ประชัยชี้ "พละ สุขเวช" ไม่เหมาะสมเป็นกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ทีพีไอ เนื่องจากเป็นบอร์ดในหลายบริษัทที่ดำเนิน
ธุรกิจใกล้เคียงกัน ส่วนทีพีไอโพลีน เตรียมขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่อีกครั้งในช่วงพฤศจิกายนนี้
จำนวน 180 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยว่า ตัวเองยอมที่จะวางมือจากทีพีไอ แต่ยังถือว่ามีตำแหน่งในฐานะผู้บริหารอยู่
ดังนั้นอะไรที่เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องก็จำเป็นต้องออกมาทักท้วงบ้าง อย่างกรณีที่กระทรวงการคลังแต่ง
ตั้งนายพละ สุขเวช มานั่งเป็น 1 ในคณะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอนั้น
เรื่องนี้ ไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่านายพละ มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารในหลายๆ
บริษัทที่เป็นคู่แข่งของทีพีไอ เช่น เป็นกรรมการ บริษัท ไทย ออยล์ จำกัด , บริษัท
ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อะโรเมติกส์
(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ดังนั้น การมานั่งบริหารของนายพละ จึงมีความขัดแย้งกันและอาจขัดต่อหลักธรรมภิบาลด้วย
สำหรับทิศทางของผลประกอบการของทีพีไอนั้น ช่วงที่ตัวเองเข้ามาบริหารแผนชั่วคราวนั้นสามารถทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษี
ค่าเสื่อมและดอกเบี้ย(อีบิด้า) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทต่อเดือน จากก่อน
หน้านี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 600 ล้านบาทต่อเดือนและยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ
1,000 ล้านบาทต่อเดือนได้ เนื่องจากราคาน้ำมันมีโอกาสขยับสูงขึ้น
นายประชัย กล่าวต่อไปว่าขณะนี้บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทีพีไอมีแผนฯจะดำเนินการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน
180 ล้านเหรียญสหรัฐอีกครั้ง ในช่วงพฤศจิกายนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง คัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินและน่าจะสรุปได้ในเร็วๆ
นี้
ภายหลังจากขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จ ทีพีไอโพลีนจะกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทยจำนวน
750 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อนำไปปรับโครงสร้างหนี้
ส่วนประเด็นการถือหุ้นไขว้กันระหว่าง ทีพีไอ กับ ทีพีไอโพลีน นั้น ทีพีไอจะขายหุ้นจำนวน
49% ที่ถืออยู่คืนให้ทีพีไอโพลีนทั้งหมด ขณะเดียวกันทีพีไอโพลีนก็จะนำโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกทั้ง
แอลดีพีอี และ อีวีเอ แลกขายให้กับทีพีไอ ซึ่งจะทำให้การถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทไม่มีการทับซ้อนกัน
ก่อนหน้านี้ ทีพีไอโพลีนเคยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 180 ล้านเหรียญ ราคาหุ้นละ
17 บาทให้กับประชาชนทั่วไป แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในช่วงดังกล่าวเกิดภาวะสงครามสหรัฐฯ-อิรัก
ทำให้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจในตลาดทุน