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและช่วยสภาพคล่อง กฟผ.ได้อีกทางด้วย
5 พันธกิจหลักเรกูเรเตอร์
ส่วนแนวทางการทำงานของเรกูเรเตอร์คณะกรรมการฯ ต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียจะกำหนด 5 กลุ่ม ด้วยกัน คือ 1.ฝ่ายรัฐบาลว่าไฟฟ้ามั่นคงเพียงพอและมีระดับการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมรวมถึงระบบขนส่งและจำหน่ายก๊าซเพียงพอปลอดภัย, การกระจายของแหล่งและชนิดเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ 2.ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใช้หรือผู้บริโภคในเรื่องคุณการให้บริการ, ราคาค่าใช้ไฟฟ้าที่มีผลกระทบเวลาขึ้นค่าไฟฟ้าว่ามีเหมาะสมแค่ไหม 3.ต้องรับผิดชอบผู้ประกอบการ (เอกชน) ต้องให้ความเป็นธรรมในแง่ความคุ้มทุนในการลงทุนไปแล้ว สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงได้ และกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ทั้งพัฒนาและวางหลักเกณฑ์การจัดส่งและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 4.รับผิดชอบต่อชุมชนใกล้เคียงโดยจัดตั้งกรรมการผู้ใช้ประจำเขต ตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และ 5 ต้องรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมคือต้องมีความโปร่งใสในการทำงาน รวมถึงประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“พูดง่ายๆ คือ ต้องให้ความเป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่ม รวมถึงสัดส่วนเชื้อเพลงที่นำมาผลิตไฟฟ้าอาทิ ถ่านหิน น้ำ น้ำมัน และก๊าซ ต้องไปดูว่าเชื้อเพลิงชนิดใดเหมาะในช่วงเวลานั้นเพื่อคำนวณต้นทุนในการผลิต เพื่อจะได้ค่าไฟที่เหมาะสมที่ประชาชนรับได้” ประธานเรกูเรเตอร์ ระบุ
ด้านแผนยุทธศาสตร์แผน 5 ปี (2551-2555) ของ กกพ.ว่า มียุทธศาสตร์ 6 ด้านด้วยกัน 1.การออกใบอนุญาต กำกับดูแลและปกป้องผลประโยชน์ ผู้ใช้พลังงาน ชุมชนและประเทศชาติโดยการกำหนดออกใบอนุญาตให้มีประสิทธิภาพและกำกับตรวจสอบ ติดตามประเมินมาตรฐานคุณภาพบริการทั้งในระบบไฟฟ้าและก๊าซฯ 2.ส่งเสริมการประกอบกิจการและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลเรืองราคาพลังงานให้มีความโปร่งใสทั้งแก้ผู้ใช้พลังงานและผู้ประกอบกิจการ 3.ส่งเสริมการจัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในกิจการพลังงาน 4.ส่งเสริมให้ความมั่นคงทางด้านพลังงานและเชื่อถือได้ตามมาตรฐานสากล 5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบพลังงาน และ 6.พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศเป็น องค์กรชั้นนำในระดับประเทศ ทั้งขั้นตอนการปฏิบัติงาน และเทคโนโลยี
5 หมื่นล้าน แค่เพิ่มเงินสดในมือ
“พรชัย รุจิประภา” ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วงเงินที่ขอไปนั้นก็เหมือนกับทุกรัฐวิสาหกิจที่ของบประมาณอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกวงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่ขอไปนั้นเป็นแค่กรอบว่ากฟผ.ต้องการงบประมาณเท่าไหร่ในการดำเนินกิจการทั้งในเรื่องการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องเข้ามาตรวจสอบอีกทีหนึ่งก่อนจะเข้าครม.ซึ่งไม่น่าจะอนุมัติเร็ววันนี้
ทว่าที่หลายฝ่ายพูดถึงสภาพที่ กฟผ.มีปัญหาสภาพคล่องนั้นส่วนหนึ่งมากจากค่า FT ที่ปรับขึ้น 2 ครั้งกฟผ.ต้องแบกรับภาระถึง 21,000 ล้านบาท ทำให้เงินสดขาดมือต้องหาเงินมาหมุนเวียนในระบบหากต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมส่วนไหนก็ทำได้เลย ซึ่งมันคือการบริการความเสี่ยงและการจัดการในองค์กรไม่ใช่ว่าขาดทุนอย่างหนักอย่างที่เป็นข่าว
“กฟผ.ปีที่แล้วก็ส่งเงินคืนรัฐประมาณ 13,000 ล้าน และมีกำไรในการดำเนินกิจการจะมีปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักได้อย่างไร” ปลัดกระทรวงพลังงานระบุ
นอกจากนี้ เขายังยืนยันว่า กฟผ.ไม่น่าจะเป็นแบบการบินไทยเพราะธุรกิจต่างกัน กฟผ.คือ ธุรกิจผูกขาดรายเดียวในประเทศมีไอพีพีเพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่การบินไทยอยู่ในตลาดแข่งขันเสรีทำให้การแข่งขันสูงการอยู่รอดขององค์กรจึงแตกต่างกันมาก
ต้องติดตามต่อไปว่า การขึ้นค่าไฟแต่ละครั้งกระทบคนส่วนมากเพียงไร มีความจำเป็นจริงๆแค่ไหนหรือและเรกกูเรเตอร์ที่เคยถูกขนานนามว่า “เสือกระดาษ” จะสร้างผลงานได้แค่ไหนซึ่งเราต้องติดอย่างอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่ กฟผ.เองหากภาครัฐยังสนับสนุนการเงินต่อเนื่องแบบนี้จะต่างอะไรกับ ขสมก.-การรถไฟฯ ที่ต่อไปจะบริหารขาดทุนยังไงก็ยังมีเงินมาหมุนในธุรกิจไม่หยุดหย่อน!
