|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คงไม่แปลกหากนายกรัฐมนตรี Angela Merkel แห่งเยอรมนี จะรู้สึกเหมือนว่าเธอกำลังถูก "ล้อมกรอบ" ผู้นำหญิงของเยอรมนีกำลังถูกรุมตำหนิทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้ที่ตำหนิติเตียนเธอมีตั้งแต่สมาชิกภายในพรรคของเธอ สื่อและนักเศรษฐศาสตร์ภายในเยอรมนี ตลอดจนผู้นำชาติเพื่อนบ้านในยุโรป พวกเขาเห็นว่าเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุดในยุโรป แต่กลับรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษด้วยความเชื่องช้าและเฉื่อยชา
ในการแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค Christian Democratic Party ของ Merkel ที่เมือง Stuttgart เมื่อเดือนที่แล้ว Merkel คัดค้านอย่างไม่สะทกสะท้านต่อเสียงเรียกร้องระเบ็งเซ็งแซ่ให้เยอรมนีลดภาษีให้มากกว่านี้ รวมทั้งเพิ่มการใช้จ่าย ภาครัฐให้มากกว่านี้ "เราจะไม่เข้าร่วมในการแข่งขันที่ต้องทุ่มเงิน นับพันๆ ล้านอย่างไร้เหตุผล" Merkel ยืนกรานหนักแน่น "เราจะต้องมีความหาญกล้าที่จะว่ายทวนกระแส" ก่อนหน้านั้น Merkel ก็เพิ่งแถลงต่อ Bundestag หรือรัฐสภาของเยอรมนีว่า เธอรู้สึกวิตกอย่างมากว่า นโยบายลดดอกเบี้ยจนต่ำเตี้ยติดดิน และการที่ รัฐบาลประเทศต่างๆ ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งกำลัง เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ นั้น จะเป็นการทำผิดซ้ำสอง และจะยิ่งส่งผลซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก
ความวิตกของผู้นำหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ซึ่งได้รับการตอกย้ำซ้ำๆ จาก Peer Steinbruck รัฐมนตรีคลังผู้ทรงอำนาจของเธอ อาจเป็นถ้อยคำแห่งปัญญาหรือเป็นเพียงการพลั้งปากก็ได้ ภายใต้การรุมเร้าของวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อน ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ แม้กระทั่งจีนต่างเห็น ไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจขาลงครั้งนี้จำเป็นต้องใช้นโยบายที่ไม่ปกติธรรมดา จึงออกมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐที่พวกเขาเชื่อว่า จะช่วยประชาชนและธุรกิจให้ฝ่าคลื่นลมมรสุมทางเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ แต่เยอรมนีกลับเป็นผู้นำกลุ่มประเทศอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีน้อยกว่ากลุ่มแรก โดยกลุ่มหลังนี้รวมถึงโปแลนด์และเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ปฏิเสธความรุนแรงของวิกฤติครั้งนี้ ทว่ากลับให้น้ำหนักกับค่าใช้จ่ายมหาศาลที่รัฐบาลจะต้องเสียไปมากกว่าประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเพิ่มการใช้จ่าย
ในขณะที่วิกฤติครั้งนี้ยังมีสภาพเหมือนหมอกที่ยังไม่อาจประเมินความร้ายแรงให้เห็นได้อย่างชัดเจน จึงยังยากที่จะบอกได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ นี่มิใช่เป็นเพียงการถกเถียงกันว่านโยบายของใครจะได้ผล หากแต่เป็นการวัดกัน ว่าใครจะมีอิทธิพลและเงินมากกว่ากัน โดยมี Merkel โปแลนด์และเดนมาร์กอยู่ฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายตรงข้ามคือผู้นำฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี ซึ่งกำลังเรียกร้องความช่วยเหลือ (และเงิน) จากเยอรมนี โดยขอให้เยอรมนีเห็นแก่ส่วนรวมคือยุโรปทั้งมวล
