โบรกเกอร์ประเมินราคาน้ำมันร่วง-ธุรกิจปิโตรเคมีขาลง ฉุดผลการดำเนินงานไตรมาส 4/51 “ปตท.” วิกฤตหนัก บล.เอเซีย พลัส คาดขาดทุนสุทธิเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมหั่นกำไรสุทธิปี 51-52 ลงจากเป้าหมายเดิมอีกกว่า 30% เหลือ 6.1 หมื่นล้านบาท และ 5.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ด้านบล.บัวหลวง แนะทุนที่ราคา 210 บาท แม้ไตรมาสสุดท้ายปี 51 จะขาดทุนสุทธิเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ได้ประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ว่า ในไตรมาส 4/2551 ปตท.จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิประมาณ 12,000 ล้านบาท นับเป็นผลขาดทุนไตรมาสแรกตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงในทุกธุรกิจเมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของปตท. มากที่สุด
ทั้งนี้ จากการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันคงคลังตามราคาน้ำมันดิบและสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเกือบ 50 เหรียญต่อบาร์เรล จากสิ้นไตรมาส 3/51 ทำให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นต้องเผชิญกับผลขาดทุนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ในงวดไตรมาส 4/51 คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนเช่นกัน ทั้งจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้บางช่วงเวลาในงวดไตรมาส 4/51 ราคาผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าราคาวัตถุดิบ เนื่องจาก ผู้ประกอบการไม่ต้องการที่จะเก็บสต็อกสินค้าไว้ เพราะเกรงว่าราคาสินค้าในอนาคตจะปรับตัวลดลงไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีการปิดปรับปรุงโรงงานเกิดขึ้น จึงทำให้กำลังการผลิตของกลุ่มปตท.ปรับตัวลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา รวมถึงผลของการอ่อนตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกทำให้คาด PTTEP จะมีกำไรลดลง 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่ธุรกิจหลักโรงแยกก๊าซคาดจะมีแนวโน้มอ่อนตัวเช่นกัน เพราะ ราคาขายส่วนใหญ่อ้างอิงกับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีซึ่งปรับตัวลดลงอย่างมีนัย
พร้อมกันนี้ บล.เอเซีย พลัส ได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2551-2552 ลดลง โดยปี 2551 คาดมีกำไรสุทธิ 61,529 ล้านบาท ลดลง 33.4% จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 92,398 ล้านบาท และปี 2552 กำไรสุทธิ 55,186 ล้านบาท ลดลง 35.3% จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 85,316 ล้านบาท เพื่อสะท้อนแนวโน้มที่ขาดทุนในไตรมาส 4/51 มากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะจากกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี
สำหรับในปี 2552 นั้นคาดแนวโน้มกำไรจะยังคงอ่อนตัวเนื่องจาก ทั้งราคาน้ำมันที่มีทิศทางอ่อนตัวลง รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงสูงถึง 60-65% จากปีก่อน ขณะที่คาดค่าการลั่นจะยืนได้ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และภายใต้ประมาณการใหม่มูลค่าพื้นฐานตามวิธีลดลงกระแสเงินสด เท่ากับ 214.29 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทยังคงแนะนำซื้อ เพราะ เชื่อว่าไตรมาส4/51 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งในปี 2552 มีโอกาสสูงที่จะมีการบันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกคงคลังแทน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระยะสั้นแนะนำให้ใช้ความระมัดระวัง เพราะ อาจถูกกดดันจากปัจจัยลบของผลการดำเนินงานไตรมาส4/51 ที่ถึงขั้นขาดทุนสุทธิ นอกจากนี้คาดงวดครึ่งหลังปี 2551จะสามารถจ่ายเงินปันผลลดลงจากครึ่งปีแรกที่จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 6 บาท เหลืออย่างน้อยสุดหุ้นละ 2 บาท ตามแนวโน้มกำไรที่อ่อนตัวลง
ไตรมาส 4/51 ขาดทุนเฉียด 1.4 หมื่นล้านบาท
ด้านบล.บัวหลวง ได้แนะนำลงทุนหุ้น PPT ที่ราคา 210 บาท ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่ 220 บาท แม้ผลประกอบการไตรมาส 4/51 จะมีปัญหา แต่มูลค่าหุ้นในปัจจุบันได้สะท้อนการคาดการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งนี้ PTT ซื้อขายอยู่ในระดับเดียวกับช่วงปี 2544-2545 และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยอยู่ที่ PER 8.2 เท่า, PBV 1.0 เท่าและผลตอบแทนเงินปันผล 5.5% เทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 11.7 เท่า, 1.7 เท่าและ 3.8% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม PTT ยังคงเป็นหุ้นแนะนำในกลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากกำไรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนน้อยสุด เพื่อสะท้อนการปรับลดประมาณการกำไรในช่วงที่ผ่านมาของเรา จึงปรับราคาเป้าหมายปี 2552 ลงมาอยู่ที่ 210 บาทจาก 220 บาท
โดย บัวหลวง ปรับลดประมาณการกำไรปี 2551 ลง 31% มาอยู่ที่ 60,072 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ คาดว่าไตรมาส 4/51 บริษัทจะรายงานผลขาดทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 13,822 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลขาดทุนของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่ 20,238 ล้านบาท บัวหลวงยังปรับลดประมาณการกำไรปี 2552-2553 ลง 28 % และ 29 % มาอยู่ที่ 60,866 ล้านบาทและ 65,987 ล้านบาท ตามลำดับ จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สำหรับปี 2552 และ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลสำหรับปี 2553 ประกอบกับสะท้อนการปรับลดประมาณการกำไรของ PTTEP
อย่างไรตาม บัวหลวงเชื่อว่ากำไรของ PTT จะกลับมาอยู่ในระดับปกติในไตรมาส 1/52 ราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะปรับลดลงจำกัด แสดงถึงผลขาดทุนจากการปรับราคาสต๊อกน้ำมันตามราคาตลาดของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะบรรเทาลง แนวโน้มยอดขายก๊าซธรรมชาติยังคงสดใส แม้อุปสงค์จากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มชะลอตัว อุปสงค์ก๊าซธรรมชาติจะมีปัจจัยหนุนจากก๊าซ NGV และการเริ่มเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 700 เมกกะวัตต์ 2 แห่งของ EGAT ทางตอนใต้ของ กทม. และบางปะกงในปีนี้
|