ปรับแผน PDP รับ ศก.ดิ่งหัว! งดซื้อจากลาว-กฟผ.ไม่ขยายเพิ่ม
สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2007 ได้ทำคลอดในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยขณะนั้นมีนาย โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ที่ประชุมมติอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ในช่วงปี 2550-2564 กำลังผลิต 39,676.25 เมกะวัตต์
โดยแบ่งแผนการจัดหาแหล่งผลิตออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างในปี 2550-2553 รวม 7,885.25 เมกะวัตต์ และช่วงที่ 2 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2554-2564 รวม 31,791 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ กฟผ. ดำเนินการเอง 16 โครงการ จำนวน 12,400 เมกะวัตต์ส่วน IPP อีก 18 โครงการ จำนวน 12,600 เมกะวัตต์ โครงการ SPP จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 5,091 เมกะวัตต์ รวมวงเงินลงทุนตามแผนใหม่ 2.08 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนที่ กฟผ. ใช้ในระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า 1.37 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนในส่วนของ IPP SPP และต่างประเทศ 0.71 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ กำหนดไว้ว่า เมื่อสิ้นปี 2564 ตามแผน PDP ใหม่ จะมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ/LNG 62.8% ถ่านหินนำเข้า/ลิกไนต์ 15% พลังน้ำ 9.7% นิวเคลียร์ 9% และเป็นพลังงานชนิดอื่นๆ ได้แก่ พลังงานทดแทน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล เป็นต้น รวม 3.5%
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กพช.ให้เร่งเปิดประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผน PDP ใหม่ ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2555 เพราะจะมีเวลาเหลืออีกเพียง 4 ปีโดยเห็นชอบในหลักการของแนวทางการออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ในช่วงปี 2555-2557 จำนวน 3,200 เมกะวัตต์โดยวิธีประมูลแข่งขันและได้ประกาศเชิญชวน IPP ได้ตั้งแต่ มิ.ย.50 นี้
ต่อมาในการประชุม กพช.เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.50 มีมติรับทราบผู้ได้รับคัดเลือกตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) จำนวน 4 โครงการ รวมกำลังผลิต 4,400 เมกะวัตต์ โดยจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2555-2557 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม 3,200 เมกะวัตต์โดยโครงการที่ได้รับคัดเลือกประกอบด้วย โครงการที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 1200 เมกะวัตต์ และโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง 3,200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก ประกอบด้วย โครงการถ่านหิน 2 โครงการ และโครงการก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการ GHE-One กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
2. โครงการ National Power Supply (NPS) กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
3. โครงการ Siam Energy กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
และ 4. โครงการ Power Generation Supply กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีราคารับซื้อเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ 2.135-2.648 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ดี ล่าสุดจะมีการปรับลดระดับสำรองการผลิตไฟฟ้าจากแผนพีดีพีเดิม 2007 ที่ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึง 28% ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงจากการพยากรณ์ไว้จากเดิมที่คาดว่าในปีนี้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 22,568 เมกะวัตต์ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้ลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงที่ 15%
