|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ถ้าเราโดน... (ชื่อผู้ให้บริการฟิตเนสชื่อดังรายหนึ่ง) โกง ควรจะทำอย่างไร" ชื่อหัวข้อกระทู้หนึ่งที่ตั้งไว้ในเว็บไซต์ www.torakhong.org ซึ่งมีรายละเอียดของกระทู้ดังต่อไปนี้ "ใครมีประสบการณ์หรือโดนหลอกบ้าง ช่วยบอกที เราโดนให้เซ็นรับแบบฟอร์มรับบริการเทรนเนอร์ฟรี 3 ครั้ง แต่กลับเป็นเอาลายเซ็นของเรา มาบอกว่าที่เซ็นนั้นที่จริงแล้วคือตัวสัญญาค่าจ้างเทรนเนอร์ โดยตอนที่เราเซ็นนั้นเป็นฟอร์มเปล่าไม่ได้กรอกอะไรเลย แล้วไม่ได้ให้ก๊อบปี้เราด้วย ตั้งแต่วันที่ 5/4/50 วันที่ 6/4/50 เราบอกว่าพี่ไม่ทำค่าเทรนเนอร์นะ เทรนเนอร์ที่รับเรื่องบอกไม่เป็นไร เอกสารเราก็บอกให้ยกเลิกให้ด้วย เขาก็บอกไม่เป็นไร ไม่ต้องเข้าไปเซ็นยกเลิก อยู่ๆ วันที่ 5/5/50 ก็เรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตของเราเฉยเลย เอกสารมั่วมาก เลวมาก บอกไม่รับผิดชอบ ไม่รู้เรื่องด้วย ทั้งๆ ที่เอกสารที่คลับเป็นตัวก๊อบปี้ขีดฆ่ามั่วไปหมด ไม่มีลายเซ็นกำกับเลย แล้วจะเป็นเอกสารที่เป็นสัญญาได้ไง ช่วยบอกต่อๆ ด้วย อย่าสนับสนุนคลับนี้เลย เงินมันได้ก็เอาไปอุทิศเป็นค่าพวงหรีดให้มันไป สาธุ" โดย Rainny
จากกระทู้ดังกล่าวมีผู้ร่วมชะตากรรม เป็นจำนวนมากที่โพสต์ข้อความสะท้อนถึงการบริการที่แสนแย่ และไม่ใช่มีเพียงกระทู้นี้เท่านั้นที่สะท้อนความเลวร้ายดังกล่าว แต่เมื่อผมลองเข้าไปที่ www.google.com แล้วใส่ชื่อผู้ให้บริการฟิตเนสแห่งนั้น ผมก็พบว่าเรื่องราวร้องเรียนมีนับพันจนอ่านไม่หวาดไม่ไหว อาจอยู่ในรูปแบบของกระทู้ เนื้อหาบนเว็บไซต์ หรือเสียงสะท้อนผ่านทาง บล็อก ตลอดจนมีการรับแจ้งเหตุร้องทุกข์ออนไลน์กรณีดังกล่าวนี้ผ่านเว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย
ผมไม่แน่ใจว่าผู้ให้บริการฟิตเนสรายดังกล่าวได้ยินเสียงสะท้อนเหล่านี้หรือเปล่า ได้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องเหล่านี้อย่างไร แต่เท่าที่ติดตามดูจะไม่รู้ร้อนรู้หนาว ยังคงตั้งหน้าตั้งตาใช้การโฆษณาชวนเชื่อหลอกลูกค้าให้เข้ามาติดกับดักในรูปแบบของการให้เล่นฟรี แต่พอมาถึงฟิตเนสก็พยายามคะยั้นคะยอขายสมาชิกให้อย่างบ้าคลั่ง
แต่ผมก็เชื่อว่าเสียงจากลูกค้าเหล่านี้ ทำให้อีกหลายๆ คนซึ่งกำลังสนใจที่จะใช้บริการจากฟิตเนสแห่งนี้ ต้องบอกลา แล้วไปแสวงหาที่ใหม่ นั่นคือวิบากกรรมที่เร่งให้ฟิตเนสแห่งนี้ทุ่มเงินเพื่อใช้ในการตลาดให้มากกว่าเดิม ไม่แน่ว่าเสียงสะท้อนจากลูกค้าอาจจะส่งผลต่อการดำรงอยู่ของฟิตเนสแห่งนี้ในอนาคตก็เป็นได้ หากฟิตเนสรายดังกล่าวยังปิดหูปิดตาไม่สนใจต่อลูกค้าของตนเอง
เสียงออนไลน์
ยักษ์ใหญ่ยังต้องปรับตัว
แต่เดิมหากเราซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วพบว่าคุณภาพไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา ถ้ามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย อย่างมากเราก็แค่บ่นๆ กับเพื่อนๆ แล้วก้มหน้ารับชะตากรรมไป ครั้นจะไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ ก็อาจจะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากวุ่นวาย พร้อมกับไม่แน่ใจว่าหน่วยงานเหล่านี้จะช่วยเหลือเราได้มากน้อยแค่ไหน เว้นแต่ที่เป็นกรณีใหญ่ๆ มักได้สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่ช่วยโหมกระพือเสียงร้องจากผู้บริโภคให้ดังขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยเหตุดังกล่าว หลายๆ ธุรกิจเลือกที่จะไม่ฟังเสียง สะท้อนของลูกค้า เพราะเห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากมายนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงสะท้อนดังกล่าวได้นำขึ้นมาบนโลกออนไลน์ที่สามารถถ่ายทอดถึงกันได้อย่างรวดเร็วแบบปากต่อปาก