|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ช่วงสิบแปดเดือนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าน่าจะได้ชื่อว่าเป็นช่วงแห่งการเลือกตั้งสากลเพราะมีทั้งการเลือกตั้งในออสเตรเลีย เดนมาร์ก และไทย ในช่วงปลายปี 2007 และช่วงต้นถึงกลางปี 2008 ก็มีการเลือกตั้งของภูฏาน เขมร มาเลเซีย และรัสเซีย ส่วนในช่วงปีนี้กำลังจะมีการเลือกตั้งของอินเดีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี แต่ไม่มีการเลือกตั้งไหนที่คนให้ความสำคัญเท่ากับการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนทำให้การเลือกตั้งของประเทศอื่นๆ ดูเป็นเรื่องเล็กทีเดียว อย่างไรก็ตามสามวันหลังจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดลง ประเทศนิวซีแลนด์ก็เข้าสู่การเลือกตั้งเช่นกันในวันที่ 8 พฤศจิกายน
การเลือกตั้งนั้นคือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ปราศจากความรุนแรงและถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ผมเชื่อว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนในโลกประชาธิปไตย ผมได้มีโอกาสเข้าไปศึกษากับพรรค National Party of New Zealand หรือแปลเป็นไทยว่าพรรคชาตินิวซีแลนด์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในตอนนั้นและมีเป้าหมายคือการชนะเลือกตั้ง นโยบายหลักของพรรคเนชั่นแนลคือ การลดภาษี อุ้มธุรกิจทุกขนาด เน้นความเป็นระเบียบในสังคม เน้นการประหยัดและมีจุดเด่นทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ขณะที่พรรคแรงงานของนายกรัฐมนตรี เฮเลน คล้าก ตอนนั้นมีจุดเด่นคืออนุรักษ์ธรรมชาติ สวัสดิการสังคม ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นภาษีบุคคลและธุรกิจ เพื่อเอาเงินไปทำประชานิยม นอกจากนี้ยังเน้นสิทธิมนุษยชนจนเกินขอบเขตในบางครั้ง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาครอบคลุมไปถึงอาชญากรให้ประกันตัวง่ายมาก รวมถึงห้ามผู้ปกครองตีลูกหลานของตนเอง ถ้าทำร้ายบุตรหลานรัฐตำรวจจะนำพ่อแม่ที่ตีลูกไปดำเนินคดีทางกฎหมาย
การหาเสียงในนิวซีแลนด์นั้นทำกันง่ายๆ ไม่ หวือหวาแบบในบ้านเรา ไม่มีการปราศรัยใหญ่ แต่โดยมากเน้นการเข้าไปเคาะประตูบ้าน แจกในปลิว ติดป้ายหาเสียง โทรศัพท์หาผู้มุ่งหวัง และเน้นการไปตามที่ชุมชนเพื่อแจกใบปลิวและจับมือกับประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้จะมีการตั้งบูธตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย และการไปร่วมงานต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ส่วนการแถลงนโยบายนั้นอาจจะทำกันหลายๆ พรรคโดยจัดที่โรงแรมโดยเทศมนตรีซึ่งจะเชิญทุกพรรคเข้าร่วมและให้ผู้สนใจมาลงชื่อเพื่อให้ทางผู้จัดคัดเลือกและเชิญมาร่วมงาน ภายในทีมงานย่อมมีการเตรียมการด้านนโยบายและ แผนการปราศรัยรวมถึงการผลักดันผู้สนับสนุนให้ไปร่วมงาน คนที่มาร่วมจากพรรคต่างๆ จะเป็นปัญญาชนที่อาจจะคิดต่างกันแต่ไม่ได้แปลว่าคิดผิด ทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเองเห็นด้วย เพราะผมเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของความหลากหลายทางความคิดและผลประโยชน์
