|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การเลือกจังหวัดนครพนมเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการบินนานาชาติ เพื่อผลิตนักบินป้อนให้กับสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก นอกจากเรื่องสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมแล้ว จุดที่ตั้งซึ่งอยู่กลางกลุ่มประเทศอินโดจีนก็สะท้อนให้เห็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
น่านฟ้าจังหวัดนครพนมอันเงียบสงบ เพราะแม้ว่าที่นี่จะมีสนามบินพาณิชย์ที่ได้มาตรฐาน แต่มีสายการบินพาณิชย์เพียงแห่งเดียวที่เปิดให้บริการเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นครพนม-กรุงเทพฯ นั่นคือบีพี แอร์ ที่เปิดเที่ยวบินไป-กลับ สัปดาห์ละ 1 เที่ยว ทุกวันพฤหัสบดี
6 เดือนมาแล้วที่ผู้คนในนครพนม เริ่มเห็นมีเครื่องบินลำเล็กๆ สีขาว บินวนไป-มาบริเวณรอบนอกของตัวเมือง
บางครั้งบินในตอนเช้า บางครั้งบ่าย และหลายครั้งที่บินในเวลาค่ำคืน
เครื่องบินเหล่านี้เป็นของวิทยาลัยการบินนานาชาติ นครพนม (International Aviation Collage: IAC NPU) สถาบันการ สอนนักบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศไทยอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยนครพนม
แนวคิดในการเปิดสถาบันการศึกษา แห่งใหม่เพื่อสร้างนักบินพาณิชย์ป้อนเข้าสู่ตลาด เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว
ขณะนั้นกระทรวงคมนาคมได้มีการ วิเคราะห์ว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้จะเกิดภาวะขาดแคลนนักบิน เนื่องจากมีสายการบินเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ รวม ทั้งสายการบินที่มีอยู่ได้มีการขยายฝูงบิน มีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาจำนวนหลายลำ
กระทรวงคมนาคมจึงมีหนังสือเสนอ ไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักบินเพิ่มขึ้น
ในช่วงนั้นโรงเรียนการบินที่ผลิตนักบินพาณิชย์ป้อนให้กับธุรกิจการบินในเมืองไทยยังมีอยู่เพียง 2 แห่งคือ สถาบันการบินพลเรือน สังกัดกรมการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐกับโรงเรียนการบิน Bangkok Aviation Center (BAC) ซึ่งเป็นโรงเรียนการบินของเอกชน
ไม่นับรวมโรงเรียนการบินกำแพง แสน ซึ่งเป็นของกองทัพอากาศ
โรงเรียนการบินทั้ง 2 แห่งอาจไม่สามารถผลิตนักบินได้ทัน หากวิเคราะห์จากตัวเลขความต้องการนักบินที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น
ในเวลาเดียวกับที่กระทรวงคมนาคม ส่งข้อเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการเป็น ช่วงที่กำลังจะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม โดยการหลอมรวมสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครพนม 7 แห่ง เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่
ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการสำนัก งานการอุดมศึกษาแห่งชาติขณะนั้นซึ่งดูแลการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนมอยู่ จึงได้มีการบรรจุเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยการบินนานาชาติ นครพนม เข้าไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. 2548 ด้วย
การเลือกจังหวัดนครพนมเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการบินนานาชาติ มีเหตุผล หลายประการหลักๆ คือ