ส่งผลให้เสียงนั้นกลายเป็นมติมหาชน ที่ธุรกิจจะเพิกเฉยแบบเดิมไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีของฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลกอย่าง McDonald ที่ถูกต่อว่ามากมายบนโลกออนไลน์จากหลายๆ เว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านโดยเฉพาะ โดยเน้นถึงการไร้คุณค่าทางอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน น้ำตาล และเกลือ ซึ่งเป็นบ่อเกิด ของโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคอื่นๆ จนทำให้McDonald อดรนทนไม่ได้ พยายามโฆษณา คุณค่าในอาหารของตนโดยลดปริมาณเกลือ ลดการใช้ไขมันอิ่มตัวและเพิ่มเมนูที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ในการเป็นอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้น
หรือกรณีของ KFC ก็เช่นกัน ที่มีการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาต่อต้าน โดยเน้นว่า KFC มีการทรมานสัตว์ตั้งแต่การเลี้ยงดูที่เน้นให้ไก่ตัวใหญ่จนไม่สามารถแม้แต่จะเดิน หรือตีปีก รวมไปถึงการฆ่าก็ใช้การเชือดและโยนลงในหม้อน้ำเดือด ขณะที่ไก่ยังรู้สึกตัว จนทำให้คนดังหลายๆ คนอย่างพาเมลา แอนเดอร์สัน พอล แมคคาร์ทนี รวมไปถึงองค์ดาไลลามะ เข้าร่วมในการต่อต้าน แน่นอนว่ามันคงไม่ทำให้ KFC ต้องล้มหายตายจาก แต่เสียงดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะถูกเพิกเฉย KFC ก็ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ต่างไปจาก McDonald
อีกรูปแบบหนึ่งของเสียงจากผู้บริโภค คือผ่านทางบล็อก ที่เป็นการเสนอความคิดส่วนตัวลงในพื้นที่ของเขาเอง ถึงแม้ว่าดูจะไม่เป็นทางการเท่าใดนัก แต่หากตัวบล็อกเกอร์มีอิทธิพลต่อผู้อ่านสูงก็จะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์นั้นได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างบล็อกที่โด่งดังในเรื่องนี้คือ บล็อกของรุย คาร์โม ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นเจ้าของบล็อกแมคชื่อดัง คือ The Tao of Mac (the.taoofmac.com/space) ที่ได้ทำการสั่งซื้อ iMac G5 เป็นเวลานานแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้สินค้าที่ต้องการเสียที ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายในโปรตุเกสมีปัญหาในเรื่องของระบบจัดซื้อ ทำให้เขาเขียนเรื่องตำนานการซื้อ iMac G5 ในบล็อกของเขาเอง แฟนๆ ที่ติดตามงานเขียนก็เข้าร่วมวิพากษ์วิจารณ์ พอตัวแทนจำหน่ายและผู้จัดการฝ่ายขายของยุโรปรู้เข้า ก็กุลีกุจอเข้าช่วยเหลือจนเขาได้เครื่อง iMac G5 ในที่สุด
ลุ่ย เฉิง กัง พิธีกรของสถานีโทรทัศน์ China Central Television (CCTV) ได้เขียนข้อความต่อต้านร้าน Starbucks ที่ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่งไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขาใน www.sina.com ซึ่งเขายกตัวอย่างว่า "คุณเห็นร้านกาแฟ Starbucks ในทัชมาฮาลของอินเดียไหม? คุณคิดว่าพระราชวังบัคกิงแฮมของอังกฤษจะยอมให้ร้านกาแฟ Starbucks ไปเปิดในราชวังต้องห้ามของเขาหรือไม่? ถ้าเขาไม่ยอม ทำไมเราต้องยอมด้วยเล่า?" และเขาสรุปว่า "ร้านนี้เป็นสัญลักษณ์วัฒนธรรมการกินของอเมริกันและดูหมิ่นอารยธรรมจีน" ข้อเขียนของลุ่ยเป็นที่ถูกอก ถูกใจของผู้อ่านจำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000 คนในระยะเวลาสั้นๆ ความโด่งดังของบล็อกของเขา ทำให้สื่อต่างๆ พากันเสนอข่าวอย่างครึกโครม กดดันให้สมาชิกสภายื่นญัตติ เพื่อปิดร้าน Starbucks ด้วยข้อหาทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์
เห็นฤทธิ์เดชของเสียงสะท้อนจากประชาชนแล้วหรือยัง???
