ที่ปรึกษาขุนคลังชี้หากโอนหนี้เน่า-สินทรัพย์เน่าของแบงก์พาณิชย์เอกชนที่เหลืออีกเกือบ
8 แสนล้านบาทให้ บสท.-บบส. บริหารต่อเนื่อง เชื่อภายใน 3-5 ปี หนี้เน่าเหล่านี้จะลดลงและไม่เกิดปัญหาย้อนกลับอีก
รวมทั้งจะส่งผลต่อให้สามารถดึงสภาพคล่องที่ล้นระบบตลาดเงินไทยขณะนี้ ใช้ขยายการ
ลงทุนใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยขยายต่อเนื่องมีเสถียรภาพ ยันถึงเวลาที่ไทยต้อง ใช้การลงทุนธุรกิจ-อุตสาหกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวยั่งยืน-ต่อเนื่อง
นายพัฒเดช ธรรมจารีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง เปิดเผยการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูธุรกิจเอกชนว่า
หากประเทศไทยแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็น พีแอล) และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีเอ)
ภาคธนาคารจริงจัง โดยให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์
(บบส.) ที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
บริหารเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลให้ระยะปานกลาง
3-5 ปีข้างหน้า ถึงระยะยาวภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เอ็นพีแอลและเอ็นพีเอในระบบ
จะลดลง ไม่ทำให้เป็นปัญหาอีก
"ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพจากผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งเมื่อปัญหาหนี้เสียลดลง แบงก์ก็จะปล่อยสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุนใหม่ได้มากขึ้น
ดังนั้น หนี้เสียที่ฟื้นฟูได้ ต้องมีการปรับโครงสร้าง ถ้าไม่ปรับต้องขายทอดตลาด
ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้การลงทุนสามารถขยายตัวมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจก็จะโตขึ้น"
นายพัฒเดชกล่าว
ใช้สภาพคล่องที่ล้นลงทุนทั้งรัฐ-เอกชน
สำหรับสภาพคล่องที่ล้นระบบตลาดเงินไทยอยู่มากปัจจุบัน นายพัฒเดชกล่าวว่า ประเทศไทยสามารถดึงสภาพคล่องส่วนล้นใช้ได้
โดยใช้เพื่อการลงทุน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนโครงการทุนทางสังคมต่างๆ อาทิ
ลงทุนการศึกษา ลงทุนสวัสดิการสังคม หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ถนน
ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือสำคัญดึงสภาพคล่องเหล่านี้ออกมาใช้มีหลายทาง
"เช่น กองทุนวายุภักษ์ ที่จะขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชน และนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน
มาซื้อหุ้นในรัฐวิสาหกิจ จากนั้นรัฐวิสาหกิจจะนำเงินที่ได้มา ไปลงทุนใหม่ต่อไป"
นายพัฒเดชกล่าว
ถึงเวลาใช้การลงทุนขยายเศรษฐกิจ
เขาย้ำว่า หากสามารถแก้ปัญหาเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอที่ยังสูงเกือบ 8 แสนล้านบาทได้
ระบบการเงินเอกชนจะสามารถทำหน้าที่เต็มที่ ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศฟื้นตัวเศรษฐกิจยั่งยืนระยะยาว
จะต้องปรับโครงสร้างการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบสถาบันการเงิน สนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพึ่งการส่งออกและการบริโภคในประเทศ
2 ปีแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยปัจจัยดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องตลอดไป
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศต้องเพิ่มการขยายการลงทุนภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม
ขณะนี้ การลงทุนในไทยเพียงประมาณ14-15% ของการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) เท่านั้น
ขณะที่ช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การลงทุนสูงถึง 30% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าต่ำมากในช่วงผลัดเปลี่ยน
ยังมีอัตราขยายตัวต่ำเกินกว่าจะเป็นแรงส่งขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืนได้
ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งมี 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มแรก ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จแล้ว
อยู่ระหว่างผ่อนชำระ มูลหนี้เดิมรวม 1.57 แสนล้านบาท ณ มี.ค. ลดเหลือ 38,898 ล้านบาท
ลดจาก ธ.ค. 2545 ถึง 11,479 ล้านบาท
หนี้เน่าเพิ่ม 2.3 หมื่นล้าน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่อยู่ระหว่างเจรจา ณ ธ.ค. 2545 มูลหนี้ 287,880 ล้านบาท ขณะที่
มี.ค. 2546 เพิ่มเป็น 311,135 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มธนาคาร พาณิชย์รัฐ เพิ่มขึ้นจาก
71,166 ล้านบาท เป็น 75,370 ล้านบาท กลุ่มธนาคารพาณิชย์เอกชน เพิ่มขึ้นจาก 185,263
ล้านบาท เป็น 211,927 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3 กลุ่มหนี้เน่าที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีและบังคับคดี ณ เม.ย.- ก.ค.
2546 เจ้าหนี้ทยอย ส่งรายชื่อลูกหนี้ที่จะเจรจาด้วยมาแล้ว 2,217 ราย มูลหนี้ 18,507
ล้านบาท ลูกหนี้ตอบเจรจาด้วย 417 ราย มูลหนี้ 5,758 ล้านบาท โดย 417 รายนี้ ภาย
ใน 4 เดือน เจรจามีข้อยุติแล้ว 139 ราย มูลหนี้ 1,017 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวคิดจะออกกฎหมายโอนหนี้และสินทรัพย์เน่าระบบสถาบันการเงินไทยทั้งระบบประมาณ
7.7 แสนล้านบาท ไว้ในสถาบันบริหารสินทรัพย์หนึ่ง แต่ยังไม่ระบุชัดว่าเป็นบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) หรือไม่ ซึ่งกรณีจะโอนมา บสท. ต้องแก้กฎหมาย
เนื่องจากกฎหมาย บสท.ระบุว่า จะบริหารเฉพาะหนี้ที่โอนมา ณ ธ.ค. 2543 เท่านั้น หลังจากนั้น
จะต้องผ่านกระบวนการแก้ไขกฎหมาย และขอความเห็นชอบจากสภาก่อน