ขณะที่ยุโรปยังเถียงกันเองไม่จบอยู่นั้น วิกฤติก็ยังคงลุกลามไม่หยุด ในสหรัฐฯ ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของภาคบริการตกฮวบ ลงจนถึงระดับที่บ่งชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของ สหรัฐฯ อาจกำลังติดลบในอัตราสูงถึง 3% ต่อปี และคนตกงานมากถึงกว่า 650,000 คนต่อเดือน ส่วนเศรษฐกิจของชาติยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันหรือเขตยูโรโซนได้เข้าสู่ภาวะถดถอยไปเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะติดลบ 2.7% ต่อปีในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (51) และเมื่อมาตรการฉุกเฉินกอบกู้ธนาคารและนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยกลับล้มเหลวในการฟื้นเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินเหมือนอย่างที่เคยทำได้ในอดีต ทำให้ Rob Vos หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสหประชาชาติเชื่อว่า ผลผลิตทั่วโลกจะติดลบในปีนี้ (52) ซึ่งจะนับเป็นการหดตัวของผลผลิตทั่วโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี จนแม้กระทั่งองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังเลิกพูดถึงวินัยการคลังที่ยึดถือมาตลอด แต่กลับกระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่เยอรมนีกลับเลือกที่จะถอยหลังออกห่างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวันที่ Merkel แถลงต่อที่ประชุมพรรคของเธอที่ Stuttgart นั้น การเมืองเบื้องหลังการถกเถียงเรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังร้อนแรงเต็มที่ในที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปที่ Brussels และในการประชุมดังกล่าว เยอรมนีปฏิเสธอย่างไม่แยแส ต่อคำเรียกร้องของ Giulio Tremonti รัฐมนตรีคลังอิตาลี ที่ขอให้ เพื่อนร่วมเขตยูโรโซนช่วยให้เงินอิตาลีแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐที่กำลังท่วมหัว อิตาลีเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยสัดส่วนหนี้ที่สูงถึง 107% ของ GDP อันเป็นผลมาจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลอิตาลีและนโยบายปฏิรูปที่ล้มเหลวมานานหลายทศวรรษ ทำให้หนี้ของอิตาลีแพงเกินกว่าที่จะจ่ายได้ เพราะว่าค่าชดเชยความเสี่ยง (risk premium) ของอิตาลีและประเทศอื่นๆ ใน EU ที่มีเศรษฐกิจอ่อนแออย่างเช่นกรีซ พุ่งกระฉูดในเดือนที่แล้ว
จุดยืนที่แตกต่างของเยอรมนีได้รับการสนับสนุนจากเดนมาร์ก ซึ่งกล่าวตำหนินายกรัฐมนตรี Gordon Brown แห่งอังกฤษ ที่ตัดสินใจลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลง 2.5% เป็นเวลา 13 เดือน เพื่อกระตุ้นให้ชาวอังกฤษใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า โดยเดนมาร์กกล่าวโจมตีนโยบายของอังกฤษว่าเป็นหนึ่งใน "5 วิธีที่แย่ที่สุด" ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เดนมาร์กไม่ได้บอกว่าที่เหลืออีก 4 วิธีนั้นคืออะไรบ้าง แต่น่าจะรวมถึงข้อเสนอของฝรั่งเศสที่เสนอให้ยกเลิก VAT ให้แก่ร้านตัดผมและร้านกาแฟ ซึ่งก็ถูกเยอรมนี เดนมาร์ก และพวกคัดค้านเช่นกัน
ทำไมเยอรมนีจึงต้องถูกกดดันอย่างหนักให้ลงมือช่วยให้มากกว่านี้ เศรษฐกิจเยอรมนีอยู่ในสภาพที่ดีกว่าเพื่อนร่วมทวีปมากนัก เยอรมนีไม่มีฟองสบู่ตลาดสินเชื่อหรือตลาดที่อยู่อาศัย การจ้างงานยังคงดีจนน่าประหลาดใจ และงบประมาณของรัฐอยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนียังมี "คลังกระสุน" เหลือเฟือที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก เมื่อเทียบกับรัฐบาลชาติอื่นๆ ในยุโรปด้วยกันที่ใกล้จะหมดกระสุนเต็มที แต่เยอรมนีโอดครวญว่า ตนกำลังถูกลงโทษจากการที่สามารถควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างสมดุล แต่กลับต้องมาถูกประเทศที่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจนงบประมาณขาดดุลอย่างอิตาลีและฝรั่งเศสมาแบมือขอความช่วยเหลือเอาอย่างง่ายๆ
