|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การเปิดใช้สะพานมิตรภาพ 2 แห่งก่อนหน้านี้ที่หนองคายกับมุกดาหาร สร้างความผิดหวังต่อนักเก็งกำไรที่คาดหวังผลลัพธ์จากการเปิดสะพานสูงเกินไป ซึ่งนครพนมเองคงเห็นบทเรียนเหล่านี้มาแล้ว
ดังนั้นหากจะถามคนนครพนมว่า จังหวัดของตนมีความแตกต่างหรือโดดเด่นกว่าหนองคายกับมุกดาหารซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้เปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขงไปแล้วอย่างไร
คำตอบที่ได้ส่วนหนึ่งน่าจะออกมาในทำนองที่ว่า "ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก"
เพราะสังเกตได้จากในตัวเมืองนครพนมเองดูเหมือนความตื่นตัวของผู้คน เพื่อตั้งรับสะพานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้านี้กลับมีไม่มากเท่าไร
หลายคนที่มีพรรคพวก ญาติ พี่น้อง อยู่ในมุกดาหาร หรือหนองคาย ต่างรับรู้ข้อเท็จจริงอันแสนเจ็บปวดว่า สะพานมิตรภาพที่สร้างกันขึ้นมา ไม่ได้สร้างความ คึกคักทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในตัวเมือง มากเท่ากับที่เขาเคยคาดหวังเอาไว้ก่อนมีการก่อสร้างสะพาน
ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?
เหตุผลสำคัญคือส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้คาดหวังมากเกินไปกับการเกิดขึ้นของสะพาน มองว่าเมื่อการเชื่อมโยงเส้นทาง คมนาคมระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้คนสามารถไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก จะสร้างความคึกคักให้เกิดขึ้น เพราะจะมีคนเดินทางมายังจังหวัดของตนเองมากขึ้น
แต่พอมีสะพานเกิดขึ้นจริง คนมามากขึ้นจริง แต่ส่วนใหญ่มาเพื่อข้ามสะพาน ไปยังฝั่งตรงกันข้าม
หรือบางราย จากความคาดหวังที่ตั้งไว้สูงลิบลิ่วดังกล่าว ก่อให้เกิดเป็นความต้องการเก็งกำไร หลายคนไปซื้อที่ดิน ดักหน้าการก่อสร้างสะพานเอาไว้โดยคาดหมายว่าเมื่อเปิดสะพานแล้วราคาที่ดินจะสูงขึ้น
แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะฉะนั้นการที่คนนครพนมไม่ตื่นตัวต่อการมีขึ้นของสะพานมิตรภาพมากนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ก็ใช่ว่าคนนครพนมทุกคนจะมีความรู้สึกเช่นนี้ไปเสียทั้งหมด
หลายคนที่ตระหนักและรู้ว่าการเกิดขึ้นของสะพานในอีก 3 ปีข้างหน้าจะนำ การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เข้ามาสู่จังหวัด
แต่มุมมองของคนเหล่านี้ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมาแตกต่างกัน
สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม มองว่าคนนครพนม ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะภาคธุรกิจยังเตรียมตัวตั้งรับกับการเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ไม่ดีพอ
"โดยรวมคือทุกคนอยากได้แต่การ เตรียมตัว หรือเตรียมที่จะใช้ประโยชน์จากสะพานนี้แค่ไหนนั้น ผมคิดว่ายังไม่ดีพอ เราน่าจะคิด หรือเตรียมการมากกว่านี้ว่าเมื่อเรามีสะพานแล้ว เราจะใช้อย่างไร จะทำอย่างไรกับสะพาน ที่จะสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด" สุวิทย์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัด การฯ"
ความจริงแล้วโดยศักยภาพพื้นฐาน จังหวัดนครพนมมีความแตกต่างจากจังหวัดหนองคายกับมุกดาหาร ที่มีสะพาน มิตรภาพอยู่แล้วในระดับหนึ่ง
กล่าวคือนครพนมมีสนามบินและมีมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ และได้มาตรฐาน ซึ่งผู้คนทั่วไปยอมรับ
ในขณะที่อีก 2 จังหวัดดังกล่าวไม่มี
มองในเชิงยุทธศาสตร์ ความแตกต่างทั้ง 2 อย่างของนครพนม น่าจะนำมาใช้เป็นข้อได้เปรียบ
หากพิจารณาร่วมกับปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ถึงศักยภาพของเมืองหรือแขวงของ สปป.ลาว ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำโขง จุดเด่นของนครพนม หนองคายกับมุกดาหาร ก็แตกต่างกัน
เมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดหนองคาย คือ นครเวียงจันทน์ เมืองหลวง ของ สปป.ลาว ซึ่งแน่นอนว่าการที่เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับเมืองที่เป็นศูนย์กลางการบริหารงานของอีกประเทศหนึ่ง และเป็นเมืองที่คนมีกำลังซื้อสูงที่สุดของประเทศนั้น ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของหนองคาย
แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นแขวงที่มีพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรจำนวนมาก กลุ่มทุนไทยหลายกลุ่มได้เข้าไปจับจองพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว และทั้ง 2 เมืองยังเป็นเมืองหลักตามแผนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่สามารถเชื่อมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไปถึงเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและยุโรป
การที่นครพนมอยู่ตรงกันข้ามกับแขวงคำม่วน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติขนาดใหญ่และกำลังจะกลายเป็น hub สำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอนุภูมิภาคทั้งทางถนนและทางรถไฟ ก็ไม่ได้ทำให้นครพนมมีความโดดเด่นน้อยไปกว่า 2 จังหวัดที่กล่าวถึงข้างต้น
ที่สำคัญ เมื่อเทียบระยะทางจากนครพนมไปยังชายฝั่งทะเลเวียดนามกับมุกดาหาร ที่มีปลายทางเดียวกันแล้ว เส้นทางจากนครพนมออกไปสั้นกว่าเส้นทางที่ออกจากมุกดาหารถึงครึ่งต่อครึ่ง
เพียงแต่ใครจะมองเห็นและสามารถ นำจุดเด่นเหล่านี้มาใช้ก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกับจังหวัดนครพนม
มิใช่เพียงแค่เก็งกำไรตามกระแส เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับนักลงทุนใน 2 จังหวัดที่มีการเปิดใช้สะพานไปแล้วก่อนหน้านี้
สุวิทย์ในฐานะนักวิชาการ และผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ได้เคยสะท้อนมุมมองเหล่านี้ในฐานะคนกลาง ผ่านทางสื่อท้องถิ่นมาแล้ว
"ผมเคยเสนอว่า เราน่าจะจัดเวทีสัมมนา เอาคนจากหนองคาย มุกดาหาร มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าหลังจากเปิดสะพานแล้วเป็นอย่างไร เรียนรู้จากเขา เราจะได้รู้ว่าเมื่อเรามีสะพานขึ้นมาแล้วเราควรจะทำอย่างไร"
เขามองว่าความคาดหวังของคนท้องถิ่นที่มีต่อสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 เป็นการมองเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่ได้มองในเชิงยุทธศาสตร์ที่ไกล หรือลึกซึ้งนัก
เขายกตัวอย่างที่เคยสะท้อนไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้านครพนมจะเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจริงๆ อุปสรรคสำคัญที่มองเห็นในขณะนี้คือสาขาธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในนครพนม ไม่มีแห่งใดเลยที่มีบริการเปิด L/C (letter of credit) ให้กับนักธุรกิจ
ใครที่ต้องการจะค้า ขายกับต่างประเทศจำเป็นต้องไปใช้บริการ L/C ของสาขาธนาคารในสกลนคร
"ผมก็บอกว่าใกล้ตัวที่สุดเลย คือทำไมแบงก์ที่นครพนมไม่มี L/C ไม่มีเพราะไม่มีคนใช้ หรือเพราะอะไร ถ้าในอนาคตเมื่อมีคนใช้ แล้วเมื่อไรเขาจะมาให้บริการหรือพร้อมที่จะมีบริการให้เมื่อไร"
รวมทั้งการสร้างสรรค์แนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดรับกับการมีสะพานมิตรภาพและศักยภาพของจังหวัด ซึ่งควรต้องกระตุ้นให้นักธุรกิจในจังหวัดตระหนักถึงเรื่องนี้
มิใช่มองว่ามีอะไรที่คนอื่นทำแล้วได้กำไรดีก็ไปทำตาม
ตัวอย่างแนวคิดเหล่านี้ที่สุวิทย์ยกขึ้นมา อาทิ
- ทุกวันนี้อาหารทะเลในจังหวัดนครพนมยังเป็นการนำเข้ามาจากกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่นครพนมอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลเวียดนามเพียง 300 กิโลเมตร ดังนั้นน่าที่จะทำให้จังหวัดนี้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าอาหารทะเลให้กับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน โดยมีการลงทุนสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่ ให้สามารถจัดเก็บอาหารทะเลไว้ได้นาน
- บริษัทนำเที่ยวท้องถิ่น ปัจจุบันส่วนใหญ่จัดแพ็กเกจทัวร์ที่หวังจะนำคนไทย ออกไปเที่ยวยังลาวและเวียดนาม น่าจะมีการคิดตรงกันข้าม โดยจัดแพ็กเกจหาจุดดึงดูดใหม่ๆ ที่สามารถนำนักท่องเที่ยวชาว เวียดนามเข้ามาเที่ยวในไทยให้มากขึ้น
- การที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมของ สปป.ลาว น่าจะมีการเปิดสัมปทานเดินรถโดยสารใหม่ๆระหว่างประเทศ เช่น นครพนม-เว้ หรือนครพนม-ดานัง ผ่านเส้นทางหมายเลข 12
- การมีสนามบินที่ได้มาตรฐานน่าจะมีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ เส้นทาง สั้นๆ เช่น นครพนม-เว้, นครพนม-เวียง จันทน์ เหมือนที่สายการบินแห่งชาติลาว เพิ่งเปิดเส้นทางบินระหว่างอุดรธานีกับหลวงพระบางไปเมื่อเร็วๆ นี้ เขาเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางบินที่ประสบผลสำเร็จ
ฯลฯ
"ผมคิดจะจัดเวทีพูดคุยหรือสัมมนา เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่ง ของบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยควรจะทำ" เขาให้ข้อสรุป
หลายคนเชื่อว่าการมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า จะยกระดับบทบาทของจังหวัดนครพนมขึ้นเป็น gateway หรือประตูที่เปิดออกไปสู่ประเทศในกลุ่มอินโดจีนที่แท้จริง
แต่จะทำอย่างไรเล่า ที่จะไม่ให้ gateway ที่เปิดขึ้นมานี้เป็นเพียงแค่ประตู ทางผ่าน
เสียงสะท้อนจากสถาบันวิชาการ โดยเฉพาะเป็นสถาบันที่อยู่ในท้องถิ่นใกล้ชิดข้อมูลมากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่น่าจะต้องนำมาพิจารณา
เป็นโจทย์ใหญ่ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีให้คิด
|
|
|
|
|