นักลงทุนสบช่องตลาดหุ้นไทยผันผวน ปรับพฤติกรรมการลงทุนด้วยการหันมาใช้บริการยืมหุ้นขายชอร์ตมากขึ้น เหตุผลตอบแทนดีกว่าเข้าไปลงทุนซื้อหุ้น ระบุเดือนม.ค. 52 มีธุรกรรมขายชอร์ตแล้วเกือบ 3 พันล้านบาท เทียบกับปี 51 มียอดรวม 2.4 หมื่นล้านบาท บล.เคจีไอ ตั้งเป้ามูลค่ายืมหลักทรัพย์ปีนี้โต 100% จากปีก่อน 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านโบรกเกอร์ เผยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาลง หวัง “บารัค โอบามา” คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่
นับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยเปิดทำการวันแรก (5 ม.ค.52) ดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแรงถึง 28 จุด หลังจากนั้นดัชนีได้ปรับตัวขึ้น-ลงสลับก่อน จากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายออกมาเป็นระยะๆ
จนกระทั่งล่าสุดวานนี้ (21 ม.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมาปิดที่ 431.23 จุด ลดลงจากวันก่อน 1.96 จุด หรือคิดเป็น 0.45% ระหว่างวันปรับตัวแตะระดับสูงสุดที่ 433.76 จุด ต่ำสุดที่ 429.29 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 7,568 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 375.43 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 714.82 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,090.25 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติรวมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1,336.39 ล้านบาท
จากภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการของนักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ นักลงทุนได้มีการยืมหลักทรัพย์ (SBL) เพื่อทำธุรกรรมขายซอร์ตเพิ่มมากขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่า มูลค่าการทำธุรกรรมขายชอร์ตเดือนมกราคม 2552 มีมูลค่าสูงถึง 2,970.24 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 มูลค่าขายชอร์ตรวมทั้งปีอยู่ที่ 24,402.2 ล้านบาท
สำหรับหลักทรัพย์ที่มีการขายชอร์ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จำนวนหุ้น 4.27 ล้านหุ้น มูลค่า 712.72 ล้านบาท บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือ PTTEP จำนวนหุ้น 3.98 ล้านหุ้น มูลค่า 420.11 ล้านบาท
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จำนวนหุ้น 2.91 ล้านหุ้น มูลค่า 211.65 ล้านบาท บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)หรือ SCC จำนวนหุ้น 1.78 ล้านหุ้น มูลค่า 189.32 ล้านบาท และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU จำนวนหุ้น 7.13 แสนหุ้น มูลค่า 164.67 ล้านบาท
ตั้งเป้าSBLเพิ่มขึ้นเป็น3หมื่นล.
นางสาวนฤมล อาจอำนวยวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI เปิดเผยว่า จากภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนทำให้นักลงทุนปรับมายืมหุ้นเพื่อนำไปขายชอร์ตมากขึ้น เพราะจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนซื้อหุ้นเอง ทำให้บริษัทคาดว่ามูลค่าการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ในปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการที่ดัชนี SET50 สูงกว่าฟิวเจอร์ อยู่ 10 จุด ทำให้มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ จากที่ยืมหุ้นมาชอร์ตฟิวเจอร์ โดยเดือนมกราคม2552 มีนักลงทุนเข้ามายืมหุ้นจากบริษัทมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทตั้งเป้าปีนี้จะมีมูลค่าการให้ยืมหุ้นเพิ่มขึ้น 100% อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 15,000 ล้านบาท
“จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้มีความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนไม่ซื้อหุ้น เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้ขาดทุนได้ แต่จะหันมายืมหุ้นเพื่อขายชอร์ตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และกลับมาซื้อคืนในเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง รวมถึงจากการที่ดัชนี SET50 สูงกว่าฟิวเจอร์ 10 จุด ทำให้มีส่วนต่างในการทำกำไรได้ ซึ่งในเดือนนี้มีลูกค่ามายืมหุ้นของบริษัทมากถึง 2,000 ล้านบาทแล้ว” นางสาวนฤมล กล่าว
นอกจากนี้การที่มีบล.กว่า 10 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)โดยจะทำให้มีผู้เข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้นก็จะทำให้ธุรกรรมการยืมหุ้นสูงมากขึ้น แต่บล.จะต้องมีการทำระบบการซื้อขายที่ดี เพราะ หากระบบไม่ดี จะทำให้มีความผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายได้
ทั้งนี้แม้โบรกเกอร์จะขอให้ระบบจากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD แต่โบรกเกอร์เองจะต้องมีการพัฒนาระบบของตนเองด้วยในการนำไปให้ลูกค้ายืม ซึ่งโบรกเกอร์จะต้องระมัดระวังและตรวจสอบระบบให้มั่นใจก่อน แต่หากโบรกเกอร์รายใดไม่มีความพร้อมในการพัฒนาระบบ บล.เคจีไอ มีความพร้อมที่จะไปช่วยพัฒนาระบบ SBL ให้