เยอรมนีอ้างว่าได้ออกมาตรการหลายอย่างที่ตัวเองเห็นว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว และมีมูลค่ารวมถึง 31,000 ล้านยูโร ได้แก่การเพิ่มเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กและการให้บริษัท หักลดหย่อนด้านการลงทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐกิจ และพรรคฝ่ายค้าน Free Democrats ของเยอรมนีเองชี้ว่า แทบไม่มีมาตรการใดเลยข้างต้นที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของคนเยอรมันได้จริงๆ นอกจากนี้ เยอรมนียังมีกำหนดจะขึ้นภาษีรายได้ และภาษีอื่นๆ แต่รัฐมนตรีคลังเยอรมนีก็ยังคงปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปว่า เยอรมนีไม่เห็นด้วยและจะไม่เข้าร่วมในสงครามที่แข่งขันกันว่า ใครจะจ่ายมากกว่ากัน
สิ่งที่ Merkel ให้ความสำคัญดูเหมือนจะเป็นเรื่องการวางกฎเกณฑ์ใหม่มากกว่า เธอเสนอให้จัดทำข้อตกลงระดับโลก คล้ายๆ กับที่ประเทศทั่วโลกเคยทำสนธิสัญญาเกียวโตเพื่อลดโลกร้อนร่วมกันมาแล้ว ซึ่งเธอเรียกมันว่าข้อตกลง "โครงสร้างทางการเงินใหม่ของโลก" และกำลังพยายามอย่างหนักที่จะชักจูงจีน อินเดีย และมหาอำนาจเกิดใหม่อื่นๆ ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แม้ว่าความคิดของ Merkel ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่ระเบียบการเงินโลกใหม่ที่มีหลายขั้วอำนาจ ในอนาคตซึ่งอาจจะดีกว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า ข้อเสนอดังกล่าวของเธอจะสามารถช่วยผ่อนคลาย วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร และไม่ชัดเจนด้วยว่า หากข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่มักพบบ่อยๆ จากการพยายามทำข้อตกลงแบบนี้ นั่นคือข้อตกลง ทำนองนี้มักจะเป็นการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต แต่ไม่อาจจัดการปัญหาที่จะเกิดในวันพรุ่งนี้ได้ อย่างคราวนี้ก็เช่นกัน ดูเหมือนว่าผู้นำเยอรมนีจะสนใจที่จะหาทางควบคุมกองทุนเก็งกำไร hedge fund เป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่กองทุนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้
ความจริงยังมีทางอื่นที่เยอรมนีอาจจะสามารถช่วยผ่อนคลายวิกฤติครั้งนี้ได้มากกว่านี้ อย่างที่กำลังถูกเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ แม้กระทั่งภายในเยอรมนีเอง Merkel เป็นฝ่ายถูกที่สังเกตเห็นความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งนำมาสู่วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น ในทุกวันนี้ เธอมักจะเตือนเสมอถึงปัญหาการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ และการใช้จ่ายที่เกินตัว รวมทั้งการเป็นหนี้เป็นสินมากเกินไปของผู้บริโภคอเมริกัน อย่างไรก็ตาม เยอรมนีรวมถึงจีน คือผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากกระแสการบริโภคและการลงทุนที่เกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ทั่วโลก ในขณะที่การบริโภค ของชาวเยอรมันเองกลับมีน้อยมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้เมื่อผู้บริโภคอเมริกันต่างรัดเข็มขัดตัดรายจ่ายและจ่ายหนี้กันจนแทบหน้ามืด ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง แต่สามารถจะชดเชยได้ ถ้าหากผู้บริโภคในประเทศอย่างเยอรมนีจะยอมเริ่มควักกระเป๋าซื้อสินค้าบ้าง ดังนั้นการออกนโยบายที่จะช่วยโยกย้าย อำนาจในการซื้อไปสู่ชาวเยอรมันและผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ที่มีดุลการค้าเกินดุล อย่างเช่นการออกนโยบายลดภาษี ก็อาจจะมีส่วนช่วยฟื้นสมดุลให้แก่เศรษฐกิจโลกได้ในโลกยุคหลังวิกฤติครั้งนี้