โดยเลื่อนซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ใน 5 โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาค่าไฟฟ้ากับกฟผ.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ได้แก่ 1.โครงการน้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 523 เมกะวัตต์ 2.โครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ 3.โครงการน้ำเงี๊ยบ กำลังการผลิต 261 เมกะวัตต์ 4.โครงการน้ำอู กำลังการผลิต 1,043 เมกะวัตต์ และ5.โครงการหงสาลิกไนต์ กำลังการผลิต 1,470 เมกะวัตต์
ขณะที่ กฟผ.ก็ต้องเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าวังน้อยส่วนขยายขนาด 700 เมกะวัตต์ออกไปอีก จากเดิมที่จะเปิดประมูลการก่อสร้างในราวสิ้นปีนี้ และนำไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2555 อาจจะต้องเลื่อนออกไป 1-2 ปีแทน
“PDP ฉบับ 2009 กำลังอยู่ระหว่างร่วมกันประเมินใหม่ทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีก 15 ปี และสภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งการประเมินอยู่บนพื้นฐานที่ไม่สูงกินจริง แต่เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทยในอนาคต” ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุ
กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเตรียมแจ้งเกิด “เอกชน-เอ็นจีโอ” จี้รัฐดับช่องทุจริตเข้ามือผู้ว่าฯ
อีก 6 เดือนกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเตรียมแจ้งเกิดเต็มตัว พร้อมปฏิบัติการ 6 ภารกิจ ตามหลักการ “ชนบทมีไฟใช้ทั่วถึง - คนเมืองได้ใช้ไฟถูก - ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าเสี่ยง” เรกูเรเตอร์มั่นใจทุกฝ่ายประสานผลประโยชน์ลงตัว ด้านผู้ประกอบการเอกชนเห็นด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หวังสร้างสัมพันธ์ชาวบ้านทางอ้อม หวั่นเงินถูก ‘อบต.-อบจ.-นักการเมือง’ใช้ผิดประเภท-ทุจริตอื้อ ขณะที่เอ็นจีโอฟันธง กองทุนไฟฟ้าแค่สร้างภาพ ดันโรงไฟฟ้าใหม่เกิดเท่านั้น และผู้ว่าฯคือตัวการฉ้อฉล !
เมื่อกล่าวถึงพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 คงไม่พูดถึง “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ กองทุนไฟฟ้าเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าไม่ได้ เพราะกองทุนนี้จะกลายเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่จะมีเงินบริหารมหาศาล แถมเป็นเงินที่จะลงสู่พื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนบริหารโดยตรง กองทุนนี้ยังมีประโยชน์สำคัญที่จะเป็นตัวกลางในการประสานสัมพันธ์ระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนด้วย แต่ประเด็นปัญหาก็คือกองทุนพัฒนาไฟฟ้านี้คงไม่ง่ายที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย!
ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เมื่อมีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้ตั้งขึ้นมาแล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตั้งได้ กำลังรอ 2 ส่วนสำคัญคือ ส่วนของนโยบายที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะเป็นผู้กำหนด และอีกส่วน อยู่ระหว่างการร่างระเบียบการบริหารกองทุน เพื่อประกอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ เรคกูเลเตอร์ คาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะสามารถตั้งได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
6 เป้ากองทุนพัฒนาพลังงานต้องไปให้ถึง
สำหรับกองทุนพัฒนาพลังงานนั้น มี 6วัตถุประสงค์ที่ต้องกระทำ ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน แต่จะมี 3 ใน 6 ข้อที่เป็นรื่องใหญ่ที่ต้องผลักดันโดยเร็วได้แก่
1.การกระจายไฟฟ้าให้ทั่วถึงกับพื้นที่ที่ด้อยโอกาส 2.การชดเชยค่าไฟหากผู้ประกอบการไฟฟ้ามีการฝ่าฝืนพ.ร.บ. และ3.ชดเชยและฟื้นฟูให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า
เรื่องของการกระจายไฟฟ้าให้ทั่วถึงโดยเฉพาะพื้นที่ในชนบทที่ด้อยโอกาสนั้น หมายถึงการเกลี่ยรายได้อย่างเป็นธรรม
“ที่ผ่านนำเงินส่วนหนึ่งจากการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ซึ่งมีสาย มีโครงข่ายพร้อม และไม่ต้องลงทุนเพิ่มมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ กฟผ. แต่ กฟน. ซื้อและจำหน่ายไฟฟ้าในราคาเท่ากัน ทำให้กฟน.มีกำไรมากซึ่งกฟน.ก็จะเอาส่วนที่ได้ เกินจากกำไรไปให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เพราะกฟภ.ต้องนำไปลงทุนในพื้นที่ห่างไกล”
