กระทรวงการคลัง เตรียมเพิ่มทุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอีกเท่าตัว เป็น 2 พันล้านบาท
หวังเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติที่สนใจอยู่ 2-3 ราย เข้ามาถือหุ้น พร้อมกระจายหุ้นให้กับประชาชนปีหน้า
เพื่อปูทางเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
มั่นใจชาวไทยมุสลิมพอใจการเปิดให้บริการธนาคารฯ ที่ให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม
วานนี้ (18 ส.ค.) พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมีร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายอารีย์ วงศ์อารยะ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
และคณะผู้บริหารธนาคารให้การต้อนรับ
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงิน
ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามในประเทศไทย และรู้สึกดีใจที่ชาวไทยมุสลิมให้การต้อนรับเข้ามาใช้บริการเป็นอย่างดี
และขอบคุณสุลต่านแห่งบรูไน ที่มอบหมายให้บรูไนอินเวสต์เมนท์เอเจนซี่ เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งธนาคารอิสลามในประเทศไทย
ในส่วนของรัฐบาล พร้อมจะให้การสนับสนุนธนาคารอิสลามฯ ให้เจริญรุ่งเรือง และเชื่อว่าการให้บริการทางการเงินของธนาคารจะทำ
ให้ชาวมุสลิมทุกคนพอใจ
ทั้งนี้มั่นใจว่า ผู้บริหารและพนักงานธนาคารอิสลามฯ จะยึดมั่นและปฏิบัติ ตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน
พร้อมกับรักษาเงินของผู้ฝากให้เกิด ผลตอบแทนสูงสุด ขณะเดียวกันเงินจากธนาคารก็จะนำไปใช้สร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศ
โดยไม่ส่งเสริมการลงทุนที่ต้องห้ามตามศาสนา และก่อนเดินทางกลับนายกรัฐมนตรีได้เปิดบัญชีกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง แผนการดำเนินงานของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ว่า ธนาคารอิสลามฯ มีแผนจะกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปภายในปีหน้า โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงแนวทางการกระจายหุ้น
ซึ่งอาจจะนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถือผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 49% ออกมาจำหน่าย
รวมทั้งมีแผนที่จะนำธนาคารอิสลามฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"กระทรวงการคลังถือหุ้นโดย ตรงอยู่ประมาณ 14.21% ส่วนที่เหลือถือผ่านหน่วยงานอื่นๆ
ซึ่งก็พร้อมจะนำหุ้นออกมาจัดสรรให้กับประชาชน หากมีคนสนใจซื้อ หุ้นเป็นจำนวนมาก
ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
เป็นเพียงแนวคิดที่จะดำเนินการนั้น เนื่องจากได้รับทราบจากนายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี
ว่ามีประเทศอิสลาม 2-3 ประเทศ ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมถือหุ้น ในธนาคารอิสลามฯ"
ด้านนายอารีย์ วงศ์อารยะ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทนจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อาบูดาบีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
และบาห์เรน แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในธนาคารอิสลามฯ เป็นจำนวน มาก เพื่อเป็นการรองรับความต้องการดังกล่าว
คณะกรรมการธนาคารอิสลามฯ จึงได้หารือถึงแนวทางในการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้
1,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 2,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้น
แม้ว่า สัดส่วนการถือหุ้นของต่างประเทศจะคงเดิมที่กำหนดให้ไม่เกิน 33.33%
"ในเรื่องนี้จะต้องปรึกษากับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ขณะที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาด
หลักทรัพย์นั้น จะต้องดูว่าผิดหลักศาสนาหรือไม่ หากไม่ผิดทางธนาคารก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อไป"
นายอนันต์ ตังทัตสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า
หลังจากที่ธนาคารดำเนินการมาอย่างไม่เป็นทาง การมาประมาณ 2 เดือน (ตั้งแต่วันที่
12 มิ.ย. 2546) มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 210 ล้านบาท จากบัญชีกว่า 2,000 บัญชี และได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว
160 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่ง เป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก
ได้มีการขอสินเชื่อเข้ามารวมวงเงินประมาณ 30-40 ล้านบาท
ขณะเดียวกันมีโครงการขนาดใหญ่ที่ยื่นขอสินเชื่อเข้ามาแล้วจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจโรงพยาบาล
และธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ซึ่งมีมูลค่ารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อโครงการ
และภายในปี 2547 จะสามารถขยายธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้
อนึ่ง ขณะนี้ธนาคารอิสลามมีทุนที่จดทะเบียนเรียกชำระแล้วประมาณ 696.86 ล้านบาท
ซึ่งมีผู้ถือหุ้นทั้งหมดดังนี้ กองทุนเปิดไทยทวีทุน 15% ธนาคารอิสลามแห่งบรูไน
15% กระทรวงการคลัง 14.21% กองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
10.76% ธนาคารออมสิน 10.05% ไทยธนาคาร 8.61% ทิพยประกันภัย 7.18% ธนาคารกรุงไทย
5.74% ธนาคารนครหลวงไทย 5.74% และรายย่อย อีก 7.72%