*5 ปีของความล้มเหลว "อีลิทการ์ด"
*กลายเป็นปัญหาที่ต้องสะสางมาโดยตลอด
*"รีแบรนดิ้ง"กับการปรับแผนการตลาดครั้งใหญ่
*จะเป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จได้จริงหรือ?...
หลังการจัดตั้งบริษัท ไทยแลนด์ พริวิลเลจ การ์ด จำกัด (ทีพีซี) ขึ้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค.46 เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จากนั้นอีก 2 เดือนต่อมาภายหลังการจัดโครงสร้างธุรกิจแล้วเสร็จราววันที่ 20 พ.ย.46 ก็เริ่มผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรมโดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการนี้ไว้มากถึง 1 พันล้านบาท เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบัตรอีลิทการ์ดอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อน หรือสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับกับกลุ่มเป้าหมายในระดับซูเปอร์พรีเมี่ยม
ไม่เพียงแต่ สิทธิพิเศษทางด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังจะครอบคลุมไปถึงอภิสิทธิ์ในการเดินทางเข้าออกประเทศ ด้วยการยกเว้นวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี การทำธุรกรรมร่วมกับภาครัฐหรือเอกชน ตลอดจนสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินได้ 10 ไร่
ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวออกมาเกี่ยวกับเรื่องการเสนอจัดตั้งบริษัทลูกทีพีซีขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการการถือครองที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์แทนสมาชิกบัตรอีลิท ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ถึงขั้นเตรียมตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่า"ไทยแลนด์อีลิท แอสแซส" หรือ "ไทยแลนด์ อีลิท พร็อพเพอร์ตี้"
พูดง่ายๆ ว่าตั้งตัวแทนเชิด (Nominee) มาถือครองที่ดินแทนต่างชาติ หาช่องซิกแซ็กให้ต่างชาติได้ที่ดินไปครอง ถึงขนาดว่าจะแก้กฎกระทรวงของกรมที่ดิน มาตรา 96และมาตรา 96 ทวิ เพิ่มเติมให้คนต่างชาติที่ลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือบีโอไอและผู้ที่ซื้อบัตรอีลิทการ์ด สามารถซื้อที่ดินได้แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกโครงการ
เมื่อโครงการทุกอย่างถูกกำหนดออกมาให้เป็นจุดขายหวังดึงลูกค้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกบัตรอีลิทการ์ดแลกกับสิทธิพิเศษมากมายในการเดินทางมาเยือนประเทศไทย อาทิ การใช้บริการสนามกอล์ฟ นวดสปา เช็กอัพ โรงพยาบาล สิทธิในการเข้าเมืองในช่องทางพิเศษพร้อมมีเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ-ส่งจากสนามบินถึงที่พัก การออกวีซ่าตลอดชีวิต หรือแม้แต่การซื้อที่ดินเป็นของตนเอง
โดยแลกกับค่าสมาชิกใบละ 1 ล้านบาท หรือ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ นานตลอดชีวิต และนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเจออุปสรรคปัญหามากมาย ตั้งแต่การขายบัตรไปแล้วแต่ไม่สามารถใช้บริการตามสิทธิ์ที่แจ้งไว้ ไม่สามารถซื้อที่ดินได้ตามระบุไว้แต่แรก และที่ฉาวโฉ่ที่สุดเป็นการติดค้างค่าโฆษณาสื่อดังระดับโลกซีเอ็นเอ็น เป็นจำนวนเงิน 140 ล้านบาท
การอัดแน่นไปด้วยสิทธิประโยชน์ข้างต้น สร้างความเชื่อมั่นว่า ราคาขายบัตรในระดับ 1 ล้านบาท สำหรับรายบุคคล และ 2 ล้านบาท กรณีนิติบุคคล จะตอบโจทย์ความต้องการ และได้การตอบรับจากทาร์เก็ตกรุ๊ปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้นำมาซึ่งการตั้งเป้าตัวเลขในปีแรก 1 แสนใบ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ดูดเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท!
นับวันกลายเป็นโปรเจ็กต์ "วาดวิมานในอากาศ" ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนไปละเลงหลายพันล้านบาท แต่ผลลัพธ์ในทางปฏิบัติกลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม
ซึ่งน่าแปลกใจ ในยุคเริ่มต้นของโครงการแทนที่รัฐบาลจะมีการปรับปรุงระบบเครือข่ายการให้บริการโดยประสานกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและเอกชนผู้ประกอบการ แต่กลับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น "ผู้อำนวยการให้บริการ" ไปเป็น "ผู้ลงทุน"ก่อสร้างสนามกอล์ฟบนที่ดินของรัฐด้วยตนเอง
ดังปรากฏเมื่อครั้งที่ สมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลังสมัยนั้น ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ไทยแลนด์ พรีวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกองทัพบก เพื่อขอใช้สิทธิที่ดิน 2 แห่ง ที่กองทัพบกดูแลอยู่ โดยไม่ต้องซื้อและไม่ต้องเช่า แต่เป็นลักษณะการบริหารร่วมกัน และแบ่งสัดส่วนรายได้ให้กับกองทัพบก ได้แก่ ห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 620 ไร่ และบริเวณสวนสน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ประมาณ 480 ไร่ ในวงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัททีพีซี ยังได้ทำข้อตกลงสร้างสนามกอล์ฟในที่ดินของกองทัพอากาศบริเวณแขวงสีกัน จำนวน 460 ไร่ โดยมอบให้ทีพีซีเป็นผู้ลงทุนบริหารและแบ่งรายได้ให้กองทัพอากาศ วงเงินทุนมากกว่า 600 ล้านบาท อีกทั้งบริษัททีพีซียังจะใช้ที่ดินของรัฐอีกหลายแห่งมาก่อสร้างสนามกอล์ฟ เช่น ที่ดินของกองทัพเรือ ทับละมุ จ.พังงา และที่ดินของกรมธนารักษ์ จ.ภูเก็ต บริเวณท่าฉัตรชัย พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่
ว่ากันว่าในการก่อสร้างสนามกอล์ฟแต่ละแห่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท โดยอาจจะนำเงินที่ได้จากการขายบัตรอีลิทมาลงทุนในสัดส่วน 50% ที่เหลืออีก 50% จะขอกู้จากธนาคารของรัฐ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มีการเลิกลงทุนสร้างสนามกอล์ฟราชการทั้ง 5 แห่ง โดยหันไปเช่าสนามเอกชนแทน
ความไม่ราบรื่นของโครงการ อีลิท การ์ด สะท้อนออกมาให้เห็นนับแต่ก้าวแรก เพราะเงื่อนไขการมอบสิทธิ์ถือครองที่ดิน 10 ไร่ ให้กับสมาชิกบัตรชาวต่างชาติ ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย ส่งผลให้สิ่งที่หวังจะให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มเป้าหมายถูกหั่นทิ้งออกไป
ในขณะที่การจับมือเป็นพันธมิตรกับคู่ค้า โรงแรม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ สถานพยาบาล หรือสปา แม้จะได้รับความร่วมมือในจำนวนไม่น้อย แต่ผู้บริหารโครงการก็ไม่มีพลังต่อรองมากพอ กับการยกระดับบริการให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันได้
กอปรกับการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ที่มีมากกว่า 10 ราย อาทิ Aktiv, King Power, Grand Elite, ET Card, Elite Plus, Patco และ Uni Quness นั้น ก่อให้เกิดการครหาตามมาว่าเอเย่นต์ส่วนใหญ่ ล้วนเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทักษิณสมัยนั้น
โดยเฉพาะ 3 รายแรก บริษัท แอคทีฟ จำกัด ที่มีนางสุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ ซึ่งมารดามีศักดิ์เป็นน้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วน คิงพาวเวอร์ ของนายวิชัย รักศรีอักษร ก็มักจะได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจจากนโยบายรัฐบาลชุดก่อนหน้าหลายโครงการ เช่นเดียวกับ แกรนด์ อีลิท บริษัทในเครือของนายเหยียน ปิน นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ที่สนิทแนบแน่นกับรัฐมนตรีหลายคนมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากการมอบหมายให้เอเย่นต์เป็นกลไกสำคัญในการขยายฐานสมาชิกบัตร อีลิท การ์ด พร้อมกับการให้สิทธิ์ในการขยายเครือข่ายและดึงซับเอเย่นต์เข้ามาเป็นแขนขากระจายสินค้า ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันเองอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการดัมพ์ราคาค่าสมาชิก และการเสนอขายบัตรให้กับกลุ่มเป้าหมายของซับเอเย่นต์เถื่อน