โดยปีที่ผ่านมา กฟน.ได้มอบเงินให้กฟภ.ไปแล้ว 9 พันกว่าล้านบาท และเงินของกฟภ.เองอีก 2 พันกว่าล้านบาท รวมเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท นำไปเกลี่ยรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
“การเกลี่ยรายได้จริงๆมีโจทย์อยู่ว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างทั่วถึง และประชาชนได้รับผลประโยชน์จริงๆ เพราะปัจจุบันเอาเงินให้ไปก็จบ เรากำลังคิดจะเปลี่ยนระบบเป็นแบบ Public service educationมากขึ้น คือต่อไปต้องมีงานศึกษาให้ชัดเจน”
นอกจากนี้ เงินกองทุนจะถูกนำไปใช้ในกรณีที่หากกฟผ.เลือกสั่งซื้อไฟฟ้านอกเขตพื้นที่แถมได้ราคาที่สูงกว่าปกติ เป็นผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเนื่องเพราะต้นทุนที่กฟผ.สูงและ หากมีผู้ร้องเรียนและตรวจพบว่าผิดจริง ก็จะมีการลงโทษตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี หรือโทษปรับไม่เกิน 10 ล้านบาท พร้อมกับนำเงินส่วนที่เกินนี้คืนให้กับประชาชน
“เรามีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าจะทำให้ทราบว่าคำสั่งซื้อแต่ละครั้งซื้อจากที่ไหนราคาเท่าใด ทำให้เรารู้ต้นทุนทั้งหมด และหากเลือกซื้อรายที่แพงกว่าก็ต้องดูว่าเหตุผลคืออะไรจะมีรายงานปรากฏที่ศูนย์นี้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของศีลธรรม หรือ Merit systems เข้ามาเกี่ยวข้อง”
สำหรับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้ผู้ผลิตดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ได้ ปัจจุบันได้เก็บเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้า และเก็บจากค่า FT ว่าโรงไฟฟ้านั้นๆ ได้สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นมากขนาดไหน อัตราส่วนที่เก็บอยู่ในปัจจุบันคือ ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีการเก็บ 2 สตางค์ต่อหน่วยการผลิต ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่เกิดจากก๊าซธรรมชาติจะเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วยการผลิต และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเก็บ 5 สตางค์ต่อหน่วยการผลิต
“เราจะเป็นคนดูแล เป็นคนกลางที่เข้าไปช่วยจัดสรรชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้มีการพัฒนา โดยจะมีคนประเมินผลซึ่งเป็นคนกลางมาประเมินทุกปีด้วย ว่าสิ่งที่ทำไปคุ้มค่าหรือไม่”
เมื่อ 3 เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ตามหลักทั่วถึง คุ้มค่า และเป็นธรรมเรียบร้อยแล้ว ทางเรคกูเลเตอร์ก็จะดำเนินภารกิจอีก 3 ประการ คือ1.เรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน 2.ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านพลังงานมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อหัวประชากรลง และ3.วางระเบียบการบริหารภายในกองทุน ซึ่งเป็นเรื่องภายใน
โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีที่ใช้ประกอบกิจการไฟฟ้าหรือที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ส่วนนี้จะต้องมีการเก็บเงินมาเพิ่ม เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น อาจจะเก็บจากค่าไฟเพิ่ม ผู้สร้างโรงไฟฟ้า หรือผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ส่วนนี้ค่อนข้างยากที่จะลงรายละเอียดเพราะต้องไม่ให้บทบาทไปซ้ำซ้อนกับกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีอยู่แล้ว
ส่วนการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพราะตัวเลขการใช้พลังงานต่อหัวของไทยยังมีตัวเลขที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ตรงนี้ถ้าทำให้ลดลงได้มากขึ้นจะทำให้การใช้ไฟในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นี่คือหลักการของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่าจะทำให้คนทั้ง 5 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายผู้ใช้ไฟฟ้า ฝ่ายผู้ประกอบการ ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ และสังคมโดยรวม มีความสัมพันธ์กันอย่างเข้าใจ และประสานผลประโยชน์กันมากขึ้น
