Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์26 มกราคม 2552
วิเคราะห์จุดตกต่ำสื่อโฆษณา สื่อเก่าไปไม่กลับ หรือแค่ปรับตัว             
 


   
search resources

วาสนพงศ์ วิชัยยะ
News & Media
Advertising and Public Relations
นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ประเทศไทย, บจก.
สถาพร พานิชรักษาพงศ์




- เจาะเหตุความตกต่ำของสื่อโฆษณาปีหนู ถึงคราร่วง 2.77%
- ทีวี นำ 6 สื่อหลักร่วงยกแผง เหลือวิทยุ - ขนส่ง เติบโตสวนกระแส
- คนสื่อแนะทางออก สื่อเก่าเร่งปรับตัวหาไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย

นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช รายงานผลการสำรวจตัวเลขการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อหลักตลอด 12 เดือนของปี 2551 ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่แต่ไม่พึงประสงค์ของวงการโฆษณาไทย เมื่อมูลค่าการใช้สื่อมีตัวเลขติดลบอย่างเป็นทางการ -2.77% ฉุดให้มูลค่างบโฆษณาผ่าน 8 สื่อหลักที่เคยทะยานถึงหลัก 92,035 ล้านบาท ในปี 2550 ต้องถอยห่างออกจากเป้าหมายแสนล้านบาท มาอยู่ที่ 89,488 ล้านบาท

มูลค่าการใช้สื่อโฆษณาประจำปีที่นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ทำการสำรวจ นับตั้งแต่ปี 2548 มีการเติบโตที่เริ่มถอยหลัง จาก 5.70% ในปี 2548 เทียบกับปี 2547 ลดลงมาเหลือ 4.95% ในปี 2549 เมื่อเทียบกับปี 2548 ลดเหลือเพียง 2.54% เมื่อมูลค่างบโฆษณาผ่านหลัก 8 หมื่นล้านบาท เข้าสู่ตัวเลข 92,035 ล้านบาท ในปี 2550 ซึ่งแม้ตัวเลขงบประมาณการใช้สื่อจะเติบโต แต่นักการตลาดด้านการวางแผนสื่อส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า หากพิจารณาราคาสื่อที่ปรับตัวสูงขึ้นในหลายกลุ่มซึ่งล้วนแต่ปรับราคาขึ้นมากกว่า 3% ประกอบ ก็จะถือว่าตลาดสื่อโดยรวมติดลบ จนถึงปีล่าสุด 2551 มูลค่าการใช้สื่อก็ถึงคราวติดลบโดยสมบูรณ์

สื่อทีวี หมดแรงเศรษฐกิจพาติดลบกว่า 4%

ความผันผวนของเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบให้สื่อหลักอย่างสื่อโทรทัศน์อย่างชัดเจน ราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ผนวกกับความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลก สร้างความหวาดหวั่นให้กับเจ้าของแบรนด์ใหญ่ๆ ขาประจำที่ใช้สื่อโทรทัศน์ไม่กล้าขยับตัวทำตลาดอย่างเต็มที่ งบประมาณถูกอั้นตั้งแต่เดือนแรกของปียาวถึงตลอดไตรมาสแรก แม้จะมีการขยับเทงบประมาณออกบ้างในช่วงไตรมาส 2 ผลักให้เกิดการเติบโตในช่วงนั้น แต่สถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่นตั้งแต่ไตรมาส 3 ก็ฉุดความเชื่อมั่นในการลงทุนใช้สื่อโทรทัศน์ติดลบจนถึงสิ้นปี จบปี 2551 มีการใช้เงินในสื่อโทรทัศน์ 51,136 ล้านบาท ติดลบจากปี 2550 ราว 4.4%

โดยนอกเหนือจากปัจจัยผลกระทบจากภาคการเมือง และสภาพเศรษฐกิจ กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี ผู้อำนวยการสมทบฝ่ายวิจัยสื่อโฆษณา อินิชิเอทีฟ ให้ทรรศนะว่า อีกปัจจัยที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ TITV ที่สามารถหาโฆษณาได้เหมือนฟรีทีวีทั่วไป และหลายรายการติดอันดับเรตติ้งสูงที่สามารถขายโฆษณาได้ไม่แพ้ช่อง 3 หรือช่อง 7 ให้กลายเป็นทีวีสาธารณะ ในชื่อทีวีไทย Thai PBS ที่ไม่มีโฆษณา ทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่เคยไหลเข้า TITV บางส่วนถูกกระจายไปสู่ช่องอื่นๆ ขณะที่บางส่วนก็ไม่ได้มีการใช้

"แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ที่ใช้งบโฆษณาผ่าน TITV คือ ค่ายยูนิลีเวอร์ เคยใช้งบประมาณนับพันล้านบาทต่อปีในช่องนี้ เมื่อไม่มีที่ลง เงินครึ่งหนึ่งถูกโยกมาลงที่ช่องโมเดิร์นไนน์ และช่องอื่นๆ แต่ก็ยังเหลือเงินอีกครึ่งที่อาจโยกไปใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการตลาดส่วนอื่น หรือไม่ได้ใช้เลย"

ด้านสถาพร พานิชรักษาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า สถานการณ์ความตกต่ำของสื่อโทรทัศน์ไม่ได้จบแค่สิ้นปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์ในเดือนมกราคม เจ้าของแบรนด์สินค้าที่เคยใช้สื่อโฆษณาส่วนใหญ่ยังอยู่ในการตั้งรับ รอดูแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจ คาดว่าตัวเลขการเติบโตยังคงติดลบต่อเนื่อง แต่เริ่มมีสัญญาณการใช้เงินให้เห็นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เจ้าของแบรนด์เริ่มมีงบโฆษณาเข้ามาบ้าง ทั้งนี้ แนวโน้มตลอดปีจะซบเซาต่อเนื่อง หรือพลิกกลับมาเติบโต จะต้องดูสถานการณ์ในเดือนมีนาคมที่จะเป็นจุดชี้อนาคตของสื่อทีวีในปีนี้

วิทยุพลิกกลับมาโต วงในชี้เหตุจากทรุดมานาน

ท่ามกลางความตกต่ำของสื่อทั้งระบบ มีเพียง 2 สื่อที่โชว์ตัวเลขด้านบวก เติบโตสวนตลาดขึ้นมา และหนึ่งในนั้น คือสื่อที่เคยตกต่ำในช่วงปี 2550 และถูกมองว่ามีแนวโน้มจะตกต่ำจนหมดความนิยมด้วยการแทนที่ของสื่อใหม่ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่น MP3 นั่นคือ สื่อวิทยุ

มูลค่าการใช้สื่อวิทยุของเจ้าของสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในรอบปี 2551 มีอยู่ราว 6,933 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2550 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามา 6,318 ล้านบาท ถึง 9.73% ถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่สวยงามของสื่อที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 3 ถึงหลัก 6 พันล้านบาท

วาสนพงศ์ วิชัยยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลิค-วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด ผู้บริหาร 4 คลื่นวิทยุ ทั้งสถานีข่าว เพลงไทย เพลงสากล และเพลงอินดี้ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้วิทยุเติบโตได้ในปีที่ผ่านมา น่าจะมาจากการเติบโตของสัมปทานข่าวต้นชั่วโมงซึ่งเป็นการออกอากาศทั่วประเทศ ดึงดูดให้มีสินค้าหลายรายสนใจหันมาใช้งบในส่วนนี้ เพราะเชื่อว่าคุ้มค่า แต่อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดวิทยุเติบโต คือ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจวิทยุอยู่ในภาวะตกต่ำมาโดยตลอด เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้นก็ทำให้ตลาดเติบโตได้

ขณะที่กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี จากอินิชิเอทีฟ กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ผลิตรายการวิทยุที่ไม่ได้เน้นการขายโฆษณาด้วยสปอตวิทยุเพียงอย่างเดียว แต่หันไปจัดกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ฟังกับเจ้าของสินค้าที่ให้การสนับสนุน ทั้งการจัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมท่องเที่ยว ขายกิจกรรมเหล่านี้พ่วงกับสปอต ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อวิทยุมีการเติบโตถึง 9%

สิ่งพิมพ์รวมหัวฟุบแนะปรับตัวหาไลฟ์สไตล์คนอ่าน

สื่อมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 หนังสือพิมพ์ เคยสร้างปรากฏการณ์เติบโตสวนกระแสในปี 2550 ด้วยพลังขององค์จตุคามรามเทพ ที่มีการจัดสร้างกันทั่วประเทศ และใช้หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อหลักในการโฆษณา ผลักดันให้หนังสือพิมพ์มีการเติบโตถึง 2.6% แต่ในปี 2551 ขาดปัจจัยเกื้อหนุน เป็นผลให้สื่อหนังสือพิมพ์ต้องกลับมาอยู่ในแดนลบเหมือนเช่นปี 2549 ที่เคยติดลบลงไปถึง 5.02% โดยในปีที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์มีมูลค่าราว 15,288 ล้านบาท ลดลง 3.3% จากปี 2550 ที่เคยมีมูลค่า 15,809 ล้านบาท

ขณะที่สื่อนิตยสารซึ่งตกต่ำมายาวนาน ในปีที่ผ่านมาก็ยังสลัดหนีไม่พ้น มูลค่าตลาดถดถอยลงจากปี 2550 ที่เคยทำได้ 6,067 ล้านบาท เหลือเพียง 5,823 ล้านบาท ลดลง 4.02%

หนังสือพิมพ์ในหลายๆ ฉบับ มีการปรับตัวรับกับสภาพความตกต่ำของรายได้ด้วยการลดขนาดลง พร้อมกับการหารายได้จากช่องทางอื่น เช่น การเปิดเว็บไซต์ และการบริการส่งข่าวผ่าน SMS ด้านนิตยสาร แม้จะมีแนวทางการกระตุ้นตลาดด้วยการจัดกิจกรรมเสริมการขายพื้นที่โฆษณาบนหน้าหนังสือ ก็ไม่สามารถฉุดให้ตลาดกลับมาเติบโตได้เหมือนสื่อวิทยุ แต่ก็พบว่า ยังมีนิตยสารบางประเภทที่กลับเติบโตสวนตลาดขึ้นมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิตยสารแนวก๊อสซิป ซุบบข่าวดารา แสดงให้เห็นถึงทางออกของสื่อนิตยสารว่า หากสร้างคอนเทนต์ให้อยู่ในความสนใจของตลาดได้ ก็สามารถเติบโตได้

สื่อเล็กหล่นยกแผง รถไฟฟ้าพาสื่อขนส่งโตสวน

ในกลุ่มของสื่อย่อย สื่อในโรงภาพยนตร์ที่เคยสร้างปรากฏการณ์เติบโตหลัก 100% มาในปี 2550 ในปีนี้นอกเหนือจากปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการเมืองแล้ว ในส่วนของโปรแกรมภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ก็ไม่มีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่เข้าฉายมากนัก มีเพียง The Mummy ที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทเพียงเรื่องเดียว ขณะที่ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่อย่าง นเรศวร และแฮรี่ พอตเตอร์ ก็ถูกขยับมาฉายในปีนี้ ทำให้ตลาดสื่อในโรงภาพยนตร์ขาดความคึกคัก ปิดงบประมาณปี 2551 ทำรายได้ 4,173 ล้านบาท ติดลบ 3.87% จากความรุ่งเรืองของปี 2550 ที่เคยทำไว้ 4,341 ล้านบาท

สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า จำกัด ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ กล่าวว่า แนวโน้มในปีนี้สื่อโรงภาพยนตร์น่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากมีโปรแกรมหนังระดับบล็อกบาสเตอร์เข้าฉายต่อเนื่องตลอดทั้งปี มีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ อาทิ นเรศวร, ก้านกล้วย, ทรานฟอร์เมอร์ และแฮรี่ พอตเตอร์ ตอนใหม่เข้าฉาย

ด้านสื่อกลางแจ้ง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เริ่มถูกแทนที่ด้วยป้ายโฆษณาไฟฟ้า จอแอลอีดีบรรทุกอยู่บนรถ จอดตามสถานที่ชุมชน เริ่มได้รับความนิยมจากเจ้าของแบรนด์ลงโฆษณามากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับความซบเซาของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ปล่อยร้างอยู่ 2 ข้างทาง ก็ถือว่ายังทดแทนมูลค่ากันไม่ได้ ตลาดสื่อกลางแจ้งที่ตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2550 จึงยังคงตกต่ำต่อไปในปี 2551 โดยลดลงไปอีก 5.91% มีมูลค่าราว 4,216 ล้านบาท

อีกสื่อที่มีการเติบโตงดงามในปี 2550 แต่ก็ต้องกลับมาติดลบในปี 2551 คือ สื่ออินสโตร์ การโดดเข้าชิงพื้นที่ห่างของ 2 ค่ายใหญ่ อาร์เอส อินสโตร์ มีเดีย ที่นำรายการวิทยุเข้าไปจัดในโมเดิร์น เทรด และแอบโซลูท อินแพ็ก ซึ่งเปลี่ยนป้ายโฆษณาในห้างสรรพสินค้าให้เป็นจอสามมิติ ผลักดันให้สื่ออินสโตร์เติบโตถึงกว่า 81% ด้วยมูลค่า 570 ล้านบาท ในปี 2550 แต่เมื่อการขยายสาขาของโมเดิร์นเทรดในปีที่ผ่านมาเริ่มหยุดนิ่ง ส่งผลให้สื่ออินสโตร์ไม่สามารถขยายการเติบโตได้ตาม มูลค่าตลาดจึงลดลงเหลือ 560 ล้านบาท ลดลง 1.75% แต่ในปีนี้ อาร์เอส อินสโตร์ มีเดีย มีแผนการพัฒนาสื่อใหม่ๆ ขึ้นในโมเดิร์นเทรด ด้วยการนำจอแอลซีดีเข้าไปติดตั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต เสริมประสิทธิ์ภาพสื่อที่เคยใช้เพียงแค่วิทยุ ก็น่าจะเป็นตัวสร้างความคึกคักให้กับสื่ออินสโตร์ในปีนี้ได้

