Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2552
"คำม่วน" ชุมทางใจกลาง Land Link             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

สะพานสู่ชุมทาง GMS
นครพนม Gateway ตัวจริง?
แหล่งผลิตนักบินพาณิชย์ป้อนประเทศอินโดจีน

   
search resources

Commercial and business
International
Greater Mekong Subregion




การพัฒนาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นใน "คำม่วน" แขวงที่อยู่กึ่งกลางและเป็นส่วนที่แคบที่สุดของ สปป.ลาว ได้สะท้อนบทบาทสำคัญสอดรับกับนโยบายทำให้ลาวเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย และยกระดับจากประเทศที่ถูก land lock สู่การเป็น land link ที่สมบูรณ์แบบ

"คำม่วน" ถือเป็นแขวงหนึ่งในภาคกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในแขวงนี้ดูจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีระดับหนึ่ง

หากสังเกตจากตึกรามบ้านช่อง เฉพาะที่เห็นในเมืองท่าแขก เมืองหน้าด่าน ริมแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว ที่อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนมของไทย บ้านเรือนหลายหลังที่ปลูกสร้างในเมืองนี้เรียกได้ว่าเป็นน้องๆ คฤหาสน์หลังใหญ่ของบรรดาเศรษฐีในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

ปัจจุบันในเมืองท่าแขกยังคงมีการก่อสร้างถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องและอาคารพาณิชย์ตั้งแต่ระดับตึกแถว ไปจน ถึงอาคารขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ถ้าเฝ้ามองจากริมโขงฝั่งนครพนม ตั้งแต่รุ่งสาง จะเห็นแพขนานยนต์บรรทุก รถบรรทุกปูนซีเมนต์จากฝั่งไทย เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างในฝั่งลาว ปริมาณการบรรทุกแต่ละครั้งเที่ยวละ 4-5 คัน และตลอดวันมีการลำเลียงรถขนปูนซีเมนต์ข้ามฝั่งอย่างต่อเนื่องจนถึงเย็น

ไม่รวมการขนส่งสินค้าอื่นๆ อาทิ วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงผู้โดยสารทั่วไปจากเรือข้ามฟาก ที่เริ่มต้น ตั้งแต่รุ่งสางจนเกือบพลบค่ำเช่นกัน

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือการขนส่งปูนซีเมนต์จากฝั่งไทยเพื่อนำไปใช้ในลาว โดยเฉพาะในแขวงคำม่วนนี้แสดงให้ เห็นถึงความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในภาคกลางของ สปป.ลาวที่มีสูงมาก เพราะว่าใน แขวงคำม่วนเองเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในลาว มีกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี (รายละเอียดจะกล่าว ถึงต่อไป)

มองจากริมแม่น้ำโขงฝั่งนครพนม จะเห็นอาคารขนาดใหญ่สูง 5 ชั้น ตัวตึกทา สีขาว เด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางทิวเขา ซึ่งเป็นฉากหลังของริมแม่น้ำฝั่งเมืองท่าแขก

อาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงแรม Riveria โรงแรมห้าดาว สูง 5 ชั้น 63 ห้อง พัก ตั้งอยู่ติดกับท่าเรือโดยสาร ท่าเรือขนส่ง สินค้า และด่านศุลกากรเมืองท่าแขก

โรงแรมนี้ดำเนินการโดยบริษัท GL Group ซึ่งทำธุรกิจโรงแรม และกาสิโนในเกนติ้ง ไอส์แลนด์ มาเลเซีย ได้ร่วมทุนกับบริษัท Lao SV Group เข้ามาปรับปรุง โรงแรมคำม่วน (Khammouan Hotel) เดิม และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Riveria


ถือเป็น 1 ในเครือข่ายโรงแรม และสถานบันเทิงของกลุ่ม GL Group ทุนจากมาเลเซีย นอกจากในมาเลเซียแล้วกลุ่มนี้ยัง มีโรงแรมอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ กรุงโฮจิมินห์ ซิตี้ สาธารณรัฐเวียดนาม และกัมพูชา