ภาคเอกชนหวั่น อบต.-อบจ.ทึ้งผลประโยชน์
ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหารผู้ประกอบการไฟฟ้าภาคเอกชน เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ถือเป็นกองทุนที่ดี ที่ฝ่ายผู้ประกอบการไฟฟ้าภาคเอกชนรอคอยมานาน และหลายๆ บริษัทก็พร้อมและยินดีที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับชุมชนตามที่รัฐบาลเสนอ เพราะอดีตที่ผ่านมาเจ้าของโรงไฟฟ้าต่างๆ จะมีการจ่ายเงินคืนประโยชน์ให้กับชุมชนอยู่แล้ว
โดยปกติสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีปัญหา ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็จะมีการจ่ายให้ชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 10% ของรายได้อยู่แล้ว และหลายบริษัท ในพื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่ก็จะมีการจ่ายเงินในจำนวนที่มากกว่าต้องจ่ายให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเสียอีก แต่ปัญหาก็ยังเกิด เพราะประชาชนพื้นที่ไม่เชื่อว่าเจ้าของโรงไฟฟ้าต่างๆ จะจริงใจกับพวกเขา แต่ต่อไปถ้ามีการเสียเงินอย่างเปิดเผย มีเป้าที่ชัดเจน เอกชนก็มีรูปแบบการช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะ ภาคเอกชนอยากให้รูปแบบการบริหารกองทุนชัดเจน และปฏิบัติได้จริง และส่วนสำคัญที่สุดคืออยากให้สัดส่วนของคณะกรรมการบริหารกองทุนที่จะมีการให้อำนาจคนท้องถิ่นบริหารจัดการกันเองมีการเปลี่ยนแปลง
“สิ่งที่ภาคเอกชนกลัวมาก คือเงินของเราที่ให้ไปจะไปตกอยู่ในมือคนไม่กี่คน”
โดยกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้ามาทำการทุจริตได้มากมี 2 กลุ่ม คือ ข้าราชการระดับจังหวัดเข้ามาดูแล พยายามชี้แนะให้กองทุนมีการใช้เงินไปโดยว่าจ้างบริษัทรับเหมาที่เป็นเครือข่ายของตัวเอง และอีกกลุ่มคือกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นที่จะมากอบโกยเงินส่วนนี้
“เราไม่อยากให้อบต.อบจ.เข้ามาดูแล เพราะการนำเงินไปใช้อาจจะถูกผันไปงบฯประเภทเดียวกันกับงบฯที่อบต.อบจ.มี ตรงนี้การดูแลกองทุนควรจะเป็นตัวแทนชาวบ้านจริงๆ และก็อยากให้มีตัวแทนของโรงไฟฟ้าเข้าไปด้วย เพราะโรงไฟฟ้าจะมีความชำนาญในการบริหารจัดการเงินมากกว่าชาวบ้าน ขณะเดียวกันเขาเป็นเจ้าของเงิน เขาก็อยากให้เงินที่เขาให้ไปมีประโยชน์ที่สุด”
เอ็นจีโอฟันธงแค่สร้างภาพ
ขณะที่ฟากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ แม้กองทุนจะเกิดในไม่ช้านี้แล้ว แต่ภาคองค์กรพัฒนาเอกชนก็ยังยากที่จะยอมรับ!
วัชรี เผ่าเหลืองทอง ผู้ประสานงานกลุ่มพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวว่าขอฟันธงว่ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงการทำประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ที่ต้องการจะสร้างภาพเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ในท้องที่ต่างๆ เท่านั้น เพราะในเรื่องของการชดเชยจากผู้ผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนในท้องที่นั้น มีมาโดยตลอดอยู่แล้ว และภาครัฐก็สามารถทำได้เลยไม่ต้องมีกองทุน
“ทุกอย่างอยู่ที่นโยบาย ไม่ใช่กองทุน ภาครัฐสามารถบีบผู้ผลิตไฟฟ้าที่สร้างมลพิษจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านได้อยู่ คำถามคือถ้าเงินกองทุนเยอะ ก็ต้องขายไฟให้ได้เยอะๆ แล้วถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ จะไม่มีเงินมาพัฒนาอะไรเลย อย่างนั้นหรือ”
อีกทั้งโรงไฟฟ้าที่กำลังเตรียมการจะสร้างขณะนี้ก็มีหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะมีการสร้าง 3 ที่ ได้แก่ 1.ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 2.อ.ประทิว จ.ชุมพร (กฟผ.) 3.อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ 2 ที่คือ 1.อำเภอหนองแซ จังหวัดสระบุรี 2. อ.บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็มีข่าวว่าเริ่มมีชาวบ้านต่อต้านแล้วใน 2 ที่คือ อ.ประทิว จังหวัดชุมพร และจังหวัดนครศรีธรรมราช และกำลังมีบริษัทที่ปรึกษาความเป็นไปได้ ที่กฟผ.จ้างมา ลงทำการสำรวจพื้นที่อีกหลายที่ด้วยกัน
