|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

พุทธศาสนิกชนต่างก็คุ้นเคยกับสัจธรรมที่ว่า "ใดๆ ในโลก ล้วนอนิจจัง" ทุกสรรพสิ่งในโลกหนีไม่พ้นกับดักเวลาที่ทำให้เกิดวัฏจักรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่เพราะโหยหาความจีรัง "อจีรัง" จึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของคนที่เห็นความงามบนความร่วงโรย
เครื่องสำอางเสริมสวยเสริมหล่อ ครีมยกกระชับ โบท็อกซ์ ฟิตเนส หรือศัลยกรรมพลาสติก ฯลฯ เป็นตัวอย่างสินค้าบริการที่มีแรงบันดาลใจมาจากความพยายามฉุดรั้งความงามของมนุษย์ให้ยาวนานที่สุด... คาดกันว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจความงามทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 11.7 ล้านล้านบาทต่อปี มากกว่า GDP ของประเทศไทย
ตัวเลขดังกล่าวเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในนิทรรศการของ TCDC ที่มีชื่อว่า "อจีรัง คือ โอกาส" (Perishable Beauty) ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนต้องอ้าปากค้าง เมื่อได้รู้ข้อมูลและได้เห็นการจัดแสดง
เริ่มต้นภายใต้ความมืด โลงศพถูกจัดวางอยู่กลางห้อง ศพในนั้นไม่ใช่ซากคน แต่เป็นศพดาวยักษ์ที่หมดอายุขัย หรือ "หลุมดำ" พร้อมกับเตือนสติว่า แม้แต่จักรวาลยังมีแตกดับ ดวงอาทิตย์ยังมีโรยราเป็นดาวแคระขาว แล้วนับประสา อะไรกับมนุษย์ที่เกิดจากเศษซากส่วนหนึ่งของดวงดาวจะเอาชนะความอจีรังอย่างไร ในเมื่อเราทุกคนคือทายาทการดับสูญ
สมกับสโลแกน นิทรรศการที่จะตาย...ต่อหน้าคุณ
ดอกไม้ต้นไม้ที่เคยดูสดชื่นมีชีวิตชีวาเมื่อวันแรกที่ถูกนำมาจัดแสดง (ปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน) นานวันก็มีแต่ร่วงโรยและแห้งเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ถึงจะมีการเปลี่ยนชุดใหม่ทุก 2 อาทิตย์แต่สุดท้ายก็กลับสู่วงจรความตายอีกครั้ง อีกทั้ง โต๊ะดินเนอร์มื้อหรูที่เคยดูน่ากินเมื่อวันแรกของการแสดงนิทรรศการ ผ่านไปเพียง 20 กว่าวัน เมนูทุกจานเต็มไปด้วยปุกปุยเชื้อราฟูฟ่องอยู่บนซากเน่าของ อาหาร กว่าจะหมดนิทรรศการในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ นับได้เกือบ 90 วัน... ลองไปดูเองว่า ซากความตายของอาหารเหล่านี้จะน่าสยดสยองเพียงใด
แม้นิทรรศการเริ่มต้นด้วยการพูดถึงอนิจจัง และความตายที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดหนีพ้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ชมเกิดทุกขังหรือเพื่อการปลดปลงกับชีวิต หากเป็นความพยายามที่จะกระตุกให้ผู้ชมได้หันกลับมามองหาโอกาสจากความโรยรา
"...แทนที่เราจะปล่อยให้ชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัว ค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติพร้อมกับความสูญเปล่า เหตุใดจึงไม่มองสัจธรรมเหล่านั้นให้เป็นโอกาส และใช้ ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ผสมผสานกับโอกาสที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา..." ภารวี วงศ์จิรชัย รองผู้อำนวยการ TCDC กล่าวในวันเปิดนิทรรศการนี้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เนื้อหมูจะเน่าเสียที่อุณหภูมิห้องภายใน 12 ชั่วโมง ชาวโรมันรู้จักการทำแฮมรมควันมากว่า 2,500 ปี ซึ่งช่วยยืดอายุอาหารได้ หรือชาวจีนก็รู้จักการใช้หิมะรักษาความสด ของอาหารมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน แต่บริษัทอเมริกันกลับเป็นผู้คิดอาหารแช่แข็งสำเร็จในปี 1930 และสร้างธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากคนโบราณยอมจำนนต่อเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อโรคเหล่านี้ก็เป็นเพียง ตัวทำลายความสุขและความมั่งคั่งในชีวิต แต่พวกเขาใช้เชื้อแบคทีเรียเป็นแรงบันดาลใจ คิดค้นกรรมวิธีชะลอความเน่าเสีย และยังเพิ่มมูลค่าให้กับความเน่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเนยแข็งและไวน์ ที่ยิ่งเน่าก็ยิ่งแพง
แม้แต่การทำมัมมี่ของฟาโรห์อียิปต์ ก็เป็นความพยายามที่เกิดจากแรงบันดาลใจเพื่อจะรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติ เพื่อรอคอย การฟื้นคืนชีพ
ส่วนคนปัจจุบันจับเอาเชื้อโรคตัวเดียวกันมาเป็นโอกาสในการหยุดยั้งร่องรอยกาลเวลาบนเรือนร่างของมนุษย์ ที่รู้จักกันดีในนาม "โบท็อกซ์"
