|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไปเยือนจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2550 กล่าวประโยคที่มีความหมายขึ้นมาประโยคหนึ่งต่อหน้าประชาชนที่ไปต้อนรับว่า "ต่อจากนี้ไป นครพนมจะไม่ใช่เป็นเพียงจังหวัดก้นซอย หรือจังหวัดชายขอบอีกต่อไปแล้ว"
เหตุผลที่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวประโยคดังกล่าวออกมา เนื่องจากรัฐบาลไทยและ สปป.ลาว ได้ตกลงที่จะให้มีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ขึ้นที่ จ.นครพนม
สะพานแห่งนี้เป็นการเปิดประตูให้ จ.นครพนมสามารถเชื่อมต่อโครงการเส้นทางคมนาคมทางบกเข้าไปในสปป.ลาว และสามารถทะลุออกสู่ทะเลได้ที่เวียดนาม
จาก จ.นครพนม เมื่อข้ามสะพานไปแล้วสามารถวิ่งต่อไปถึงชายฝั่งทะเลเวียดนามได้ โดยใช้ระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร
ถือเป็นเส้นทางเชื่อมการคมนาคมระหว่าง 3 ประเทศที่สั้นที่สุด สั้นกว่าเส้นทางหมายเลข 9 จาก จ.มุกดาหาร เมื่อข้ามจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ลงไปแล้วเกือบครึ่ง
สะพานมิตรภาพที่นครพนมเป็นสะพานที่เชื่อมถนนเรียบแม่น้ำโขง 2 สายของ 2 ประเทศเข้าด้วยกัน คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ในฝั่งไทยกับเส้นทางหมายเลข 13 หรือถนนเหนือ-ใต้ ของฝั่งลาว
จากจุดก่อสร้างสะพานเมื่อไปบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 13 ผู้ใช้ทางมีถนนให้เลือกถึง 2 สายด้วยกันเพื่อวิ่งตัดข้ามระหว่างชายแดนไทย-ลาวกับชายแดนลาว-เวียดนาม
เส้นทางแรก หลังจากลงจากสะพานในฝั่ง สปป.ลาวแล้ว เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 13 ขึ้นเหนือ จะพบกับ 3 แยกบ้านเหล่า ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางหมายเลข 13 กับเส้นทางหมายเลข 8A
ถ้าผู้ใช้ทางวิ่งขึ้นเหนือต่อไปตามถนนหมายเลข 13 ก็จะไปถึงนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว
แต่หากจะไปเวียดนามต้องเลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข 8A ที่ 3 แยกนี้
ถนนหมายเลข 8A ซึ่งวิ่งไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเป็นถนนลาดยาง 2 เลนอย่างดี มีทัศนียภาพข้างทางที่สวยงาม เชื่อมระหว่างแขวงคำม่วนกับแขวงบอลิคำไซ
ที่เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ ถนนหมายเลข 8A จะแยกออกเป็น 2 สาย สายหลักยังมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก เพื่อต่อไปยังชายแดนลาว-เวียดนาม อีกสายหนึ่งจะแยกขวาลงมาทางใต้ เพื่อมาบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 12 ที่เมืองยมราช
จุดกึ่งกลางของถนนหมายเลข 8A ช่วงที่ลงใต้มาเชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 12 ระหว่างเมืองหลักซาวกับเมืองยมราช คือที่ตั้งของเขื่อน และโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ของไทยเป็นผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้างและดำเนินงาน และคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปีนี้ (2552)
หากเขื่อนน้ำเทิน 2 เปิดใช้งาน จะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในลาวขณะนี้
จากถนน 8A สายหลักที่มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก จะไปถึงชายแดนลาว-เวียดนาม โดยฝั่งลาวมีด่านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง ชื่อว่าด่านน้ำพาว ขณะที่ฝั่งเวียดนามจะมีด่านชื่อด่านเก่าแตรว
เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้วก็วิ่งต่อไปตามถนนสาย 8A ในฝั่งเวียดนาม ซึ่งเป็นเส้นทางลาดยาง 2 เลน และมีทัศนียภาพสวยงามเช่นกัน