ประการแรก ที่จังหวัดนครพนมมีสนามบินพาณิชย์อยู่แล้วและเป็นสนามบินที่ได้มาตรฐาน รันเวย์ยาว 2.8 กิโลเมตร เครื่องบินขนาด 100 ที่นั่ง เช่น โบอิ้ง 737 หรือแอร์บัส A320 สามารถบินมาลงได้โดยไม่มีปัญหา
สนามบินแห่งนี้กองทัพอากาศสหรัฐ อเมริกาได้มาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน และเมื่อทหารอเมริกันถอนทัพกลับไปเพราะพ่ายแพ้สงคราม สนามบินที่ สร้างไว้อย่างดีไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่าง เต็มที่ มีเพียงบีพี แอร์เท่านั้นที่เปิดเส้นทาง บินมายังที่นี่สัปดาห์ละ 1 เที่ยว
ประการที่ 2 จังหวัดนครพนมเป็นเมืองที่เงียบสงบ การจราจรทางอากาศไม่คับคั่ง ประกอบกับสภาพพื้นที่โดยรอบจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นราบ จะมีภูเขาสูง ชันเฉพาะช่วงเทือกเขาภูพาน จึงเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับการฝึกบิน
"หลายคนไม่เข้าใจ คิดว่าโรงเรียนการบินจะต้องไปอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ซึ่งไม่จริง เพราะเมืองใหญ่การจราจรทางอากาศหนาแน่น โดยเฉพาะเมืองที่มีสนาม บินนานาชาติยิ่งไม่เหมาะสม เพราะคิดดู ถ้าเครื่องบินลำเล็กๆ ไปทำให้เครื่องบินใหญ่ลงไม่ได้แค่เที่ยวเดียว ความเสียหาย มันสูงมาก หรือหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็จะเสียหายมาก ที่เมืองนอกโรงเรียนการบินเขาก็ไปตั้งอยู่ในเมืองที่เงียบๆ ไม่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นกันทั้งนั้น" พันโท อาคม ชาติธรรมรักษา Head of Training ของ IAC NPU บอกกับ "ผู้จัดการฯ"
แต่เหตุผลสำคัญคือนครพนม แม้ว่าจะเป็นจังหวัดชายแดนของไทย แต่จุดที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวและเวียดนาม ซึ่งกำลังมีการขยายฝูงบินออกไปมากจนเกิดสภาวะขาด แคลนนักบิน
ทั้งสายการบินแห่งชาติลาวและเวียดนามจึงน่าจะเป็นตลาดหลักอีกตลาด หนึ่งที่คาดว่าจะส่งนักเรียนมาฝึกบินที่ IAC NPU ในอนาคต นอกเหนือจากตลาด ที่เป็นสายการบินภายในประเทศ
งบประมาณในการจัดตั้ง IAC NPU ในช่วง 5 ปีแรก ใช้เงินประมาณ 2 พันล้าน บาท ส่วนใหญ่ใช้ไปในการจัดซื้อเครื่องบิน และเครื่องฝึกบินจำลอง (simulator) รวมทั้งการจัดจ้างครูฝึกบิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
ปัจจุบัน IAC NPU มีเครื่องบินสำหรับฝึกบินอยู่ทั้งสิ้น 10 ลำ เป็นเครื่องบิน 1 เครื่องยนต์ 6 ลำและ 2 เครื่องยนต์ อีก 4 ลำ เป็นเครื่องบินยี่ห้อ Dimond รุ่น 40 และ 42 ผลิตในประเทศออสเตรีย
ราคาเครื่องบิน 1 เครื่องยนต์ ลำละ 13 ล้านบาทและ 25 ล้านบาท สำหรับ เครื่องบินแบบ 2 เครื่องยนต์
เหตุผลที่ IAC NPU เลือกเครื่องบิน ยี่ห้อนี้เพราะประหยัดเชื้อเพลิง สามารถใช้น้ำมันดีเซลได้
ในหมู่เครื่องบิน 1 เครื่องยนต์ ยังมีเครื่องบินสำหรับการบินผาดโผนโดยเฉพาะอีก 1 ลำ
ส่วน simulator มีอยู่ด้วยกัน 3 เครื่อง เป็น simulator สำหรับเครื่องบิน 1 เครื่องยนต์ กับ 2 เครื่องยนต์ อย่างละ 1 เครื่อง อีก 1 เครื่องที่เหลือเป็น simulator ของเครื่องแอร์บัส
"เฉพาะเครื่อง simulator ของแอร์บัส ตกเครื่องละ 100 ล้านบาท และเครื่อง แบบนี้เป็นแบบ fix base เพิ่งมีที่นี่เครื่องเดียวในประเทศไทย" สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม บอก
หลักสูตรของ IAC NPU ยึดตามมาตรฐานยุโรป ที่มีการยอมรับกันถึง 170 ประเทศทั่วโลก โดยมีโรงเรียนการบินจากฝรั่งเศสแห่งหนึ่งมาช่วยร่างหลักสูตรให้ในช่วงแรกของการก่อตั้ง
