Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์5 มกราคม 2552
สมรภูมิทีวีดาวเทียมเดือด"ทักษิณ"ผุด DTV ท้าชน ASTV !!             
 


   
www resources

โฮมเพจ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV

   
search resources

TV
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV




* สงครามการต่อสู้รอบใหม่ทั้งในเชิงธุรกิจ-การเมืองกำลังเกิดขึ้น
* เมื่อ ทักษิณ ประกาศตั้ง DTV ท้าชน ASTV โดยตรง!
* ทุน-เทคโนโลยี่-คน- เนื้อหา ถูกจัดสรรอย่างเป็นระบบ
* พร้อมดึงแนวร่วมคนดังจากช่อง 3-5-7-9-NBT-PTV ร่วมสถานีข่าวบนโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจานเหลือง
* ขณะที่ ASTV วางแผนบุกในทุกมิติเพื่อรักษาฐานเดิมและเพิ่มผู้ชมรายใหม่
* ส่วนทีวีดาวเทียมช่องอื่น ๆต่างปรับกลยุทธ์สู้สงครามข่าวสารทุกด้าน....

ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดวิกฤติในตัวอดีตผู้นำประเทศอย่างทักษิณ ชินวัตร ที่กุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจัดวางบุคคลแทรกเข้าไปในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยเหตุที่สามารถกุมอำนาจรัฐและอำนาจเงิน จนไม่มีหน่วยงานใดกล้าที่จะแสดงความเห็นคัดค้าน

แม้กระทั่งสื่อมวลชนเองที่เดิมกลุ่มชินคอร์ปได้ถือหุ้นใหญ่ในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค ตามมาด้วยการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 สถานีโทรทัศน์ไอทีวีถูกจัดระเบียบใหม่ให้กลายเป็นทีวีสาธารณะ

หลังจากนั้นคนของไทยรักไทยในนามของพลังประชาชนกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ด้วยการนำของสมัคร สุนทรเวช คราวนี้ได้ชุบชีวิตสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์กลายเป็น NBT ที่มีโฆษณาได้เหมือนกับช่องทั่วไป พร้อมทั้งทำหน้าที่สนับสนุนงานของรัฐบาลพร้อมทั้งเพิ่มบทบาทตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ด้วยทีมงานของไอทีวีเดิมที่มีแนวความคิดเดียวกับแนวทางของไทยรักไทยและพลังประชาชน มีทั้งจิรายุ ห่วงทรัพย์และตวงพร อัศววิไล

ขณะที่อีกหลายส่วนของทีมงานไอทีวีเดิมที่กระจายกันไปตามสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ที่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทยมาก่อน ที่มีอัฌชา สุวรรณปากแพรก ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมข่าวของช่อง 3 รวมถึงผู้ประกาศหญิงคนดังอย่างสายสวรรค์ ขยันยิ่ง มาสมทบกับสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่กลับมาช่องนี้อีกครั้ง

ขณะที่ช่อง 5 มีจักรพันธ์ ยมจินดา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยรักไทยไปจัดรายการข่าวสถานีสนามเป้า ช่อง 7 ได้นารากร ติยายนและเชิงชาย หว่างอุ่น เข้ามา ช่อง 9 ได้ทีมของกิติ สิงหาปัดเข้าไป ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับช่อง 3

ทำให้ทิศทางข่าวในช่วงที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นผู้บริหารประเทศเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ความเสียหายจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกรายงานอย่างต่อเนื่อง อาจจะเว้นแต่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิมที่ปรับโฉมเป็นไทยพีบีเอส ที่นำเสนอความเคลื่อนไหวทั้งกลุ่มพันธมิตรและกลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ทำถูกกลุ่มคนเสื้อแดงไม่พอใจในการรายงานข่าว

ทางออกในการรับรู้ข่าวสารที่ถูกจำกัด โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่าง ASTV ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อเลือกข้างจึงได้รับความนิยมมาตั้งแต่รายงานข้อเท็จจริงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาลไทยรักไทย และก่อให้เกิดการรวมตัวกันของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แม้ได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างพรรคพลังประชาชน ทั้งนายกรัฐมนตรีที่ชื่อสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ASTV ยังคงทำหน้าที่ได้รายงานถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในหลากหลายมิติ

ความนิยมในการรับชมรายการสถานีข่าวผ่านดาวเทียมมีมากขึ้นตามลำดับ ผู้คนตามจังหวัดต่าง ๆ ที่รับชมเคเบิ้ลท้องถิ่นอยู่แล้ว ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการเคเบิ้ลนำเอาสัญญาณของ ASTV มาเผยแพร่ด้วย จนกลายเป็นจุดขายของผู้ประกอบการติดตั้งเคเบิ้ลทีวีแล้วมีช่องสนธิให้ชมด้วย ทำให้ฐานผู้ชมสถานีข่าวผ่านดาวเทียมเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

แม้จะมีความพยายามสกัดกั้นของฝ่ายรัฐบาลทุกรูปแบบ แต่ผู้ประกอบการเคเบิ้ลก็ต้องเลือกว่าหากถอดรายการของ ASTV ออกก็ต้องเสี่ยงกับการถูกยกเลิกการรับชมจากลูกค้า ทำให้ภาครัฐต้องหาทางแก้ด้วยการผุดสถานีโทรทัศน์ PTV ขึ้นมาเป็นคู่ต่อกร

เมื่อสงครามข่าวระหว่างสถานีข่าวของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยรักไทย-พลังประชาชนกับสถานีข่าวของรัฐบาลต่างนำเสนอข้อบกพร่องของแต่ละฝ่าย ทำให้เป็นการดึงคนดูให้มาสนใจในสถานีข่าวทางเลือกในดาวเทียมมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเอื้อ

เมื่อผู้คนโหยหาข้อเท็จจริงมากขึ้น กระแส ASTV เริ่มแรงขึ้น ประกอบกับกฎหมายใหม่อนุญาตให้เคเบิ้ลทีวีมีโฆษณาได้ จานดาวเทียมและอุปกรณ์มีราคาที่ถูกลงมาก ทำให้มีผู้ประกอบการรายอื่นเริ่มโดดลงมาเล่นในสมรภูมิทีวีดาวเทียมมากยิ่ง แม้รายเดิมที่เคยออกอากาศผ่านเสาอากาศเฉพาะอย่าง เนชั่นแชลแนล ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการออกอากาศย้ายมาที่ดาวเทียมเช่นเดียวกัน

จากนั้น POST TV ของกลุ่มบางกอกโพสต์ ที่มีรายการ”สุรนันท์วันนี้”เป็นจุดขาย ด้วยพิธีกรแปลงโฉมจากนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกลายมาเป็นสื่อมวลชนของสุรนันท์ เวชชาชีวะ

ตามมาด้วยการตัดรายการข่าวของทรูวิชั่นส์มาลงในจานดาวเทียมอย่าง TNN24 สถานีข่าว 24 ชั่วโมงที่เริ่มปล่อยสัญญาณมาในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และในปี 2552 นี้ค่ายมีเดียออฟมีเดียส์ของช่อง 7 จะออกอากาศข่าวผ่านทีวีดาวเทียมด้วยทีมงานของอดีตคนข่าวไอทีวี และยังมีอีกหลายกลุ่มที่เตรียมทำทีวีดาวเทียม

ปัจจุบันทีวีดาวเทียมมีช่องรายการที่นำเสนอรายการข่าวเป็นหลักราว 5 ช่องหลัก ประกอบด้วย ASTV, PTV, Nation Channel, Post TV และ TNN ที่เริ่มออกอากาศช่วงกลางเดือนธันวาคม 2551 และปี 2552 เป็นคิวของค่ายมีเดีย ออฟ มีเดียส์

ช่องใหม่ท้าชน ASTV

แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์กล่าวว่า ในปี 2552 นี้คาดว่าค่ายมีเดีย ออฟมีเดียส์ของชาลอต โทณวณิก คงเริ่มออกอากาศสถานีข่าวผ่านดาวเทียมก่อนค่ายอื่น หลังจากที่เตรียมทีมมาระยะหนึ่งในรายการ”เกาะเจาะติด”ทางช่อง 7 ที่จะมีเชิงชาย หว่างอุ่น เป็นหัวหน้าทีม

แต่ที่น่าสนใจคือมีการเคลื่อนไหวหาทีมงานเพื่อจัดตั้งทีมข่าวของค่ายจานเหลืองหรือ DTV ที่เปิดขายมาตั้งแต่กลางปี 2550 ที่มียอดขายมาแรง เนื่องจากราคาถูกกว่าจานดาวเทียมประเภทเดียวกันและรับสัญญาณฟรีทีวีได้เช่นเดียวกับจานของสามารถและทรูวิชั่นส์ รวมถึงรายการทางช่องดาวเทียมไทยคม KU BAND และมี 2 รายการพิเศษให้เลือกชมคือภาพยนตร์และสารคดีแต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย

แม้จะดูว่า DTV เป็นผู้ขายจานดาวเทียมรายเล็ก ๆ คงคิดผิด เนื่องจากเป็นของบริษัท ดีทีวีเซอร์วิส หรือชื่อเดิมคือบริษัท ชิน บรอดแบนด์ อินเตอร์เนต (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในไทยคมอยู่ 41.27% แม้จะมีกลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังจากที่ครอบครัวชินวัตรขายหุ้นออกไป แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังเป็นทีมเดิมที่ร่วมทำงานกับครอบครัวชินวัตรมาโดยตลอด

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากไทยคมเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมไทยคม ดังนั้นการเปิดธุรกิจขายจานดาวเทียมจึงเป็นสิ่งที่สอดรับกับธุรกิจหลัก หลังจากที่ปล่อยให้คนอื่นขายจานดาวเทียมมานาน ที่ผ่านมาจาน DTV ผลตอบรับดีจากราคาขายจานและอุปกรณ์ครบชุดที่ 1,925 บาท(ไม่รวมค่าติดตั้งราว 1,500 บาท) ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ตลาดจานดาวเทียมกำลังบูม

“ตอนนี้ DTV มีการทาบทามคนในวงการข่าวจากฟรีทีวีและทีวีดาวเทียมที่มีอยู่ให้เข้ามาร่วมงาน เนื่องจากมีแผนที่จะเปิดสถานีข่าวเหมือนกับค่ายอื่น เชื่อว่าอีกไม่นานคงเป็นรูปเป็นร่างและสามารถออกอากาศได้”

ตอนนี้ค่าย DTV คงต้องรีบจัดทีมงานให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้มีการพลิกขั้ว ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล พรรคพลังประชาชนในชื่อของพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกคนใหม่ที่ดูแลสื่อโดยตรงอย่างสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ก็ออกมาเปรยถึงเรื่องสัญญาที่ไม่ถูกต้องระหว่างสถานีโทรทัศน์ NBT กับบริษัทดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ ที่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินรายการข่าวหลักในช่องนี้นับตั้งแต่รัฐบาลของสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนถึงปัจจุบัน

หากทีมข่าวชุดนี้มีเหตุที่ต้องพ้นจาก NBT ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ในสถานีข่าวแห่งใหม่ได้ทันที รวมถึงการดึงทีมงานเดิมของพีทีวีที่รายการความจริงวันนี้ต้องหายไปจากช่อง 11 เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ที่ไปออกอากาศที่ทีวีดาวเทียมช่อง MVTV

“ทีมข่าวของ DTV ตัวสถานีและเจ้าของไม่แตกต่างไปจากสมัยที่เป็นไอทีวีที่ชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งคนและเจ้าของต่างมีอุดมการณ์เหมือนกัน งานนี้เท่ากับว่าเป็นการท้าชน ASTV โดยตรง”

ทรูฯ ลักไก่

สำหรับรายล่าสุดที่ทดลองออกอากาศคือ TNN24 ของทรูวิชั่นส์นั้น จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในต้นปี 2552 โดยเป็นการแบ่งรายการลงมาในทีวีดาวเทียม