ธุรกิจควรทำตัวอย่างไร
ต่อเสียงสะท้อนออนไลน์
ด้วยพลังปากต่อปากแบบไฟลามทุ่ง หรือ Viral ทำให้การรับรู้ของผู้บริโภคต่อเสียงสะท้อนของสินค้าหรือบริการต่างๆเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ดังนั้น ธุรกิจจะมัวไม่แยแสสนใจต่อเสียงสะท้อนเหล่านั้นคงเป็นไปได้ยาก หนทางที่ถูกต้องคือ การรุกเข้าไปรับทราบถึงปัญหา และหากเสียงดังกล่าว เกิดจากความคลาดเคลื่อนในเรื่องข้อมูลทางธุรกิจก็ควรทำการชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อเป็นการขจัดปัญหาความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น แต่หากเสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ทางธุรกิจก็ควรนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น ควรยิ้มต้อนรับกับเสียงสะท้อนและควรคิดในใจว่าเราแทบไม่ต้องทำการวิจัยเรื่องความพึงพอใจของผู้บริโภคเลย เสียงสะท้อน ดังกล่าวถือเป็นเสียงสวรรค์ที่ธุรกิจควรน้อมรับฟัง
หลายๆ ธุรกิจใช้วิธีการให้ข้อมูลของบริษัทผ่านทางเว็บไซต์เพื่อแก้ปัญหาสำหรับความเข้าใจผิดของลูกค้า แต่ข้อด้อย ของเว็บไซต์คือว่า ความเป็นทางการทำให้ดูไม่จริงใจ การให้ข้อมูลอาจจะดูเป็นคำแก้ตัวเสียมากกว่า ทางออกอีกทางคือการสร้างบล็อกของบริษัท (Corporate Blog) ขึ้นเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็วและดูเป็นกันเองมากกว่า อีกทั้งต้องพร้อมรับเสียงวิจารณ์ต่างๆ อย่างเปิดกว้างด้วย
ตัวอย่างเช่น Starbucks ใช้บล็อก (blogs.starbuck.com) ได้อย่างชาญฉลาด โดยเปิดโอกาสให้บรรดาลูกค้านำเสนอแนวคิดที่ตนเองต้องการ แล้วลูกค้าคนอื่นๆก็มีโอกาสเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการโหวตความคิดยอดนิยม นอกจากนี้ยังสามารถดูได้ว่าทาง Starbucks นำแนวคิดดังกล่าวไปปรับปรุงสินค้าและบริการรวมไปถึงความรับผิดชอบแก่สังคมได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อลูกค้าหลายๆ คนแสดงความห่วงใยเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทาง Starbucks ก็ใช้บล็อกแห่งนี้ในการทำการประชาสัมพันธ์ว่า ได้มีการร่วมมือกับแบรนด์ดังอื่นๆ อย่าง Nike, Timberland, Levis, และ Sun Microsystems ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาในเรื่องพลังงาน จะเห็นว่า Starbucks ไม่ได้กลัวการวิจารณ์ แต่กลับพร้อมนำแนวคิดต่างๆ เพื่อนำไปแก้ไขปรับเปลี่ยนต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) สูงสุดนั่นเอง
การเข้าไปมีปฏิกิริยาต่อเสียงสะท้อนของลูกค้า ณ เว็บไซต์ บล็อก หรือกระทู้ที่ลูกค้าวิพากษ์วิจารณ์ ก็เป็นแนวทางที่ดีอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความสนอกสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีการที่ควรจะทำคือ ให้ฝ่ายบริการลูกค้า พยายามใช้เครื่องมือค้นหาอย่าง www.google.com เพื่อดูว่าที่ไหนบ้างที่กำลังพูดถึงสินค้าหรือบริการของบริษัทในเชิงลบ แล้วก็ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไป แต่อย่าไปคุกคามความเห็นเหล่านั้น เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวผมไม่ค่อยเห็น ตัวอย่างที่ธุรกิจเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ อย่างเด่นชัดนัก แต่มีกรณีหนึ่งที่ผมประทับใจและเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับอีกหลายๆ ธุรกิจ
