|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แอลพีเอ็น เพลทมิล ประเมินตลาดเหล็กโลกปีนี้ยังผันผวน ชูนโยบายรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงสต็อกวัตถุดิบ และประคองธุรกิจไม่ต้องปลดพนักงาน โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนให้ได้ 60% รวมทั้งเร่งพัฒนาเหล็กแผ่นเกรดพิเศษ เพื่อใช้ทำแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล ทดแทนการนำเข้า
นายสรรค์พงศ์ ปรีดาวิภาต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท แอล พี เอ็น เพลทมิล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดแผ่นขนาดกำลังการผลิตปีละ 3.6 แสนตัน เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯจะให้ความสำคัญในการรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบที่ยังมีความผันผวนอยู่ แม้ว่าผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกอย่างกลุ่มอาซิลอ มิตทัล จะลดกำลังการผลิตโรงเหล็กในเครือฯ และปลดพนักงานลง เพื่อพยุงราคาเหล็กโลกไม่ให้ต่ำกว่านี้ จนทำให้ราคาเหล็กกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเมื่อปลายปี 2551
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯได้ให้นโยบายที่จะรับจ้างผลิตคิดเป็นกึ่งหนึ่งของการผลิต ที่เหลือเป็นการผลิตทำตลาดเอง เน้นผลิตเหล็กแผ่นเกรดพิเศษ โดยปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายที่จะผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นมาที่ 60%ของกำลังการผลิตหรือประมาณ 2 แสนตัน/ปี สูงกว่าปีที่แล้วที่ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเพียง 40-50%ของกำลังการผลิตเท่านั้น ช่วยให้ใช้กำลังการผลิตเครื่องจักรมากขึ้น และไม่ต้องปลดพนักงานเหมือนโรงงานอื่นๆ
ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้บริษัทฯมีมาร์จินไม่แตกต่างมากนักแม้ว่าราคาเหล็กในตลาดโลกจะปรับขึ้นหรือลงก็ตาม เพียงแต่ช่วงราคาเหล็กสูงขึ้น ก็ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการซื้อวัตถุดิบมากขึ้นตามไปด้วย และมีคำสั่งซื้อเข้ามามากช่วยชดเชยได้ แต่ถ้าราคาเหล็กตกก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการสต็อกวัตถุดิบ
นอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาเหล็กเกรดพิเศษเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขอการรับรองคุณภาพเหล็กAPI 2W เพื่อใช้ในแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล หากบริษัทฯได้ใบรับรองจะกลายเป็นผู้ผลิตรายที่ 7 ของโลกที่ผลิตได้ โดยบริษัทจะนำเข้าแสลปคุณภาพพิเศษจากต่างประเทศอย่างบราซิล เม็กซิโก และยูเครนมารีดเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยมาร์จินค่อนข้างสูง
"ในปีที่แล้ว บริษัทฯมีผลการดำเนินงานขาดทุน เนื่องจากผลกระทบราคาจากสต็อกวัตถุดิบและการเดินเครื่องจักรไม่เต็มที่แค่ 40-50% ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนได้ปรับขึ้นไปสูงถึงตันละ 1,270 เหรียญสหรัฐ บอร์ดฯมีนโยบายที่จะไม่สต็อกวัตถุดิบ แต่จะผลิตสินค้าตามออเดอร์ลูกค้าเท่านั้น โดยลูกค้าจะเปิดL/Cก่อนสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมารีดเป็นเหล็กแผ่น ทำให้ปีที่แล้ว บริษัทฯเจ็บไม่มาก "
นายสรรค์พงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ๆ แต่จะเน้นพัฒนาคุณภาพเหล็กเกรดพิเศษ ทำให้มีการลงทุนด้านระบบสารสนเทศ(ไอที) มากขึ้น โดยตั้งเป้าส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 40 % โดยปีก่อนที่ส่งออกเหล็กพิเศษใช้ทำท่อน้ำมันไปทดลองตลาดที่ซาอุดิอาระเบียประมาณ 1 หมื่นตัน และได้รับการตอบรับที่ดี เชื่อว่าปีนี้จะส่งออกเหล็กคุณภาพนี้ไปตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีบางโครงการเลื่อนโปรเจ็กต์ออกไปหลังราคาน้ำมันถูก
ปัจจุบันราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในตลาดโลกค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่เกือบ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดีขึ้นจากช่วงปลายปี 2551 ที่ราคาตกมากอยู่ที่ 300กว่าเหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาวัตถุดิบ คือแสลปอยู่ที่ 460-470 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนในไทยยังมีอยู่ หากรัฐบาลอัดฉีดการใช้จ่ายภาครัฐในการสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ จะช่วย เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจและประชาชนในการจับจ่ายใช้จ่าย เชื่อว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะกระเตื้องขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยก็ตาม
|
|
|
|
|