แต่การที่ Merkel เลือกเดินไปในเส้นทางที่ตรงข้ามกับคนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เยอรมนีจะมีการเลือกตั้งในเดือนกันยายนปีนี้ การลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายในขณะนี้ อาจทำลาย ความสำเร็จที่รัฐบาลของเธอภาคภูมิใจนักหนาไปได้ นั่นคือการสามารถควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้สมดุล หาก Merkel ตัดสินใจลดภาษีในตอนนี้ เธอและ Steinbruck รัฐมนตรีคลังของเธอ ก็อาจเสี่ยงต่อการถูกมองว่าไม่มีน้ำยาได้ ถ้าหากการว่าง งานที่คาดกันว่าจะพุ่งสูงขึ้นในเยอรมนี เกิดขึ้นจริงๆ ในต้นปีนี้ หรือก่อนเลือกตั้งในเดือนกันยายน เช่นเดียวกัน การที่เยอรมนีจะผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ในตอนนี้ ก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลืมไปอย่างรวดเร็ว เพราะอาจถูกกลบด้วยการที่ Barack Obama จะประกาศเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งคงจะทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีหรือชาติอื่นๆ ในยุโรปดูเล็กกระจ้อยร่อยไปถนัดตา
นอกจากนี้ สไตล์การทำงานแบบสุขุมรอบคอบไม่กระต่าย ตื่นตูมของ Merkel ยังกำใจชาวเยอรมัน และเธอเป็นผู้นำที่จัดว่าได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนสูงที่สุดคนหนึ่งในบรรดาผู้นำชาติตะวันตกทั้งหมด ทำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวเยอรมันมีความเชื่อมั่นว่า สิ่งใดที่ Merkel ได้ตัดสินใจทำ น่าจะเป็น การเดินมาถูกทางแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกคำถามที่ถามหาความเป็นผู้นำในยามวิกฤติวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งอาจนับว่าเป็นวิกฤติของทุนนิยมโลก แต่ในสายตาของผู้นำยุโรปแล้ว อาจนับว่าเป็นยุคทองสำหรับทุนนิยมแบบยุโรป ซึ่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับตลาดน้อยกว่าสหรัฐฯ และยังเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมมากกว่า แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยุโรปดูเหมือนจะต้องต่อสู้กันเองภายใน เยอรมนีซึ่งมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมากกว่าใครๆ อย่างชัดเจน และยังเป็นมหาอำนาจการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดูเหมือนจะอยู่ในฐานะที่ดีที่สุด ที่อาจจะช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันภายในยุโรปในการรับมือวิกฤติครั้งนี้ เพราะว่าเยอรมนี ก็เช่นเดียวกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและต้องการให้เศรษฐกิจโลกมีสุขภาพดี ระบบการเงินมีเสถียรภาพ และมีตลาดที่เปิดและเสรี แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าเยอรมนีกลับไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำ และกลับรับมือกับวิกฤติครั้งนี้อย่างระมัดระวังมากโดยไม่ค่อยกระตือรือร้นนัก นักวิเคราะห์การเมืองในเยอรมนีเองชี้ว่า ทั้ง Merkel, Steinbruck (รัฐมนตรีคลังเยอรมนี) และ Frank-Walter Steinmeier รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีจะไม่มีใครที่จะก้าวออกมาและบอกว่าพวกเราควรจะทำอะไรอย่างที่ใครๆ กำลังคาดหวังว่าเยอรมนีจะทำเช่นนั้น
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน คงยากที่จะมีนักการเมืองคนใดที่จะกล้าออกมาต่อต้านแรงกดดันมหาศาลของเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง Steinbruck เรียกอย่างล้อเลียนว่า "แผนกู้เศรษฐกิจ อันยิ่งใหญ่" หรือกล้าต่อต้านแรงกดดันภายในพรรคการเมืองของตัวเอง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดหีบเงินโดยไม่คำนึงเลยว่า มาตรการการคลังจะใช้ได้ผลหรือไม่และจะทำให้เป็นภาระแก่รัฐบาลมากเพียงใด ในท่ามกลางเสียงระดมยิงปืนใหญ่ของการที่ประเทศต่างๆ แข่งขันกันประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินมหาศาลไม่เว้นแต่ละวันนั้น บางทีการค่อยๆ เพิ่มมาตรการ ช่วยเหลือแบบอนุรักษนิยมอย่างสม่ำเสมอของเยอรมนี อย่างที่ Steinbruck เปรียบเทียบว่า เป็นเพียงแค่เสียงเล็กๆ ที่อาจไม่มีใครได้ยินท่ามกลางเสียงระดมยิงปืนใหญ่นั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและมีประโยชน์มากที่สุดเท่าที่เยอรมนีจะสามารถทำได้แล้วในยามนี้
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 15 ธันวาคม 2551
|
|
|
|
|