เรื่องราวของคุณ PJUK ซึ่งเป็นชื่อล็อกอินของพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ คนหนึ่งที่เข้ามาแวะเวียนตอบคำถามรวมไปถึงแก้ปัญหาของลูกค้าที่ไม่พอใจกับการบริการของธนาคารโดยสมัครใจในกระดานสินธรของเว็บไซต์ www.pantip.com ทำให้ สมาชิกหลายๆ คนที่ไม่เคยใช้บริการของธนาคาร สนใจเข้าใช้บริการต่างๆ อย่างราย ของคุณลุงเต่า ที่ตั้งกระทู้ชื่นชม PJUK ถึงกับยอมรับว่า ได้เข้าไปลงทุนในกองทุน RTF และ LTF ของทางธนาคารไทยพาณิชย์ อีกทั้งยังใช้บริการสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อบ้านและบัตรเครดิตอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากความประทับใจในการตอบกระทู้ของ PJUK นี้เอง ลองอ่านบางคอมเมนต์ต่อกระทู้นี้เพื่อแสดงถึงความประทับใจที่มีต่อ PJUK
"PJUK สุดยอดจริงๆ ครับ เข้ามาเชียร์ครับ ผมก็ทำ SCBEASY บัตรเครดิต, LTF, ทำ ATM เพราะ PJUK มาอธิบายเรื่องกองทุนตราสารหนี้และ SCBEASY ทำให้ ผมใช้ SCBEASY จ่ายค่าบัตรต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตเพราะว่าสะดวกมากครับ ขอบคุณมากๆ" จากคุณ Kokiat
"เราเคยขัดใจ SCB จนปิดบัญชีไปนานและไม่เคยใช้บริการของที่นี่อีกเลยเป็นเวลานานเกิน 5 ปี แล้ว แต่หลังจากอ่านคำตอบของคุณ PJUK ซึ่งตอบคำถามแบบเต็มใจตอบ ไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายแม้คำถามจะซ้ำๆ เดิมๆ นับถือมากค่ะ และตอนนี้กลับมาใช้บริการของ SCB แล้ว ลงทุนใน LTF ก็ของ SCB เช่นกัน" จากคุณ robo_got
"ถอนเงินจากธนาคารอื่นๆ เกือบหมด มาฝากธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้บริการ SCB NET ก็เพราะพี่จุกนี่แหละค่ะ ถามอะไร ตอบได้หมด สบายใจกว่าถามเจ้าหน้าที่ธนาคารซะอีก" จากคุณตะวันรอนตอนเช้า
มาถึงตรงนี้คุณเห็นพลังของการที่ให้เข้ามาแก้ปัญหาให้กับลูกค้าแบบเต็มใจไหมครับ แน่นอนว่า PJUK ไม่ได้เข้ามาเพื่อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของธนาคาร เพราะหากทำเช่นนั้น จะถูกสมาชิกคนอื่นๆ เสนอลบกระทู้ต่อเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ได้ แต่ PJUK เน้นการตอบคำถาม ช่วยเหลือลูกค้ายามที่ประสบปัญหาจากการบริการอย่างเต็มใจ รวมไปถึงการให้ความรู้ต่างๆ เพียงเท่านี้ก็พิชิตใจของสมาชิกกระดานสินธรไปจนหมด สิ้นแล้ว
ผมแน่ใจว่า PJUK ไม่ได้ถูกมอบหมายจากธนาคารให้ทำหน้าที่นี้ แต่วิธีการของ PJUK กลับเป็นเสมือนเครื่องมือในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) โดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากธนาคารหรือธุรกิจอื่นๆ จะทำเลียนแบบ ก็ไม่น่าจะผิดกติกามารยาทแต่ประการใด และนี่เป็นอีกตัวอย่างของการไม่หนีปัญหา รับฟังเสียงบ่นจากลูกค้า จนสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สร้างมูลค่าจากเสียงสะท้อนของลูกค้า