ถนนเส้นนี้จะไปบรรจบกับถนนหมายเลข 15 (ถนนโฮจิมินห์) ถ้าเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางเหนือ จะผ่านเมืองวิงห์ (เงอานห์) ขึ้นไปถึงกรุงฮานอย แต่หากเลี้ยวขวาลงมาทางใต้จะมีจุดบรรจบกับทางหลวงเอเชียสาย 1A จุดแรกที่ที่สามแยกฮองลินห์ เมืองฮาตินห์
ถนนสาย 1A เป็นถนนเรียบชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกของเวียดนาม เชื่อมตั้งแต่ภาคเหนือ ลงมาถึงภาคใต้ และเป็นเส้นทางตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Corridor) เพราะทางเหนือสามารถทะลุไปถึงมลฑลกว่างสีของจีน ส่วนทางใต้จะวิ่งผ่านกรุงโฮจิมินห์ ซิตี้ และต่อเข้าไปถึงกัมพูชาที่จังหวัดสวายเรียง
เมืองฮาตินห์ซึ่งถนนสาย 15 จะตัดกับเส้นทางสาย 1A จุดแรกเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่สวยงาม มีท่าเรือสำคัญชื่อว่าท่าเรือหวุงอ๋าง
หากวิ่งตามถนนสาย 1A ผ่านเมืองฮาตินห์ลงมาทางใต้เรื่อยๆ จนถึงเมืองกวางบิงห์ จะมีจุดที่ถนนสาย 1A จะบรรจบกับถนนสาย 15 อีกครั้งที่ 3 แยกไปฟองยา
เมื่อเลี้ยวขวาวกกลับเข้าถนนสาย 15 ที่ 3 แยกแห่งนี้ และวิ่งขึ้นไปทางเหนือ จะพบกับ 3 แยกแคแว ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนสาย 15 กับถนนสาย 12 ซึ่งสามารถเชื่อมกลับไปถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของ สปป.ลาวได้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งก็คือเส้นทางสายที่ 2 ที่ผู้ใช้ทางสามารถใช้เชื่อมการเดินทางจากประเทศไทยผ่านลาวเข้าไปสู่เวียดนามได้ หลังจากข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จากฝั่งไทยมาแล้ว
โดยเมื่อผู้ใช้ทางข้ามสะพานมาจนถึงถนนสาย 13 แล้ว แทนที่จะเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางเหนือเพื่อใช้เส้นทางสาย 8A ก็เปลี่ยนมาเป็นเลี้ยวขวาลงมาทางใต้ ตามเส้นทางหมายเลข 13 เพียงไม่กี่กิโลเมตรก็จะพบกับ 3 แยก ที่เส้นทางหมายเลข 13 ตัดกับเส้นทางหมายเลข 12
เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 12 วิ่งไปทางทิศตะวันออกก็จะผ่านเมืองยมราช ซึ่งเป็นจุดที่เส้นทางสาย 8A สายที่ 2 ที่ตัดจากเมืองหลักซาว ผ่านเขื่อนน้ำเทิน 2 ลงมาบรรจบกับเส้นทางเส้นนี้
เมื่อวิ่งผ่าน 3 แยกที่เมืองยมราชต่อไปทางทิศตะวันออกเรื่อยๆ ก็จะมาถึงพรมแดนลาว-เวียดนาม โดยด่านศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองทางฝั่งลาว มีชื่อว่า ด่านนาเพ้า ส่วนด่านฝั่งเวียดนามมีชื่อว่า ด่านจาลอ
หลังผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านพรมแดน วิ่งมาตามถนนหมายเลข 12 มุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออกในเขตเวียดนามเรื่อยๆ ก็จะพบกับ 3 แยกแคแว ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนสาย 15 ดังที่ได้กล่าวถึงไว้แล้วก่อนหน้านี้
เมื่อมองภาพใหญ่ โครงข่ายถนนที่ถูกสร้างไว้พร้อมแล้วสำหรับรองรับการเปิดสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 จะมีลักษณะคล้ายกับตาราง 4 เหลี่ยม 4 ตาราง ที่เชื่อมต่อกันได้หมด (รายละเอียดดูจากแผนที่ประกอบ)
มีทางหลวงแผ่นดินสาย 212 ฝั่งไทย เส้นทางหมายเลข 13 กับเส้นทางสาย 8A ที่เชื่อมระหว่างหลักซาวกับเมืองยมราช ในฝั่ง สปป.ลาว และเส้นทางสาย 15 และ 1A ในฝั่งเวียดนาม ที่เป็นเส้นทางจากเหนือลงใต้ขนานกัน
และมีถนนสาย 8A เส้นหลักกับถนนสาย 12 ที่วิ่งตัดขวางจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก
หากวัดระยะทางนับจากลงจากสะพานมิตรภาพทางฝั่ง สปป.ลาว ไปตามถนนทั้งสาย 8A และสาย 12 จะใช้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ จะถึงพรมแดนลาว-เวียดนาม เมื่อเข้าไปภายในเวียดนามแล้ว จะใช้ระยะทางอีกประมาณ 100 กิโลเมตรเศษเท่านั้น จากด่านชายแดน เพื่อไปถึงชายฝั่งทะเลและท่าเรือ
ถือเป็นโครงค่ายคมนาคมที่น่าจะมีบทบาทสำคัญ ทั้งทางด้านการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ในอนาคต
|
|
|
|
|