นอกจากเปิดเป็นที่พักของผู้เดินทาง ไม่ว่าเพื่อการท่องเที่ยว หรือติดต่อธุรกิจแล้ว บนชั้น 2 ของโรงแรมยังเปิดเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับความตื่นเต้นของนักแสวงโชคที่เดินทางข้ามไปจากฝั่งไทย

อัตราค่าเข้าพักของโรงแรม Riveria ตกคืนละ 200,000-300,000 กีบ หรือเท่ากับ 800-1,200 บาทต่อห้อง

เช่นเดียวกับเมืองหน้าด่านริมแม่น้ำโขงของไทยกับลาวอีกหลายแห่ง เมื่อมองจากตัวเมืองนครพนมออกไปจะเห็นเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดข้ามแม่น้ำโขง แสดง สัญลักษณ์ของความเป็น "แบตเตอรี่ของเอเชีย" ที่ สปป.ลาวได้นิยามตัวเองเอาไว้ เพราะถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำคัญที่ขายไฟฟ้าให้กับฝั่งไทยจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า หลายแห่งที่ได้มีการก่อสร้างอยู่ในประเทศนี้

ตามแผนของกระทรวงพลังงาน สปป.ลาว มีแผนที่จะก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศต่างๆ ที่อยู่รายรอบ สปป.ลาว ถึง 144 เขื่อน

แขวงคำม่วนเป็นที่ตั้งของเขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศอีกเช่นกัน "อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของแขวงคำม่วนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 9-10% ต่อปี" คำใบ ดำลัด เลขาธิการพรรคประจำ แขวง และเจ้าแขวงคำม่วน บอกกับ "ผู้จัด การฯ" เป็นตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ

การที่คำม่วนเป็นแขวงที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเช่นนี้มีสาเหตุ สำคัญมาจากการเป็นแขวงที่ตั้งของโครงการ ลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง

ในจำนวนนี้มี 2 แห่งที่เป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

แห่งแรกคือโครงการก่อสร้างเขื่อน และโรงงานผลิตไฟฟ้าน้ำเทิน 2 โครงการนี้มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาล สปป.ลาว ลงทุนในสัดส่วน 25% ส่วนที่เหลืออีก 75% เป็นการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบด้วย Electricite de France (EDF) ถือหุ้น 35% การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 25% และบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล ลอปเม้นท์ ถือหุ้น 15%

เขื่อนน้ำเทิน 2 ตั้งอยู่บนถนนหมาย เลข 8A อยู่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 250 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2547 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดเดินเครื่องได้ในปลายปีนี้ (2552) มีกำลังผลิตรวมปีละ 995 เมกะวัตต์

ตามข้อตกลงว่าด้วยการซื้อไฟ (Power purchasing agreement: PPA) กฟผ.จะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้ปีละ 920 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้เข้า สปป.ลาว 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลืออีก 75 เมกะวัตต์ สำหรับใช้ภาย ใน สปป.ลาว

อย่างไรก็ตาม ช่วง 10 ปีแรกรัฐบาล สปป.ลาวถือหุ้นในสัดส่วน 25% จากนั้นจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 47% ในสิ้นปี 2576 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดการให้สัมปทาน โดยในปี 2577 รัฐบาล สปป.ลาวจะมีกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในโครงการซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสปป.ลาวมีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่

โครงการที่ 2 คือโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี ดำเนินการโดยบริษัทชิโน ไฮโดร คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ซึ่งมีความชำนาญในการสร้างเขื่อน

โดยภายใน สปป.ลาวนั้น นอกจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่คำม่วนแล้ว ชิโน ไฮโดรยังได้รับสัมปทานในการสร้างเขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้าอีกหลายแห่ง อาทิ โรงไฟฟ้าน้ำอู เขื่อนปากลาย โครงการน้ำงึม 5 ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนฮัดจี เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 800-2,000 เมกะวัตต์ ในแม่น้ำสาละวินของพม่า

