นักวิเคราะห์ตั้ง 2 ประเด็นหลัก หลังควบรวมกิจการ "ไอเอฟซีที-ไทยธนาคาร" โดยเฉพาะ
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ต้องเป็นบวกและความสามารถของทีมผู้บริหารของ ธนาคารใหม่
ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างดี และสามารถผลักดันให้ธนาคารใหม่สามารถแข่งขันได้
โดยที่ไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน ประเมินสถานการณ์การควบรวมกิจการระหว่างบรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ IFCT กับธนาคารไทยธนาคาร หรือ BT ว่าจากการที่กระทรวงการคลังยืนยันว่ากระบวนการควบรวมจะไม่ล่าช้า
กระทรวงการคลัง อาจจะแก้กฎหมายด้วยการออกพระราชกำหนด การควบรวมกิจการระหว่าง
IFCT-BT ซึ่ง พ.ร.ก.นี้จะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ทันที หรือการออกบทเฉพาะกาลพิเศษเพื่อการควบรวมกิจการโดยเฉพาะ
การควบรวมกิจการนั้น กระทรวงการคลังได้จัดทำเสร็จแล้วและจะประกาศอย่างเป็นทางการในราวต้นเดือนตุลาคม
2546 หลังจากที่ธนาคารทหารไทย หรือ TMB เพิ่มทุนเสร็จในเดือนกันยายน โดยกระทรวงการคลังจะแยก
NPL ของ IFCT จำนวนประมาณ 10% ของสินเชื่อรวม ออกมาก่อนและหลังจากควบรวมแล้ว BTจะมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่
ทั้งหมดโดยเฉพาะกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งตำแหน่งที่ซ้ำซ้อนทั้งในบอร์ดบริหารและบอร์ดชุดใหญ่
หลังจากการควบรวมกิจการทั้ง 2 แห่ง ธนาคารใหม่จะมีทุนจดทะเบียน ประมาณ 27,200
ล้านบาท จากทุนชำระแล้วของ IFCT จำนวน 1,461,624,281 หุ้น (14,616.24 ล้านบาท)
และ BT (รวมหุ้น BT ที่อยู่ในพอร์ตของบล.ไทยพาณิชย์ 42,290,000 หุ้น) ที่หักด้วยหุ้นทุนซื้อคืน
(จำนวนหุ้นซื้อคืนที่ BT ซื้อเองเท่ากับ 93,355,900 หุ้น และ หุ้น BT จำนวน 148,427,146
หุ้นที่อยู่ในพอร์ตของ บล. บีที ซึ่ง BT ถือหุ้นในบล.บีที 99.99%) จำนวนประมาณ
1,251,666,954 หุ้น (12,516.67 ล้านบาท)
สัดส่วนการแลกหุ้นของ IFCT และ BT เป็นหุ้นธนาคารใหม่อยู่ที่ 1 ต่อ 1 และหลังการควบรวมกิจการแล้ว
เราคาดว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นในธนาคารใหม่ประมาณ 4.2%, กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
75.5%, ธนาคารออมสิน 1.5% และ ธนาคารกรุงไทย 0.4% ที่เหลืออีกประมาณ 18.4% จะถือโดยผู้ถืออื่นๆ
ของ IFCT, BT และ KTB
สำหรับประเด็นที่น่าให้ความสนใจมี 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารใหม่
โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ต้องเป็นบวกที่อย่างน้อยที่สุดต้องอยู่ในระดับเดียวกับที่
IFCT ทำได้ในปัจจุบัน เนื่องจาก Net interest margin (NIM) ของ IFCT เป็นบวกมาตั้งแต่ไตรมาส
1 ปี 2545 จนกระทั่งปัจจุบัน
ขณะที่ NIM ของ BT ที่ไม่รวม Yield Maintenance ที่กองทุนฟื้นฟูฯ จ่ายให้ในอัตราต้นทุนเงินฝากเฉลี่ยของธนาคาร
+1% แล้ว NIM ของ BT เป็นลบมาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการบริหารของ
IFCT อยู่ในระดับที่ดีกว่า BT
ประเด็นที่สอง ทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่ ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างดี
และสามารถผลักดันให้ธนาคารใหม่สามารถแข่งขันได้ด้วยตัวเอง และมีความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์เอกชน
โดยที่ไม่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภาครัฐ
"จากความแน่ชัดที่ทางการต้องการควบรวม IFCT กับ BT ที่จะเห็นผลในเร็วๆ นี้ แม้ในทางปฏิบัติยังต้อง
ใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน กว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จ ขณะที่เรายังคงสงสัยในความสามารถในการทำกำไรของธนาคารใหม่และเรายังรอความชัดเจนด้านทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่ ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาความน่าสนใจของการลงทุน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของ
BT ที่มี NIM ติดลบมาโดยตลอด"
ส่วน IFCT นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไร โดยเฉพาะ NIM ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และการควบรวมที่จะแล้วเสร็จในราวไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไตรมาสแรก ปีหน้าทำให้เรายังคงประมาณการกำไร
สุทธิของ IFCT ในปี 2546 ไว้ที่ประมาณ 216 ล้านบาท Fully diluted EPS ประมาณ 0.15
บาท และมูลค่าทางบัญชี (BV) สิ้นปี 2546 จะอยู่ที่ประมาณ 7.89 บาท/หุ้น บาท