ฟื้น “ยนตรกิจ กรุ๊ป” ด้วยกลยุทธ์มัลติแบรนด์ ซีซันใหม่ ตลาดบนยังคงคลาครั่งไปด้วยรถยนต์แบรนด์ยุโรปที่เคยทำตลาดในอดีต แต่ที่น่าสนใจคือตลาดล่าง ถูกปูพรมด้วย 3 แบรนด์ใหม่จากจีน คือ จีลี่ ,โพลารสัน และ เฌอรี่ รวมถึงรถยนต์ นาซ่า ราคาถูกจากมาเลเซีย และแบรนด์ เกีย จากเกาหลี พร้อมขาธุรกิจใหม่ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ทั้งบีเอ็มดับเบิลยู, มิตซูบิชิ, ฟอร์ด และมาสด้า ทั้งหมดนี้อาจทำให้ยนตรกลับมายิ่งใหญ่ในฐานะกงสีธุรกิจยนต์อีกครั้ง
ต้องถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ของกลุ่มยนตรกิจที่ผ่านมา ด้วยการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหม่ ประกอบด้วย 1.ไทยยานยนตร์กรุ๊ป 2.ยนตรกิจคอร์ปอเรชั่น และ 3. ยนตรกิจออโตโมบิลกรุ๊ป สร้างความคึกคักในวงการยานยนต์เมืองไทย ในช่วงเวลาที่คาดการณ์กันว่า ตลาดรถยนต์กำลังเข้าสู่ช่วงถดถอยอีกครั้ง
ไทยยานยนตร์กรุ๊ป จะดำเนินธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์โฟล์คสวาเกนและรถเฌอรี่ ยนตรกิจคอร์ปเปอเรชั่น ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ ออดี้ ซีตรอง เซียท สโกด้า เกีย มิตซูโอเกะ นาซ่า จีลี่ และโพลาร์ซัน และยนตรกิจออโตโมบิลกรุ๊ป นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์เปอโยต์
โดยเฉพาะการสร้างกลยุทธ์มัลติแบรนด์ ในตลาดรถยนต์ระดับล่าง หรือรถราคาประหยัด ในวันนี้กลุ่มยนตรกิจ เป็นเครือข่ายธุรกิจยานยนต์ที่มีแบรนด์รถราคาถูกจากจีน มาเลเซีย และเกาหลี รวมกันถึง 5 แบรนด์ และมีรุ่นแยกกันทำตลาดกว่า 10 เซ็กเมนท์ ซึ่งกลุ่มยนตรกิจ มีประสบการณ์สูงในกลยุทธ์การตลาดแบบมัลติแบรนด์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในตลาดรถยนต์ระดับหรู จนทำให้กลุ่มยนตรกิจเป็นเครือข่ายธุรกิจยานยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย
ตลาดรถยนต์ระดับล่างน่าจะเป็นอนาคตใหม่ของ กลุ่มยนตรกิจ เพราะสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน "เฌอรี่" (Cherry) เป็นแบรนด์รถยนต์ล่าสุดที่ยนตรกิจ ในนาม ไทยยานยนตร์กรุ๊ป กำลังตั้งความหวังให้เป็นฐานตลาดสำคัญ ในประเทศจีนนั้น เฌอรี่ คือผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ4 ในเมืองไทยนั้น แบรนด์นอกจากกลุ่มไทยยานยนต์เป็นผู้รับผิดขอบด้านการตลาด และการขายแล้ว ยังมีเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างกลุ่มซีพี เป็นแบ็กอัพในรูปแบบ บริษัทร่วมทุน ซีพีจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเงิน การบัญชี รวมทั้งการประสานสายสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเฌอรี่อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศจีน
โดยจะมีการเปิดตัวรถยนต์ เฌอรี่ ในตลาดเมืองไทยทั้งหมด 3 รุ่น ประกอบด้วยรถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ 1100 ซีซี. รุ่น คิวคิว รถเอสยูวีอเนกประสงค์ 5 ที่นั่ง 2000 ซีซี. รุ่น ทิกโก้ และรถเอ็มพีวีอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 2400 ซีซี. รุ่นครอส โดยจะเผยโฉมในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ในเดือนเมษายนนี้ และจะเริ่มประกอบภายในประเทศในเร็วนี้ พร้อมตั้งเป้ายอดขายปีแรก 3,000-5,000 คัน โดยมุ่งเน้นความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ
รถยนต์จีนอีก 2 แบรนด์คือ โพลาร์ซัน ในรุ่นเซ็นจูรี่ ซีรีส์ รถตู้อเนกประสงค์ มีให้เลือกถึง 4 แบบ สำหรับรองรับผู้โดยสารเช่นเดียวกับรถตู้อเนก ประสงค์ทั่วไป ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 599,000 บาทเท่านั้น และ จีลี่ ในรุ่น ซีเค รถซิตี้คาร์ รูปลักษณ์หรูหราสไตล์ยุโรป แต่มีราคาไม่เกิน 400,000 บาท ส่วนรถยนต์นาซ่า จากมาเลเซีย ฟอร์ซ่า นั้นเป็นรถยนต์นั่ง 5 ประตูแฮทช์แบ็ค มีราคาเพียง 359,000 บาท