“ผู้จัดการ360รายสัปดาห์” ได้พยายามขอสัมภาษณ์ผู้บริหารของทรูวิชั่นส์ถึงเหตุผลในการโดดมาร่วมวงสถานีข่าวในระบบจานดาวเทียมผ่านทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทมาโดยตลอด แต่ได้รับคำตอบว่าผู้อำนวยการสถานีคือสมพันธ์ จารุมิลิน ติดงานต่าง ๆ จึงไม่ได้รับคำตอบจากผู้บริหารของบริษัท

แต่จากการชมรายการ TNN24 ที่ออกอากาศบนดาวเทียม NSS6 ระบบ KU BAND พบว่ามีโฆษณาคั่นรายการและผู้ที่ลงโฆษณาจะเป็นระดับพรีเมี่ยมเช่น กลุ่ม ปตท. ค่ายรถยนต์ และบริษัทขายตรงอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า TNN24 เป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เดิมคือ UBC7 ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากลูกค้าของทรูฯ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและมีงบประมาณเพิ่มเข้ามา จึงทำให้จำนวนผู้ชมของทรูฯ เริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์การชุมนุมที่รายงานได้หลากหลายแง่มุมและรวดเร็วกว่าฟรีทีวี

นอกจากนี้ยังเพิ่มความน่าสนใจด้วยการดึงเอาผู้ประกาศของฟรีทีวีช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่ได้ทำงานประจำมาอ่านข่าวให้ เพื่อดึงผู้ชมมากขึ้น ถึงวันนี้ช่อง TNN24 ได้รับความสนใจจากสมาชิกทรูฯ ติดอันดันหนึ่ง แซงรายการอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเวลานี้

เมื่อสอบถามถึงการออกอากาศบนทีวีดาวเทียมนั้น ได้รับข้อมูล TNN ตั้งโดยอีกบริษัทหนึ่งทำให้ไม่ขัดต่อสัญญาที่มีไว้กับ อ.ส.ม.ท. และ TNN24 สำหรับสมาชิกของทรูฯ ก็ไม่มีโฆษณาแต่อย่างใด

ขณะที่ฝ่ายผู้ให้สัมปทานอย่างอ.ส.ม.ท. ให้ข้อมูลว่า แม้ว่ากฎหมายใหม่จะเปิดให้เคเบิ้ลทีวีมีโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง แต่สัญญาที่มีต่อกันนั้นเกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงต้องเป็นเรื่องของ 2 ฝ่ายคือ อ.ส.ม.ท.และทรูฯ จะต้องมาหาข้อยุติในเรื่องนี้

“ขณะนี้ข้อตกลงเรื่องการให้ทรูฯ มีโฆษณาได้กับอ.ส.ม.ท.นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นทรูฯ จึงมีโฆษณาไม่ได้”

สำหรับการนำเอาช่องรายการที่ออกอากาศในทรูฯ ไปออกอากาศในจานดาวเทียมนั้น เราถือว่า TNN เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในสัมปทาน การนำไปออกอากาศที่อื่นจึงต้องผ่านข้อตกลงร่วมกัน แต่ไม่ได้มีการนำเอาเรื่องนี้มาหารือกับอ.ส.ม.ท.

ต้นเหตุ”วสันต์”กระเด็น

แหล่งข่าวจาก อ.ส.ม.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา อ.ส.ม.ท.ในฐานะผู้เสียประโยชน์จากการที่คู่สัญญาดำเนินกิจกรรมทางการตลาดทำให้ขาดรายได้ไปไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการทำหนังสือเตือนไปยังทรูฯ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ

เขายกตัวอย่างให้ดูว่า อ.ส.ม.ท.เสียประโยชน์อย่างไร เริ่มที่กรณีการนำเอาจานแดงของทรูไปขายขาดที่ราคา 3,990 บาท โดยผู้ที่ซื้อไปไม่ต้องจ่ายรายเดือน หรือการใช้โปรโมชั่นค่าโทรศัพท์มือถือของทรูมูฟแลกค่าดูเดือนละ 300 บาท จากรายได้ควรที่จะเข้ามาที่ อ.ส.ม.ท.ก็กลายไปอยู่กับทรูมูฟซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทรูวิชั่นส์

ข้อตกลงเรื่องการแบ่งรายได้ที่ 6.5% หักค่าใช้จ่ายของ อ.ส.ม.ท.ที่พึงได้หายไป ยิ่งโปรโมชั่นนี้ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ รายได้ของเราก็หายไปเท่านั้น เรื่องนี้ฝ่ายบริหารของ อ.ส.ม.ท.ได้ทักท้วงมาโดยตลอด แต่ติดขัดที่บอร์ดชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจากพรรคพลังประชาชน ทำให้วสันต์ ภัยหลีกลี้ ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้วยเหตุผลที่แนวทางในการทำงานไม่ตรงกับบอร์ด

ASTV ไม่หวั่นย้ำจุดยืน

สมรภูมิของสถานีข่าวบนจานดาวเทียมที่เริ่มมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามามากขึ้น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ออกอากาศช่อง MCOT1 และ MCOT2 แล้ว หลังจากที่เคยออกอากาศในทรูวิชั่นส์ หรือค่ายของ POST TV ก็มีความพยายามย้ายกลับมาออกอากาศในระบบ C BAND อีกครั้ง มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จ่อคิวปี 2552 ขณะที่ช่อง 3 เองก็เตรียมการสถานีข่าวบนดาวเทียมเช่นกัน โดยมีสรยุทธ สุทัศนจินดาเป็นหัวหอก รวมถึงค่าย DTV ที่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งรีบ

การเพิ่มขึ้นของสถานีข่าวบนโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่จะเชื่อมต่อไปยังธุรกิจเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ที่มีจำนวนผู้ชม 3.5 ล้านครัวเรือนหรือมากกว่า 13 ล้านคน ย่อมส่งผลต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการบนทีวีดาวเทียมและกระทบต่อรายการข่าวทางฟรีทีวีไม่น้อย รวมไปถึงการช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณามาจาก 5 ช่องหลักบนฟรีทีวี

ท่ามกลางการผุดสถานีข่าวบนโทรทัศน์ดาวเทียมที่รายใหญ่ทุนหนาเริ่มที่จะดาหน้าเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ เจ้าตลาดที่บุกเบิกสถานีข่าวบนจานดาวเทียมอย่าง ASTV จะมองเรื่องนี้อย่างไร