จากการที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ทำให้ปูนซีเมนต์ตราวัวกระทิงที่ผลิตได้จากโรงงานในแขวงคำม่วน นำไปใช้ในการก่อสร้างเขื่อน เป็นหลัก รวมถึงการก่อสร้างสนามกีฬาอีกหลายแห่งในนครเวียงจันทน์ เพื่อรองรับการ เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาซีเกมส์ของลาวในปลายปี 2552 ทำให้กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ จากโรงงานแห่งนี้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

การก่อสร้างในแขวงคำม่วนหลายโครงการ จึงยังจำเป็นต้องนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยผ่านทางจังหวัดนครพนม ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น

ปัจจุบันโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งนี้ ได้รับการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตขึ้นเป็น 2 ล้านตันต่อปี โดยอยู่ระหว่างการสำรวจผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หาแหล่งวัตถุดิบ และการจัดหาแหล่งพลังงานหลักที่นำมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ คือ ถ่านหิน จากปัจจุบันที่ต้องใช้ถ่านหินในการผลิตปูนซีเมนต์ถึง ปีละ 1.3 แสนตัน เป็นการนำเข้าจากเวียดนามทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการส่วนขยายจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2552 หรือต้นปี 2553

นอกจากโครงการน้ำเทิน 2 และโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทชิโน ไฮโดร ดังกล่าวแล้ว ในแขวงคำม่วนยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ อีก อาทิ

โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า จากเขื่อนไฟฟ้าเทิน-หินบุน จากปีละ 210 เมกะวัตต์ เป็นปีละ 500 เมกะวัตต์

โครงการนี้ดำเนินการโดยบริษัทเทิน-หินบุน เพาเวอร์ บริษัทร่วมทุนระหว่างการไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว (Electricite du Laos- EdL), Nordic Hydropower AB จากประเทศ นอร์เวย์ และบริษัทจี เอ็ม เอส ลาว ในเครือ บริษัทเอ็ม.ดี.เอ็กซ์.ของไทย โดยได้รับสัมปทาน แบบ build-own-operate-transter (BOOT) จาก สปป.ลาวเป็นระยะเวลา 30 ปี เริ่มผลิต กระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่เดือนเมษายน 2541

โครงการส่วนขยายกำหนดลงมือก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 และจะแล้วเสร็จสามารถจ่ายกระแสไฟได้ในปี 2554 โดยกำลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 500 เมกะวัตต์ จะถูกขายให้กับ กฟผ. 440 เมกะวัตต์ อีก 60 เมกะวัตต์จะขายให้กับการไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว

ส่วนขยายของโครงการโรงไฟฟ้าเทิน-หินบุน ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินของไทย และต่างประเทศรวม 8 แห่ง นำโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) คิดเป็นวงเงิน กู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 187.5 ล้านดอลลาร์ และสกุลเงินบาท 13,940 ล้านบาท และมีพิธีเซ็นสัญญาเงินกู้ก้อนนี้ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551

โครงการขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง คือโครงการเหมืองแร่โปแตช โดย สปป.ลาว ได้ให้สัมปทานกับกลุ่มทุนจากจีนที่เข้ามาสำรวจพบแหล่งแร่โปแตช บริเวณเมืองหนองบกกับเมืองท่าแขก และเตรียมที่จะลงมือสร้างเหมืองที่มีกำลังการผลิตปีละ 2 ล้านตัน

นอกจากนี้ บริเวณรอยต่อทางตอนใต้ ของแขวงคำม่วนกับแขวงสะหวันนะเขต ยัง มีการสำรวจพบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ ที่ สปป.ลาวได้ให้สัมปทานกับกลุ่มทุนจากเวียดนามเข้ามาสำรวจเพื่อก่อสร้างเหมือง โดยเริ่มสำรวจไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบัน ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีให้เป็นผู้ออกแบบตัวเหมืองที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อีกพื้นที่หนึ่งในช่วงรอยต่อระหว่างแขวงคำม่วนกับแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นบริเวณที่ติดกับเมืองเซโปน เหมืองทองคำขนาดใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ในแขวงสะหวันนะเขต ที่ดำเนินการโดยบริษัท Oxiana จากออสเตรเลีย ยังมีการสำรวจพบ แหล่งสินแร่เหล็กขนาดใหญ่ และสปป.ลาวก็ได้ให้สัมปทานกับกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาขุด และตั้งโรงงานถลุงแร่เหล็กในบริเวณนี้ไปแล้ว คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้างโรงงาน

