|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คลังแถลงจีดีพีไตรมาส 4 ปี 51 ติดลบ 3.5% หวั่นกระทบต่อการขยายตัวไตรมาสแรกของปีนี้ดิ่งต่อ เดินหน้าเร่งใช้ 3ประสาน "ดอกเบี้ยต่ำ-แบงก์รัฐอัดฉีดเงินกู้-ค่าบาทอ่อน" หวังผลักดันเศรษฐกิจเร่งฟื้นตัวรูปตัววี พร้อมเร่งผลักดันงบประมาณปกติออกมากระตุ้น 2 เดือนที่เหลือของไตรมาสแรก หลังงบประมาณเพิ่มเติม 1.167 แสนล้าน กว่าจะออกใช้ต้องรอถึงเดือน เม.ย.
วานนี้ (29 ม.ค.) นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของสศค.ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จะขยายตัวติดลบ และเมื่อรวบรวมตัวเลขตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ พบว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ติดลบอยู่ที่ระดับ 3.5% ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยหากปล่อยไว้โดยไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้แน่นอน
“จีดีพีในไตรมาส 4 ที่ติดลบสะท้อนปัญหาในช่วงปลายปีที่มีการชะลอตัวลงทุกภาคส่วน ทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐ การบริโภคที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอและปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 3 ขณะที่ปริมาณการส่งออกก็หดตัวลงซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง” นายสมชัยกล่าวและว่า ในไตรมาส 1 อาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หากสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันเนื่องจากมีการเตือนล่วงหน้าแล้วถึง 2 เดือน
สาน 3 นโยบายให้ ศก.เป็นวีเชฟ
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า สำหรับแนวทางในการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกนั้น 3 นโยบายที่ประเทศต่างๆ ทั่วนำออกมาใช้เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ 1.นโยบายการเงินโดยเน้นการใช้ดอกเบี้ยต่ำซึ่งบางประเทศอยู่ที่ระดับ 0% 2.นโยบายการคลังโดยใช้การขาดดุลงบประมาณเพื่ออัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบในช่วงที่เอกชนอ่อนแอ รวมทั้งนโยบายกึ่งการคลังโดยผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้ปล่อยสินเชื่อ
และ 3.นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนนี้ก็คงจะตระหนักดีว่าทิศทางควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งทุกประเทศเขาก็เฝ้าติดตามค่าเงินให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้จึงจำเป็นต้องให้ค่าเงินอ่อนลงทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ โดยประเทศเพื่อบ้านทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ค่าเงินอ่อนลงจากต้นปีแล้ว 4.5-4.6% เพื่อพยุงการส่งออกให้สามารถแข่งขันได้
“อยากเห็นการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐ อัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบ ส่งออก รากหญ้า เอสเอ็มอี แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งบริหารจัดการ 3 นโยบายได้อย่างเหมาะสม ให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับและระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันได้และจะเป็นส่วนร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นรูปตัววีได้” โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
ดัชนีบ่งชี้ทุกอย่างหดตัว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษก สศค.กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัญหาการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าสอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 67.7 จุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อันเป็นผลจากความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมทั้งวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคลดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4/51 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ -5.6% ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 22.2% ต่อปี และหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ 0.6% ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 13.1% ต่อปี
ด้านการคลังในไตรมาสที่ 4 ของปี รายได้สุทธิของรัฐบาล 272.8 พันล้านบาท หดตัว -16.1% ต่อปี ส่วนหนึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน และผลประกอบการของภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการส่งออกหดตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากการปิดสนามบินภายในประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า
เงินเฟ้อหนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 อยู่ที่ 2.2% ต่อปี ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.2% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2551 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน ที่ 0.4% ต่อปี
โดยมีสาเหตุจากราคาสินค้าพลังงานและอาหารปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ 37.0% ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50.0% ค่อนข้างมาก
ด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ในระดับสูงที่ 111.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4.0 เท่า
|
|
|
|
|