ประเมนทร์ ภักดิ์วาปี ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ASTV กล่าวว่า “เราไม่เหมือนกับคนอื่น เรามีจุดเด่นของเรา เรายืนคนละจุด เราเป็นสื่อเลือกข้าง เป็นทีวีประชาชน ผ่านการต่อสู้มาแล้ว”

ช่องฟรีทีวีมีข้อจำกัดในเรื่องการรายงานข่าว ไม่กล้าเล่นแรงหรือไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ส่วนของเราเป็นสื่อทางเลือกที่ให้น้ำหนักในการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าการนำเสนอข่าว ดังนั้นค่ายอื่นที่ลงมาในสนามข่าวทีวีดาวเทียม หากไม่มีจุดยืนคงต้องแข่งกับสื่อกระแสหลักอย่างฟรีทีวี

ช่องข่าวผ่านดาวเทียมสำคัญที่ Content ของรายการ ทำอย่างไรถึงจะดึงคนดูได้ ซึ่งในปี 2552 ทาง ASTV จะรุกมากกว่านี้ จะมีการจัดอีเวนต์เพื่อรักษาฐานผู้ชมเดิมของเราและเพิ่มผู้ชมรายใหม่

เขากล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าหลังจากนี้สถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะดีขึ้นเมื่อการเมืองเริ่มนิ่ง ที่ผ่านมามีเอเจนซี่หลายรายสนใจที่จะลงโฆษณากับเรา เพราะค่าโฆษณาก็ถูกกว่าฟรีทีวี ผู้ชมก็มีนับล้านคน แต่ไม่กล้าลงกับเราเพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเมือง

“เรากล้าพูดได้ว่าตอนนี้ราคาโฆษณาของ ASTV สูงที่สุดที่ประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อนาที จากนี้ไปเราสามารถเลี้ยงตัวเราเองได้”

เมื่อสอบถามถึงราคาจานดาวเทียมที่ถูกลง จะกระทบกับผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีที่ดึงสัญญาณ ASTV ไปออกอากาศหรือไม่ ประเมนทร์ตอบว่า การที่เราขายจาน ASTV นั้นจะไม่เป็นการตัดลูกค้าของเคเบิ้ลท้องถิ่น เพราะจานของเรารับชมได้ไม่กี่ช่อง รับฟรีทีวีก็ไม่ได้ เหมาะสำหรับบ้านที่ไม่ได้ติดเคเบิ้ลท้องถิ่นเท่านั้น

ตอนนี้หลายค่ายเมื่อเห็นตลาดทีวีดาวเทียมได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ อาจอยากลงมาในสนามนี้ แต่คงไม่ใช่ทุกรายที่จะทำได้ อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยในเวลานี้อาจทำให้บางรายอาจต้องถอนตัวไป

แหล่งข่าวจากวงการฟรีทีวีกล่าวว่า การเปิดตัวสถานีข่าวบนทีวีดาวเทียมถือว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชม แต่ที่เป็นข่าวจริง ๆ ไม่ค่อยมี ที่ผ่านมาฟรีทีวีมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับรายการข่าวมากนัก นอกจากนี้รายการข่าวของทางฟรีทีวีที่มีอยู่ในเวลานี้อย่างรายการคุยข่าวนั้น มีกันเกือบทุกช่อง โดยส่วนตัวมองว่ามันถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้นจึงทำให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งหันไปพึ่งทีวีดาวเทียม

ข่าวฟรีทีวีต้องปรับตัว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรจิต สมบัติพานิช คณบดี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานีข่าวบนทีวีดาวเทียมนั้นเป็นการทำเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล(Nich) เนื่องจากสภาพตลาดเปลี่ยนไป และข่าวจากฟรีทีวีไม่สามารถตอบสนองความต้องการลักษณะนี้ได้

เชื่อว่าการผุดขึ้นของสถานีข่าวดาวเทียมจะกระทบกับรายการข่าวทางฟรีทีวี ที่จำเป็นต้องปรับตัวมากขึ้น การทำข่าวจะต้องเปลี่ยนไปและจะต้องหาจุดยืนในการทำข่าว ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแค่การรายงานข่าวธรรมดา ย่อมจะส่งผลให้ผู้ชมหันไปพึ่งสถานีข่าวผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.วิลาสีนี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ของสถานีข่าวดาวเทียมถือว่าผู้ชมได้ประโยชน์ เพราะต้องมีการแข่งขันกันผลิตรายการที่มีคุณภาพ

“ต้องยอมรับว่าภาวะหิวข่าวเป็นของชนชั้นกลางในเมืองเป็นหลัก คนต่างจังหวัดจะหิวข่าวน้อยกว่า อีกทั้งคนต่างจังหวัดเชื่อนักการเมืองมากกว่า ดังนั้นจึงทำให้เกิดช่องว่างในการรับข้อมูลข่าวสารระหว่างคนในเมืองกับคนต่างจังหวัดกว้างขึ้น”

ที่ผ่านมาฟรีทีวีทำหน้าที่ไม่เต็มที่ เพราะติดเรื่องกลุ่มทุน การตลาดและอำนาจรัฐ ไม่สามารถนำเสนอได้ตลอดเวลา อีกทั้งในฟรีทีวีการนำเสนอต้องระมัดระวังเพราะมีหลายวัย หลายกลุ่ม และต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา ทำให้เป็นโอกาสของทีวีดาวเทียมเกิดของรายการเฉพาะมากขึ้น

โฆษณาเตรียมเทงบ

เมื่อพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ กิจการเคเบิ้ลทีวีสามารถมีโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง ในเรื่องดังกล่าววิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ให้มุมมองที่มีต่อธุรกิจเคเบิ้ลทีวีว่า

“ทิศทางโฆษณาในเคเบิ้ลทีวีไปในทางดี ลูกค้าสนใจจำนวนไม่น้อย Agency สนับสนุนลูกค้าบางรายที่มีความเหมาะสม เช่น ห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาตามต่างจังหวัด ทำโปรโมชั่นไม่เหมือนกัน หรือต้องการทำโปรโมชั่นให้กับร้านค้าย่อยที่มีการแบ่งพื้นที่ให้เช่าจำนวนมาก ก็สามารถเลือกลงโฆษณากับเคเบิ้ลทีวีได้”

