นพพร พงษ์เวช อดีตกรรมการรองผู้อำนวยการธนาคารสยาม หลังจากที่ถูกทางการสั่งให้กรุงไทยเข้ามาเทคโอเวอร์จนประธานกรรมการธนาคารสยามคือเกษม
จาติกวณิช ต้องลาออก ส่วนนพพรยังอยู่ต่อจนถึงวันที่คนของสยามต้องเขียนใบสมัครเป็นพนักงานกรุงไทย
สำหรับนพพร การที่จะตามไปอยู่กรุงไทย ซึ่งนพพรไม่เห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว
สไตล์การทำงานแบบราชการของกรุงไทยก็เข้ากันไม่ได้ และที่สำคัญหาตำแหน่งและเงินเดือนที่เหมาะสมไม่ได้
ก็ถึงคราวที่หนุ่มใหญ่วัย 40 ต้องตกงานเป็นครั้งแรกในชีวิต!?
"ผมนอนอ่านหนังสือเก่า ๆ อยู่บ้าน เช่าวิดีโอมาดู รับส่งลูกเช้าเย็น
มีเพื่อน ๆ มาเยี่ยมเยอะ บางคนหิ้วหูฉลาม, กระเพาะปลามาฝาก ผมกินจนอ้วนขึ้นหลายกิโล
จริง ๆ แล้วผมอยากพัก แต่ไม่ได้พักเท่าไหร่ ก็มีคนโทรมาชวนไปทำงานหลายแห่ง
แต่เราก็ยังไม่ตัดสินใจเสียที พะว้าพะวังไม่สบายใจ ไม่รู้จะปรึกษาใคร พ่อแม่ก็ไม่มี…"
นพพรเล่าช่วง 3 เดือนแห่งความว้าวุ่นใจ
นพพรมาได้พักจริง ๆ ก่อนเข้าทำงานประมาณ 1 เดือน เพราะอุบัติเหตุที่กบินทร์บุรี
เขาไปดูงานของเพื่อนที่ทำทางอยู่ที่นั่น ขณะที่เขายืนพิงรถปิคอัพอยู่บนไหล่ทาง
รถ บขส. วิ่งสวนมาด้วยความเร็วสูงชนรถคันหน้า ๆ พุ่งชนนพพรที่ยืนพิงรถอยู่เฉย
ๆ หน้าคว่ำกับพื้นหน้าผากแตกและซี่โครงหัก 3 ซี่
"คราวนี้ได้พักจริง ๆ นอนอยู่พญาไท 2 ราว ๆ 1 อาทิตย์ ซวยจริง ๆ ผมยืนอยู่เฉย
ๆ แท้ ๆ เชียว ถ้าผมนั่งในรถมีหวังตายไปแล้ว"
ท่ามกลางข่าวลือว่านพพรจะไปอยู่ที่นั่นที่นี่ เช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2530
เขาปรากฏตัวที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซีในตำแหน่งกรรมการและรองผู้จัดการใหญ่
บงล. เอ็มซีซี เริ่มต้นจากเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ร่วมกับตระกูลสารสิน ดังนั้นประธานคนแรกจึงเป็นพจน์
สารสิน ประธานคนต่อมาคือ เฉลิม ประจวบเหมาะ และใหม่ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วคือบุญมา
วงศ์สวรรค์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
บ. ปูนซิเมนต์ไทยอีกด้วย
บุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นเพื่อนรักกับ วารี พงษ์เวช (พ่อของนพพร) และรู้จักสนิทสนมกับ
เกษม จาติกวณิช ซึ่งเป็นคนที่เชื่อมือนพพรมาก ๆ ด้วยเหตุดังกล่าว บุญมาจึงอยากได้นพพรมาบริหารที่เอ็มซีซี
แทน โจฮานเนส เบอร์นาร์ดุ้ส ฟันเดอร์ลินเดน กรรมการผู้จัดการ
เบอร์นาร์ดุ้ส รู้จักนพพรตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงิน บ.
