|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ส.ยานยนต์คาดปีนี้ “ผลิตลดลง-ส่งออกแย่” หวังยอดสูงสุดแค่1.2 ล้านคัน ชี้ต้องฟื้นเชื่อมั่นภายในเพื่อชดเชยส่งออก ขณะที่อีโคคาร์กระทบน้อย ด้านยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า-อีซูซุ-จีเอ็ม” ปรับตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้วรอรับวิกฤต ส่วนอุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ยอดขายลดลงตามยอดขายรถยนต์ หวังใช้สิทธิ GSP “อียู” กินส่วนแบ่งเล็กๆ
หากพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต้องยอมรับว่าสร้างกำไรหลายแสนล้านในแต่ละปีแต่จากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังประสบอยู่ทำให้อุตฯยานยนต์ของไทยต้องปรับตัวเพราะการผลิตกว่าครึ่งหนึ่งส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ปี 2552 นี้กำลังซื้อของคนทั่วโลกต่ำลงย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ จากอุตสาหกรรมที่เคยทำเงินมากมายในแต่ละปี ต้องย้อนกลับมาทบทวนแผนงานว่าจะดำเนินไปทิศทางใดเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า
ลุ้นหืด.!1.2 ล้านคัน
“วัลลภ เตียศิริ” ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวกับ “ผู้จัดการ360องศา รายสัปดาห์” ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มตกต่ำจากปีที่แล้วและแนวโน้มในปีนี้ว่า ตลอด 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ที่ผ่านมาของปีที่แล้วถือว่าทำได้ตามเป้าหมายไว้แต่เริ่มตกต่ำลงในช่วง 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) สุดท้ายเท่านั้นทำให้ยอดส่งออกยานยนต์ของไทยยังทำได้ตามเป้าหมายคือยังส่งออกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แม้ยอดขายในประเทศจะตกลงไปก็ตาม
อย่างไรก็ดีปัญหาที่น่าติดตามคือวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก จะทำให้ยอดการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยน่าจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงเหลือเพียง 1.2 ล้านคันจากปีที่แล้วที่คาดกันว่าจะส่งออกได้ถึง 1.4 ล้านคันซึ่งภาคเอกชนกำลังหารือถึงแนวทางรับมือถึงวิกฤติการณ์ดังกล่าว
หวังยอดขายในประเทศ-ชดเชยส่งออก
ดังนั้นหากความเชื่อมั่นภายในประเทศฟื้นตัวเชื่อว่ายอดขายในประเทศน่าจะกระเตื้องขึ้นเพื่อชดเชยสัดส่วนที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองเพราะ 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยาฯยอดขายในประเทศที่เคยสูงถึง 7 แสนคัน/ปี แต่ตอนนี้แค่ 5-6 แสนคัน/ปีเท่านั้นหากสามารถเพิ่มยอดขายในประเทศขึ้นมาได้เชื่อว่าตัวเลข 1.2 ล้านคันในปีนี้น่าจะได้เห็น
ผอ.สถาบันยานยนต์ ย้ำอีกว่า ปัญหาที่น่าห่วงอีกอย่างคือบริษัทที่รับจ้างผลิตหรือOEM จะได้รับผลกระทบจากการที่ส่งออกได้น้อยลงซึ่งจำเป็นต้องลดคนงานลงทำให้เกิดการว่างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้พอสมควร ซึ่งภาคเอชนกำลังหารือเพื่อเตรียมการรับมือดังกล่าว
ขณะที่ภาคการลงทุนเชื่อว่าแนวโน้มปีนี้ยังจะชะลอตัวเพราะการส่งออกไม่ดีการขยายการลงทุนหรือการลงทุนใหม่ยังไม่เกิด แต่อานิสงค์ของโครงการอีโคคาร์จะยังผลักดันให้เกิดการจ้างงานได้บ้างเพราะบางบริษัทยังดำเนินการตามไลน์การผลิตเช่นเดิมที่กำหนดไว้ว่าปลายปี (พ.ย.52 )สามารถวางขายรถยนต์อีโคคาร์ในประเทศไทยได้
“ผลที่เกิดจากโครงการอีโคคาร์จะเริ่มเห็นผลจริงๆในปีหน้า (2553) เพราะหลายบริษัทเริ่มผลิตเพื่อออกวางขายปีนี้มีผลน้อยมาก”วัลลภ ยืนยันและว่าส่วนเป้าหมาย “ฮับยานยนต์” แห่งเอเชียยังเหมือนเดิมเพราะแม้ยอดการส่งออกที่อาจจะลดลงไปในปีนี้ แต่เชื่อว่าขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวพ้นตรงนั้นมาแล้วเพราะภาคการผลิตของไทยทั่วโลกต่างสนใจเข้ามาลงทุนเหมือนเดิมและยอดการผลิตยังจะสูงต่อไปแม้อาจจะชะลอตัวไปในช่วงนี้เท่านั้น
ยักษ์ใหญ่อุตฯรถยนต์ปรับตัว
ด้านความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน เริ่มมีการปรับตัวรับสถานการณ์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาโดยยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้มีแผนลดกําลังการผลิตลงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551-พฤษภาคม 2552 จํานวน 30% หรือประมาณ 4 หมื่นคัน ด้านบริษัท ตรีเพชร อีซูซุ จำกัดจะลดกําลังการผลิตลง 10-20% หรือ 3 หมื่นคันตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2551- มีนาคม 2552 ขณะที่ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่างบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือจีเอ็มในประเทศไทย ลดกำลังการผลิตโรงงานที่จ.ระยอง 10-15% และ ทยอยหยุดไลน์การผลิตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ไปจนถึงมกราคม 2552
ส่วนการลดคนงานนั้นบริษัทโตโยต้า อีซูซุ และฮอนด้า ได้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากมีการปรับแผนงานด้านอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องอาศัยความชำนาญของพนักงานในการประกอบรถยนต์ เบื้องต้นจะเป็นการปรับลดต้นทุนรูปแบบต่าง ๆ ก่อนไม่ว่าจะเป็นลดการทำงานล่วงเวลา ลดพนักงานชั่วคราว ปรับเปลี่ยนเวลาประกอบรถยนต์ให้เหมาะสมกับยอดคำสั่งซื้อ
ปีที่แล้วทะลุ 1.4 ล้านคัน