ในการลงโฆษณาก็สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อกับช่องรายการเลย หรือซื้อผ่านสมาคมเคเบิ้ล โดยเฉพาะจังหวัดที่รับชมเคเบิ้ลทีวีมาก ๆ เช่น ชลบุรีหรือระยอง

โฆษณาที่ลงในเคเบิ้ลทีวีส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความนิยมในช่องรายการ หากจะมีโฆษณาลงเหมือนอย่างฟรีทีวีนั้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งคงต้องรอให้มีการวัด Rating กันอย่างเป็นทางการก่อนเอเจนซี่ถึงจะมองภาพในการวางแผนโฆษณาได้ชัดเจน

ตอนนี้ ASTV กับ NATION ถือว่าเป็นช่องรายการที่มีโฆษณาลง แต่ยังมีไม่มาก หากมีการพัฒนาคุณภาพรายการให้ดีขึ้น มีการทำโปรโมชั่น ๆ ต่างเช่น แถมจานฟรี น่าจะช่วยให้เอเจนซี่ทำงานได้ง่ายขึ้น

ในการพิจารณาลงโฆษณานั้น จะต้องพิจารณาจากตัวเลขผู้ชมกับราคาโฆษณาหากหารเฉลี่ยต่อหัวแล้ว ขณะนี้ต้องยอมรับว่าในฟรีทีวีแม้จะมองว่าขายกันนาทีเป็นแสนแต่เมื่อหารเฉลี่ยต่อผู้ชมแล้วอาจถูกกว่า อีกทั้งต้องพิจารณาอีกว่าผู้ที่ชมทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีนั้นชมรายการอะไรเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่จะเน้นชมฟรีทีวี

ดังนั้นในระยะสั้นการเกิดขึ้นของทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี คงไม่กระทบต่อโฆษณาในฟรีทีวีกระทบ แต่ในระยะยาวแล้วฟรีทีวีอาจต้องเหนื่อย

เสาอากาศสูญพันธุ์

“รายการทีวีช่วงนี้ไม่เห็นมีอะไรดูเลย” ทั้ง ๆ บ้านเรามีสถานีโทรทัศน์ถึง 6 ช่อง ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3,5,7,9,NBT และไทยพีบีเอส เชื่อว่าอารมณ์นี้เกิดขึ้นกับหลาย ๆ คนมาแล้ว คนที่ไม่มีทางเลือกคงต้องปิดทีวีแล้วหาอย่างอื่นทำ

ส่วนคนที่มีทางเลือกอาจต้องหันไปพึ่งพาบริการของเคเบิ้ลทีวีอย่างเช่น ทรูวิชั่นส์ ที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนถูกบ้างแพงบ้างตามความสามารถในการจ่ายของแต่ละคน หรือจะเลือกเอาแบบย่อมเยาคงต้องพึ่งบริการของเคเบิ้ลท้องถิ่นที่เสียค่าบริการรายเดือนราว 300 บาท

ประเภทที่ไม่มีรายเดือนเหมือนกับการเสียค่าติดตั้งเสาอากาศนั้นก็ยังมีให้เลือก เช่น ทรูวิชั่นส์แจกจานแดงฟรีเสียค่าติดตั้งอีก 1 พันบาท แต่ต้องแลกกับการใช้โทรศัพท์ในเครือข่ายของทรู 300 บาทต่อเดือน ถ้าใครเสียค่าโทรศัพท์มือถือเกินกว่า 300 บาทต่อเดือนก็ถือว่าคุ้ม ที่จะมีช่องรายการทีวีให้ดูมากกว่า 6 ช่อง แต่จะถูกใจแค่ไหนคงต้องตัดสินใจกันเอง

ดังนั้นจานดาวเทียมจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกในการรับชมรายการที่ให้ได้มากกว่า 6 ช่องหลักของฟรีทีวี และเป็นการตอบสนองได้ตรงความต้องการสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนในการรับชม เรียกว่า”ติดตั้งครั้งเดียวฟรีตลอดชีพ”

ปัจจุบันจานดาวเทียมมีราคาถูกลงมาก การติดตั้งมีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับการติดตั้งเสาอากาศ แต่ได้ช่องรายการให้รับชมมากกว่า

“ค่าติดตั้งเสาอากาศที่รับงานอยู่ตอนนี้หากเป็นปีกรวมคิดราคา 1,800 บาทขึ้นไป หากเป็นปีกแยกราคา 3,000 บาท ขณะที่ราคาจานดาวเทียมที่ใช้กันทั่วไปขนาด 60-75 เซนติเมตรค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทเช่นกัน” ช่างรับติดตั้งเสาอากาศให้ข้อมูล

เขากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาจานดาวเทียมขนาดดังกล่าวขายดีมาก ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้ชมหันมาติดจานดาวเทียมกัน โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองที่มีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า”ช่องสนธิ” ที่ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง

อีกทั้งจานดาวเทียมเป็นตัวแก้ปัญหาเรื่องความไม่คมชัดของการชมรายการฟรีทีวีในบางบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีตึกสูง ๆ บังสัญญาณ หรือบางพื้นที่อับสัญญาณเช่นบริเวณภูเขาสูง เนื่องจากสัญญาณจากทีวีดาวเทียมเกือบทั้งหมดเป็นระบบดิจิตอล จึงมีความคมชัดสูง เมื่อราคาติดตั้งถูกลง รายการเริ่มมีมากขึ้นผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกติดจานดาวเทียมกันมากขึ้น

“ยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่เลือกติดตั้งจานดาวเทียมมากกว่าเสาอากาศ เพราะผู้ขายจานมีการทำการตลาดมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องการเพื่อให้ชมฟรีทีวีชัดและมีรายการต่าง ๆ ให้เลือกมากกว่า 6 ช่องหลัก ที่สำคัญในแง่ของการติดตั้งก็ทำได้ง่ายใช้พื้นที่และเวลาในการติดตั้งไม่นาน”