เชลล์ ส่วนนพพรอยู่ซิตี้แบงก์ หลังจากที่เบอร์นาร์ดุ้สเกษียณที่เชลล์ (55
ปี) เชาว์ เชาว์ขวัญยืนเห็นว่าเป็นคนมีฝีมือจึงชวนมาที่เอ็มซีซี ปี 2531
จะหมดสัญญาและเบอร์นาร์ดุ้สเองก็อยากเกษียณ
บุญมา วงศ์สวรรค์ ชวนนพพรตั้งแต่ต้นปี 2530 ตอนที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตสยามจะเป็นอย่างไร
เขาเองก็ตัดสินใจ 60-70 เปอร์เซนต์กับเอ็มซีซีมาตลอด แต่ตามวิสัยของปุถุชนก็คงอยากจะรอว่ามีใครมีข้อเสนอที่ดีกว่าหรือไม่
จนกระทั่งตัดสินใจว่าที่นี่แหละดีที่สุดแล้ว
เหตุผลที่นพพรเลือกเอ็มซีซีน่าสนใจทีเดียว
"หนึ่ง-โครงสร้างผู้ถือหุ้นเอ็มซีซี เหมาะมากสำหรับการเป็น "ลูกจ้าง"
เพราะไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นตระกูลใด ราว 50% ถือโดยสถาบันต่าง ๆ เช่นธนาคารไทยทนุ
10% ทรัสต์ลีแบงก์ของสิงคโปร์ 10%, ฟิลาเดลเฟียอินเตอร์เนชั่นแนลอิควิตี้
อินคอร์ปอเรชั่น 10% ธนาคารไดวา 10% เดลต้าพรอปเพอร์ตี้ 10% ซึ่งไม่มีใครมา
DOMINATE บริษัทได้
สอง-DEGREE OF PROFESSIONALISM สูงมาก ไม่ได้บริหารโดยระบบครอบครัว ทุกคนเป็นลูกจ้างทั้งสิ้น
ทำงานระบบฝรั่ง แต่เป็นบริษัทของคนไทย
สาม-ผลประกอบการของบริษัทดีมาก แม้ว่า SCOPE งานจะเล็กกว่าเดิม แต่ความสามารถในการทำกำไรสูงมาก
ปีนี้คาดว่ากำไร 60 ล้าน
สี่-ประธานกรรมการเป็นคนที่มีความสามารถเป็นผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ ทั้งประธานและผู้จัดการใหญ่เอาบัญชีต่าง
ๆ ที่แท้จริงของบริษัทให้ผมดูตั้งแต่เดือนมีนาคม ผมสบายใจได้ว่าไม่มีมั่วซั่วเหมือนที่ผ่านมา…"
นั่นคือเหตุผลอย่างรอบคอบที่นพพรเลือกมาที่นี่ เขาย้ำว่าเข็ดแล้วที่จะเข้าไปในแบงก์ที่มีปัญหา
และกลัวเหลือเกินที่จะต้องยุ่งเกี่ยวกับราชการ
ช่วงแรกในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการ นพพรดูแลด้านเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะ
JAPANESE ACCOUNT ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เพราะธนาคารไดวาธนาคารใหญ่อันดับ
6 ของญุ่ปุ่นเพิ่งเข้ามาถือหุ้น 10% ที่เอ็มซีซี (เพราะ JAPANESE BUSINESS
เขามีลูกค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้บริการในไทย ถ้ามีบริษัทไฟแนนซ์ที่ถือหุ้นอยู่
ก็จะทำให้ธุรกิจคล่องตัวขึ้น) ดังนั้นถ้าเห็นนพพรแวะไปที่ LA CLASSE บาร์ญี่ปุ่นแถวถนนธนิยะบ่อย
ๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ
เวลาที่เหลือจากงานในหน้าที่ คือ เวลาสำหรับเรียนงานและถ่ายทอดงานในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่
"ผู้จัดการ" ถามถึงนโยบายเมื่อเขาขึ้นตำแหน่งนี้
"โดยหลักแล้วคง KEEP ON งานเดิม และทำให้ AGGRESSIVE มากขึ้น อย่างปีนี้เรามีรายได้จากตลาดหุ้นมาก
เพราะตลาดมันบูม ถ้าปีหน้า (2531) มันไม่บูมหรือบูมน้อยลง รายได้ก็น้อยลง
ดังนั้นเราต้องมาพัฒนาธุรกิจใหญ่ คือ สินเชื่อ, การค้ำประกัน การทำ HIRE
PURCHASE ให้หนักหน่วงและใหญ่ขึ้น ซึ่งหัวใจของการพัฒนาธุรกิจกอยู่ที่บุคลากร
ซึ่งผมพอใจบุคลากรที่นี่มาก ทุกอย่างที่เอ็มซีซีดีอยู่แล้ว ผมพอใจมาก ๆ ในเมื่อฐานมันแน่น
มันพร้อมที่จะพุ่งไปข้างหน้า เราเพียงแต่เสริมอีกนิดหน่อยให้ถูกจุด อนาคตสดใสแน่
และยิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราเพิ่มทุน 50 ล้าน ซึ่งได้มาจริง ๆ 150 ล้าน ยิ่งทำให้เราขยายธุรกิจได้กว้างขวางขึ้น…"
ว่าที่กรรมการผู้จัดการกล่าว
สำหรับนพพร งานที่นี่เป็นงานที่ท้าทาย PROFESSIONAL อย่างเขามาก และสำหรับเอ็มซีซีก็กำลังรอดูผลงานของหนุ่มใหญ่ไฟแรงอย่างนพพรว่าเลือกคนถูกหรือไม่ด้วย?