เสนอ 6 ปัจจัยกองทุนรุ่ง
ส่วนความเห็นของ ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ทำงานวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย (การประเมินครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ภาครัฐมีความคิดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
ผลสรุปพบว่าปัจจุบันมีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน ที่สำคัญคือ การกำหนดตัวเลขการเก็บค่าชดเชยจากโรงไฟฟ้าต่างๆ มีตัวเลขที่น้อยกว่าค่าของผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทางหลักวิชาการจริง โดยโรงไฟฟ้าก๊าซ จะมีค่าชดเชยที่แท้จริง 70 สตางค์ ไม่ใช่ 1 สตางค์ที่เก็บกัน ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็บแค่ 2 สตางค์ ขณะที่ค่าเสียหายจริงประเมินมาแล้วอยู่ที่ 2 บาท ขณะที่ภาครัฐบอกว่าจะส่งเสริมพลังงานชีวมวล แต่กลับเก็บค่าชดเชยเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซ ซึ่งปกติทำความเสียหายน้อยกว่ามาก ถือว่าไม่เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลจริง
อีกประการคือ ขณะนี้แทนที่จะเก็บค่าชดเชยจากโรงไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ปัจจุบันก็มีนโยบายที่ให้เก็บจากค่า FT ซึ่งประชาชนทุกคนต้องไปรับภาระนี้โดยไม่รู้ตัว ถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่ประชาชนจะต้องมาจ่ายเงินในส่วนของผลกระทบสิ่งแวดล้อมแทนโรงไฟฟ้าต่างๆ
ขณะที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ของกองทุนฯ หลายพื้นที่ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นจึงอยากให้การดำเนินการใดๆ เกิดขึ้นตอนที่กองทุนฯ มีกฎหมายรองรับเสียก่อน
ทั้งนี้ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน มีข้อเสนอให้ภาครัฐดำเนินการกองทุนฯ เพื่อให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง 6 ประการ ได้แก่
1.เร่งดำเนินการด้านกฎหมายรองรับ และควรจะจัดกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป็นธรรมมากขึ้น เพราะขณะนี้มีแต่ตัวแทนฝ่ายราชการน่าจะเปิดกว้างกว่านี้
2.การคัดเลือกคณะกรรมการบริหารกองทุนในพื้นที่ควรจะโปร่งใสกว่านี้ เพราะปัจจุบันพบปัญหาผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตัวเองในการแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่ทั้งหมด และไม่มีการเปิดเผยคุณสมบัติในการคัดเลือก ซึ่งเป็นช่องทางทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย
3.การจัดสรรเงินมีปัญหา จ่ายเงินเพื่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นสร้างฝายเก็บน้ำ สร้างเขื่อนต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้เงินผิดประเภท ตรงนี้ต้องรีบแก้ไขให้โปร่งใส มีการตรวจสอบ และมีการลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าจะลงโทษผู้กระทำผิดอย่างไร
4.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากโรงไฟฟ้า จะต้องมีคนกลางเข้ามาตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง โดยจะต้องมีการเรียกข้อมูลของโรงไฟฟ้ามาดู และต้องมาตรวจสอบไม่ให้โรงไฟฟ้ารู้ตัว
5.การติดตามการตรวจสอบผลการดำเนินการควรมี เพราะปัจจุบัน บางกองทุนก็มีขนาดใหญ่เป็น 100 ล้านบาทต่อปี ขณะที่บางโครงการมีตัวเลขอยู่ที่ แสนบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งมีข้อแตกต่างมาก และควรมีระบบตรวจสอบการใช้เงินที่เป็นอิสระ เพื่อไม่ให้มีการใช้เงินไปในทางทุจริต และต้องเปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ได้ด้วย
6.การเสริมสร้างขีดความสามารรถของกรรมการกองทุน หรือเลขากองทุน เพราะบางคนมีลักษณะทำงานอย่างอื่นอยู่แล้ว ต้องมารับหน้าที่นี้เหมือนงานฝาก ซึ่งหลายคนก็ไม่เข้าใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก
หากกองทุนฯ สามารถบริหารได้ตาม 6 ข้อที่กล่าวมา เชื่อแน่ว่ากองทุนพัฒนาไฟฟ้านี้จะมีประโยชน์ที่แท้จริง แต่หากทำไม่ได้ คำถามเรื่องความโปร่งใส และการทุจริตคงจะเป็นเงาติดตามหลอกหลอนกองทุนไปอีกนาน!
จับตามาตรการกู้วิกฤต กฟผ.ไร้ผล วงใน ปชป.ชี้อาจถึงคราวแปรรูปฯ ของจริง!