สำหรับบางคน ความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ขณะที่ความกลัวตายของบางคนกลายเป็นรายได้มหาศาลของคนอีกกลุ่ม อันเป็นที่มาของวิทยาการโคลนนิ่ง ซึ่งกลายเป็นธุรกิจโคลนนิ่งลูกสุนัขที่สร้างกำไรอย่างงาม เพราะการชุบชีวิตสุนัขตัวโปรดสักตัว ต้องใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 1.8-5.4 ล้านบาททีเดียว
ขณะที่บางบริษัทร่ำรวยจากธุรกิจแปรเศษเสี้ยว จากซากมนุษย์ ให้กลายเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูงทั้งทางธุรกิจและทางจิตใจ ด้วยการแปรรูปอัฐิให้กลายเป็นเพชร ต่อชิ้นต้องลงทุนสูงถึง 2-8.4 แสนบาท
อันที่จริงธุรกิจบนซากศพไม่ได้ห่างไกลคนส่วนใหญ่ หลายคนไม่เพียงใช้ แต่ยังหลงใหลในกลิ่นสาบความตาย ซากศพดอกไม้ที่ถูกบีบอัดจนแหลกเหลว กลายเป็นน้ำหอม ดับกลิ่นกายยามมีชีวิต หรือแม้แต่ดับกลิ่นความตายบนร่างคน
ความทุกข์จากอนิจจังไม่ได้ปรากฏเพราะความตายสถานเดียว แต่ความทุกข์มหันต์ ของหนุ่มสาวยุคใหม่ยังอยู่กับอนิจจังในเรื่องของความงาม อันมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป ตามที่สภาพสังคมแต่ละยุคกำหนด โดยมีสื่อเป็นผู้ชักนำให้ผู้คนในสังคมโหยหาความงาม ตามภาพรีทัชที่สื่อนำเสนอ
ใครที่เคยได้ชมซีรี่ส์เรื่อง NIP/TUCK เนื้อเรื่องสะท้อนสังคมที่คลั่งไคล้เรื่องการทำศัลยกรรมพลาสติกในอเมริกา ออกอากาศครั้งแรกในปี 2003 อาจเคยถูกคำพูดของตัวเอก ที่เป็นหมอศัลยกรรมชื่อ Dr.Christian Troy แทงใจมาแล้วก็เป็นได้
"เลิกไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบเมื่อไหร่ คุณคงจะ เหมือนศพเดินได้" เขาพูดกับลูกค้าสาว ที่มีความมุ่งหมาย อยากสวยไม่มีที่ติ พร้อมกับแนะนำให้เธอฉีดโบท็อกซ์ที่หน้าผาก ยกตาข้างซ้ายให้สูงเท่าตาขวา เอาถุงใต้ตาออก รีดไขมันหน้าท้อง เพิ่มหน้าอกหนึ่งไซส์ ฯลฯ
กลางห้องแสดงนิทรรศการจำลอง ห้องผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติกที่มีอุปกรณ์ครบชุด พร้อมผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองให้ดูดีทั้งเรือนร่าง ตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเล็บเท้า แสดงให้เห็นถึงความสุขของมนุษย์ทุกชนชาติในการเหนี่ยวรั้งความงามให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน กลายเป็นช่องทางธุรกิจมูลค่ามหาศาลที่อยู่เบื้องหลังริ้วรอยแห่งความร่วงโรย
ทุกรอยกรีดของมีดหมอ ทุกรอยเข็มโบท็อกซ์ เป็นเม็ดเงินที่อัดฉีดระบบเศรษฐกิจโลกให้เต่งตึง ผู้คนทั่วโลกทุ่มเงินกว่า 11.7 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อแลกกับรูปร่าง และหน้าตาที่งดงามตามอุดมคติ ในปี 2549 ยอดการทำศัลยกรรมของอเมริกามีจำนวนมากถึง 11 ล้านครั้ง ส่วนในปี 2550 ตลาดความงามแบบสาวอาโนเนะของญี่ปุ่น มีมูลค่าถึง 493 พันล้านบาท ใหญ่เป็นรองเพียงอเมริกา
จากการสำรวจในปี 2549 พบว่าหมอผู้เชี่ยวชาญการรักษาระบบภายในร่างกายของอเมริกาต้องทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง มีรายได้แค่ 6.9 ล้านบาทต่อปีขณะที่หมอผิวหนังทำงานน้อยกว่าถึง 10 ชั่วโมง แต่มีรายได้สูงกว่า 2 เท่า คือ 14 ล้านบาท
ประเทศไทยเองก็เหมือนจะหนีไม่พ้นเทรนด์การแพทย์แบบนี้ แม้ว่าประเทศเรายังมีหมอรักษาชีวิตไม่เพียงพอกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานของสวัสดิสังคมด้วยซ้ำไป
ในปี 2549 ประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศจากการซ่อมแซมความสึกหรอของมนุษย์ มากกว่า 4 หมื่นล้านบาทจากคนไข้ต่างชาติจำนวน 1.45 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปีนี้ นิทรรศการชี้ชัดว่านี่แหละคือโอกาสของเมืองไทย
นอกจากอุตสาหกรรมแห่งความอจีรังในมนุษย์ บนความร่วงโรยของธรรมชาติและการ ผุพังของสิ่งก่อสร้างก็ยังเป็นที่มาของธุรกิจนับแสนล้านบาทที่แฝงอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เทศกาลเฝ้ามองความอนิจจังของดอกซากุระบานและโรยรา ที่กินระยะเวลาเพียงไม่ถึง สิบวัน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นโอกาส จึงได้กำหนดให้ช่วงเวลานี้เป็นวาระแห่งชาติ จนกลายเป็นฤดูกาลที่เรียกเงินจำนวนมหาศาลได้จากนักท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน วิถีเมืองแบบเก่าก่อนที่เกือบจางหายหรือสูญหายไปแล้ว ก็ยังสามารถนำมาปลุกปั้นเป็นสินค้าท่องเที่ยวที่ขายได้ดีตลอดกาล ในยุคแห่งการโหยหาอดีตแห่งความรุ่งโรจน์ของมนุษยชาติ...นี่จะเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วยหรือไม่!?!
