เอ็กโก้ (EGCOMP) เตรียมระดมทุนเพิ่มปีหน้าอีก 2-3 พันล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้
และลงทุน ธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 ปีข้างหน้า โดยอาศัยจังหวะช่วงดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งจะ
รีไฟแนนซ์หนี้บริษัทลูกสิ้นปีนี้ด้วย คาดกำไรไตรมาส 3 และ 4 ต่ำลงจากไตรมาส 2
เนื่องจากค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าสูงมาก อีกทั้งอาจต้องตัดค่าใช้จ่ายส่วนเงินลงทุนโครงการน้ำเทิน
2 กว่า 500 ล้านบาท หากพบว่าโครงการมีความเสี่ยง
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCOMP)
หรือเอ็กโก้ เปิดเผย วานนี้ (18 ส.ค.) ว่าบริษัทฯ มีแผนระดมทุนเพิ่มเติมในรูปหุ้นกู้
หรือเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 2-3 พันล้านบาทปี 2547 เพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้
และขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าอีก 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งหาช่องทางรีไฟแนนซ์หนี้บริษัทลูกบางแห่งภายในปีนี้
สาเหตุที่บริษัทตัดสินใจระดมทุนเพิ่มปีหน้า แม้ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสด
3-4 พันล้านบาท เนื่องจากต้องการรักษาระดับเงินให้เพียงพอต่อการลงทุนอนาคต และอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
จึงเป็นหนทางที่ดี อาศัยจังหวะช่วงดอกเบี้ยต่ำ ออกหุ้นกู้หรือกู้เงินสถาบันการเงิน
เพราะยังมีอีกหลายโครงการ ที่บริษัทต้องใช้เงินลงทุนมากอีก 1-2 ปีข้างหน้า
บริษัทและบริษัทย่อยมีหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระปีนี้รวม 4,112 ล้านบาท ปี 2547
อีก 5,200 ล้านบาท ปี 2548 อีก 2,814 ล้านบาท
3 โครงการลงทุนอนาคต
บริษัทฯ มีโครงการที่จะลงทุนเพิ่มอนาคต ประกอบด้วย
1.โครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้าขนอมกำลังผลิต 385 เมกะวัตต์ ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้
อยู่ระหว่างเจรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คาดว่าการเจรจาสัญญา
ซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) จะเสร็จปีนี้ หลังจากนั้น จะเจรจาสัญญาเงินกู้ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน
3 เท่า จะเริ่มก่อสร้างครึ่งหลังปี 2547 เสร็จต้นปี 2550
โครงการดังกล่าว เพื่อลดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าภาคใต้ เนื่องจากกำลังผลิตไม่เพียงพอความต้องการใช้ไฟภูมิภาคนั้น
ขณะเดียวกัน มีข้อจำกัดด้านสายส่งนำไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ การเพิ่มกำลังผลิตโรงไฟฟ้าขนอม
จากปัจจุบัน 824 เมกะวัตต์ อีก 385 เมกะวัตต์ จึงเป็นโครงการหนึ่งที่บรรจุอยู่ในแผน
PDP ของ กฟผ.
2. โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 กำลังผลิต 1,070 เมกะวัตต์ ที่ลาวมูลค่าเงินลงทุน
1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท) ขณะนี้ อยู่ระหว่างหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่
หลังจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คืออีดีเอฟ จากฝรั่งเศส ซึ่งถือหุ้น 35% ประกาศถอนตัวเมื่อวันที่
17 ก.ค. เพื่อประท้วงรัฐบาลลาวที่จับคนฝรั่งเศส
ปัจจุบัน นักลงทุนหลายรายสนใจร่วมทุนโครงการดังกล่าว เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินกู้ธนาคารโลก
จำเป็นต้องหานักลงทุนที่เชี่ยวชาญโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเขื่อน (ไฮโดร เพาเวอร์) เพื่อ
ให้สอดคล้องรูปแบบโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 คาดว่าจะได้ข้อสรุปพันธมิตรภายใน 1 ปี ตามที่
กฟผ. กำหนด หรืออาจเร็วกว่าที่กำหนด
"โครงการน้ำเทิน 2 เป็นโครงการที่ดี และให้ผลตอบแทนสูง จึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีใครสนใจลงทุน
ส่วนการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้ของเอ็กโก จากเดิม 25% นั้น ยังไม่สามารถตอบได้
ว่าจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ร่วมทุนรายใหม่ ว่าสนใจจะถือหุ้นเท่าใด
เรื่องเงินลงทุนไม่ใช่ปัญหา แต่เราต้องการพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฮโดรฯ
เข้ามาเสริม เพราะเรามีประสบการณ์โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง ไม่ใช่โตมาจากโรงไฟฟ้าเขื่อน"
เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการน้ำเทิน 2 คงต้องล่าช้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบการจ่ายไฟฟ้าภาคตะวัน
ออกเฉียงเหนือของไทยอนาคต เนื่องจากปี 2545 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอีสาน 1,905
เมกะวัตต์ และอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 178 เมกะวัตต์ ช่วงปี 2546-2554
ขณะที่กำลังผลิตเพียง 1,294 เมกะวัตต์ ที่เหลือต้องรับจากภาคกลางและภาคเหนือ