ปชป.ยันไม่แปรรูป หวั่นกระแสต้านเหมือนยุครัฐบาลแม้ว ชี้ยังไม่ถึงเวลาแปรรูป เชื่อกฟผ.ยังเอาตัวรอดได้ พร้อมจับตาสถานการณ์วิกฤตโลกก่อนตัดสินใจแปรรูปในปี 53 วงในปชป.ชี้ กฟผ.ออกพันธบัตร 50,000 ล.อาจขายไม่ออก เหตุตลาดทุนใน-นอกหดตัว ไม่หวั่น “ประชานิยม” ก่อหนี้ เชื่อยังจำเป็นแม้ต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนโต เพื่อพยุงสถานการณ์ศก.ไทยก่อนเข้าไอซียู
แน่นอนว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย นโยบาย ลด แลก แจก แถม ในแนวทางประชานิยมอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้งบประมาณเพิ่มเติมปี 52 ที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายขาดดุล ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 347,060 ล้านบาท ขณะที่พบว่าฐานะการเงินในปีงบประมาณ พ.ศ.2551 ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 47 แห่ง มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3,910,350.28 ล้านบาท หนี้สินรวมทั้งสิ้น 2,789,809.94 ล้านบาท ส่วนของทุนรวมทั้งสิ้น 1,120,540,37 ล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังยืนยันว่านโยบายที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นี่ยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ก็มีการมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องแบกรับภาระหนี้อย่างแสนสาหัส ซึ่งพบว่ารัฐวาสหกิจหลายแห่งอยู่ในภาวะการณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก อาทิ องค์การ ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (ข.ส.ม.ก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ล่าสุด คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ก็ดิ้นรนหาทางรอดด้วยการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อออกพันธบัตรวางเงิน 50,000 ล้านบาท ในการแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องดังกล่าว อันเนื่องมาจากการลงทุนและการดำเนินงานของ กฟผ.จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท และจากการแบกภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของการดูแลค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ตามมติคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (เรกูเรเตอร์) จำนวน 21,000 ล้านบาท
พันธบัตร 50,000 ลบ.สะดุด
อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวของ กฟผ.นั้นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีหรือสามารถช่วยได้มากนักโดย พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ และ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ได้ประเมิน ถึงแนวทางดังกล่าวว่าการออกพันธบัตรที่รอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีนั้น แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ.ได้ก็ตาม หรือรัฐบาลจะเห็นชอบในหลักการดังกล่าวก็ตาม
แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้อาจไม่อื้อต่อการลงทุนและการตัดสินใจซื้อพันธบัตรของนักลงทุนทั้งในตลาดอเมริกาและญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน
“การออกพันธบัตร 50,000 ล้านบาทอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกไม่เอื้อต่อการเข้าซื้อพันธบัตรของนักลงทุนจากอเมริกาหรือญี่ปุ่น รวมถึงแรงจูงใจในเรื่องของดอกเบี้ยก็อาจไม่แรงพอต่อการตัดสินใจเข้าซื้อของนักลงทุนในประเทศมากนัก สุดท้ายการออกพันธบัตรจึงอาจช่วยไม่ได้มากเท่าที่ควร” พิเชษฐ ระบุ
ขณะที่นักลงทุนภายในประเทศเองก็อาจไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอในเรื่องจากดอกเบี้ยในปัจจุบันมีผลตอบแทนที่น้อยเกินไปซี่งอาจส่งผลให้พันธบัตรที่ตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 ล้านนั้นอาจจะไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้
ยันไม่แปรรูป กฟผ.
ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่าการเข้ากู้วิกฤติของ กฟผ.นั้น อาจนำไปสู่การการตัดสินใจแปรรูปกฟผ.อีกครั้ง หลังจากที่แผนดังกล่าวที่ริเริ่มในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ต้องยุติลงเมื่อเกิดกระแสต้านอย่างรุนแรง และการตัดสินใจกระจายหุ้นต้องถูกระงับเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เพิกถอน พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา จึงทำให้แผนดังกล่าวต้องยุติลงในที่สุด
“เมื่อครั้งรัฐบาลคุณชวน หลักภัย (ชวน 2) ก็มีกระแสถึงแนวคิดการแปรรูปกฟผ.แต่รัฐบาลก็ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดดังกล่าว กระทั่ง เมื่อเข้าสู่ยุคของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ก็นำไปสู่การแปรรูปแต่ก็ถูกต่อต้านจากสังคม จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งระงับการแปรรูปในที่สุด และในวันนี้จุดยืนในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงเหมือนเดิม คือจะไม่มีการแปรรูป กฟผ.เด็ดขาด” พิเชษฐ ระบุ
พิเชษฐ ยังระบุต่ออีกว่า แนวคิดการแปรรูป กฟผ.เป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ยากและภายในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่มีแนวคิดดังกล่าวและด้วยหลักการแล้วหากมีการคิดที่จะแปรรูปก็ไม่สามารถที่จะแปรรูป กฟผ.ได้ แต่หากมีการแปรรูปก็อาจจะเป็นโรงผลิตไฟฟ้ารายย่อยต่างๆมากกว่า
จับตา ปี 53 อาจแปรรูป
ขณะที่แหล่งข่าวภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประเมินถึงแนวทางการแปรรูปกฟผ.ว่าจากการพิจารณาตัวเลขผลประกอบการของกฟผ.ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งแนวคิดในการแปรรูป กฟผ.นั้นยังคงไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม
ที่สำคัญกระแสต้านรัฐบาลในเรื่องของการแปรรูปนั้น บทเรียนที่สำคัญในยุดของรัฐบาลทักษิณนั้น ค่อนข้างรุนแรงก็จำเป็นต้องระวังอย่างมาก เนื่องจากอาจบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลอย่างหนัก ซึ่งสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่นี้ไม่ควรที่จะฝืนกระแสสังคมเพราะมีภารกิจในการกอบกู้เศรษฐกิจที่ต้องทำไม่ควรที่จะจุดชนวนใหม่ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังดีอยู่แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่าในอนาคตสถานการณ์ของ กฟผ.จะเป็นเช่นไร หรือเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะอยู่ในทิศทางใด แต่ยังมีความเชื่อว่า กฟผ.เองยังสามารถรักษาเสถียรภาพขององค์กรอย่างน้อยที่สุดก็ภายในสิ้นปี 52 นี้
“หากปัจจัยภายนอกทางเศรษฐกิจหรือตัวเลขการใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ตามเป้าอาจส่งผลให้ กฟผ.ตกที่นั่งลำบาก อาจมีความจำเป็นต้องหยิบเรื่องของการแปรรูปขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในปี 53 ก็มีความเป็นไปได้” แหล่งข่าว ระบุ
จี้รัฐอุ้ม กฟผ.
