|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ใหญ่ เข้าแถวหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ และบัญชีเงินฝากประจำ ตามแรงบีบคั้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กำลังควงสว่านดิ่งนรก ขณะที่สภาพคล่องยังกองพะเนิน จากการคุมเข้มสินเชื่อ เชื่อสถานการณ์ดำดิ่งของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลเชื่อมไปยังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ประเดิม ปรับปรับลดเงินฝากออมทรัพย์แระเภท นิติบุคคล สถาบันการเงิน กองทุน โรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยราชการ ลดจาก 0.50% มาอยู่ที่ 0.25% ก่อนจะเล็งไปที่บุคคลธรรมดาทั่วไป หากกราฟการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงร่วงรูดไม่มีทีท่าจะหยุดได้ในเร็ววัน...
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ก่อนหน้านี้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อกระตุ้น และประคับประคองธุรกิจ เศรษฐกิจ ภาคการผลิต รวมถึง ปากท้องของผู้คนในประเทศ ในทุกระดับ ส่วนหนึ่งก็ยังคงทำหน้าที่กดดันให้สถาบันการเงินต่างๆปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และผ่อนคลายการแบกภาระหนี้ของลูกหนี้ให้ลดน้อยลง
ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยง ความไม่มั่นใจ และค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยกู้อย่างเข้มงวดของบรรดา ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นับจากวิกฤตเศรษฐกิจอเมริกา แพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารทุกแห่ง ต่างก็หนีไม่พ้นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ก็เป็นการปรับลดในอัตราที่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ จะอยู่ในระดับ 0.25-0.50% ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยฝั่งขากู้และดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้ ที่ปรับลงไม่มาก ขณะที่ฝั่งเงินฝากจะโฟกัสไปที่ดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำเป็นอันดับแรก
วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันถึง 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ระดับ 2% จะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินนโยบาย ตามทิศทางของแบงก์ชาติโดยปริยาย ตรงนี้ก็จะมีผลต่อการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปสำหรับแนวนโยบายจากภาครัฐ
อดิศร เสริมชัยวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า การที่ทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็เท่ากับชี้นำให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้ หรือแม้แต่เงินฝาก
ดังนั้น แนวโน้มนับจากนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง ที่แต่ละแบงก์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลง ตามเงินฝากประจำได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75%
โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงเทพ ยังเชื่อว่า แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คงต้องเป็นไปตามทิศทางของตลาด โดยเฉพาะหากธนาคารใดนำร่องไปก่อน ธนาคารอื่นก็คงต้องปรับลดลงตามทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เป็นเรื่องต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพราะเป็นสิ่งที่ตัดสินใจได้ยาก
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เห็นว่า หากทุกแบงก์ต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง ซึ่งก็อาจมีผลโดยตรงถึง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ได้เช่นกัน ถ้า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ลดลงมากจนเข้าใกล้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยห่างกันเป็นเท่าตัว โดย เงินฝากประจำ 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ที่ 1.5%
อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกรุงไทย ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสูง การจะลดดอกเบี้ยสามารถทำได้ แต่ต้องดูที่ความเหมาะสมและสภาพตลาด เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง จะทำให้เจ้าของเงินฝาก หันไปซบแบงก์อื่น เพราะผลตอบแทนเริ่มต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ สเปรด กลับยังสูงอยู่ในระดับราว 5%
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากคำประกาศของแบงก์ชาติ แบงก์รัฐบางแห่งก็เริ่มนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเริ่มที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส.
ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.25% โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR จากเดิม 7.00% เหลือ 6.75% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวพิเศษของ ธอส.เท่ากับ MRR - 2.00% ในปีที่ 1 ถึง 3 หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR - 0.50 ตลอดอายุสัญญากู้(ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.75%)
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะจะช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายใ นเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าธนาคาร ได้อีกทางด้วย ภายใต้สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและตั๋วสัญญาใช้เงินทุกประเภทลงอีก 0.50% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลดลงเหลือ 1.75 % อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ลดลงเหลือ 2.50%
ส่วนเงินฝากประจำสินเคหะปรับลดลงเหลือ 1.75% (ฝากครบ 24 งวด ธนาคารบวกดอกเบี้ยโบนัสเพิ่มให้อีก 1.00%) ทั้งนี้ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 7 วัน และ 14 วัน เหลือ 1.00% ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 1 เดือน และ 2 เดือน ลดลงเหลือ 1.50% ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลดลงเหลือ 1.75% ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ลดลงเหลือ 2.50%
นอกจากนี้ธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษจากเดิม 2.25% เป็น 1.75% ต่อปี ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นกลุ่มแบงก์ใหญ่ ที่ประเดิมประกาศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
โดยได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 6.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 6.75% และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 7.0%
ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ลดลงจาก 1.35-1.75% มาอยู่ที่ 1.0-1.25% เงินฝากประจำ 6 เดือน ลดจาก 1.50-1.75% มาอยู่ที่ 1.15-1.25% เงินฝากประจำ 12 เดือน ลดจาก 1.60-1.75% มาอยู่ที่ 1.25% เงินฝากประจำ 24 เดือน ลดจาก 2.25-2.50% มาอยู่ที่ 1.75-2.0% และเงินฝากประจำ 36 เดือน ลดจาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.0%
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ สำหรับนิติบุคคล สถาบันการเงิน กองทุน โรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยราชการ ลดจาก 0.50% มาอยู่ที่ 0.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาทั่วไป ยังคงอยู่ที่ 0.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
เวลาไล่เลี่ยกัน ธนาคารกรุงเทพ ก็มีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR จาก 6.75% เป็น 6.50% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR จาก 7.00% เป็น 6.75% และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR จาก 7.25% เป็น 7.00%
ด้านเงินฝาก ได้มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว สำหรับบุคคลธรรมดา โดยเงินฝากประจำ 3 เดือน วงเงินฝากน้อยกว่า 3 ล้านบาท จาก 1.50% เป็น 1.25% วงเงินฝากตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป จาก 1.75% เป็น 1.50% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 1.75% เป็น 1.50% เงินฝากประจำ 12 เดือน 1.75% ไม่เปลี่ยนแปลง เงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน จาก 2.50% เป็น 2.00% โดยทั้ง 2 ด้านมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2552
ถ้าหากภาวะเศรษฐกิจ ยังมองไม่เห็นแสงสว่าง ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ อีก
แต่ที่ใครต่อใครไม่อยากนึกถึงก็คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เพราะไม่อยากให้เจ้าของเงินออมในประเทศ มีสภาพไม่ต่างจากเจ้าของเงินออมในญี่ปุ่น....
|
|
|
|
|