จนก่อให้เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันขึ้น ระหว่างบริษัท ไทยอาร์ซี ทราเวิล จำกัด ต่อทีพีซี โดยได้เรียกค่าเสียหายเป็นวงเงิน 104 ล้านบาท(ปัจจุบันศาลแพ่งได้ยกฟ้องแล้ว) หลังจากทีพีซี ไม่อนุมัติการเป็นสมาชิกบัตรรวม 4 ราย เนื่องจากยังไม่ได้รับรองว่าบริษัท ฟรายไฮ ทราเวิล จำกัด ซึ่งไทยอาร์ซีฯ อ้างอิงกับลูกค้าว่าเป็นเอเย่นต์ของบัตร อีลิท คาร์ด อย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีพีซี ยังไม่ได้แต่งตั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด
หลากหลายปัญหาเหล่านี้ ล้วนทำลายภาพลักษณ์ของบัตรอีลิท การ์ด ให้มัวหมองลงไปในสายตาของนักธุรกิจต่างชาติส่งผลให้พลาดเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้ว่าสมัยนั้นจะมีการทุ่มทุนทั้งเม็ดเงินมหาศาลเพื่อผุดโครงการต่างๆออกมาล่อใจเศรษฐีชาวต่างชาติก็ตาม แต่จำนวนบัตรวีไอพีกลับมียอดขายไม่กระเตื้องเท่าไรนัก ส่งผลให้ผู้บริหารทีพีซีจำเป็นต้องปรับตัวเลขลูกค้าลดลงกว่า 10 เท่าตัวคือจาก 1 แสนใบเหลือเพียงแค่ 1 หมื่นใบเท่านั้น
การทำตลาดเริ่มมีคู่แข่ง มาเลเซียเริ่มรุกตลาดในลักษณะแบบเดียวกัน โดยเปิดให้ต่างชาตินำเงินมาฝากในมาเลเซียประมาณ 1.5 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้หรือหากมีรายได้ประจำ 100,000 บาทต่อเดือน ก็สามารถซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้เช่นกัน ส่วนออสเตรเลียกำหนดว่าหากมีเงินฝาก 100,000 เหรียญออสเตรเลีย มีสิทธิได้ใบถิ่นพำนักในประเทศออสเตรเลียได้ ส่งผลให้ยอดขายในปีต่อมาต้องถูกปรับให้เหลือเพียง 1000 ใบทันที
โชคศิริ รอดบุญพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี)ในยุคแรกๆ จึงเริ่มจัดทำแพ็กเกจใหม่ของบัตรอีลิท การ์ด ให้มีรูปแบบใหม่ เน้นให้ตรงกับความต้องการของชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลักคือ ความต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นบ้าน คอนโดมิเนียม และเมื่อมาอยู่แล้วจะต้องอยู่ใกล้แหล่งเงินทุน รวมถึงสถานภาพในการเข้ามาอยู่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยวิธีดังกล่าวสามารถดึงเศรษฐีเข้ามาเป็นสมาชิกได้ประมาณกว่า 533 คนทีเดียว
แม้ในปีที่ผ่านมา ทีพีซี จะมีการรีแบรนด์ดิ้งบัตรอีลิทออกมาใหม่ที่รวมไปถึงโครงสร้างการบริหารจัดการ และสิทธิประโยชน์ โดยได้จัดระเบียบเอเย่นต์ใหม่ ด้วยการแบ่งโซนการขายอย่างชัดเจน ควบคู่ไปกับการปรับแต่งแพ็กเกจรูปแบบใหม่ออกมาหวังกระตุ้นเศรษฐีชาวต่างชาติให้สมัครเป็นสมาชิกบัตรวีไอพี
จึงเป็นที่มาของ อีลิท โมเมนท์ แพ็คเกจที่มุ่งเน้นให้บริการด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การเล่นกล์อฟ สปาชั้นนำ และบริการท่าเรือยอชท์ เป็นต้น ขณะที่ อีลิท ลีฟวิ่ง คือแพ็คเกจที่มุ่งเน้นให้บริการรักษาสุขภาพ หรือผู้ที่ต้องการพักระยะยาว (ลองสเตย์) ศัลยกรรมสวยงาม ทำฟัน หรือทำเลสิค และอีลิค คอนเนคชั่น ออกแบบมาเพื่อการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในประเทศให้กับสมาชิกบัตร ซึ่งจะมีการติดต่อหรือนัดหมายกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
แม้ว่าการปรับแผนการตลาดรวมถึงรีแบรนดิ้งใหม่ของบัตรอีลิทการ์ดจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่จากการตอบรับของยอดสมาชิกนับแต่ปี 46 จนถึงปัจจุบันจำนวนสมาชิกบัตรกลับอยู่ในระดับเพียงแค่ 1.7 พันใบ นอกจากจะต่ำกว่าเป้าหมาย 1 แสนใบที่คาดการณ์ไว้อย่างลิบลับแล้ว ยังฉุดให้ผลประกอบการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากปี 46 ขาดทุน 136 ล้านบาท ปี 47 ขาดทุน 251 ล้านบาท และปี 48 ขาดทุน 165 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จขาดทุนสะสม 552 ล้านบาท
ส่งผลให้ผู้บริหารโครงการโชคศิริ รอดบุญพา กรรมการผู้จัดการ ที่จำเป็นต้องแสดงสปิริตขอลาออกจากตำแหน่งในช่วงเดือนก.ย.2549 นั่นเอง