สื่อย่อยสุดท้ายที่เป็นอีกสื่อที่มีการเติบโตในปีที่ผ่านมา สื่อขนส่ง ซึ่งเติบโตจากความนิยมของ 2 ระบบขนส่งในกรุงเทพฯ ของภาครัฐ ระบบรถไฟฟ้ากรุงเทพ (รถไฟฟ้าใต้ดิน) และระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ปัจจุบันระบบขนส่งทั้ง 2 กลายเป็นพื้นที่โฆษณานับตั้งแต่ตัวสถานี ไปจนถึงตัวรถ จนถึงภายในรถ ผนวกกับความนิยมของการใช้ระบบขนส่งแบบเดิมๆ เป็นสื่อ อาทิ รถโดยสารประจำทาง สถานีขนส่ง ฯลฯ ที่ไม่ได้ลดลง ทำให้มูลค่าการใช้สื่อขนส่งในปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 42.26% มีมูลค่าทะลุหลักพันล้านบาท มาอยู่ที่ 1,360 ล้านบาท ถือเป็นอีกสื่อสำคัญที่ทำให้มูลค่าการใช้สื่อทั้งระบบไม่ตกต่ำไปกว่านี้

คอนซูเมอร์ - รถยนต์ - สื่อสาร จองตำแหน่ง TOP 10 ใช้สื่อ

โฉมหน้าของแบรนด์สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดประจำปี ไม่มีการขยับเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ พอนด์ส แคมเปญ 7 วันเพื่อรักแท้ ตั้งแต่ปลายปี 2550 มีการใช้สื่อข้ามมาถึงปี 2551 ผนวกกับหนังโฆษณาโปรดักส์อีกมากกว่า 10 เรื่อง และสื่อสนับสนุนอื่นตลอดทั้งปี ครองตำแหน่งผู้นำในการใช้งบโฆษณาด้วยมูลค่า 644.9 ล้านบาท แต่ก็เป็นงบประมาณที่ลดลงจากปี 2550 ที่เคยใช้ถึง 862.4 ล้านบาท ค่อนข้างมาก

แบรนด์อันดับ 2 ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด เปลี่ยนจากองค์จตุคามรามเทพ ในปี 2550 มาเปลี่ยน ปตท. ในปี 2551 ปตท.มีการโหมโฆษณาในหลายๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่กลุ่มน้ำมันทางเลือก แก๊สโซฮอล์ พลังงานทางเลือก ก๊าซซีเอ็นจี จนถึงตัวองค์กร ปตท.เอง ทำให้งบประมาณที่เคยใช้เพียง 241.3 ล้านบาท ในปี 2550 ไม่ติดอันดับ TOP 10 เพิ่มขึ้นเป็น 592.1 ล้านบาท ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งใช้งบสื่อสูงสุดอันดับ 2 ในปีที่ผ่านมา

กลุ่มรถยนต์ยังคงเป็นขาประจำของการใช้งบโฆษณาสูงสุด โดยผู้นำคือ โตโยต้า ปิกอัพ ที่เคยใช้งบโฆษณาสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในปี 2550 ยังคงครองตำแหน่งเดิม แต่มีการใช้งบลดลงจาก 618.4 ล้านบาท ในปี 2550 เหลือ 585.9 ล้านบาท ในปี 2551 ขณะที่คู่แข่ง อีซูซุ ซึ่งไม่ติดอันดับการใช้งบสื่อในปี 2550 เปิดแคมเปญดึง 4 นักร้อง ก๊อต จักรพรรณ, ปีเตอร์ คอร์ปไดเรลดัล, มอส ปฏิภาณ และโดม ปกรณ์ ลัม มาเป็นพรีเซนเตอร์ในหนังโฆษณา อัดงบสื่อตลอดทั้งปี 451.8 ล้านบาท ก้าวขึ้นอยู่ในอันดับ 8 ส่วนโตโยต้า รถยนต์นั่ง ที่มีการเปิดตัวรถยนต์เล็กรุ่นใหม่ ทั้งโตโยต้า อัลติส และโตโยต้า ยาริส ใช้งบสื่อ 443.2 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 9