ลุ้น “โอบามา” กระตุ้นศก.รอบใหม่
ด้านนายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย วานนี้ (21 ม.ค.) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยมีแรงเทขายออกมาในหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันโลกปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 39.6 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลล์ และความไม่แน่นอนจากทิศทางเศรษฐกิจไทย จึงมีแรงเทขายออกมาให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ขณะเดียวกัน แม้จะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หลังรัฐบาลจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเฟส 2 ในวันที่ (13 ก.พ.) แต่หุ้นกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มหลักๆ ในหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ได้ส่งผลดีต่อดัชนีตลาดหุ้นมากนัก
“มูลค่าการซื้อขายหุ้นค่อนข้าวเบาบาง เพราะไม่มีปัจจัยที่กระทบต่อตลาดหุ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน”
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยนักลงทุนควรติดตามดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯ และราคาน้ำมันโลก ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงแนะนำนักลงทุนระยะสั้นให้ซื้อหุ้นเมื่อดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 427 จุดและขายเมื่อดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ส่วนนักลงทุนระยะยาวควรทยอยเก็บหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทประเมินแนวรับอยู่ที่ 425-427 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 433-437 จุด
นางสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟาร์อีสท์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเงียบเหงา เพราะนักลงทุนรับรู้มาตรการด้านภาษีและผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไปเรียบร้อยแล้ว บวกกับยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้นักลงทุนรอดูทิศทางความชัดเจนต่างๆ ก่อน ขณะที่นายโอบามา หลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ยังไม่มีนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเติม
ส่วนแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะยังคงอ่อนตัว แต่นักลงทุนควรรอดูทิศทางดัชนีตลาดหุ้นในต่างประเทศและราคาน้ำมันโลกเป็นหลัก ดังนั้นจึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยมีแนวรับที่ 424-427 จุด และแนวต้านที่ 435-440 จุด
นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดหุ้นในเอเชีย จากปัจจัยสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว และยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัว ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยนัก ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชีย และราคาน้ำมันโลก รวมทั้งนักลงทุนต้องติดตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ของนายโอบามา ซึ่งช่วงนี้นักลงทุนควรชะลอการลงทุนและถือเงินสด ให้แนวรับที่ 420 จุด ส่วนแนวต้านที่ 440 จุด
3 หุ้นปั่นไม่ส่งสัญญาณผิดปกติ
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น 3 หลักทรัพย์ ที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แจ้งเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดกรณีสร้างราคาหุ้น และการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น คือ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ บริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ WIN และบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON นั้น
วานนี้ (21 ม.ค.) ราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัทเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดหุ้นไทย โดย TWZ ปิดที่ 1.30 บาท ลดลง 0.01 บาท หรือ 0.76% มูลค่าการซื้อขาย 8,277,000 บาท WIN ปิดที่ 0.37 บาท ลดลง 0.01 บาท หรือ 2.63% มูลค่า 269,000 บาท และ ASCON ปิดที่ 4.04 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 0.49% มูลค่า 60,000 บาท
นายโกสินทร์ กล่าวว่า การเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในคดีปั่นหุ้นและใช้ข้อมูลอินไซด์ทั้ง 3 บริษัท รวม 9 ราย ไม่ได้ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากหุ้นดังกล่าวมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องไม่มาก จึงทำให้นักลงทุนขนาดใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจ
ด้านนางสาวจิตติมา กล่าวว่า การดำเนินการของสำนักงานก.ล.ต. น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเป็นการเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้เกิดกรณีการทุจริตในบริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC
|