|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธปท.ระบุในปี 52 หากเศรษฐกิจขยายตัว 0% อาจมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน แต่มั่นใจไม่รุนแรงเหมือนปี 40 เหตุบริษัทอุตสาหกรรมบางแห่งปรับกลยุทธ์ลดชั่วโมงการทำงาน และมีแรงงานบางส่วนย้ายไปภาคเกษตร ชี้ภาครัฐควรดูแลไม่ให้สินค้าเกษตรตกต่ำเกินไปและเร่งฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว เผยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปอาจไม่รุนแรงเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา โอดบังคับแบงก์ปล่อยกู้ไม่ได้
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ภายในงานสัมมนาวิชาการ “วิกฤตเศรษฐกิจกับการจ้างงาน” จัดโดยศาลแรงงานกลางว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนที่มีอัตราขยายตัวที่ระดับ 4% โดยสาเหตุหลักจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ธปท.ได้ประเมินว่ากรณีเลวร้ายสุด คือไม่ขยายตัวหรืออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 0% อาจมีผู้ว่างงานกว่า 1 ล้านคน จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 5 แสนคน หรืออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2.8% แต่เชื่อว่าไม่รุนแรงเหมือนปี 41 ที่อัตราการว่างงานสูงถึงประมาณ 4%
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ประเมินว่า หากอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 1% จะมีผู้ว่างงาน 9.60 แสนคน หรืออัตราการว่างงาน 2.5% ขณะที่หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 2% จะมีผู้ว่างงาน 8.48 แสนคน หรือมีอัตราการว่างงาน 2.2%
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 51 บางบริษัทอุตสาหกรรมเริ่มมีวิธีลดชั่วโมงการทำงานหรือปรับลดเงินเดือน อีกทั้งมีการย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตรมากขึ้น แต่หากเศรษฐกิจตกต่ำปัญหาเหล่านี้อาจลุกลามจนกระทบกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือกลุ่มที่มีทักษะการทำงานต่ำได้ และแย่สุด คือ กระทบกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูงได้ ซึ่งปกติการฝึกแรงงานกลุ่มนี้ต้องใช้เงินและระยะเวลานาน ดังนั้น ภาครัฐควรดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำเกินไปและเร่งฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว เพื่อจูงใจต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย
เผยไม่ลดดอกเบี้ยรุนแรงอีก
นางอมรา กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมาที่มีการปรับลดในระดับ 1% และ 0.75% ตามลำดับ โดยมองว่าหากในอนาคตเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเหมาะสมและนโยบายการคลังที่ออกมาได้ผลเต็มที่ คือ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 ได้ตามเป้าถึง 94% ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 2.5% แม้ภาคส่งออกจะไม่ดีนักตามเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงนัก
“แม้รัฐบาลจะออกโครงการประชาชานิยมชั่วคราว แต่ดำเนินการได้รวดเร็วก็สามารถสร้างรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลดีให้ในระบบมีการจ้างแรงงานเกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในช่วงอัตราเงินเฟ้อต่ำ จึงควรให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้ด้วยแรงขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก และคงเป็นเรื่องที่ยากให้ไทยจะพึ่งพาปัจจัยนอกประเทศที่ปัจจุบันค่อนข้างแย่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากแล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจจับจ่ายใช้สอยก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่”นางอมรากล่าว
ครวญบังคับแบงก์ปล่อยกู้ไม่ได้
ทั้งนี้ แม้กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 1.75% ซึ่งช่วยให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของสถาบันการเงินถูกลง และช่วยบรรเทาภาระของผู้บริโภคได้ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่สามารถบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบปล่อยกู้ให้ลูกค้าได้ เพราะสถาบันการเงินก็เปรียบเสมือนผู้ประกอบการเมื่อเศรษฐกิจชะลอหรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ต้องดูแลธุรกิจตัวเองไปตามสภาพที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในระดับหนึ่ง และสถาบันการเงินสามารถบริหารสภาพคล่องได้ดีก็จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาได้
นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ เพราะธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยกันมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อัตราดอกเบี้ยต่ำถึง 0-0.25% แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสายตลาดการเงินของธปท.จะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทไทยผันผวนมากเกินไป
|
|
|
|
|