คลังไฟเขียวยุบไอเอฟซีทีรวมกับไทยธนาคาร (BT) ดันเป็นแบงก์เอกชน ใหญ่อันดับ 7
ด้วยสินทรัพย์รวมกว่า 5 แสนล้านบาท คาดกระบวนการเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หวังสู้กับแบงก์พาณิชย์เอกชน
"อุ๋ย" ระบุหลังควบรวมคลังลดสัดส่วนถือหุ้นไม่ถึง 50% แถมได้เปรียบแบงก์เกิดใหม่ไม่ต้อง
เพิ่มทุน เพราะเงินกองทุนเข้าเกณฑ์แบงก์ชาติแล้ว ด้านผู้บริหารไอเอฟซีที "อโนทัย"
ต้องยุติบทบาท ขณะที่เอ็มดีบีที "พีรศิลป์" ยังลูกผีลูกคน เพราะคลังอาจหาคนใหม่เสียบแทน
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยวานนี้ (20 ส.ค.)
กรณีบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) จะควบรวมกิจการกับธนาคารไทยธนาคาร
(บีที)ว่าสัปดาห์หน้า จะทำการสำรวจทรัพย์สินและหนี้สิน (Due diligence) ระหว่างไอเอฟซีทีกับไทยธนาคาร
โดยจะยุบไอเอฟซีทีให้ไทยธนาคารเป็นแกนก่อนสิ้นปีนี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย หลังควบรวมจะทำให้คลังถือหุ้นไม่เกิน
50% แน่นอน
หลังจากนั้นคลังจะลดสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลงเรื่อยๆ เมื่อฐานะธนาคารดีขึ้น
เนื่องจากคลังมีนโยบายไม่ประสงค์ถือหุ้นมากอยู่แล้ว "วันนี้เราเข้าไปตามความจำเป็นในอนาคตถ้าแบงก์ดีขึ้นก็ปล่อยไป
หลังควบรวมเชื่อมั่นว่าแบงก์ใหม่จะดีขึ้นแน่นอน ในประเทศไทยมีโอเวอร์ แบงกิ้งอยู่แล้ว
ถ้าให้แบงก์เล็กๆ แหวกว่ายก็จะไปไม่ไหว" ร.อ.สุชาติ กล่าว นโยบายควบรวมได้คุยกับผู้ว่าแบงก์ชาติมานานแล้ว
และความเห็นตรงกัน ยืนยันว่าผู้ถือหุ้น ปัจจุบันทั้ง 2 แห่งจะไม่กระทบแน่นอน
ขณะที่จะแจ้งเรื่องกับตลาดหลักทรัพย์ภายหลัง
"ผมพูดมาหลายครั้งแล้ว ว่าแบงก์เล็กไม่มีทางที่จะเลี่ยงได้ที่จะควบรวมกัน เพราะมีต้นทุน
ดำเนินงานและการเงินสูงมาก ด้านการปล่อยกู้ก็ไม่สามารถแข่งขันกับแบงก์ใหญ่ได้ ซึ่งแบงก์จะควบรวมอย่างแน่นอน
แต่ตอนนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่า แบงก์ไหนจะควบรวมกับแบงก์ไหน" ร.อ.สุชาติกล่าว
ทางด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยวานนี้
ว่ากระทรวงการคลังอนุมัติแผนควบรวมกิจการไทยธนาคาร และ IFCT ตามที่ ธปท.เสนอหลังจากศึกษา
รายละเอียดควบรวมกิจการระยะหนึ่งแล้ว เพราะจำเป็นต้องเสริมฐานะสถาบันการเงินทั้ง
2 แห่ง เพื่อให้เข้มแข็งมากขึ้น สามารถแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ได้
แบงก์อันดับ 7 สินทรัพย์ 5 แสนล้าน
การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะทำให้เกิดธนาคารพาณิชย์ใหม่ขนาดใหญ่ มูลค่าสินทรัพย์ประมาณ
500,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นธนาคารขนาดสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 7 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
หลังควบรวมกิจการ ธนาคารใหม่นี้จะเป็นธนาคารเอกชน เพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นไทยธนาคาร
49% และคลังถือหุ้นไอเอฟซีที 1 ใน 3 ทำให้เมื่อควบรวมกิจการลักษณะ 50% ต่อ 50%
ทำให้หุ้นที่รัฐถือในธนาคารใหม่ต่ำกว่า 50%
การควบรวมดังกล่าว จะเป็นลักษณะ A+B เป็น C จะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ ไม่มีใครเป็น
แกนนำควบรวม หลังจากการอนุมัติครั้งนี้ ทั้ง 2 สถาบันต้องหารือกันเพื่อวางแนวทางควบรวมกิจการ
ซึ่งต้องใช้เวลาควบรวมกิจการระยะหนึ่ง เพราะมีหลายขั้นตอน
เป็นแบงก์เอกชน