นอกจากระบบเลือกตั้งของนิวซีแลนด์ที่แตกต่างจากบ้านเราแล้ว การดำเนินการเลือกตั้งค่อนข้าง แตกต่างเพราะกระทำกันค่อนข้างหละหลวม ในเขตเลือกตั้งหนึ่งๆ ประชาชนสามารถไปลงคะแนนที่คูหาใดก็ได้ โดยนำเอาบัตรเลือกตั้งที่ออกโดย กกต. ไปแสดงเพื่อขอรับบัตรเลือกตั้ง เมื่อรับบัตรแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะประทับบัตรเลือกตั้ง แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีบัตรเลือกตั้งและสามารถใช้ใบขับขี่เพื่อรับบัตรเลือกตั้ง ทำให้ผมสงสัยจึงถามเจ้าหน้าที่ว่าหละหลวมขนาดนี้ถ้ามีคนวิ่งรอกทีเดียวห้าหกคูหาจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่า กกต.จังหวัดตอบผมว่าทำได้แต่พอหลังเลือกตั้งจะมีการตรวจรายชื่อจาก กกต.กลาง เขาก็ยืนยันว่าคนนิวซีแลนด์ส่วนมากมีความซื่อสัตย์ อาจจะมีคนทำแบบนี้บ้างแต่ก็มีน้อยมาก เมื่อทำก็จะโดนตำรวจจับ หลังจากนั้นสถานเบาก็โดนปรับ สถานหนักคือวิ่งหลายคูหาก็ติดคุก
อย่างไรก็ตาม ที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกประเด็น หนึ่งคือการป้องกันการเวียนเทียนด้วยการมีตำแหน่ง ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยผู้สังเกตการณ์นั้นไม่ได้มาจากองค์กรอิสระแต่จะมาจากพรรคการเมือง โดยเป็นสมาชิกพรรคแต่ไม่ได้เป็นผู้สมัครหรือเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยทุกพรรคจะแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ไว้คนหนึ่งในทุกๆ คูหา โดยมีการเปลี่ยนกะ ทุกๆ สามชั่วโมง บรรดาผู้สังเกตการณ์นั้นจะแต่งตัว ตามสีของพรรคเช่นพรรคเนชั่นแนลสีน้ำเงิน พรรคแรงงานสีแดง และจะมีป้ายสีขาวเขียนชื่อและตำแหน่ง ผู้สังเกตการณ์คู่กับโรเซท ซึ่งเป็นริบบิ้นสีขาวและสีของพรรคโดยมีตราของพรรคอยู่ตรงกลาง
ผู้สังเกตการณ์จะเป็นกลุ่มเดียวที่สวมตราของ พรรคได้ โดยมีหนังสือรับรองจากพรรคและกระทรวงยุติธรรม แต่มีกฎเหล็กอยู่อย่างหนึ่งว่าห้ามพูดกับใคร ทั้งสิ้นในคูหาเลือกตั้ง ยกเว้นแต่พูดกับ กกต. เพื่อหลีกเลี่ยงการชี้นำ หน้าที่ของผู้สังเกตการณ์มีสามอย่างคือ หนึ่งคือจับตาฝั่งตรงข้ามว่าไม่ได้เข้าหาผู้มา ลงคะแนน ไม่มีการซื้อเสียงในคูหา หรือหาเสียงในคูหา สองคือ จับตา กกต.ว่า ไม่ลำเอียง ทุกคนจะมีสมุดจดความประพฤติของ กกต. ถ้า กกต.พูดชี้นำ ไม่ว่าจะชื่อพรรคใดก็ตามหรือแม้แต่มีการชี้แนะเรื่อง โนโหวต ผู้สังเกตการณ์จะแจ้งไปที่หัวหน้า กกต. ในคูหาให้ลงโทษ หากไม่ลงโทษ ผู้สังเกตการณ์จะสามารถแจ้ง กกต.กลาง หรือทางพรรคเพื่อทำการประท้วงให้ลงโทษ กกต. ดังนั้น กกต.จะระวังตัวกันมาก ถ้ามีใครถามวิธีเลือกตั้ง กกต.มีหน้าที่แค่บอกว่าบนบัตรเลือกตั้งมีสองมุม มุมแรกเลือกพรรค มุมที่สองเลือก ส.ส. หน้าที่ที่สามคือ จับตาผู้มาลงคะแนน เพราะถ้ามีใครเอาบัตรเลือกตั้งที่กาไว้แล้วมาโชว์ ผู้สังเกตการณ์สามารถแจ้งให้จับผู้กระทำผิดและบางครั้งสามารถฟ้องร้องให้คะแนนของพรรค ที่ออกมาทำอย่างนั้นเป็นโมฆะในคูหาได้