ขณะที่ "สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์" โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวสรุปยอดการผลิตและการส่งออกรถยนต์ของ 11 เดือนปีที่แล้วว่าผลิตรถยนต์ได้ 1,312,366 คัน เพิ่มขึ้นจาก 11 เดือนปีที่แล้วร้อยละ 11 โดยผลิตเพื่อการส่งออก 739,009 คัน คิดเป็นร้อยละ 56.31 ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 11 เดือนปีที่แล้วร้อยละ 16.55 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 573,357 คัน คิดเป็นร้อยละ 43.69 ของยอดผลิตทั้งหมด ผลิตมากกว่าสิบเอ็ดเดือนปีที่แล้วระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 4.58
ด้านการส่งออก 11 เดือน จำนวน 735,401 คัน เพิ่มขึ้นจาก 11 เดือนปีที่แล้วร้อยละ 17.93 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 533,196.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 22.89
“คาดว่าทั้งปี 2551 การผลิตน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านคันได้แต่ปีนี้ยังไม่แน่ชัดเพราะต้องรอดูสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกก่อนประเมินอีกครั้ง”
ชิ้นส่วนฯดิ่งเหวตาม
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานถึงสถานการณ์ ตลาดรถยนต์ทั้งไทยและต่างประเทศใน ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกต่างชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดส่งออกรถยนต์มีการขยายตัวที่ชะลอลงต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว นอกจากนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนพฤศจิกายนเองก็หดตัวอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 20.2 ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และคาดว่าตลาดรถยนต์จะชะลอลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552 ดังที่สะท้อนให้เห็นจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ลดลงอย่างมากทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยหลายบริษัทปรับลดระดับการผลิตในช่วง 1 ถึง 2 เดือนข้างหน้าลงอย่างมากเช่นกัน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
โดยจากยอดขายที่ชะลอลงนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดการผลิตรถยนต์ของไทย และส่งผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งแม้ว่าการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปีนี้โดยรวมยังมีการขยายตัวค่อนข้างดี อันเป็นผลจากยอดผลิตรถยนต์ของไทยในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคมที่ยังมีการขยายตัวค่อนข้างดี ส่งผลให้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการคาดการณ์ว่าปี 2551
ทั้งปีจะมียอดผลิตทั้งสิ้นประมาณ 1,427,000 คัน ขยายตัวถึงร้อยละ 10.9 แต่จากแนวโน้มการผลิตรถยนต์ที่มีทิศทางชะลอลงจากการหดตัวของยอดขายในประเทศ และการชะลอตัวของยอดการส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในช่วงนับจากนี้ไปคาดว่าจะชะลอตัวลงตามเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เดือนพฤศจิกายน 2551 ยอดผลิตเริ่มหดตัวถึงร้อยละ 4.9 และคาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่อง จากการที่ค่ายรถต่างๆได้ออกมาประกาศไปก่อนหน้านี้ ว่าจะลดกำลังการผลิตลงประมาณร้อยละ 20 ถึง 30 และบางรายถึงขั้นปิดโรงงานระยะหนึ่งโดยที่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2551 ไปจนถึงช่วงประมาณไตรมาสที่ 1 หรือ 2 ของปี 2552 และอาจยืดเยื้อต่อไปอีกทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศในปีหน้า
นอกจากนี้เรื่องความเข้มงวดของการให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดรถยนต์คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งผลดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์กันว่ามีความเป็นไปได้ที่ในปี 2552 ปริมาณการผลิตรถยนต์ไทยอาจจะหดตัวลงถึงระดับตัวเลข 2 หลัก ซึ่งจะเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541 โดยที่การผลิตรถยนต์ในปีนั้นหดตัวลงถึงร้อยละ 59.4 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักโดยตรงต่อการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยประเภท OEM
อียูหวังเล็กๆของชิ้นส่วนฯ
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจนัก แต่อย่างน้อยอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยในปีหน้าก็ยังพอจะมีความหวังท่ามกลางวิกฤติอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ประกาศออกกฎระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องในพิกัดศุลกากรตอนที่ 86-89 ที่ไทยได้ถูกตัดสิทธิไปในช่วงปี 2549 ถึง 2551 นั้นจะได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของอียูฉบับใหม่นี้ จึงคาดว่าน่าจะเป็นโอกาสให้การหาลู่ทางขยายตลาดของชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ไทยที่จะตามไปเปิดตลาดยังอียูนั้นมีความสะดวกยิ่งขึ้น
ในขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน ในกลุ่มสินค้าประเภทนี้ยังคงถูกตัดสิทธิจีเอสพีอยู่ ดังนั้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสิทธิดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาถึงความเป็นไปได้สำหรับกิจการตนแล้วหันมาใช้สิทธิตามกรอบจีเอสพีให้มากขึ้น
ต้องติดตามดูกันว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่เคยโกยเงินเข้าประเทศจำนวนมากในแต่ละปี จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้มากน้อยเพียงไรเพราะภาคการผลิตกว่าครึ่งส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ถือว่างานหนักมาก หากยังหวังยอดขายที่โตตามเป้าหมายเหมือนปีก่อนๆ หรือปีนี้จะประคองตัวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตแบบไม่เจ็บตัวมากนัก
|
|
|
|
|