การแข่งขันของกลุ่มธุรกิจสื่อสาร โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่รุนแรงมาโดยตลอด นอกเหนือจากความรุนแรงของโปรโมชั่นที่ใช้ดึงดูดลูกค้าแล้ว ในด้านการใช้สื่อก็ดุเดือดตลอดปีไม่แพ้กัน 3 ค่ายใหญ่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ สลับตำแหน่งผู้ใช้งบสื่อสูงสุดในแต่ละเดือน แต่เมื่อสรุปตลอดทั้งปี กลายเป็นระบบพรีเพด แฮปปี้ จากค่ายดีแทค ที่ใช้งบสื่อสูงสุดในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร ด้วยงบประมาณ 570 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 4 ขณะที่ทรูมูฟ แซงเอไอเอสขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 ด้วยมูลค่าการใช้งบสื่อ 438.9 ล้านบาท

คอนซูเมอร์โปรดักส์ อีก 2 แบรนด์ที่ยังเหนียวแน่นเป็นรายใหญ่ของการใช้งบซื้อสื่อสูงสุดประจำปีมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2551 คือ ผงซักฟอกบรีส ในอันดับ 6 และออย ออฟ โอเล ในอันดับ 7

แคมเปญคาราวานหนังกลางแปลง ที่ได้ดาราสาว เจนี่ เทียนโพธิสุวรรณ มาเป็นพรีเซนเตอร์ ทำให้บรีสยังคงต้องใช้งบโฆษณาที่สูงเหมือนเช่นทุกปี ผนวกกับแคมเปญอื่นในบรีสเอกเซล และบรีสพาวเวอร์ ทำให้ปีที่ผ่านมามีการใช้งบสูงถึง 478.7 ล้านบาท ขณะที่ออย ออฟ โอเล แม้มีการใช้งบโฆษณาลดลงจากปี 2550 ค่อนข้างมาก จาก 606.7 ล้านบาท ในปี 2550 เหลือเพียง 451.8 ล้านบาท ในปี 2551 แต่ก็ยังติดอยู่ใน TOP 10

ค่ายเครื่องดื่มโคคา โคล่า ก็เป็นอีกแบรนด์ขาประจำบนกระดาน TOP 10 แม้การแข่งขันในตลาดน้ำดำระหว่างโค้กกับเป๊ปซี่ในสูสีเพียงใด แต่หากมาสู่สมรภูมิการใช้สื่อแล้ว โค้ก มีการใช้งบที่สูงกว่ามาก ในปี 2551 โค้กติดอันดับการใช้สื่อสูงถึงอันดับ 5 ด้วยงบ 495.4 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ที่เคยใช้ถึง 562.9 ล้านบาท

บทสรุปของธุรกิจสื่อในปี 2551 แม้หลายฝ่ายจะจับตามองสื่อพันธุ์ใหม่ ทั้งอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ว่าจะเข้ามาแทนที่สื่อรุ่นเก่า แต่นักการตลาดในวงการสื่อก็ยังมองว่า การเติบโตของสื่อใหม่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความพร้อมของอุปกรณ์และระบบสื่อสาร ปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอยู่เพียง 15.4 ล้านคน หรือ 23% ของประชากรทั้งประเทศ ยังติดปัญหาการขยายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึง ก็ทำให้ศักยภาพของสื่ออินเทอร์เน็ตไม่อาจทดแทนสื่อทีวีที่เข้าถึงครัวเรือนทั่วประเทศได้ดีกว่า เช่นเดียวกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่นอกจากจะรอให้ภาครัฐและเอกชนเดินหน้าเทคโนโลยี 3G อย่างเต็มตัวแล้ว ในแง่ผู้ใช้บริการก็จะต้องมีโทรศัพท์ที่รองรับระบบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานพอสมควร จึงจะทำให้สื่อนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด

จึงยังเชื่อว่า สื่อหลักรุ่นเก่า ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อย่อย จะยังไม่ถึงวันเก็บเข้ากรุ หากแต่ แต่ละสื่อจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และสร้างภูมิคุ้มกันในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจแปรปรวน จึงจะพลิกกระดานสื่อให้กลับมาเติบโตอีกครั้งได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us