|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
รมว.คลัง ไฟเขียวยกเว้นภาษีควบรวมกิจการ-ปรับโครงสร้างหนี้ หนุนเสริมสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมเร่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เดินหน้าแก้ปัญหา-อุปสรรคตลาดหุ้น ขณะที่ สมาคมบจ. เสนอรัฐบาลจัดตั้งกองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์แคปปิตอล) เพื่อนำเงินไปลงทุนร่วมบริษัทขนาดเล็ก หลังผลสำรวจพบบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กประสบปัญหาแหล่งเงินทุน พร้อมแก้เกณท์การกู้เงินของบริษัทขนาดใหญ่ให้ขอสินเชื่อได้มากขึ้น ด้านบีโอไอ จี้รัฐบาลเร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมหารือคลังให้สิทธิทางภาษีบจ. แบบถาวร
วานนี้ (27 ม.ค.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดสัมมนาเรื่อง “มาตรการที่รัฐจะส่งเสริมให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรเตรียมเสนอให้มีการยกเว้นภาษีในการปรับโครงสร้างหนี้ และการควบรวมกิจการ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ มีการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ทั้งการรวมกิจการกันเพื่อความอยู่รอด หรือสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“ที่ผ่านมาภาษีเป็นอุปสรรคต่อการควบรวมกิจการในไทย ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้คลังจะนำรายละเอียดเสนอเข้าครม.เร็วๆ นี้ เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันทีภายในปีนี้ ซึ่งกระตุ้นให้มีการพูดคุยระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางด้วย”
พร้อมกันนี้ จะเร่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยโดยเร็ว เพื่อที่จะทำหน้าที่แก้ไขกฎเกณฑ์และอุปสรรคในการพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งปัญหาของตลาดทุนไทยขณะนี้คือการที่มีขนาดที่เล็กทำให้มีความผันผวนสูงเมื่อเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าออก ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้ตลาดทุนไทยมีขนาดที่ใหญ่ รองรับเงินทุนต่างชาติ ซึ่งอาจจะต้องมีการควบรวมตลาดหุ้นไทยกับต่างประเทศที่มีปัญหาเช่นเดียวกันกับไทยหรือไม่
นอกจากนี้จะต้องแก้ไขปัญหาที่บริษัทที่เตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ลังเลในการเข้าจดทะเบียน และบริษัทจดทะเบียนอยู้แล้วที่มีความรู้สึกว่ามีสิทธิประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเข้ามาจดทะเบียน จากที่มีภาระหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียนที่มากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไข
สำหรับนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อนำมาซึ่งรายได้ของรัฐบาล และภาวะตลาดหุ้นไทยยังไม่เอื้อต่อการขายหุ้นอยู่แล้ว รวมทั้งรัฐวิสาหกิจยังถือเป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมีมูลค่าทรัพย์สินมหาศาล แต่มีผลตอบแทนต่ำมาก เพราะมีปัญหาธรรมาภิบาล ทำให้การบริหารจัดการมีปัญหาได้กำไรต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการแก้ไข
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ในฐานะอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียนพบว่า ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการของบริษัท
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้เสนอแนะให้รัฐบาลจัดต้องกองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์แคปปิตอล) เพื่อเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก โดยการเข้าไปลงทุนโดยตรวประมาณ 50 ล้านบาทต่อบริษัท หรือลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องลดการจ้างงาน รวมทั้งลดเกณฑ์ให้บริษัทขนาดเล็กที่ต้องการออกตราสารต่างๆ ไม่จำเป็นต้องทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เรตติ้ง) เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่เองยังประสบปัญหาในการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ จากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดห้ามบริษัทในเครือเดียวกันห้ามกู้เงินรวมกันเกิน 30% ของเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มปตท. ต้องปรับแผนมาออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจแทน แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ต้องการปล่อยกู้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขัดต่อเกณฑ์ดังกล่าว
“การลงทุนใน บจ. ยังถือว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินธนาคารพาณิชย์ จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีผลประกอบการที่ดีและมีการจ่ายเงินปันผลที่สูง ซึ่งถือเป็นทางเลือกแก่ผู้ที่มีเงินออมในการลงทุน หากนักลงทุนมีการกระจายการเงินลงทุนในหุ้น ฝากเงิน ลงทุนในตราสารหนี้ จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น”
นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ (บีโอไอ) กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการยืนยันว่าจะไม่มีการปิดสนามบินอีกเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 52 นี้ บีโอไอได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ชี้แจงแก่นักลงทุนต่างประเทศรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว เพราะขณะนี้มีนักลงทุนรายใหม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เพื่อเป็นการวางแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท ขณะเดียวกันจะต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศคู่ค้าของไทยด้วย
นางอรรชกา กล่าวว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกส่งผลให้จำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในเดือนมกราคม 2552 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50% แต่มูลค่าของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนกลับสูงถึง 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนมกราคมปีก่อน 3-4 เท่า ที่มีมูลค่าเพียง 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ตลาดทุนไทยพร้อมที่จะเป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันยังจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บภาษีนิติบุคคลให้กับรัฐบาล เพราะบริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายภาษีแก่รัฐบาลมีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 22% เมื่อเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอัตราการเติบโตเพียง 8% เท่านั้น
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดที่จะขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบถาวร จากปกติที่จะขอสิทธิประโยชน์ภาษีเป็นรายปีไป แต่จะยังไม่ขอต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในปี 2553 จากบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในปีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปอีก 3 ปี และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงได้ประโยชน์ภาษีต่อไปอีก 3 ปีเช่นกัน
“จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามตลาดรวม หรือ (มาร์เก็ตแคป) ลดลงเหลือ 40% ของจีดีพี ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มี 70% ของจีดีพี”
|
|
|
|
|