แบงก์กรุงไทยรับบริหารลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ 2 แสน ถึง 2 ล้านบาทต่อราย
ต่อจาก บสท. 1.2 หมื่นราย มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท คาดดำเนินการเสร็จภายใน 6 เดือน
แลกกับค่าธรรมเนียมบริหาร 200 ล้านบาท ขณะที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยันโยกหนี้เน่าระบบแบงก์พาณิชย์ไทยที่เหลือเกือบ
8 แสนล้านบาทเข้าเอเอ็มซีรัฐ ทำให้ภาพลักษณ์สถาบันการเงินดีขึ้น ด้านคลังปรับตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มเป็น
6.1% จากเดิม 5.1% หลังไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทย ขยายถึง 5.6%
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กล่าววานนี้
(26 ส.ค.) ว่า บสท.จ้างธนาคารกรุงไทยผู้บริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย
ที่มีมูลหนี้ตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 20 ล้านบาทต่อราย รวม 12,000 ราย มูลหนี้รวม
24,000 ล้านบาท โดยมอบหมายธนาคารกรุงไทยบริหารและปรับปรุงโครงสร้างหนี้
สำหรับลูกหนี้ 12,000 ราย บสท.รับโอนจาก 6 สถาบันการเงิน คือไทยธนาคาร บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท
บริษัทบริหารสินทรัพย์รัตนสิน บริษัทเงินทุนกรุงไทยธนกิจ บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี
ลูกหนี้ธนาคารกรุงไทย รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนโอนลูกหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์
อีกประมาณ 11,000 ราย มูลหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ จะได้ข้อสรุปว่า
ต้องโอนลูกหนี้รายใดบ้าง
"บสท. ต้องจ้างธนาคารกรุงไทยให้ช่วยบริหารลูกหนี้รายย่อย เนื่องจากลูกหนี้มีจำนวนมาก
และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ บสท. มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว
ดังนั้นการที่ธนาคารกรุงไทยมีความพร้อม เพราะมีสาขามากกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะสามารถช่วยให้การดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้เหล่านี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"
นายสมเจตน์กล่าวว่า การจ้างธนาคารกรุงไทยบริหาร บสท.ตกลงว่า หากเจรจากับลูกหนี้ไม่สำเร็จ
บสท.จะชดเชยต้นทุนให้กรุงไทย หากปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ บสท. จะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้
2 เท่าของต้นทุน
รับค่าธรรมเนียม 200 ล้านบาท
ด้านนายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าธนาคารจะใช้สาขากว่า
600 แห่งทั่วประเทศ และสำนักงานธุรกิจเป็นผู้บริหารสินทรัพย์ ส่วนวิธีการบริหาร
ธนาคารจะบริหารตามแนวทางที่ บสท.กำหนด ซึ่งธนาคารร่วมกันสร้างคู่มือปฏิบัติงาน
ธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้บริหารสินทรัพย์จะทำหน้าที่เจรจาและเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้
แต่อำนาจอนุมัติอยู่ที่คณะกรรมการบริหาร บสท. ธนาคารตั้งเป้าหมายให้ลูกค้าทุกรายมีข้อสรุปภายใน
6 เดือน
"ธนาคารมั่นใจว่าจะช่วยให้ลูกค้ากลับมาเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยลูกค้ารายย่อยที่มียอดหนี้คงค้างตั้งแต่
200,000 บาทถึง 20 ล้านบาท ซึ่งธนาคารรับมาบริหารในครั้งนี้ คาดว่าจะมีลูกค้าที่มีศักยภาพ
และสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่า 50% คาดว่าธนาคารจะมีรายได้จากการบริหารและค่าธรรมเนียมในการรับชำระหนี้ประมาณ
200 ล้านบาท" นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงการแปลงหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล-หนี้เน่า) เป็นสินทรัพย์รอการขาย
(เอ็นพีเอ-สินทรัพย์เน่า) ว่าธนาคารมีแนวทางจะแปลงเอ็นพีแอลเป็นเอ็นพีเอ คาดว่าจะเพิ่มเอ็นพีเออีก
20,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมี 20,000 ล้านบาท จากเอ็นพีแอล 98,000 ล้านบาท ทั้งหนี้ที่อยู่ในกระบวนการศาลและเจรจากับลูกหนี้
ว่ามีความประสงค์จะแปลงหนี้เพื่อชำระหนี้หรือไม่
BAM รับลูกพร้อมบริหารเอ็นพีเอ
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์การ
(BAM) กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)
เบ็ดเสร็จ โดย บสก.พร้อมจะรับโอนเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอ เนื่องจากมีทีมงานบุคลากรที่มีประสบการณ์
แต่ปัญหาอยู่ที่ใครจะเป็นแกนหลักรับโอนหนี้เน่าจากธนาคารพาณิชย์
"จริงๆ แล้วเอเอ็มซีที่สามารถบริหารได้อย่างครบวงจรมีอยู่เพียง 3 ราย คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.)
บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และ บสก. โดยสามารถดำเนินการบริหารได้เลย ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย"
นายบรรยงกล่าว
"อุ๋ย"ยันโอนสินทรัพย์เน่าให้เอเอ็มซีรัฐ
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง แนว
ทางและความคืบหน้าโอนสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) สถาบันการเงินทั้งระบบให้สถาบันการเงินอื่นบริหาร
ว่าขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการคงต้องใช้เวลามากพอสมควร คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นปีนี้
เนื่องจากต้องแก้ไขกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานรับโอนสินทรัพย์เน่าสถาบันการเงินได้
หน่วยงานที่จะรับโอนเอ็นพีเอ เขายืนยันว่าจะไม่ใช่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) แน่นอน แต่จะเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็ม ซี) ของรัฐที่มีอยู่แล้ว
เพียงแต่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้รับซื้อสินทรัพย์รอการขายได้เท่านั้น โดยการรับเอ็นพีเอ
จะซื้อขาด หลังจากนั้นจะปรับโครงสร้างแล้วขายสินทรัพย์นั้นๆ ต่อไป
"ทางการต้องการโยกเอ็นพีเอออกจากระบบสถาบันการเงินโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยเร็วที่สุด
และเพื่อให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับอันดับเครดิตให้กับสถาบันการเงินของไทย
เนื่องจากปัญหาเอ็นพีเอ เป็นเพียงปัญหาจุดเดียว ที่ทำให้ระบบสถาบันการเงินของไทยยัง
มีภาพที่ไม่สดใสนัก"
คลังปรับเป้า ศก. ปีนี้เพิ่มเป็น 6.1%
นางไพฑูรย์ พงษ์เกสร รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ปรับ
ประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่เป็น 6.1% จากคาดการณ์เดิม 5.1% เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส
2 ปีนี้ ดีกว่าคาดมาก
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ โฆษก สศค. กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องปรับประมาณการเนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส
2 จากที่คาดว่าจะกระทบจากการระบาดโรคซาร์ส ซึงเดิมคาดว่าไตรมาส 2 จะโตไม่ถึง 4%
แต่ตัวเลขจริงดีขึ้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การส่งออก ใช้กำลังผลิต ซึ่งดี
ขึ้นทั้งคู่ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 11 ชาติดีขึ้น
จึงต้องปรับประมาณการให้สอดคล้องความเป็นจริง แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่ปรับประมาณการ
พราะการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 2 สูงถึง 5.6% จากเดิมคาดเพียง 3.5%
"เราไม่มีเหตุผลที่จะต้องยืนตัวเลขที่ 5.1% เพราะการส่งออกดีมากไตรมาส 3-4 คาดไร้วิกฤต
จากภายนอก" การลงทุนคาดทั้งปีนี้ คาดขยาย 18% ส่งออก 10% การบริโภค 6% จากปีที่แล้ว
FITCH สนกระจายอำนาจคลัง
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระ- ทรวงการคลัง
เปิดเผยว่าวานนี้ (26 ส.ค.) ตัวแทน จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ อิบคา
(FITCH) จากอังกฤษ เก็บข้อมูลเศรษฐกิจไทยจากคลัง ประเด็นที่ฟิทช์ อิบคาสนใจ 2 ประเด็น
ได้แก่ ปัญหาหนี้เน่า และการกระจายอำนาจทการคลังของไทย
โดยคลังชี้แจงแผนกระจายอำนาจ และการกำกับดูสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ว่าไม่มีปัญหาหนี้เน่า
และการดำเนินงานแต่ละแห่งมีกำไร แต่ส่วนสถาบันการเงิน ฟิทช์จะขอข้อมูลจาก ธปท.เพิ่มเติม