พื้นที่ทางตอนเหนือช่วงรอยต่อระหว่างแขวงคำม่วนกับแขวงบอลิคำไซ บริษัทโอจิจากญี่ปุ่น ได้เข้ามารับสัมปทานปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส คิดเป็นเนื้อที่รวม 16,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์=6.25 ไร่) โดยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในแขวงคำม่วน

อย่างไรก็ตาม บริษัทโอจิมีความต้องการพื้นที่ปลูกสวนป่าสูงถึง 50,000 เฮกตาร์ ได้เตรียมขยายไปขอสัมปทานจากแขวงสาละวัน อยู่ห่างจากแขวงคำม่วนลงไปทางใต้เลยแขวงสะหวันนะเขตลงไปอีก

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ต้องขยายพื้นที่ปลูกไปไกลถึงขนาดนั้นเพราะพื้นที่ในแขวง สะหวันนะเขตที่ติดกับแขวงคำม่วน มีบริษัท แอดวานซ์ อะโกรของไทย ผู้ผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียนยี่ห้อดั๊บเบิ้ลเอได้รับ สัมปทานปลูกป่ายูคาลิปตัสไปแล้วคิดเป็นพื้นที่ 10,000 เฮกตาร์ ในนามบริษัทไชโยเอเอ ตั้งแต่ปี 2549 รวมถึงกลุ่มเบอร์ล่า กรุ๊ปจาก อินเดีย ก็ได้รับสัมปทานปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตไปแล้วเช่นกัน (รายละเอียดอ่าน "โอกาสของธุรกิจไทย ในแนวเส้นทางหมายเลข 9" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com)

บริษัทโอจิมีแผนจะสร้างโรงงานผลิต เยื่อกระดาษจากไม้ยูคาลิปตัส บริเวณริมถนน หมายเลข 12 ในแขวงคำม่วน คาดว่าจะเริ่ม ก่อสร้างโรงงานในปี 2553 ผลผลิตเยื่อกระดาษจากโรงงานแห่งนี้จะส่งออกผ่านทาง ท่าเรือในประเทศเวียดนาม

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแขวงคำม่วนนี้ นอกจากจะมีสาเหตุมาจากในแขวงคำม่วนเป็นแหล่ง ที่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเนื่องมาจากภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางประเทศ และมีโครงข่ายคมนาคมที่สามารถ เชื่อมต่อออกไปได้ในหลายพื้นที่ของ สปป. ลาว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะโครงข่ายถนนซึ่งจะครบวงจรมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครพนมกับแขวงคำม่วนแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ไม่เกินปี 2555

"การสร้างสะพานทำให้เห็นความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างเมืองท่าแขก กับนครพนม เพราะจุดนี้ถือเป็นจุดแคบของ ลาว ระยะทางไม่ไกลจากท่าเรือหวุงอ๋างของเวียดนาม จากนี้ไปไม่เกิน 300 กิโลเมตร ทั้ง 2 รัฐบาลจึงวางให้จุดนี้เป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างลาวกับไทย รวมถึง เวียดนามและจีนจนถึงอินเดีย เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าการลงทุนจากต่างประเทศที่อยู่ในแขวงคำม่วนนี้จึงมีมาก โดยเฉพาะทางด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ" เจ้าแขวงคำม่วนอธิบาย (อ่านเรื่อง "สะพาน สู่ชุมทาง GMS" และเรื่อง "เส้นทางสู่ทะเลเวียดนามที่สั้นที่สุด" ประกอบ)

นอกจากโครงข่ายถนนแล้วปัจจุบันสปป.ลาวกำลังมีแผนก่อสร้างโครงข่ายทางรถไฟ โดยยึดตามแผนแม่บทที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เคยศึกษาเอาไว้