แม้ว่าการรับชมทีวีดาวเทียมจะมีข้อดีในแง่ของการได้ช่องรายการมากกว่าเดิม ค่าติดตั้งไม่แพง แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการขยายจุดที่ 2 หรือ 3 ที่ต้องใช้เครื่องรับสัญญาณเฉพาะจุด ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แตกต่างจากเสาอากาศที่ติดตั้งแล้วจะขยายกี่จุดก็ได้

อย่างไรก็ตามการรับชมรายการทีวีจากดาวเทียมก็มีข้อจำกัดอื่นอีก เช่น ปัญหาในการรับชมในช่วงที่ฝนตกหนัก จานดาวเทียมบางประเภทจะไม่สามารถรับชมได้เพราะสัญญาณถูกปิดกั้นโดยอากาศและฝน ซึ่งเป็นเกือบทุกจานที่รับสัญญาณด้วยระบบ KU BAND เนื่องจากมีหน้าจานขนาดเล็ก จานที่รับสัญญาณด้วยระบบดังกล่าวได้แก่จานทึบที่ขายกัน 60-75 เซนติเมตร

หากต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวอาจต้องเลือกใช้จานดาวเทียมที่ใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 150 เซนติเมตรขึ้นไปส่วนใหญ่เรียกกันว่าจานโปร่ง ที่รับชมด้วยระบบ C BAND จึงไม่มีปัญหาในการรับชมเมื่อฝนตกและสามารถรับชมรายการจากต่างประเทศและรายการของไทยที่ออกอากาศผ่านระบบนี้ได้ด้วย ซึ่งค่าอุปกรณ์และการติดตั้งจะสูงกว่าจานระบบ KU BAND

เขายังให้คำแนะนำในการเลือกจานดาวเทียมอีกว่า ก่อนอื่นต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าท่านต้องการชมรายการประเภทใด คนไทยส่วนใหญ่เน้นไปที่ชมฟรีทีวีและรายการอื่นเพิ่มเติม หากติดตั้งจานใหญ่ก็ไม่มีปัญหารับชมได้ทั้งฟรีทีวีและรายการอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนคนที่เลือกติดจานทึบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในเวลานี้ ต้องตรวจสอบก่อนว่าจานดังกล่าวรับชมได้รายการใดบ้าง หากเน้นรับชมฟรีทีวีเป็นหลักคงต้องเป็นจานของค่ายสามารถ ดีทีวี(จานเหลือง)และของทรูวิชั่นส์(จานแดง) ส่วนจานของ ASTV ไม่สามารถรับชมฟรีทีวีได้ ดูได้เฉพาะรายการของสถานี ASTV เท่านั้นและรายการอื่นที่ออกอากาศบนดาวเทียม NSS 6 ราว 14-15 ช่อง เช่นเดียวกันจานของสามารถ ดีทีวีและทรูฯ ก็ไม่สามารถรับชมรายการของ ASTV ได้เช่นกัน

ค่ายของสามารถ ดีทีวีและทรูฯ จะรับสัญญาณจากดาวเทียมไทยคม ส่วน ASTV จะใช้ดาวเทียม NSS6 ที่ระยะหลังมีผู้ผลิตรายการหลายรายเลือกออกอากาศในดาวเทียมดวงนี้ หลังจากที่ ASTV จุดพลุให้จนมีผู้ติดตั้งรับสัญญาณจากดาวเทียมดวงนี้กันมาก รวมถึงผู้ผลิตรายการก็เริ่มส่งสัญญาณที่ดาวเทียมดวงนี้มากขึ้น เช่น Nation Channel และ TNN24 รวมถึงจานส้มของค่ายบีแซทที่มีรายการบันเทิงเพิ่มให้กับลูกค้าอีกราว 20 ช่อง นอกเหนือไปจากรายการที่มีอยู่ในไทยคม KU BAND

เนื่องจากหัวรับสัญญาณ 1 หัวจะเลือกรับชมรายได้ทีวีได้จากดาวเทียมเพียงดวงเดียว ในทางเทคนิคแล้วช่างติดตั้งจานดาวเทียม สามารถหาทางออกให้กับลูกค้าได้ด้วยการทำการเพิ่มหัวรับสัญญาณเพิ่มอีก 1 หัว เรียกว่าการทำ DUO เพื่อให้สามารถรับชมรายการเหล่านี้ได้ด้วยจานเพียงใบเดียว แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนเครื่องรับสัญญาณ(Receiver) ให้เหมาะกับรายการที่จะรับชม

ดังนั้นก่อนการเลือกจานต้องตรวจสอบด้วยว่าจานรับดาวเทียมนั้นรับรายการใดได้บ้าง หากเป็นของไทยคมด้วยระบบ KU BAND รายการส่วนใหญ่เพื่อการศึกษาราว 15 ช่อง ที่เหลือเป็นบันเทิงบ้างเล็กน้อย รวมถึงต้องดูเงื่อนไขอื่นเช่นต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อรับชมรายการที่จัดมาให้อีกหรือไม่ เช่น จานของดีทีวีและของทรูวิชั่นส์

สำหรับผู้ต้องการรับชมรายการทีวีที่มากกว่าระบบ KU BAND อาจหันไปเลือกระบบ C BAND ที่มีรายการทีวีของไทยและต่างประเทศให้ชมนับร้อยช่อง แต่ค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งจะสูงกว่าระบบ KU BAND ค่าใช้จ่ายรวมค่าติดตั้งจาน C BAND แบบคงที่ราคาประมาณ 5,000 บาทขึ้นไปหรือหากนำไปติดตั้งเองค่าอุปกรณ์ที่ถูกที่สุดราคาเพียง 1,750 บาท(ขึ้นกับความกว้างของหน้าจานและอุปกรณ์รับสัญญาณ) และสามารถเพิ่มทางเลือกด้วยการทำ DUO รับสัญญาณจากระบบ KU BAND ก็สามารถทำได้และจะได้ช่องรายการที่เพิ่มขึ้นอีก