โดยก่อนหน้านั้น ระพี ม่วงนนท์ อดีตผจก.ใหญ่ทีพีซี เคยประกาศว่าจะมีการปรับตัวลดเป้าหมายลงมาเหลือเพียงจาก 800 ใบต่อปีให้เหลือเพียงแค่ 400 ใบเท่านั้น ซึ่งปี 51 ที่ผ่านมามีการขายบัตรสมาชิกได้แค่เพียง 40 ใบเท่านั้น ในขณะที่ทีพีซีมีหน้าที่ต้องดูแลสมาชิกที่มีอยู่ประมาณกว่า 2,600 ราย ดังนั้นจึงต้องปรับแผนการตลาดอย่างเร่งด่วน โดยเพิ่มการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ทั้งตลาดในและต่างประทศ รวมถึงการพิจารณาเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในตลาดเป้าหมาย ที่คาดว่าจะมีกำลังซื้อสูง เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง
สอดคล้องกับที่ สรจักร เกษมสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ผู้ดำเนินโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ได้สั่งการให้ อีลิท การ์ด ไปปรับแผนการดำเนินงานใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายยอดขายบัตรแต่ละปี ควรตั้งโดยมีข้อมูลสนับสนุน เป็นเป้าหมายที่ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่ตั้งตามตัวเลขที่อยากได้เหมือนที่ผ่านมา และควรแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามภูมิภาคด้วย เพราะคนในแต่ละภูมิภาคมีพฤติกรรมและมีความต้องการต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องวางแผนระยะยาว 3 ปี 5 ปี 10 ปีไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่แค่วางแผนเพียงปีต่อปีเท่านั้น
"จากที่เคยคุยกับตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ เขามองว่าแนวคิดของบัตรอีลิท การ์ดดี แต่สิทธิประโยชน์กับราคาที่นำเสนอ เหมาะกับคนเอเชียมากกว่ายุโรป ดังนั้นในแผนงานใหม่ จึงมีสิทธิประโยชน์ให้เลือกหลากหลายขึ้น เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกภูมิภาค"สรจักร กล่าว
การปรับลดงบประมาณที่จะใช้ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ในปี 2552 ลงเหลือประมาณกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 100 ล้านบาทจากปี 2551 ที่ใช้งบทั้งหมดประมาณ 460 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าปีหน้าประเทศไทย ยังต้องเร่งมือในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในสายตาชาวต่างชาติให้กลับมาก่อนดังน้น หากทีพีซีทุ่มเงินในการทำตลาดไปมากก็คงสูญเปล่า เพราะถ้าต่างชาติและนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นประเทศไทย เขาก็จะยังไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกอีลิทการ์ดแน่นอน
ขณะที่แผนธุรกิจยังคงเป็นแบบประคับประคอง ไม่ให้ชื่ออีลิทหายออกไปจากตลาด แต่จะไม่โหมหนัก โดยเฉพาะต้องเลือกพื้นที่ในการทำตลาด เล็งให้ตรงกับตลาดที่เป็นเป้าหมาย ออกโรดโชว์พอประมาณ ไม่มากเหมือนที่ผ่านมา กอปรกับทีพีซีไม่ใช่หน่วยงานที่จะสามารถของบประมาณจากภาครัฐได้อีกแล้ว ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการเงินสดที่มีอยู่ในมือประมาณกว่า 600 ล้านบาทในการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไป ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจโลก และผลของการปิดสนามบิน คงต้องใช้เวลาในการเยียวยาเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา ลูกค้าจึงจะยอมจ่ายเงิน 1.5 ล้านบาทเพื่อซื้อสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกของอีลิท
นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2546 เป็นต้นมา โครงการบัตรอีลิทประเทศไทย ใบละ 1 ล้านบาทจนกระทั่งถูกปรับราคาให้สูงขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาทในปัจจุบัน ก็ดูจะถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่านี่จะเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่า คุ้มทุน หรือจะเป็นแค่ลูกเล่นทางการตลาดและเป็นนโยบายที่รัฐบาลทักษิณปลุกเสกขึ้นมาเพื่อสร้างสีสันทางการเมืองเท่านั้นหรือ?...
