"ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นฯ"ตั้งเป้าทำรายได้แตะ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 8.4
หมื่นล้านบาท) อีก 6 ปีข้างหน้า นี้ยอดขายแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท)
สำเร็จ หลังเทกเอ็มเพรสฯ ผู้นำเข้า อาหารทะเลสด-แช่แข็งรายใหญ่มะกันรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน คุยฐานการเงินยังแกร่ง มีเงินเหลือเตรียมเทกโอเวอร์บริษัทอื่นๆ เพิ่ม
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
จำกัด (มหาชน) (TUF) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท) ปี 2552 หลังประสบความสำเร็จทำยอดขายปีนี้แตะ 1,000
ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท)
รายได้เพิ่มหลังเทกบริษัทมะกัน
สาเหตุจากการเติบโตธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ หลังจากล่าสุด บริษัทฯ เพิ่งเทกฯกิจการ
ผู้นำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งรายใหญ่ของสหรัฐฯคือบริษัท เอ็มเพรส อินเตอร์เนชั่นแนล
ภายใต้แบรนด์ EXCELLENT ทำให้ประมาณการรับรู้รายได้ช่วง 5 เดือนหลังปีนี้ 100 ล้านดอลลาร์
(ประมาณ 4.2 พันล้านบาท) ทำให้โครงสร้างรายได้จากธุรกิจในและนอกประเทศของบริษัท
อัตราส่วนใกล้เคียงกันแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนจะปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของเอ็มเพรสฯ ให้เติบโตต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการนำเข้ากุ้งแช่แข็ง ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วน นำเข้ากุ้งแปรรูปจากไทยเป็น 20-30%
จากปัจจุบันที่เอ็มเพรสฯ นำเข้ากุ้งจากไทยเพียง 6% รวมทั้งจะเพิ่มอัตรากำไรสุทธิจากปัจจุบัน
1% ของยอดขาย ให้อยู่ที่ 2-3% ของยอดขาย เนื่องจากธุรกิจนี้เสียภาษีในสหรัฐสูงถึง
40% และสภาพการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง
ตั้งเป้าโตปีละ 15%
ปีนี้ เอ็มเพรสฯ น่าจะสร้างรายได้ประมาณ 220-240 ล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าภายใน 3
ปีข้างหน้า เอ็มเพรสฯ จะมีรายได้ 300 ล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ยปีละ 15%
"ทรัพย์สินของเอ็มเพรสฯ มีไม่มาก เพราะเขาเป็นมือขาย มีพนักงาน 55 คน มีออฟฟิศ
4 แห่งในสหรัฐฯ โดยไม่มีโรงงาน แต่มีห้องเย็นขนาด 2 พันตัน ซึ่งเขาเป็นโฮลเซลล์
มาร์เกต (ตลาดค้าส่ง) ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ ทำให้เราเปิดประตูสู่การขายมากขึ้น"
นายธีรพงศ์กล่าวถึงนโยบายการลงทุนบริษัทฯ ในอนาคตว่า บริษัทฯ ยังมีเงินทุนเหลือเพียง
พอจะลงทุนเทกกิจการอื่นเพิ่มเติม 100 ล้านดอลลาร์ โดยไม่กระทบฐานะการเงินและอัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัท
ซึ่งเป็นกลยุทธ์การเติบโตทางลัด ทั้งรายได้ และกำไรสุทธิที่บริษัทฯ ได้ทำมาตลอด
จนผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป กลายเป็นผู้ซื้ออาหารทะเลแปรรูปแทน
เพื่อสร้างความได้เปรียบดำเนินธุรกิจ หลังจากสภาพตลาดเอื้อประโยชน์ให้ผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย
แต่บริษัทฯ คงไม่เร่งรีบลงทุนใหม่ ขึ้นกับจังหวะและโอกาสเป็นสำคัญ เพราะเพิ่งลงทุนเอ็มเพรสฯ
ทำให้ TUF เติบโตต่อไปได้อีก 2 ปี โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่เพิ่มเติม
"ปีนี้ เป็นปีที่ผู้บริหารให้ความสนใจในการลงทุนใหม่ เพราะเราไม่ได้ลงทุนมานานแล้ว
ซึ่งดีลนี้ไม่ใช่ดีลแรก เพราะเราศึกษาหลายดีล แต่เพิ่งประสบความสำเร็จ หลังจากเข้าไปลงทุนในเอ็ม
เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล จะทำให้ TUF เติบโตต่อไปได้อีก 2 ปี โดยไม่มีเพรสเชอร์
(แรงกดดัน) ใดๆ ซึ่งปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้น 20% จากปีนี้" เขากล่าว
ประมาณการปี 2547 บริษัทฯ จะมีรายได้จากธุรกิจกุ้ง รวมทั้งอาหารกุ้งประมาณ 1.5
หมื่นล้านบาทหรือ 30% ของยอดขายรวม จากปัจจุบัน ธุรกิจกุ้งสร้างรายได้ให้กลุ่มบริษัทเพียง
15% ของยอดขายรวม
โครงสร้างรายได้ TUF จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจ ปลาทูน่า 45-50% ของรายได้ ธุรกิจกุ้ง
30% และ อาหารทะเลอื่นๆ
ส่วนกรณีสภาพยุโรปลดภาษีนำเข้าปลาทูน่า กระป๋องจาก 24% เหลือ 12% เป็นเวลา 5
ปี โดย คงโควตานำเข้าของไทย 1.3 หมื่นตัน เขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่คงต้องให้ภาครัฐช่วยเจรจาให้เพิ่มโควตานำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากไทยเพิ่มขึ้น
ครึ่งปีแรกกำไรโต154%
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2 บริษัทกำไรสุทธิ 714.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
164% กำไรต่อหุ้น 83 สตางค์ รายได้จากการขายในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้น 17% จาก 195.2
ล้านดอลลาร์ไตรมาส 2/2545 เป็น 229 ล้านดอลลาร์ช่วงเดียวกันปีนี้ เนื่องจากการเติบโตยอดขาย
โดยเฉพาะปลาทูน่า เพิ่มขึ้น 24% รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายี่ห้อ Chicken of the
Sea ในสหรัฐฯ ทำกำไรอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง และภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงจาก 23.3%
เหลือ 13.8% ของกำไรสุทธิ เนื่องจากบริษัทและบริษัทย่อยได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน
(BOI)
ส่วนงวดครึ่งปีแรก บริษัทยังกำไรต่อเนื่อง กำไรสุทธิ 1461.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
886.7 ล้าน บาท จากช่วงเดียวกันปี 2545 ซึ่งเท่ากับ 574.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154%
รายได้จากการขาย 452 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 19,200.4 ล้านบาท) รายได้รวม 19,392.8
ล้านบาท