"แบงก์ใหม่ที่เกิดขึ้น จะเป็นแบงก์เอกชนที่ดำเนินธุรกิจได้ในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการเสริมให้ระบบแบงก์มีความเข้มแข็ง
ที่จะเป็นตัวนำในการส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง และภาครัฐยังคงมีแบงก์รัฐที่ช่วยสนองนโยบายรัฐในบางจุดอยู่
จะเป็นการผนึกกำลังเข้ามาดันเศรษฐกิจได้ รวมทั้งยังเป็นผลดีกับสถาบันการเงินทั้ง
2 แห่งไอเอฟซีทีมีข้อจำกัดเรื่องของกรอบการดำเนินธุรกิจ ทำเฉพาะปล่อย สินเชื่ออุตสาหกรรม
ในขณะที่แบงก์ไทยมีกรอบการดำเนินธุรกิจครบวงจร" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
เหตุที่เลือกควบรวมกิจการสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เช่นเดียวกัน
การควบรวมกิจการดังกล่าว ทั้ง ไอเอฟซีที และไทยธนาคาร ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก
ตามแผนเดิมที่คลังอนุมัติไว้แล้ว เนื่องจากจะมีทุนเพียงพอ ไทยธนาคารเงินกองทุนต่อสิน
ทรัพย์เสี่ยงถึง 20.23%
ธนาคารใหม่จะมีเงินกองทุนฯ เพียงพอตามมาตรฐานธปท. ซึ่งสร้างความสมดุลระหว่างฝ่ายหนึ่ง
ที่มีเงินฝากมาก แต่สินเชื่อน้อย และอีกฝ่ายที่มีสินเชื่อ แต่ไม่มีเงินปล่อยสินเชื่อ
ส่วนการบริหารงานหลังควบรวมกิจการ พนักงานจะไม่มีใครตกงาน และแข็งแกร่งมากขึ้น
ส่วนขั้นตอนควบรวมกิจการ จะเรียกคณะกรรมการบริหารทั้ง 2 แห่งหารือ และหาข้อสรุปที่เหมาะสมทั้ง
2 ฝ่ายทุกๆด้าน ทั้งด้านธุรกิจ พนักงาน โดยเฉพาะสัดส่วนและบุคคลที่เหมาะสมบริหาร
ธนาคารใหม่ ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหา การจัดสรรจะเป็นตัวแทนทั้ง 2 องค์กร ๆ ละครึ่ง
"การควบรวมครั้งนี้ เป็นวาระที่เปิดเผยและโปร่งใส เป็นความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย
โดย ธปท.เป็นตัวกลางในการแนะนำเท่านั้น จากเดิมที่การควบรวมกิจการมักเป็นการตัดสินใจของ
ธปท.ที่สั่งการให้มีการควบรวมกิจการ"
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ส่วนตีค่าแลกเปลี่ยนหุ้น และมูลค่าสินทรัพย์ทั้ง
2 แห่งควบรวมกิจการ ต้องเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ธปท.เห็นว่าต้องตั้งตัวกลาง หรือที่ปรึกษาการเงิน
เป็นตัวกลางตีมูลค่า เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือได้ เปรียบเสียเปรียบ โดยยึดการประเมินจากมูลค่าบัญชีทั้ง
2 แห่ง แล้วกำหนดสัดส่วนควบรวมกิจการที่เหมาะสม
ส่วนประเด็นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เขาเชื่อว่าไม่น่าที่จะมีปัญหามากนัก
เนื่องจากไทยธนาคารหนี้เน่าน้อยมาก เพราะโอนไปบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)เกือบหมด
ยังมีสัญญา จะโอนหนี้เน่าไปอีกรอบ ส่วนไอเอฟซีที มีแนวทางแก้ไขปัญหารองรับการควบรวมแล้ว
จะเป็นการควบรวมเบ็ดเสร็จ
ไทยธนาคารปัจจุบันสินทรัพย์ประมาณ 247,454 ล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตาม
มาตรฐานบีไอเอส 20.23% แบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 19.60% เงินกองทุนขั้นที่
2 ที่ 0.63% พนักงานทั้งหมด 2,257 คน ขณะที่สาขามีเพียง 85 แห่งทั่วประเทศ
เบื้องหลังควบไทยธนาคาร-ไอเอฟซีที
การตัดสินใจควบรวมกิจการสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากธปท. ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตรวจเงินแผนดิน
(สตง.) ศึกษาแนว ทางการแก้ไขปัญหาขาดทุนของไอเอฟซีที ที่มีต่อเนื่องหลายปี จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
