การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารการบินไทยในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่ใช้กับเครื่องบินจากยี่ห้อยีอีมาเป็นแพร็ต
แอนด์วิทนี่ย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการบินไทย
การบินไทยใช้เครื่องยนต์ของยีอีเพียงรายเดียวมาตลอดระยะเวลา 14 ปี จนกลายเป็นลูกค้าอันดับ
4 ของยีอี พลเอกวรนาถ อภิจารีผู้บัญชาการทหารอากาศและประธานการบินไทยเปิดเผยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงว่า
เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้การบินไทยผูกติดกับยีอีเพียงเจ้าเดียวต่อไป
กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เรียกการบินไทยไปรับทราบนโยบายนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม
เครื่องบินที่การบินไทยจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องแพร็ต แอนด์ วิทนี่ย์ ในระยะแรกนี้คือเครื่องเอ็มดี
11 จำนวน 4 ลำ ทีกำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2534
ใช้เครื่องยนต์ 12 เครื่องและเครื่องสำรองอีก 5 เครื่อง รวมทั้งเครื่องแอร์บัส
3 ลำ หรือ 8 เครื่องที่จะส่งมอบต้นปี 2534 มูลค่ารวมทั้งอะไหล่ประมาณ 250
ล้านเหรียญสหรัฐ
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีแรงต้านพอสมควรจากภายในการบินไทยเอง ซึ่งให้เหตุผลว่าฝ่ายช่างและนักบินของการบินไทยมีความคุ้นเคยและชำนาญกับเครื่องของยีอีอยู่แล้ว
การเปลี่ยนไปใช้เครื่องแพร็ต แอนด์ วิทนี่ย์ ต้องลงทุนในการฝึกอบรมและลงทุนเกี่ยวกับเครื่องมือซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ใหม่
ซึ่งต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก
ยีอีนั้นมีความสัมพันธ์กับการบินไทยมาถึง 14 ปี ความสัมพันธ์นี้ยิ่งสนิทสนมแนบแน่นกับคนการบินไทยที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเครื่องยนต์ด้วย
เสียงคัดค้านจึงถูกมองไปในแง่ที่ว่า เกรงว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ที่มีกับยีอี
วันที่ 6 กรกฎาคม คณะกรรมการการบินไทยมีมติให้ย้ายกัปตันชูศักดิ์ พาชัยยุทธ
จาก ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่างไปเป็นนักบินธรรมดาและให้เลื่อน นต.สำราญ พึ่งสุข
รองผูอำนวยการใหญ่ฝ่ายช่างขึ้นดำรงตำแหน่งแทนด้วยเหตุผลว่า เพื่อโยกย้ายหมุนเวียนพนักงานระดับรองลงมาให้มีโอกาสดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนสูงขึ้น
กัปตันชูศักดิ์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายช่างมานานถึง 10 ปีแล้ว และรอดพ้นจากการถูกโยกย้ายครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม
2531 ไปได้ถึงแม้ว่าจะถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มอำนาจเก่าของการบินไทย มาคราวนี้เชื่อกันว่าสาเหตุของการถูกย้ายเพราะกัปตันชูศักดิ์คัดค้านความเห็นของคณะกรรมการที่ตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องยนต์