ขณะ เดียวกัน กำลังผลิตโรงไฟฟ้าน้ำพอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าสำคัญภาคอีสาน ก็ลดจาก 710
เมกะวัตต์ เหลือ 355 เมกะวัตต์ เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรม ชาติที่ผลิตไฟฟ้าลดลง ดังนั้น
โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 หากสร้างเสร็จไม่ทัน อาจขาดแคลนไฟฟ้าในภาค อีสานได้และ
3.โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีในนามบริษัท กัลฟ์ พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น ขนาดกำลังผลิต
700 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ บริษัทตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหิน อยู่ระหว่างเลือกพื้น
ที่ตั้งเหมาะสมของโครงการ คาดว่าจะเสร็จภายใน มี.ค. 2554
เตือนเอ็กโกครึ่งปีหลังกำไรไม่สดใส
ทางด้านนายศักดา ศรีสังคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน เอ็กโก กล่าวถึงผลประกอบการครึ่งปีหลังนี้ว่า
ไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ บริษัทฯ จะมีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง (Major Maintenance Budget)
โรงไฟฟ้าระยอง (เร็กโก) เป็นเงิน 380 และ 419 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ผลประกอบการไตรมาส
3 และ 4 จะมีกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาส 2
"ผลประกอบการไตรมาส 1 และไตรมาส 2 มีผลดำเนินงานที่ดี แต่ในไตรมาส 3 และไตรมาส
4 จะมีงบประมาณด้านเมเจอร์ เมนเทนแนนซ์สูง มาก ทำให้กระทบต่อผลกำไรในครึ่งปีหลัง
แต่อยากให้ดูตัวเลขงบทั้งปีแทน ซึ่งบริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าหนองแค และโรงไฟฟ้าสมุทรปราการ
ที่เพิ่งซื้อเข้ามา ทำให้รายได้น่าจะยังด" เขากล่าว
นอกจากนี้ บริษัทจับตาดูโครงการน้ำเทิน 2 ว่ามีความเสี่ยงต่อการลงทุนหรือไม่
หากพบว่าโครงการนี้มีความเสี่ยง จะตัดรับรู้ค่าใช้จ่าย หรือ ตั้งสำรองฯ ซึ่งปัจจุบัน
บริษัทลงทุนในโครงการ นี้แล้วมูลค่า 561 ล้านบาท เชื่อว่าหากตัดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน
จะไม่กระทบฐานะการเงิน เนื่องจากบริษัทมีสภาพคล่อง 3-4 พันล้านบาท แต่คงจะกระทบงบการเงินหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ซึ่งบริษัทฯ ตัดเป็นค่าใช้จ่ายก่อนหน้านี้ 342 ล้านบาท
ยังคง เหลือเพียงที่ดิน ซึ่งคิดตามมูลค่าสัดส่วนถือหุ้นของเอ็กโก เป็นเงิน 300
กว่าล้านบาท อย่างไรก็ ตาม คงต้องประเมินราคาที่ดินว่าลดลงหรือไม่ แต่ เชื่อว่า
ที่ดินมีมูลค่าในตัวเองคงไม่กระทบมากนัก
ควบกิจการรอ กฟผ.ชี้ขาด
ส่วนกรณีจะควบรวมกิจการระหว่างเอ็กโก กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด
(มหาชน). (RATCH) นายไกรสีห์กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทกำลังรอการตัดสินใจจาก กฟผ.
ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า จำเป็นต้องควบรวมกิจการหรือไม่ หาก กฟผ.จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ตลท.) ซึ่ง กฟผ.แต่งตั้งที่ปรึกษา ศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะสรุป
ผลได้เมื่อใด
ผู้ถือหุ้นใหญ่เอ็กโกปัจจุบัน ได้แก่ กฟผ. 25.41% ซีแอลพี เพาเวอร์ โปรเจคส์
(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ถือ 22.42% ขณะที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ
กฟผ. ถือหุ้นใหญ่ 45% รองลงมาคือกลุ่มบ้านปู รวมถึงบ้านปู เพาเวอร์ 7.39% และบ้านปู
เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 7.35%
"ความชัดเจนในเรื่องนี้ อยู่ที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท คือ กฟผ.และซีแอลพีฯ อยู่นอกโฟกัสของ
ฝ่ายบริหารที่จะควบคุมได้ เพียงแต่ตอนนี้ เราต้องบริหารงานให้ดีที่สุด เพื่อให้ผลประกอบการดี
หากมีการควบรวมจริง ผู้ถือหุ้นจะได้ราคาที่ดี"
ชูกลยุทธ์การเติบโตเอ็กโก
นายไกรสีห์กล่าวย้ำถึงกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ เอ็กโกว่า จะเน้นลงทุนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่
(ไอพีพี) ในไทย หรือถ้าจะลงทุนโรงไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน จะเน้นลงทุนโรงไฟฟ้าที่ขายไฟกลับให้ไทย
โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับกฟผ.จะไม่ลงทุนโรงไฟฟ้าประเทศอื่นที่ไกลออกไป
เนื่องจากมีความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน จะขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจน้ำ (เอ็กคอมธารา) และหุ้นที่ถือในบริษัท
โครแนล ฟิลิปปินส์ แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ให้เงินปันผลสูงก็ตาม เพื่อไม่ให้ผู้บริหารต้องเสียเวลาบริหารจัดการบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้อง
ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าเอสพีพีหลายโครงการ เอ็กโก้ มีแผนจะนำมารวมกัน ภายใต้การบริหารเดียวกัน
เพื่อลดต้นทุนด้านบำรุงรักษาและบริหารจัดการ รวมทั้งเพิ่มรายได้ขายไอน้ำให้มากขึ้นด้วย