ในตลาดระดับล่างนั้น รถยนต์เกีย เป็ยรถยนต์ที่มีราคาสูงที่สุด โดยมีรถยนต์จำหน่าย 3 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ คานิวัล รถยนต์เอ็มพีวี ระดับราคา ประมาณ 1,100,000 ถึง 1,700,000 บาท เซอเรนโต้ รถยนต์ในกลุ่ม เอสยูวี ราคา 1,800,000 บาท และรถบรรทุกขนาด 1.5 ตัน ในรุ่น K2900 ระดับราคาประมาณ 630,000 บาท
ดังนั้นไม่ว่ารถยนต์รุ่นใดได้รับความนิยมมากน้อยเพียงไร ที่สุดมันก็จะเป็นยอดขายของกลุ่มยนตรกิจอยู่ดี วิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหารไทยยานยนตร์กรุ๊ป บอกว่า แม้จะต้องแข่งขันบ้างของบางแบรนด์ในกลุ่ม แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าเราไม่แข่งกันเองก็ต้องแข่งกับคนอื่นอยู่ดี
สำหรับตลาดระดับบนนั้น กลุ่มยนตรกิจ มีแบรนด์รถยนต์หรูจากยุโรป ครองตลาดในหลายๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ออดี้, โฟล์คสวาเกน, ซีตรอง, เปอโยต์ ,เซียท, สโกด้า และมิตซูโอกะ โดยแบรนด์โฟล์คฯ และเปอโยต์ เป็นแบรนด์แรกๆ ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวด้านผลิตภัณฑ์รถยนต์รุ่นใหม่มากที่สุด สำหรับโฟล์คนั้น ในส่วนของไทยยานยนต์กรุ๊ป ในปีนี้จะมีการรุกตลาดอย่างจริงจัง จากเดิมจะมีทำตลาดเพียงรถตู้เท่านั้น จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่สู่ตลาดมากขึ้น อาทิ โฟล์คสวาเกน พาสสาท ซีซี, บีทเทิล, ซีรอคโค และกอล์ฟ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายยอดขายปีนี้ที่ 950 คัน แบ่งเป็นรถตู้ 500 คัน จากปีที่ผ่านมาทำได้กว่า 400 คัน และรถยนต์นั่ง หรือเก๋งอีก 450 คัน
การทำตลาดกลุ่มรถยนต์หรู แม้บางแบรนด์จะถูกแยกออกไปทำตลาดกันเอง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะกลยุทธ์มัลติแบรนด์ ครั้งนี้ กลุ่มยนตรกิจ ก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพมากขึ้น จากเดิมเป็นการทำธุรกิจในแบบกงสี ด้วยการดันนักบริหารในตระกูล “ลีนุตพงษ์” ขึ้นไปอยู่ในระดับบอร์ดบริหารงาน พร้อมกับการจ้างนักบริหาร และจัดการเข้ามาทำงานแทน
ในส่วนการดำเนินธุรกิจสาขาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์อื่นๆ นั้น นอกเหนือจาก เครือข่ายตัวแทนนำหน่ายรถยนต์ โฟล์กสวาเกน 7 แห่งแล้ว ก็ยังมี โชว์รูมของ บีเอ็มดับเบิลยู ในนาม บาร์เซโลนา ออโต้ 3 แห่ง และรถยนต์มิตซูบิชิ 1 แห่ง สำหรับปีนี้ กลุ่มยนตรกิจมีแผนจะเพิ่มเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายอีก 20-30 แห่ง ทั้งยังมีแผนจะขยายแบรนด์ที่จะเป็นดีลเลอร์เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างของแบรนด์สินค้า เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ล่าสุดเตรียเปิดตัวการเป็นดีลเลอร์ให้กับรถยนต์ ฟอร์ด และมาสด้า ซึ่ง วิทิต ระบุว่า ทั้ง 2 แบรนด์จะอยู่ในโชว์รูมเดียวกัน ด้วย
อย่างไรก็ดีแม้ปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องประสบกับวิกฤต แต่ วิทิต บอกว่า ไทยยานยนตร์ยังมีความเชื่อมั่นว่าการทำตลาดไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะรถยนต์ถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของสังคมไทย โดยยกตัวอย่างกรณีรถยนต์โฟล์กสวาเกน นั้นถือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือนิช ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ลูกค้าเป็นผู้มีฐานะดี ส่วนเฌอรี่เป็นรถที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรถยนต์ที่ให้ความคุ้มค่านั้นเอง
|