ไม่มีคำตอบอยู่ในนิทรรศการ มีเพียงธนบัตรสกุลต่างๆ จำนวนมากที่ปลิวสะพัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ภายในพื้นที่ส่วนนี้ พร้อมกับข้อคิดที่แฝงอยู่ในงบประมาณก้อนโต เพื่อจัดการดูแลเมืองให้ดูสวยสดงดงาม หรือเพื่อฟื้นฟูและพยุงเมืองที่กำลังจะสูญหายไปตาม กาลเวลาให้คงอยู่ ด้วยการจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดเก็บความทรงจำที่สวยงามของเมือง ไว้ตราบนานเท่านาน เช่น เมืองปารีสและเมืองเวนิส
แล้วนครที่มีความทรงจำทางประวัติศาสตร์ไว้ขายได้อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ของประเทศไทยล่ะ มีการลงทุนและระบบจัดการที่ดีแล้วหรือยัง?
ส่วนท้ายสุดจัดแสดงด้วยรถเข็นขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาด พร้อมกับนำเสนอวิธีการ จัดการกับความร่วงโรยตามธรรมชาติ ผ่านกระบวนการรักษาความสดของดอกไม้ในประเทศ เนเธอร์แลนด์ ตลาดกลางประมูลดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดอกไม้ 60-70% ที่ขายทั่วโลกส่งออกมาจากที่นี่ ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2.9 แสนล้านบาทต่อปี
นิทรรศการชี้ชัดว่า แม้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับสูญเสียโอกาสขยายรายได้ส่งออกจากปีละ 5 พันล้านบาท ไปเป็นปีละ 1 หมื่นล้านบาท เพียงเพราะขาดกระบวนการจัดการความสดและระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่จีน อินเดีย และดูไบ ต่างทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในการค้า "ความสด" เพื่อชิงเก็บค่าผ่านทางดอกไม้เหมือนเนเธอร์แลนด์
ทั้งที่เรามีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งในการเป็นศูนย์กลางค้าส่งใบไม้ร้อนชื้น และส่งออกไม้ดอกไม้ประดับเขตร้อน เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการบินที่ประหยัด ทั้งน้ำมันและเวลาที่ดีที่สุดในอาเซียน ยังรายล้อมด้วยแหล่ง วัตถุดิบจากป่าร้อนชื้น อันเป็นพรที่พระเจ้าประทานให้กับประเทศไทย...แต่ทว่าเราไม่ได้ทำ!!
ทางเดินออกจากห้องจัดแสดงมีป้ายคำถามตัวโตแขวน อยู่ในหมู่มวลดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาโรยรา "เราหมดโอกาสแล้วจริงหรือ?" "เราคิดไม่ออก หรือยังไม่ได้คิด?" ก่อนจะพบกับมะนาวที่ถูกคั้นน้ำจนดูเหมือนหมดแล้ว แต่อาจยังมีหยดสุดท้าย ให้คั้นได้อยู่
เช่นกัน ความอจีรังอาจเป็นโอกาสหรือคำสาป ขึ้นอยู่ว่าคุณจะมองมันยังไง
ไม่เพียงโอกาสทางธุรกิจ อจีรังยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อแสวงหาความสุขจากความเข้าใจแก่นแท้ของจักรวาล และความสุขจากความพอใจในสิ่งที่มีหรือเป็น เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะทุ่มเทความพยายามหยุดยั้งหรือชะลอความร่วงโรยอย่างไร ก็ยังหนีไม่พ้นความเป็นอนิจจังอยู่ดี...
|
|
 |
|
|