ขณะเดียวกัน ตามนโยบายที่รัฐบาลผลักภาระหนี้ให้แก่ กฟผ.ตามมาตรการ 5 โครงการ 6 มาตรการแก้วิกฤต นั้นพบว่าจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือนในยุคของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาจนถึงการสานต่อในโครงการดังกล่าวของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตัวเลขที่ กฟผ.ต้องแบกรับนั้นอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลได้ชำระเงินดังกล่าวเพียง 2 เดือนเท่านั้น และเมื่อขยายเวลานโยบายดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือนตัวเลขดังกล่าวอาจขยับขึ้นอีกเท่าตัวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกฟผ.อย่างมาก
ดังนั้น นอกจากแนวทางที่บอร์ดกฟผ.มีมติยื่นไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการออกพันธบัตรกว่า 50,000 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งอาจไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังก่อนที่สถานการณ์ของ กฟผ.จะอยู่ในภาวะวิกฤต รวมถึงอาจต้องรับหน้าเสื่อในการค้ำประกันให้ กฟผ.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศซึ่งรัฐบาลจะสามารถบรรเทาให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงเกินไปนัก
หวังอานิสงส์ “อเมริกา” ฟื้น
อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากสังคมบางส่วนก็ยังมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์นั้น อาจะเป็นนโยบายประชานิยมที่ส่งผลกระทบในส่วนของวินัยการคลังในอนาคต
ซึ่งแหล่งข่าวในพรรคประชาธิปัตย์ ได้อธิบายว่า นโยบายดังกล่าวเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยเมื่อเทียบกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 40 นั้น แม้ว่าความรุนแรงจะไม่ต่างกันแต่ ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆนั้นต่างกันมาก เนื่องจากในอดีตประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้ง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีทำให้การส่งออกยังสามารถช่วยกู้วิกฤติเศรษฐกิจและฟื้นตัวได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก
แต่เมื่อเทียบในปัจจุบันประเทศใหญ่อย่างอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย หรือประเทศในแถบยุโรปเองต่างก็ประสบปัญหารวมถึงประเทศสิงคโปร์ที่ถือว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังต้องเร่งใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับไทย
ดังนั้น การหวังพึ่งกำลังซื้อจากตัวเลขการส่งออกจากต่างประเทศนั้นไม่อาจที่จะวางใจได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากกำลังซื้อภายในจึงมีความจำเป็น ฉะนั้นการที่มีการมองว่า นี่คือ"นโยบายประชานิยม"อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะนี่คือ "การกระตุ้นเศรษฐกิจ"ที่มีความจำเป็นมากกว่านั่นเอง
นอกจากนี้ การที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปัจจุบัน จึงต้องพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่รอดได้จนกว่า สหรัฐอเมริกา อันเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยจะกลับมามั่นคงได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยกว่า 3 ปีก็ตามภายหลังที่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีเตรียมเพิ่มงบประมาณในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศถึงกว่า 850,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงขยายเวลาจาก 1ปี เป็น 3 ปีนั่นเอง
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพยามประคองตัวเองให้เศรษฐกิจไทยอยู่ได้จนกว่าการส่งออกจะกลับมาดีอีกครั้งจากกำลังซื้อของประเทศสำคัญอย่างสหรัฐ
“เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ อยู่ในอาการป่วยกันแทบทั้งสิ้น กับของไทยเอง ก็อยู่ในขั้นที่พอเยียวยาได้ การฉีดยา ให้ยาบำรุงด้วยตัวเราเอง ก็จำเป็นต้องทำเพื่อรอให้ประเทศต่างฟื้นตัว ทุกอย่างก็จะคลี่คลายได้ ตอนนี้มาตรการต่างๆ จึงมีความจำเป็นเพราะไม้ให้อาการป่วยทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ไม่หนักจนถึงขั้นไอซียู” แหล่งข่าวทิ้งท้าย
|