โครงข่ายดังกล่าวจะมีการเชื่อมต่อทางรถไฟจาก สป.จีน ผ่านมายังเวียดนาม ต่อไปถึงกัมพูชา โดยทางรถไฟเส้นนี้จะมีจุดที่แยกขวาวิ่งมาทางตะวันตกเข้า สปป.ลาว โดยมีปลายทางที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟสายเหนือจากคุนหมิงผ่านทางแขวงหลวงน้ำทา ลงมาถึงนครเวียงจันทน์ และจากเวียงจันทน์ ผ่านลงมาเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายตะวันออกที่เมืองท่าแขก และต่อลงไปทางใต้ถึงชายแดนลาว-กัมพูชา

จากโครงข่ายนี้เมื่อสร้างเสร็จแขวงคำม่วนโดยเฉพาะในเมืองท่าแขก จะกลาย เป็นชุมทางรถไฟที่สำคัญ ที่สามารถเดินทาง หรือขนส่งสินค้าไปได้ทั้งทางเหนือสู่ สป.จีน ทางตะวันออกสู่เวียดนาม และทางใต้สู่กัมพูชา เหลือทางตะวันตกเท่านั้นที่ยังไม่มีทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาสู่ประเทศไทย

ทางรถไฟสายแรกระหว่างลาวกับไทย ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เริ่มทดลองเดินรถเมื่อกลาง ปี 2551 คือทางรถไฟจากจังหวัดหนองคาย ไปยังท่านาแล้ง เหลือระยะทางอีกไม่ถึง 10 กิโลเมตรก็จะเข้าสู่นครเวียงจันทน์

"เราคาดว่าจะมีการสร้างทางรถไฟ จากหนองคายมาถึงนครพนม เพื่อรับกับโครงข่ายทางรถไฟในลาวนี้ด้วย หลังจากสร้างทางรถไฟจากหนองคายไปถึงเวียงจันทน์แล้ว เพราะจะทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้า และการเดินทางลดลงไปได้มาก" เจ้าแขวงคำม่วนตั้งความหวัง

การที่เป็นแขวงซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางประเทศ มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และเป็นจุดศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมทั้งทางถนนและรถไฟ ทำให้แขวงคำม่วนมีความโดดเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

เพราะเป็นจุดรวมศูนย์ของโครงข่ายการคมนาคมที่ตั้งอยู่ใจกลางของ สปป.ลาว ประเทศที่กำลังยกระดับตนเองจากพื้นที่ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ไปสู่การเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ (Land Link) การคมนาคมขนส่งของผู้คนที่อาศัยอยู่ใน 6 ประเทศของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้สามารถเดินทางไปมาหากันได้โดยสะดวก

แขวงคำม่วนจึงเป็นแขวงที่มีศักยภาพ ลงทุนสูงที่สุดที่นักลงทุนชาวไทยน่าจะต้องพยายามเจาะเข้าไปยึดพื้นที่เอาไว้ให้ได้ เพราะไทยมีความได้เปรียบที่อยู่ใกล้ที่สุด มีเพียงแม่น้ำโขงที่ขวางกั้นระหว่างนครพนม กับแขวงคำม่วนเอาไว้เท่านั้น

อีกไม่กี่ปีสะพานที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้กับทั้ง 2 พื้นที่ก็กำลังจะเปิดใช้แล้ว

แต่จะมีโครงการลงทุนอะไรบ้างที่ยังเหลือให้คนไทยสามารถเข้าไปมีบทบาท ได้อีก!!!

จะลงทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือ? จากข้อมูลที่คำใบ ดำลัด เจ้าแขวง คำม่วน เล่าให้ "ผู้จัดการฯ" ฟัง ดูเหมือนทุนจากชาติยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะ สป.จีนได้เข้าไปรับสัมปทานเอาไว้เกือบหมดแล้ว

หรือการลงทุนทางด้านการเกษตร ซึ่งจากฐานข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) ของไทย เคยทำไว้ ระบุว่า แขวงคำม่วนเป็นแขวงหนึ่งใน สปป. ซึ่งมีศักยภาพการลงทุนด้านการปลูกยางพารา หรือการทำคอนแทค ฟาร์มมิ่ง