หลายๆ คนคงเคยเข้าไปซื้อหนังสือที่ร้าน ซึ่งเราสามารถหยิบหนังสือนั้นมาอ่านคร่าวๆ ก่อน เพื่อพิจารณาว่าเราชอบหรือไม่ แล้วค่อยทำการตัดสินใจซื้อ แต่เราจะไม่มีข้อมูลความคิดเห็นของคนอื่นๆ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งส่วนนี้ทาง Amazon.com เห็นถึงข้อได้เปรียบและเสียเปรียบข้อนี้ จึงจัดทำส่วนของการ Review หนังสือจากความเห็นของผู้อ่านและมีการให้ คะแนนในรูปแบบของการให้ดาว (ตั้งแต่ 1- 5 ดาว) แน่นอนว่า Review เหล่านี้ ย่อมมีทั้งชมและติเตียนได้อย่างเสรี ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของส่วน Review นี้สูงขึ้น จะเห็นว่าแม้ผู้ซื้อหนังสือออนไลน์จะไม่สามารถหยิบหนังสือมาอ่านได้ แต่สามารถใช้ส่วนของ Review นี้เป็นเครื่องมือในการช่วยในการตัดสินใจซื้อ
มาดูตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากเสียงสะท้อนแบบไทยๆ บ้าง ซึ่งเป็นกรณีของ www.jeban.com ที่มีส่วนของ Hit-Hot Review ที่มีการทดลองใช้เครื่องสำอางต่างๆ มากมาย และมีรายละเอียดที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สาวๆ เข้ามาที่ เว็บไซต์นี้เป็นจำนวนมาก เมื่อมามองในแง่ของผู้จำหน่ายเครื่องสำอาง พวกเขาย่อมมองเห็นถึงศักยภาพของ Hit-Hot Review ที่บรรดาสมาชิกพร้อมใจกันที่จะใช้เครื่องสำอางที่ถูกแนะนำ หากมีคุณภาพที่ดีจริง วิธีการของพวกเขาก็คือ ส่งสินค้ามาให้ทางทีมงานของ www.jeban.com เพื่อทำการ Review ซึ่งตัวเจ้าของสินค้าต้องใจกว้างพอที่จะรับได้ทั้งคำชมและคำติไปด้วยกัน และการ Review ก็ถือเป็นเสมือนข้อมูลสำคัญที่ลูกค้าจะใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง
มาดูการทำ Review ของโทรศัพท์มือถือจาก www.thaimobilecenter.com บ้าง ซึ่งผมเห็นว่าแต่ละรายการที่ทำการ Review นั้นมีข้อมูลเชิงลึกเป็นจำนวนมากที่ตอกย้ำความเป็นมืออาชีพของผู้ทำการ Review อีกทั้งที่ชอบมากๆ คือ การระบุจุดเด่นและจุดด้อยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ รวมถึงการสรุปโดยการให้คะแนน ทำให้สามารถเปรียบเทียบได้ง่ายว่ารุ่นไหนดีกว่ากัน และก็ไม่ต่างจาก www.jeban.com หากมองในฐานะของผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ย่อมต้องการให้ทาง www.thaimobilecenter.com ทำการ Review ให้ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญจากบุคคลที่เป็นกลาง ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือได้ง่ายขึ้น
จากเนื้อหาของบทความนี้จึงสรุปได้ว่า เสียงสะท้อนจากลูกค้านั้นไม่ใช่เรื่องที่จะน่าหวาดกลัว ยิ่งปิดหูปิดตายิ่งจะพาธุรกิจลงเหว แต่ควรตั้งสติแล้วแก้ปัญหาด้วยความจริงใจและพร้อมรับฟังอย่างเปิดกว้าง อย่างกรณีของ Starbucks และ PJUK นั้นเป็นกลเม็ดสำคัญในการสร้างความภักดีของลูกค้า
|
|
|
|
|