หากกำลังทรัพย์มีมากก็อาจเลือกจานดาวเทียมระบบ C BAND แบบ MOVE ที่หมุนจานไปรับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ได้อีกนับสิบดวงที่จะมีรายการของประเทศอื่น ๆ ให้รับชม เนื่องจากบางรายการไม่สามารถรับชมได้ในประเทศไทยอันเนื่องจากติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ในต่างประเทศเปิดให้ดูฟรี

นอกจากทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรับชมรายการทีวีที่มีมากกว่า 6 ช่องหลักด้วยการรับชมผ่านจานดาวเทียมแล้วการเลือกชมด้วยเคเบิ้ลทีวีก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีให้เลือกทั้งทรูวิชั่นส์และเคเบิ้ลท้องถิ่นแต่จะแตกต่างกันที่ราคาในการให้บริการและคุณภาพของรายการ หากเป็นผู้มีรายได้น้อยมีรายการที่ดูได้ในระดับหนึ่งเคเบิ้ลท้องถิ่นที่เสียค่าบริการรายเดือนราว 300 บาทก็เป็นทางออกที่ดี ด้วยช่องรายการไม่ต่ำกว่า 50 ช่องและจะขยับขึ้นถึง 100 ช่องในอีกไม่นาน

ส่วนรายการของทรูวิชั่นส์โดยใช้ค่าโทร 300 บาทต่อเดือนแลกเป็นค่าดูนั้น มีรายการ 39 ช่อง ซึ่งรายการส่วนใหญ่เป็นรายการฟรีทีวีหลักและช่องเพื่อการศึกษา รายการบันเทิงอย่างภาพยนตร์ เพลงหรือสารคดีก็มีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่รายการเกรด A ซึ่งบางรายการก็นำมาปล่อยในจานดาวเทียมและเคเบิ้ลท้องถิ่น

ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ชมแต่ละรายว่าต้องการเลือกรับชมรายการแบบใด พร้อมที่จะจ่ายครั้งเดียวแบบไม่มีรายเดือน หรือยอมจ่ายรายเดือนในราคาและรายการที่ยอมรับได้

ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบการรับชมด้วยวิธีใด หากความต้องการรับชมรายการที่มากกว่าฟรีทีวีปกติ ย่อมส่งผลให้เสาอากาศที่เคยเป็นอุปกรณ์หลักในการรับชมรายการทีวีของบ้านเรามาเนิ่นนานที่ทำได้เพียงแค่ 6 ช่องเท่านั้น อาจต้องหายไปจากประเทศไทยในระยะเวลากันใกล้นี้

เคเบิ้ลทีวีโตสวนกระแส ปี"52 ผู้ชมทะลุ 5 ล้านครอบครัวแน่

นายกสมาคมเคเบิ้ลทีวีระบุธุรกิจเติบโตสวนกระแสปีหน้าเติบโตกว่า 20% คาดอีก 5 ปีข้างหน้าพร้อมครอบคลุมผู้ชม 5 ล้านครอบครัว เผวิกฤ๖เศรษฐกิจกลายเป็นโอกาสให้เพราะคนไทยลดการออกนอกบ้านขึ้น ชี้ในปี 52 พร้อมเปลี่ยนสัญญาณเป็นดิจิตอลทั่วประเทศ

ต้องยอมรับว่าในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงการเมืองไทยกำลังครุกรุ่น การออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองกลายเป็นประเด็นส่งเสริมให้ธุรกิจเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียม ซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศได้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ระบุ กม.ใหม่เป็นตัวช่วย

เกษม อินแก้ว นายกสมาคมเคเบิ้ลทีวี บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์ 360 ํ" ว่าต้องยอมรับว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาเคเบิ้ลท้องถิ่นมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายๆแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะการเพิ่มทางเลือกในการนำเสนอข่าวสารต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งต่างนำเสนอรูปแบบเนื้อหาที่เน้นความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเชื่อว่าสาเหตุที่ธุรกิจเคเบิ้ลทีวีมัอุตราการเติบโตที่ต่อเนื่องเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ ประการแรก การออก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (ก.ม.วิทยุทีวี) ที่ค่อนข้างมีความชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นการการออกใบอนุญาตที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโดยตรง

ประการที่สอง การเปิดโอกาสให้เคเบิลทีวีมีโฆษณาได้ ส่งผลให้ธุรกิจเคเบิลทีวีคึกคักขึ้นทันตาและธุรกิจนี้สามารถมีโฆษณามากขึ้นซึ่งปัจจัยนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการขยายช่องสัญญาณเพิ่มขึ้นด้วย

"หากว่าเคเบิลทีวีสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเชื่อได้ว่าเงินที่ลงไปนั้นมีคนได้เห็นและคุ้มค่าเงินจริงๆ ก็จะเกิดเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย ลูกค้าก็ได้งานสื่อสารที่อิมแพค ทางผู้ประกอบการก็มีเงินไปซื้อคอนเทนท์ดีๆ เข้ามาเพิ่ม และเมื่อคอนเทนท์ดีก็ย่อมดึงคนดูมาดูช่องนั้นๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งนี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธรกิจนี้มีอัตราการเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ"

ประการที่สาม ในช่วงที่ผ่านมาทางสมาคมฯของเรามีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้เคเบิ้ลทีเวกลายเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ประกอบการายเล็กๆสามารถจะประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจได้

"องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวนี้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและคาดว่าอัตราการเติบโตของเคเบิ้ลทีวีจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น"

เชื่อปีหน้าโตได้อีก 20%

การประกาศใช้กฎหมายใหม่สำหรับธุรกิจนี้เจ้าของเคเบิ้ลทีวีแต่ละแห่งล้วนได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้าด้วยอัตราการขยายฐานของผู้บริโภคทั่วประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เกษม อธิบายต่อไปว่า อัตราการเข้าถึงของเคเบิ้ลและทีวีดาวเทียมในประเทศไทย ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยอยู่ที่ 15% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 25% ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าธุรกิจเคเบิ้ลและทีวีดาวเทียมน่าจะโตขึ้นในอัตรา 50-100 เปอร์เซ็นต์ และน่าจะมีการใช้เม็ดเงิน ในเคเบิ้ลประมาณ 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะถดถอยลงแต่เกษมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสมาชิกแต่กลับกลายเป็นโอกาสให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นได้อีกเนื่องจากผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายอื่นๆลงโดยเฉพาะการลดออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านซึ่งนั่นหมายถึงจะมีคนอยู่บ้านเพิ่มขึ้น