ในมาตรฐานยุโรปบังคับให้นักบิน ที่จะได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ (commercial pilot license: CPL) จะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกบินผาดโผนมาแล้วอย่างต่ำ 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ในฝูงบินฝึกของ IAC NPU จำเป็นต้องมีเครื่องบินผาดโผนรวมอยู่ด้วย 1 ลำ
"ของเราจะเป็นหลักสูตรเดียวที่บังคับให้นักเรียนจะต้องเรียนการบินผาดโผน 5 ชั่วโมง ของสถาบันการบินพลเรือนเขาไม่บังคับ ในหลักสูตรทั่วไปเขาก็ไม่บังคับ แต่ถ้าเป็นหลักสูตรมาตรฐาน ยุโรปเขาจะบังคับ เพราะเขามองว่า อย่างน้อยนักบินจะต้องเคยชินกับสถานการณ์ที่มันไม่ปกติ เช่นอยู่ๆ เครื่องบินบินไปแล้วเกิดพลิก หรือหมุน ก็เลยมีการบังคับให้เรียน 5 ชั่วโมง นักเรียนจะได้รู้ว่าเมื่อเจอสถานการณ์อย่างนั้น ตัวเขาจะเป็นอย่างไร" สุวิทย์อธิบาย
หลักสูตรการเรียนการสอนของที่นี่ นักเรียนจะต้องใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 70 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง เป็นการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน 28 สัปดาห์ ที่เหลืออีก 42 สัปดาห์ เป็นการเรียนภาคปฏิบัติกับเครื่องบินจริง
การจัดห้องเรียนของ IAC NPU ก็ยึดตามมาตรฐานของโรงเรียนการบินทั่วโลก คือ 1 ห้องเรียนจะบรรจุนักเรียนได้ไม่เกิน 24 คน
การเรียนการสอนทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษ เพราะที่นี่จะเปิดรับนักเรียนจากทุกชาติ ไม่เฉพาะคนไทยเพียงเท่านั้น
"นักเรียนที่เรียนจบจากเรา จะได้รับ CPL (commercial pilot license) ซึ่งเขาสามารถไปสมัครงานที่สายการบินใดก็ได้ทั่วโลก" พันโทอาคมรับรอง
ปัจจุบัน IAC NPU มีครูการบินทั้งสิ้น 13 คน แบ่งเป็นครูภาคอากาศ 7 คน ครูภาคพื้นดินอีก 6 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ มีทั้งชาวฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน อินเดีย
Gerard Charles ครูใหญ่ (Principal) ของ IAC NPU เป็นชาวฝรั่งเศส เคยเป็นนักบินของสายการบินแอร์ฟรานซ์ หลังเกษียณแล้วได้ไปเป็นครูการบินอยู่ที่โรงเรียนการบินในมาเลเซีย ก่อนจะมาสมัครเป็นครูใหญ่ของ IAC NPU ทันทีที่รู้ว่ากำลังจะมีโรงเรียนการบินเปิดใหม่ในนครพนม
ส่วนพันโทอาคม ชาติธรรมรักษา Head of Training เป็นอดีตนักบินกองทัพบก เคยรับราชการอยู่ 18 ปี ก่อนจะออกไปประกอบอาชีพเป็นนักบินเอกชน ล่าสุด ก่อนจะมาอยู่ที่ IAC NPU เขาได้ไป ทำงานให้กับกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม
เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินของ IAC NPU ซึ่งมีประมาณ 4-5 คน ทุกคนต้องมีความรู้เรื่องการบินและเครื่องบิน มีหลายคนที่เคยเป็นนักบินมาก่อน เช่น คนหนึ่งเคยเป็น นักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกกับอีกคนหนึ่งที่เป็นศิษย์เก่าสถาบันการบินพลเรือน
เจ้าหน้าที่ช่างที่คอยดูแลบำรุงรักษา เครื่องบิน มีประมาณ 10 คน ถ้าเป็นระดับ หัวหน้าก็ต้องเคยทำงานกับกองบินของ กองทัพเรือ หรือกองทัพบกมาก่อน ขณะที่ช่างทั่วๆ ไปรับเด็กที่จบจากโรงเรียนอาชีวะในท้องถิ่น
IAC NPU เริ่มรับนักเรียนรุ่นแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยมีผู้มาสมัครประมาณ 20 คน ในจำนวนนี้สามารถ ผ่านการทดสอบเวชศาสตร์การบินเพียง 3 คน ซึ่ง IAC NPU ก็รับไว้ทั้งหมด
