ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยสถาบันเมินร่วมลงทุนจัดตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์ หลังภาวะตลาดหุ้นช่วงต้นปีปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความน่าสนใจ-ผลตอบแทนลดลง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันเดินหน้าต่อ ด้วยเงินทุนที่เหลืออยู่กว่า 1.7 พันล้านบาท ด้าน “วิเชฐ” เตรียมแผนดึงเอกชน 14 แห่งที่ได้รับการอนุมัติไฟลิงจากสำนักงานก.ล.ต. เร่งขายหุ้นไอพีไอและเข้าซื้อขายภายในไตรมาสแรกนี้
นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนร่วมทุน (แมทชิ่งฟันด์) ว่า ขณะนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ชะลอแผนลงทุนในกองทุนแมทชิ่งฟันด์กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในกองทุนแมทชิ่งฟันด์ลดลง จากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีบลจ.2 แห่ง และบจ 7-8 แห่งสนใจที่จะร่วมลงทุนรายละ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้บลจ.และบจ.จะชะลอแผนการร่วมลงทุน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงเดินหน้าจัดตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์ด้วยเงินทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวงเงินที่จะลงทุนในกองทุนแมทชิ่งฟันด์จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยขณะนี้เหลือเงินที่จะลงทุนอีก 1,700 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมลงทุนกับบลจ.ไปแล้ว 300 ล้านบาท แต่ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ได้มีการเริ่มลงทุน ซึ่งจะเริ่มทยอยลงทุนในจังหวะที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี
“เดิมมีบลจ.2แห่ง และบจ.8 แห่ง สนใจที่จะร่วมลงทุนในกองทุนแมทชิ่งฟันด์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากที่ภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลดลง จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนจากหุ้นมีราคาถูกทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี แต่จากที่บจ.และบลจ.จะต้องอนุมัติจากบอร์ดบริษัท ซึ่งขั้นตอนต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือน เมื่อภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในกองทุนดังกล่าวลดลง จึงทำให้ต้องชะลอแผนการร่วมลงทุนออกไป”นายวิเชฐ กล่าว
ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการปรับรูปแบบการลงทุนในกองทุนแมทชิ่งฟันด์ เหลือ 1 กองทุนเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งจะชวน บจ.ที่มีฐานะการเงินแกร่ง ร่วมลงทุนรายละ 100 ล้านบาท เพราะ บลจ.มีการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยไม่ได้ตามจำนวนเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ ทำให้เหลือกองทุนแมทชิ่งฟันด์เพียง 1 กองทุนเพื่อนักลงทุนสถาบันเท่านั้น ซึ่งเดิมนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯจะร่วมลงทุนแบ่งเป็น แมชชิ่งฟันด์เพื่อผู้ลงทุนสถาบัน สัดส่วน 1:4 โดยตลาดหลักทรัพย์ร่วมใส่เงิน 1,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท มาจากผู้ลงทุนสถาบัน รวมเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท จำนวน 1 กอง
สำหรับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป สัดส่วน 1:3 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมลงทุน 100 ล้านบาท จาก บลจ. อีก 300 ล้านบาท ทำให้แต่ละกองมีมูลค่า 400 ล้านบาท จำนวน 5 กอง รวมเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท และ.กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก สัดส่วน 1:1.5 โดยตลาดหลักทรัพย์ร่วมใส่เงิน 100 ล้านบาท จากบลจ. อีก 150 ล้านบาท จำนวน 5 กอง รวมเป็น 1,250 ล้านบาท ดังนั้น รวมมูลค่าแมชชิ่งฟันด์ ทั้ง 3 ประเภทจะมีเงินจำนวนทั้งสิ้น 8,250 ล้านบาท
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ยกเลิกการลงทุนในกองทุนแมทชิ่งฟันด์ไปหมดแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเงินที่บลจ.แต่ละแห่งระดมทุนมาได้ไม่เป็นไปตามตามข้อกำหนดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ โดยเข้าใจว่าเงินที่ดึงกลับไปนั้นจะลงทุนเป็นกองทุนเดียวกับนักลงทุนสถาบัน ทั้งนี้ ในส่วนของเงินลงทุนในกองทุนที่ระดมทุนมาได้ยังเป็นเงินของกองทุนต่อไป เพราะ กองทุนที่ตั้งเป็นแมทชิ่งฟันด์ เป็นกองทุนเดิม
นายวิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เบื้องต้น 1 แห่ง ที่ยืนยันจะเสนอขายหุ้นไอพีโอได้ในเดือนมกราคมนี้ และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเชิญชวนให้บริษัทจำนวน 14 แห่งที่ได้รับอนุมัติจากก.ล.ต.ให้เสนอขายไอพีโอ ภายในไตรมาส 1/52 นี้ จากที่ภาวะตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการชวนและผลักดันให้บริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. 14 แห่ง ให้เสนอขายไอพีโอในไตรมาส 1/52 ปีนี้ และจะมีการเร่งดำเนินการที่จะนำบริษัทในแถบอินโดจีน โดยเป็นบริษัทลูกของบริษัทจดทะเบียนไทย เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจสร้างเขื่อนในลาวสนใจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าจะระดมทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเข้าเทรดภายในปีนี้ ”นายวิเชฐ กล่าว
จากการรวบรวมข้อมูลบริษัท 14 แห่งประกอบด้วย 1. บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต 2. บมจ. ควอลลีเทค 3. บมจ. เจ มาร์ท4.บมจ. ไทยโพลีคอนส์ 5. บมจ. ผลธัญญะ 6. บมจ. แม่น้ำสแตนเลสไวร์ 7. บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ 8. บมจ. เอเชีย กรีน เอนเนอจี 9. บมจ. แอปโซลูท อิมแพค 10. บมจ. แฮลเซี่ยน เทคโนโลยี่ 11.บมจ. ไทยสตีลโปรไฟล์12.บมจ. เมืองใหม่ กัตทรี 13.บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ 14.บมจ. สหวิริยา เพลทมิล
|