ที่คลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ต้องอัดฉีดเงินเพิ่มทุนเพื่อพยุงฐานะ
การตรวจสอบของ ธปท. ไอเอฟซีทีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสมัยออกตราสารและกู้เงินต่างประเทศ
เพื่อระดมเงินทุนดำเนินธุรกิจ ประสบปัญหาจากการลดค่าเงินบาทครั้งแรกปี 2527 จึงมีหนี้มาก
และขาดทุนเรื่อยมา ขณะที่การดำเนินธุรกิจ ยังมีข้อจำกัดปล่อยกู้ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่
ทำรายได้น้อย
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดปี 2540 ลูกหนี้รายใหญ่เกิดปัญหาขาดทุนเป็นหนี้เสีย
ไอเอฟซีที
แนวทางแก้ไขปัญหาของคลัง อดีตคือเพิ่มทุนให้ตลอดเวลา ขณะที่ไอเอฟซีทีเริ่มปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย
(เอสเอ็มอี) แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะไม่สามารถแข่งขันกับแบงก์อื่นๆ
ขณะที่ลูกหนี้เอสเอ็มอียังไม่เข้มแข็งพอ หากเป็นเช่นนี้กระทรวงการคลังมองแล้วต้องเพิ่มทุนให้ไม่มีที่สิ้นสุด
ธปท. ศึกษาและมองว่า การดำเนินธุรกิจของไอเอฟซีที ด้านปล่อยกู้ยังคงทำได้ เพราะมีฐาน
สินเชื่อระดับหนึ่ง จึงมองถึงภาพรวมการกำกับดูแลสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์
ที่ยังมีปัญหาบางแห่ง ที่เปราะบาง หรือดำเนินธุรกิจ ไม่ได้เต็มที่
จึงมองมาที่ไทยธนาคาร ที่ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ เหมือนไอเอฟซีที ขณะที่ขนาดและเครือข่ายยังเล็ก
หากดำเนินธุรกิจต่อไป อาจมีปัญหา ธปท. จึงเสนอคลัง เพื่อขอควบรวมกิจการระหว่าง
ไอเอฟซีทีและธนาคารไทยธนาคาร 2 เดือนก่อน
ช่วงแรก คลังเห็นด้วยกับข้อเสนอ ธปท. แต่ให้พิจารณาอีกครั้ง เพราะคลังมองว่าธนาคารพาณิชย์
อื่นๆ ยังมีปัญหาอยู่ ต้องแก้ไข เช่น ธนาคารทหารไทย คลังต้องการจะให้แก้ไขปัญหา
หรือ ดำเนินการครบวงจร และเสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบ จึงชะลอแผนควบรวมไทยธนาคาร-ไอเอฟซีที
วานนี้ ขุนคลัง-ผู้ว่าการ ธปท. เผยแผนควบ รวมดังกล่าว แสดงว่าการมองทางแก้ปัญหาธนาคาร
ทหารไทยจบแล้ว หลังคลังล้มแผนร่วมทุน ANZ ธนาคารใหญ่อันดับ 4 ของออสเตรเลีย และคลังมีแผน
2 เพิ่มทุนแบงก์ทหารไทยชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับตำแหน่งผู้บริหารแบงก์ใหม่ หลังไทยธนาคารกลืนไอเอฟซีทีแล้ว
ต้องแบ่งตามความเหมาะสม และสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันระหว่าง 2 องค์กร แต่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
และประธานกรรมการธนาคาร ด้านไอเอฟซีทีคงต้องยุติบทบาท หมายถึงนายอโนทัย เตชะมนตรีกุล
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ไอเอฟซีที รวมถึงนายสมหมาย ภาษี รองปลัดคลัง ที่ก่อนหน้านี้
มีข่าวว่าจะนั่งตำแหน่งประธานกรรมการ ก็ต้องยกเลิกเช่นกัน
ด้านตำแหน่งผู้บริหารไทยธนาคาร ยังครึ่งๆ กลางๆ ว่านายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัด
การใหญ่ ไทยธนาคาร จะยังอยู่ในตำแหน่งธนาคาร ใหม่หรือไม่ ต้องขึ้นกับความสามารถการบริหาร
ที่ต้องโชว์ให้คลังเห็น โดยเฉพาะบุคคลสำคัญ 2 คน คือ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และนายวิจิตร สุพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง ที่จะเป็นผู้พิจารณาร่วม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า นาย พีรศิลป์ จะได้รับมอบหมายดูแลรับผิดชอบกองทุนวายุภักดิ์
ซึ่งหมายความว่า นายอโนทัย และนายพีรศิลป์ อาจไม่ได้อยู่ในแบงก์ใหม่ทั้งคู่