"รัฐบาลลาวก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนทางด้านเกษตรกรรมและการ ชลประทานอยู่เหมือนกัน แต่ปัญหาสำคัญสำหรับในแขวงคำม่วนก็คือ ที่ดินแปลงใหญ่ๆ ปัจจุบันไม่มีเหลือแล้ว เพราะได้ให้สัมปทานการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ไปหมดแล้ว ที่ดินที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ เป็นที่ในเขตอนุรักษ์ หรือเป็นไร่นาของชาวบ้าน พื้นที่ว่างมีอยู่กระจัดกระจาย เป็นแปลง เล็กๆ" เป็นคำตอบที่เจ้าแขวงคำม่วนให้ไว้ค่อนข้างชัดเจน

ต้องยอมรับว่าด้วยนโยบายที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดความชัดเจนในช่วง หลายปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสไป มากที่จะเข้าไปมีบทบาทในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งๆ ที่โดยสภาพภูมิศาสตร์ ไทย น่าจะมีความได้เปรียบ เพราะตั้งอยู่ใจกลาง เป็นเหมือนไข่แดงของอนุภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม เจ้าแขวงคำม่วนได้ชี้ให้เห็นช่องทางการลงทุนที่เหลืออยู่ในแขวงคำม่วนกับ "ผู้จัดการฯ" ว่า ปัจจุบันโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ยังเปิดอยู่คือเรื่องของการค้า บริการ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

"เรื่องการท่องเที่ยวถือเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งของแขวงคำม่วน"

จากการก่อสร้างโครงข่ายถนนที่สปป.ลาวทำมาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในแขวงคำม่วนหลายแห่ง ที่สำคัญ อาทิ บริเวณป่าสงวน ที่เมืองนากาย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ เดินทางเข้าไปเยี่ยมชม ปัจจุบันเริ่มมีผู้ลงทุน ก่อสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว

นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวจากเมืองท่าแขกไปยังเมืองหินบุน และเมืองนากาย ซึ่งสามารถต่อไปได้ถึงประเทศเวียดนาม ในเส้นทางนี้ได้มีการค้นพบถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งหนึ่ง มีความลึกของถ้ำยาวเข้าไปในภูเขาถึง 7 กิโลเมตร

ถือเป็นลักษณะของถ้ำที่มีเพียงไม่กี่แห่งในโลกนี้

ในการพัฒนาถ้ำแห่งนี้ แขวงคำม่วน กำลังเดินสายไฟให้แสงสว่างกับนักท่องเที่ยว ภายในถ้ำ แต่เพิ่งทำไปได้เพียง 1.6 กิโล เมตรแรก ที่คาดว่าจะเสร็จในเดือนมกราคม 2552 ส่วนที่เหลือจะค่อยๆ ดำเนินการต่อไปที่เมืองหินบุนยังมีป่าสงวนหินบุน ซึ่งเป็นป่าหินขนาดใหญ่คล้ายๆ กับป่าหินในเมืองคุนหมิง มลฑลหยุนหนัน ของ สป.จีน แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์

นอกจากนี้ยังมีถ้ำพระ เพิ่งค้นพบเมื่อ ปี 2547 ในเมืองท่าแขก เป็นถ้ำธรรมชาติ ที่ภายในบรรจุไว้ด้วยพระพุทธรูปขนาดต่างๆ จำนวนกว่า 200 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้าง ไว้เมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ปัจจุบันยังไม่ทราบประวัติความเป็นมาว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างไว้เพื่อวัตถุประสงค์ประการใด

ในเมืองท่าแขกยังมีสวนดอกไม้ขนาด ใหญ่ให้คนเข้าไปเดินชมได้ภายในวัดพระยาศรีโคตรบูร ซึ่งเป็นชื่อของอดีตเจ้าผู้ครอง นครศรีโคตรบูร กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสกลนคร นครพนม มาจนถึงเมืองท่าแขกเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน

ถือเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจทั้งสิ้น

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวโดยตรงอีกอย่างหนึ่ง คือโรงแรม ปัจจุบันโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของแขวงคำม่วน มีเพียงโรงแรม Riveria แห่งเดียว ดังนั้นโอกาสสำหรับการลงทุนสร้างโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นภายหลังเปิดใช้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ยังคงมีอยู่

"ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว ยังเปิดอยู่ โดยในเมืองท่าแขกมีแผนจะให้มีการก่อสร้าง โรงแรมขึ้นมาอีก" เจ้าแขวงคำม่วนย้ำ

"ทุกวันนี้เราก็พยายามพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานของเมือง มีการก่อสร้างถนนหนทางต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนด้านนี้"

บริเวณทางลงจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ที่บ้านเวินใต้ ห่างจากเมืองท่าแขกขึ้นไปทางเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ปัจจุบันแขวงคำม่วนกำลังเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากเป็นที่ดินที่ไม่มีการพัฒนาหรือไม่ได้ใช้ทำประโยชน์

การเวนคืนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ริมถนน หมายเลข 13 ลึกเข้าไปจนสุดชายฝั่งแม่น้ำโขง ยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร

แขวงคำม่วนมีแผนจะรวบรวมที่ดินให้ได้ประมาณ 50-60 เฮกตาร์ หรือประมาณ 400 ไร่ เพื่อเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างศูนย์พาณิชยกรรมและศูนย์การค้า เพื่อรองรับการเดินทางของผู้คนที่จะเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากได้เปิดใช้ สะพานไปแล้ว

แขวงคำม่วนตั้งงบประมาณสำหรับการเวนคืนครั้งนี้ไว้ที่ 1,200 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้านบาท ปัจจุบันใช้เงินในการเวนคืนที่ดินไปแล้วประมาณ 600 ล้านกีบ หรือประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ยังเหลือที่ดินเวนคืนเพิ่ม ซึ่งต้องใช้เงินอีกประมาณ 600 ล้านกีบ เมื่อรวบรวมที่ดินได้ครบแล้ว จะเปิดให้นักลงทุน ที่สนใจยื่นโครงการเข้ามาเพื่อขอรับสัมปทาน

ปัจจุบันมีนักลงทุนหลายรายเริ่มแสดงความสนใจและเข้าไปสอบถามรายละเอียดจากแขวงคำม่วนบ้างแล้ว

ที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 จากจังหวัดนครพนม ไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ล่าช้าออกไปด้วยเหตุที่ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นมากในปีที่แล้ว ทำให้ยังไม่ได้ผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่คาดว่าการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้ข้อสรุปภายในปี 2551 สามารถวางศิลาฤกษ์ และเริ่มต้นก่อสร้างสะพานได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2552

โครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี หรืออย่างช้าไม่เกินปี 2555 ก็สามารถเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้

ระหว่างที่การก่อสร้างสะพานกำลังเดินหน้าไปนั้น หากมีคนที่มองเห็นโอกาส ย่อมไม่อาจนิ่งเฉยที่จะเข้ามาในพื้นที่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คงต้องมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างมากในบริเวณนี้

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครพนม

เพราะถ้ามองจากมุมมองของนักลงทุนชาวไทย จังหวัดนี้กำลังกลายเป็นหัวเมืองหน้าด่านที่โดดเด่นขึ้นมาในภาคอีสาน เพราะเป็นประตูที่เปิดให้การค้า การลงทุน สามารถวิ่งเข้า สู่ชุมทางการคมนาคมขนส่ง ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ด้วยบทบาทนี้อาจทำให้ความหมายของคำขวัญที่เขียนอยู่บนป้ายต้อนรับผู้เดินทาง ที่กำลังจะเข้าสู่ตัวเมืองนครพนม ที่ว่า "ยินดีต้อนรับสู่นครพนม เมืองน่าอยู่ คู่สัมพันธ์อินโดจีน" นั้น เป็นความหมายที่ตื้นเขินไปเลยทันที

เพียงแต่ว่าใครจะมองเห็นโอกาส และสามารถแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ก่อนกัน

หรือไม่มีใครมองเห็นเลย...?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us