ในจำนวนนี้มีอยู่ 1 คน ที่เป็นคนนครพนม เพิ่งจบการศึกษาปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก่อนจะมาสมัคร เป็นนักเรียนการบินของ IAC NPU
นักเรียนรุ่นที่ 2 เพิ่งรับสมัครเข้ามา เมื่อกลางปี 2551 คราวนี้ผ่านการทดสอบ เวชศาสตร์การบิน 5 คน
สรุป ณ ปัจจุบัน IAC NPU มีนักเรียนที่เป็นคนไทย 2 รุ่น จำนวน 8 คน
โดยความสามารถของโรงเรียน ห้องเรียน เครื่องไม้เครื่องมือ และจำนวน เครื่องบินที่มีอยู่ปัจจุบัน IAC NPU สามารถ รับนักเรียนได้เต็มที่ 60 คน
นักเรียนรุ่นแรกจำนวน 3 คน กำลัง จะจบการศึกษาเพื่อออกไปหาประสบการณ์ ในชีวิตจริงของการเป็นนักบินในเดือนมีนาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ในปีที่แล้วสายการบิน การ์ตาได้ส่งนักเรียนที่ผ่านการเรียนภาคทฤษฎีจากโรงเรียนการบินในการ์ตาจำนวน 16 คน ให้มาเรียนภาคปฏิบัติที่ IAC NPU โดยกำหนดให้นักเรียนแต่ละคนต้องเรียนคนละ 100 ชั่วโมง
"โรงเรียนการบินที่การ์ตามีคนเรียน กันมาก แต่เขามีปัญหาเรื่องการฝึกบิน เพราะประเทศของเขาเล็ก พื้นที่ฝึกบินน้อย แล้วยังจะต้องเจอกับพายุทะเลทราย หรืออุณหภูมิที่สูง จนบางครั้งไม่สามารถขึ้นบิน ได้ เพราะฉะนั้นปีหนึ่งเขาฝึกได้ไม่กี่ชั่วโมง เขาก็เลยมาดูโรงเรียนของเรา มาดูเครื่องไม้เครื่องมือ คุยกับครู ดูหลักสูตร เสร็จแล้วเขาก็ตัดสินใจส่งนักเรียนของเขามาเรียนกับเรา" สุวิทย์เล่า
นักเรียนที่ถูกส่งมาจากสายการบินการ์ตาทั้ง 16 คนผ่านการเรียนภาคปฏิบัติ ครบ 100 ชั่วโมงไปแล้ว แต่เกิดติดใจ จึงขอเรียนในหลักสูตรเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ ต่อ เพิ่งจะจบและกลับไปทำงานยังประเทศ การ์ตาเมื่อเดือนธันวาคม
สายการบินการ์ตากำลังเตรียมส่งนักเรียนการบินรุ่นที่ 2 อีก 16 คน ให้เข้ามาเรียนภาคปฏิบัติที่นี่
ในทางเดียวกัน สุวิทย์ในฐานะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนครพนม ที่ต้องดูแล IAC NPU โดยตรง พยายามเปิดตลาด ให้กับ IAC NPU โดยการไปคุยกับผู้บริหาร ของสายการบินแห่งชาติลาวและเวียดนาม
"ผมไปคุยกับเวียดนามแอร์ไลน์ ลาว เอวิเอชั่น ตอนนี้ของลาวก็พยายามประสานมาอยู่ว่าจะส่งคนมาเรียน เขาก็ส่งคนมาดูแล้ว ส่วนใหญ่ก็บอกว่าของเราก็ดี มาตรฐาน อยากส่งมาเรียนกับเรา เพราะมันใกล้ แต่ยังไม่ได้เป็นรูปธรรม เพียงแต่บอกว่าจะส่งมา"
ตอนที่ IAC NPU เปิดการเรียนการสอนใหม่ๆ เมื่อต้นปีที่แล้ว ผู้บริหารสายการบินวัน ทู โก เคยมาดูงานแล้วบอก กับผู้บริหาร IAC NPU ว่าจะรับนักเรียนที่จบจากที่นี่ทั้งหมดไปเป็นนักบินของวัน ทู โก แต่ปรากฏว่าสายการบินแห่งนี้ถูกพักใบอนุญาตชั่วคราวไปก่อน
ส่วนการบินไทยก็เคยส่งตัวแทนมาดูงานที่ IAC NPU เช่นกัน พร้อมทั้งแสดงความสนใจ แต่ยังไม่มีการตกลงกันว่าจะรับนักเรียนจากที่นี่ ไปเป็นนักบินให้กับการบินไทยหรือไม่
"เข้าใจว่าเขาคงอยากจะดูผลงานของลูกศิษย์ของเราที่จบออกไปแล้วสักรุ่น หรือ 2 รุ่นก่อน" สุวิทย์คาด เช่นเดียวกันกับพันโทอาคมซึ่งมีความมั่นใจอย่างยิ่งกับมาตรฐานการเรียน การสอนและคุณภาพของนักเรียนที่นี่ มองว่า IAC NPU ยังเป็นโรงเรียนใหม่ คนยังรู้จักกันไม่มาก แต่หากนักเรียนของที่นี่จบ ออกไปทำงานแล้วสัก 2-3 รุ่น และสามารถแสดงผลงานออกมาได้ดี IAC NPU ก็จะมีคนรู้จักเพิ่มขึ้น และจะมีคนที่อยากมาเรียนที่นี่ หรือมีสายการบินที่ต้องการรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนการบินแห่งนี้
หลังจากเดือนมีนาคมนี้ สายการบินต่างๆ คงจะรู้แล้วว่า ศักยภาพของนักเรียนการบินที่จบจาก IAC NPU จะเป็นเช่นไร
|
|
|
|
|