น่าคิด เมื่อคำว่า อีลิท (elite) ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "ชั้นยอด, หัวกะทิ, บุคคลที่ยอดเยี่ยม, สิ่งที่ได้เลือกสรรแล้ว, กลุ่มอิทธิพล" แล้วสามัญชนคนไทยธรรมดาจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการบัตรอีลิทประเทศไทย ใบละ 1 ล้านบาท?... ซึ่งในอนาคต หากบริษัททีพีซีบริหารแบบบกพร่องโดยสุจริต จนเกิดปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องแล้ว รัฐบาลก็อาจจะอ้างเหตุแปรรูปให้เอกชนเข้ามาเซ้งต่อในราคาถูกก็เป็นไปได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริงแสดงว่าบัตรเทวดาคือ "ความล้มเหลวทางนโยบาย" และน่าเป็นห่วงว่าจะนำไปสู่ "การล้มละลายของโครงการฯ"ในที่สุด
ย้อนรอย "อิลิทการ์ด"
ระยะเวลากว่าครึ่งทศวรรษ "ไทยแลนด์ อีลิทการ์ด" หรือบัตรเทวดาได้เปลี่ยนผู้จัดการใหญ่มาแล้วหลายคนกระทั่งล่าสุด ได้บอร์ด สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย จากทราฟฟิคคอนเนอร์เข้ามานั่งแอกติ้งรักษาการณ์หลังจาก ระพี ม่วงนนท์ ผู้จัดการใหญ่คนล่าสุดชิงลาออกเมื่อปลายปี 51
แผนงานถูกปรับเปลี่ยนไปตามบอร์ดตามยุคตามสมัยแล้วแต่ว่ารัฐบาลจะส่งพลพรรคไหนมาคุมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่ต้องคอยทำหน้าที่ดูแล อีลิทการ์ด ไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจาก ททท. เป็นนายทุนใหญ่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของบริษัทนี้ 2 ปีให้หลังมานี่ดูเหมือนเป็นปีแห่งการแช่แข็งมากที่สุดเพราะยอดขายแทบของบัตรเทวดาแทบไม่ขยับไปไหน อันมีผลพวงมาจากประเด็นทางการเมืองรัฐบาลขิงแก่ ดร.สุวิทย์ ยอดมณี ที่ขู่ยกเลิกรายวันจนทำให้ยอดขายเป็นหมัน ไม่มีใครกล้าซื้อ และกระโดดเข้ามาถึงยุค อดีตรมต. วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ที่สั่งเดินหน้าปรับเปลี่ยนบอร์ด ดัน ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ เข้ามาเป็นประธาน ซึ่งก็ดูทำท่าจะคึกคักในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นแผนการดึงเจ้าสัวเมืองไทยมาช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยดึงเศรษฐีต่างชาติมาร่วมลงทุนและเป็นสมาชิกบัตร การผุดไอเดียมีเทอร์มินัลสำหรับเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว จนถึงทำคลอดบัตรคอร์ปอเรตขึ้นมาขายเพื่ออัพราคาอีกเท่าตัวเป็นใบละ 3 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาก็ยังดูไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างเท่าไรนัก
เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้อทั้งการเมืองภายในประเทศที่ร้อนแรงสุดๆ วิกฤติการเงินโลกที่ลามไปทั่ว การคลอดบัตรคอร์ปอเรตออกมาขายช่วงนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมมากนัก เพราะบริษัทเอกชนหลายแห่งยังเอาตัวแทบไม่รอด นักธุรกิจที่ไหนจะควักเงินบาทมาซื้อบัตร ทุกบริษัทจึงต้องรัดเข็มขัดจนเอวกิ่ว
แต่ดูเหมือนนโยบายบอร์ดใหม่ทำแล้วได้ผลมากสุดก็คือการประหยัดงบหลังปรับโครงสร้างองค์กรใหม่โดยเห็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเงินเดือนผู้บริหารค่อนข้างสูง จึงมีไอเดียเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ เพื่อลดต้นทุน และจัดโครงสร้างให้กะทัดรัด
ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จมากเพราะคนที่ต้องการให้ออกก็ออกตามประสงค์ แต่พ่วงคนที่ไม่อยากให้ออกดันทะลึ่งลาออกกันเป็นทิวแถว ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการตามกระแสข่าวรวมแล้วไม่น่าต่ำกว่า 26 คน จากพนักงานทั้งหมดราว 116 คน ที่สำคัญที่เข้าโครงการนั้นเป็นระดับหัวกะทิ ตั้งแต่รองผู้จัดการใหญ่ 2 คน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ 6 คน ระดับผอ.อีก 3-4 คน นอกนั้นก็เป็นระดับพนักงานทั่วไปอีกเพียบ
|