บรรดา ส.ส. และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนิวซีแลนด์นั้นจะไม่มาลงคะแนนในวันเลือกตั้ง แต่จะมาลงคะแนนล่วงหน้า เพราะการที่ผู้สมัครไปโชว์ตัวในวันเลือกตั้งถือเป็นการชี้นำเช่นกัน ดังนั้นก่อนการเลือกตั้งจริง บรรดา ส.ส. ผู้สมัคร กกต. ผู้สังเกต การณ์ต่างจะมาลงคะแนนล่วงหน้าโดยให้เหตุผลว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และจนกระทั่งปิดหีบ บรรดาผู้สมัครจะไม่โผล่มาที่ทำการพรรค แต่จะเก็บตัวเงียบอยู่ที่บ้าน
นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ห้ามทำ Exit Poll ดังนั้น ถ้ามีนักข่าวไปทำแบบในอเมริกา ทางผู้สังเกตการณ์สามารถดำเนินคดีกับนักข่าวได้ พูดง่ายๆ คือ ในคูหาเลือกตั้งห้ามพูดชื่อพรรค ห้ามพูดชื่อผู้ลงสมัคร ห้ามถามความเห็นกัน ดังนั้น บรรดาเว็บไซต์ ทีวีทุกช่อง ที่เกี่ยวกับข่าวการเมืองจะต้องหยุดการนำเสนอโพล หรือข่าวหรือแนวคิดการเมือง ตั้งแต่หนึ่งทุ่มวันศุกร์จนกระทั่งปิดหีบคือหนึ่งทุ่มวันเสาร์ ผมคิดว่าแนวคิดที่ดีของนิวซีแลนด์มีไม่น้อยนะครับ เพราะถ้าวันเลือกตั้งไม่ให้นักการเมืองมาใช้สิทธิในวันนั้น ก็จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่ถูกชี้นำเพราะแรงกดดันจากคนในคูหา ถ้าไม่มีการทำข่าวจนกระทั่งปิดหีบ ก็จะไม่มีข่าวที่อาจจะทำให้ประชาชนไขว้เขว ถ้าไม่มีการเสนอโพล หรือข้อมูลจนกระทั่งปิดหีบก็จะลดการชี้นำได้มาก รวมทั้งการให้พรรคการเมืองต่างๆ มาจับตาการซื้อเสียงกันเองย่อมสร้างความกดดันและลดการทุจริตในวันเลือกตั้งได้มาก ผมมองว่าการเลือกตั้งของนิวซีแลนด์อาจจะหละหลวมแต่เพราะว่าประเทศของเขามีคนที่รักษาระเบียบวินัยและละอายต่อบาป ในทางกลับกันกฎหมายของเขาลงโทษคนที่กระทำผิดรุนแรง ทำให้ไม่มีคนกล้าทำผิด
เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงบรรดาผู้ลงสมัครถึงจะมาปรากฏตัวที่ทำการพรรคในเมืองนั้นๆ เพื่อลุ้นผลคะแนนยกเว้นแต่บรรดาหัวหน้าพรรคที่ต้องลุ้นที่บ้านจนนับคะแนนเป็นที่เรียบร้อย ในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของนิวซีแลนด์ ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเฮเลน คล้าก เข้าป้องกัน ตำแหน่งเป็นครั้งที่สี่ พรรคแรงงานไม่เคยทำสี่สมัย ติดกันได้มาก่อน ในทางกลับกันพรรคเนชั่นแนลได้ผู้นำหนุ่มไฟแรง จอห์น คีย์ ซึ่งเป็นที่นิยมของบรรดาคนหนุ่มสาวจำนวนมาก นอกจากนี้สีสันในการเลือกตั้งยังมีพรรคกรีน ซึ่งมีนโยบายธรรมชาตินิยมแต่เสียศูนย์ไปรวมตัวกับสังคมนิยมจนซ้ายตกขอบ พรรคแอคที่มาจากกลุ่มนายทุนเหลืออดกับรัฐบาลเอียงซ้าย จึงตั้งพรรคทุนนิยมตกขอบออกมาสู้ นอกจากนี้ยังมีพรรคเมารีที่เรียกร้องสิทธิของตนเองและพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สที่มีชื่อจากนโยบาย เหยียดสีผิว นำโดยแมวเก้าชีวิตทางการเมือง วินสตัน ปีเตอร์
ผลการแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือดเมื่อพรรคเนชั่นแนลเป็นม้าตีนต้นออกนำทีเดียว 18% โดยทิ้งห่างพรรคแรงงานขาดลอย แต่การเลือกตั้งในนิวซีแลนด์นั้นคะแนนจากคูหาแรกๆ มักจะมาจากทางคูหาเล็กๆ ในต่างจังหวัดที่เชียร์พรรคฝ่ายขวา เพราะการเลือกตั้งคราวก่อนพรรคฝ่ายค้านก็ออกนำ 8% ก่อนมาแพ้ที่ 1% พอเวลาผ่านไปสองชั่วโมงคะแนนเสียงจากคูหาเมารีซึ่งหนุนรัฐบาลกับเขตชุมชนแออัดเริ่มเข้ามา เสียงของรัฐบาลไล่ตีตื้นกันเป็นลำดับช่วงพ้น 50% ฝั่งรัฐบาลเริ่มเพิ่มขึ้นมาตามที่ 13% ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่ศึกษาการเลือกตั้งจะพบว่าพรรคฝ่ายซ้ายสามารถไล่ฝ่ายขวาหลังจุด 50% ซึ่งสามารถบวกลบถึง 9% ทำให้ฝ่ายค้านต้องมานั่งลุ้น ส.ส.เขต เพื่อดูคะแนนนิยม ซึ่งการเลือกตั้งคราวก่อนฝ่ายค้านและรัฐบาลได้ ส.ส.เขตไปคนละครึ่ง แต่เมื่อพ้นจุด 80% คะแนนฝ่ายค้านเริ่มคงตัวโดยทิ้งรัฐบาลที่ 11.5% ข่าว ส.ส.เขตเข้ามาในทิศทางของฝ่ายค้าน ส.ส.หนุ่มของพรรคเนชั่นแนลไล่ตีรัฐมนตรีตกเก้าอี้ไปเป็นแถว ทำให้แนวโน้มของฝ่ายค้านดีขึ้น
ที่ผมดีใจที่สุดคือ หัวหน้าพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์ส ที่โดดเด่นด้วยนโยบายเหยียดสีผิวมาอย่างยาว นานและเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสอบตกในเมืองเทารังกา เพราะชาวเมืองต่างหันหลังให้นโยบายเหยียดสีผิวและเลือกเด็กหนุ่มไลฟต์การ์ดโนเนมวัย 32 ปี จากพรรคชาติให้เป็น ส.ส.เรียกว่า หักปากกา เซียนการเมืองทั่วนิวซีแลนด์ ถึงขนาดหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า วินสตัน ปีเตอร์ จบชีวิตที่ 9 ทางการเมือง ซึ่งเป็นการปิดฉากนโยบายและพรรคเหยียด สีผิวในนิวซีแลนด์อย่างถาวร
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการคือพรรคฝ่ายค้านกวาด 59 จาก 122 เก้าอี้ รัฐบาลแรงงานได้เพียง 43 ประเพณีคือการออกมาของ หัวหน้าพรรคเล็กต่างๆ เพื่อแถลงแนวทางของพรรค พรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สกลายเป็นดาราเพราะสอบตกยกพรรคขณะที่ช่วงเฟื่องฟูนั้นเคยเป็นตัวแปรทาง การเมืองมาถึงสองทศวรรษด้วย ส.ส. 13-17 คน เป็นการปิดฉากที่สะใจบรรดาสมาชิกพรรคเนชั่นแนล ผมจำได้ว่าที่ทำการพรรคต่างโห่ร้องยินดีต่อการสูญพันธุ์ของพรรคเหยียดสีผิว เพราะพรรคเนชั่นแนลมีจุดขายคือสังคมที่เท่าเทียมกันและเป็นพรรคแรกที่มี ส.ส.เอเชียเข้าสภา การเลือกตั้งหนนี้ได้ ส.ส.เอเชียเชื้อสายจีนกับเกาหลีและอินเดียเข้ามาสามคน