"เศรษฐกิจไม่ดีคนไม่ออกนอกบ้านตรงนี้ถือเป็นโอกาสทองของเราซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็กำลังรอที่จะเปลี่ยนสัญญาณจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลในปีหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมรายการเพิ่มมากขึ้นเท่าตัว"

จับมือปรับโฉมเพื่อการแข่งขัน

เมื่อธุรกิจเคเบิลทีวีกลายเป็นขุมทองแห่งใหม่ผู้ประกอบจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนไปจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาตนเองให้ธุรกิจที่ลงแรงไปนั้นอยู่รอดและเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น

เกษม อธิบายว่า ที่ผ่านมาสมาคมเคเบิลทีวีฯได้ร่วมมือกับสมาชิกสมาคมทั่วประเทศทำการยกระดับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่ โดยมีแผนปรับแพ็กเกจรายการให้ผู้ให้บริการแต่ละรายออกอากาศไม่ต่ำกว่า 40 ช่องราย การ พร้อมทั้งจัดช่องออกอากาศใหม่ให้เป็นช่องเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะพัฒนาให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นเป็นสื่อใหม่อีกสื่อหนึ่งที่เป็นทางเลือกของบรรดาเจ้าของสินค้าและมีเดียเอเยนซี่ ขณะเดียวกันยังเป็นแนวทางที่ดีของการเริ่มต้นวัดเรตติ้ง (ความนิยม) ของช่องรายการต่างๆ อีกด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมีจำนวนช่องรายการที่ออกอากาศอยู่มีตั้งแต่ไม่ถึง 40 ช่องรายการ กระทั่งไป 80 ช่องรายการ โดยทางสมาคมมีแนวทางจัดแพ็กเกจรายการใหม่ให้มีจำนวนช่องรายการออกอากาศอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 40 ช่องรายการ ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมได้ลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านบาท สำหรับพัฒนาเครื่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีให้รับสัญญาณได้อย่างต่ำ 40 ช่องรายการแล้ว พร้อมกันนี้ทางสมาคมยังได้จัดช่องออกอากาศใหม่ ให้ช่องที่ 20-40 ออกอากาศคอนเทนต์ช่องเดียวกันทั่วประเทศอีกด้วย

"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีที่ให้บริการช่องรายการต่ำกว่า 40 ช่อง ประมาณ 25% ที่เหลือส่วนใหญ่ประมาณ 60 ช่องรายการ และสูงสุดออกอากาศ 80 ช่องรายการ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคอนเทนต์ไทยแทบทั้งสิ้น เพราะคอนเทนต์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะถูกผูกขาดจากผู้ประกอบการรายใหญ่"

นอกจากนี้ ทางสมาคมยังมีแนวทางในการพัฒนาเคเบิลทีวีท้องถิ่นให้เป็นสื่อที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยระดมทีมข่าวทั่วประเทศรวมกว่า 100 ทีมสำหรับทำข่าวภูมิภาคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสมาคมจะเป็นตัวกลางในการประสานงานและจัดสรรรายการข่าวไปออกอากาศตามความต้องการของผู้ให้บริการแต่ละราย ขณะเดียวกันในอนาคตสมาคมยังจะเป็นตัวกลางในการสำรวจความนิยม (วัดเรตติ้ง) ช่องรายการต่างๆ อีกด้วย

เกษม ระบุอีกว่า จากแนวทางต่างๆ ข้างต้นนี้น่าจะทำให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างยูบีซีได้บ้าง โดยเฉพาะการจัดแพ็กเกจราคาถูก อาทิ โนว์เลดจ์ แพ็กเกจ, ซิลเวอร์ แพ็กเกจ รวมทั้งแพ็กเกจติดตั้งจานดาวเทียมของทรูมูฟ ที่ถือเป็นรูปแบบการให้บริการที่มีผลกระทบต่อการขยับขยายฐานสมาชิกของกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นพอสมควรทีเดียวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก

ยูบีซีและทรูมูฟไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการส่งสัญญาณออกอากาศ ขณะที่เคเบิลทีวีในท้องถิ่นยังต้องอาศัยการเดินสายเคเบิลอยู่เหมือนเดิม

ฟันธงผู้บริโภคได้ประโยชน์

เมื่อเคเบิลทีวี กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ที่ใครก็อยากจะเข้ามาร่วมแย่งแชร์ด้วย เกษม ยืนยันว่าหลังจากนี้ต่อไป จะได้เห็นการลงทุนด้านคอนเทนท์กันมากขึ้นในหมู่คอนเทนท์โพรวายเดอร์ทั้งรายเก่าและรายใหม่ซึ่งจ่อคิวจะเข้าร่วมด้วย

โดยปัจจุบันนี้พบว่ามีเคเบิลทีวีอยู่ทั่วประเทศแล้วกว่า 500 ราย ซึ่งผลิตคอนเทนท์รวมแล้วมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าหลังจากนี้เพียง 2 ปี จะได้เห็นการลงทุนในกิจการนี้เป็นเท่าตัว หรืออีก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดว่ามูลค่ารวมธุรกิจสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทในปี 2553

"จากความพร้อมในหลายๆ ด้านทำให้ขณะนี้มีผู้ผลิตคอนเทนต์ที่สนใจเข้ามาสู่ธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเคเบิลทีวีท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีคอนเทนต์ไทยที่ออกอากาศอยู่ประมาณ 80 ช่อง และในปีหน้าสมาคมฯมีแผนที่จะปรับปรุงระบบออกอากาศให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด ทำให้คาดว่าปีหน้าจะมีคอนเทนต์ไทยออกอากาศเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 70 ช่อง หรือประมาณ 150 ช่อง ซึ่งเป้าหมายในอนาคตของสมาคมอยากให้มีคอนเทนต์คนไทยออกอากาศไม่ต่ำกว่า 200 ช่อง ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจนี้ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง"เกษมกล่าวในที่สุด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us