นอกจากนี้คือพรรคกรีนได้ร่ายยาวด่าพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายขวา และยื่นข้อเสนอว่าจะร่วมรัฐบาลถ้าไม่มีพรรคแอค ด้านพรรคแอคก็ออกมา แถลงนโยบายว่าเป็นพันธมิตรกับพรรคชาติมานานกว่าสิบปีแล้วจะร่วมรัฐบาลโดยต้องไม่มีกรีน ผมเชื่อว่าฝรั่งเขามีข้อดีอย่างหนึ่งคือเกลียดใครก็เกลียด จริงไม่มีตีสองหน้า ส่วนพรรคเมารีก็ยื่นข้อเสนอร่วม รัฐบาลแต่ขอดูแลกระทรวงเมารี เรียกได้ว่าไม่มีแอบงุบงิบเจรจากันแบบแบ่งเค้ก ใครอยากได้อะไรก็บอกกันตรงๆ ผ่านสื่อ
เมื่อพรรคเล็กผ่านไป พรรคแรงงานได้ออกทีวีก่อนเพราะพรรคที่แพ้ต้องออกมายอมแพ้ตามประเพณี ผมชื่นชมฝรั่งตรงที่เขามีน้ำใจนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะ ก่อนออกทีวีนายกรัฐมนตรีเฮเลน คล้ากได้โทรไปแสดงความยินดีกับจอห์น คีย์ ก่อนที่จะออกจากบ้านไปสำนักงานใหญ่ของพรรค เมื่อขึ้นสู่เวที นายกฯ หญิงแกร่งจากเมืองกีวีได้ประกาศยอมแพ้และแสดงความยินดีกับผู้ชนะ ก่อนที่จะรักษาประเพณี คือ นายกฯ ที่เสียตำแหน่งต้องก้าวลงจาก ตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลิกเล่นการเมือง ผมต้อง ยอมรับว่าสปิริตของผู้นำฝรั่งนั้นสูงมาก เขามีความรับผิดชอบสูง และยุติบทบาทการเมือง
ถ้าท่านผู้อ่านจำได้จะเห็นว่า จอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษก็วางมือหลังแพ้โทนี่ แบลร์ เจนนี่ ชิพเล่ย์ ก็วางมือหลังจากที่แพ้เฮเลน คล้าก จอห์น โฮเวิร์ดก็ยอมแพ้และวางมือหลังแพ้เควิ่น รัธ ดังนั้นนายกรัฐมนตรี เฮเลน คล้าก ก็แสดงความรับผิดชอบแบบเดียวกัน เมื่อฝ่ายที่แพ้ออกมายอมแพ้แล้วก็ถึงเวลาของจอห์น คีย์ ซึ่งจะออกจากบ้านหลังจากที่เฮเลน คล้าก กล่าว สุนทรพจน์จบเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสฟังคำปราศรัยของฝ่ายที่แพ้ก่อน เมื่อมาถึงที่ทำการพรรคตามประเพณีของฝรั่งย่อมไม่มีการทับถมกัน เพราะถ้าคู่แข่งเป็นผู้แพ้ที่ดี ผู้ชนะที่ดีต้องเป็นผู้ชนะที่ดีโดยให้เกียรติผู้แพ้ จอห์น คีย์ เริ่มจากการขอบคุณผู้สนับสนุนและทีมงาน ก่อนขอบคุณเฮเลน คล้ากและกล่าวชื่นชมการทำงานตลอด 9 ปีของคู่แข่ง ก่อนที่จะประกาศนโยบาย โดยพรรคชาติยอมรับข้อเสนอของพรรคแอคและพรรคเมารี
ผมได้ข้อคิดจากการเลือกตั้งในนิวซีแลนด์หลายข้อทั้งความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ การมีน้ำใจนักกีฬา การให้เกียรติผู้อื่น และความโปร่งใส ผมขอยืมสโลแกนทางการเมืองของพรรคแรงงานและพรรคเนชั่นแนลมาใช้ โดยพรรคแรงงานเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส ขณะที่พรรคเนชั่นแนลเชื่อว่าการเมืองคือเรื่องของการทำเพื่อส่วนรวม และการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าเอาแนวคิดของทั้งสองพรรคมาใช้กับการเมืองไทยว่า การเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นการทำเพื่อส่วนรวมด้วยความน่าเชื่อถือและโปร่งใส ผมเชื่อว่าการเมืองไทยคงจะสมบูรณ์แบบได้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
|
|
|
|
|