คาดว่าดูไบจะฝ่าวิกฤติไปรอดด้วยความมีวิสัยทัศน์ ซึ่งเคยส่งให้ดูไบก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้และจะนำพาดูไบให้เดินหน้าต่อไป
งานเปิดตัวโรงแรม Atlantis สุดหรูที่ตั้งอยู่บนเกาะรูปต้นปาล์มของดูไบ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ อาจทำให้รู้สึกว่าชนชั้นสูงของดูไบกำลังสำเริงสำราญ ทั้งๆ ที่ไฟกำลังไหม้บ้านคนอื่น อย่างไรก็ตาม แทบว่ายังไม่ ทันที่ทางโรงแรมจะเปลี่ยนผ้าปูนอนในห้องพักแขกที่เพิ่งกลับไปหลังจากร่วมงานปาร์ตี้เสร็จดี Nakheel Properties รัฐวิสาหกิจของดูไบซึ่งเป็นผู้พัฒนาโรงแรมหรูแห่งใหม่นี้ ก็ประกาศปลดพนักงานถึง 15% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เศรษฐกิจของดูไบซึ่งขับเคลื่อนด้วยราคาน้ำมันแพงและสินเชื่อที่ได้มาโดยง่าย กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไม่ต่างอะไรกับที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทว่าการจะสรุปว่าดูไบ กำลังจะล่มสลาย คงจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป
มีหลายเหตุผลที่ดูไบจะไม่ล่มสลาย ประการแรก ดูไบใหญ่ เกินกว่าที่จะล้ม ดูไบเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE และได้รับการหนุนหลังอย่างสุด ตัวจากรัฐที่ใหญ่ที่สุดของ UAE คือ อาบูดาบี ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่ง สำรองน้ำมันที่สูงถึงเกือบ 1 แสนล้านบาร์เรล และยังมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ที่มีเงินทุนเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่เคยมีใครรู้อย่างชัดเจนว่า ความเจริญ รุ่งเรืองที่เกิดขึ้นในดูไบซึ่งไม่มีน้ำมันเป็นของตัวเองเลยนั้น เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากอาบูดาบีมากเพียงใด เจ้าหน้าที่ดูไบพยายามยืนยันว่า ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหมดของดูไบเป็นฝีมือของพวกเขาล้วนๆ แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดคือ ดูไบสำคัญต่อ UAE เกินกว่าที่บรรดาผู้นำของ UAE จะปล่อยให้ดูไบล้มไปได้
เพียงก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน ดูไบดูจะมีทีท่าว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้สูงถึง 108,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2015 แต่มาบัดนี้ ดูไบซึ่งร่ำรวยกว่าใครๆ อีกมากมาย ก็ยังไม่อาจหนีพ้นวังวนของผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกและวิกฤติสินเชื่อโลก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่อาจจะไม่รวยเท่าดูไบ วิกฤติสินเชื่อโลกกำลังคุกคามแหล่งสำคัญที่สร้างความเติบโตให้แก่ดูไบ นั่นคือการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เพราะดูไบพึ่งพาสินเชื่อที่ได้มาโดยง่ายในการสร้างบรรดาตึกที่สูงที่สุดในโลก ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และโครงการก่อสร้างขนาดมหึมาอีกมากมาย แต่แล้วโลกกลับเกิดปัญหาวิกฤติสินเชื่อฝืดเคือง และเจ้าหนี้ต่างเรียกร้องให้ดูไบจ่ายหนี้ที่กู้มาหลายพันล้านคืน ดูไบจำต้องหันหน้า กลับไปพึ่งพี่ใหญ่อย่างอาบูดาบี ซึ่งก็รับประกันความผิดหวังเพราะสามารถที่จะช่วยอุ้มดูไบได้อย่างสบายๆ
เมื่อราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูดถึงระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผลผลิตน้ำมันวันละ 2.7 ล้านบาร์เรลของอาบูดาบี ทำให้อาบูดาบีมีรายได้เป็นเงินสดๆ จากการขายน้ำมันถึง 140,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ไม่เลวเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 1 ล้านคนเศษ มาบัดนี้ราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (และลดลงต่ำกว่า 36 ดอลลาร์ในเดือนธันวาคม) รายได้ของอาบูดาบีจะตกฮวบลงเหลือเพียง 45,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่นั่นก็ยังไม่เลวสำหรับประชากรที่มากกว่า 1 ล้านเพียงเล็กน้อย งบประมาณของอาบูดาบีที่ตั้งไว้ในปีนี้ (2009) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันไว้ที่ประมาณ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลอาบูดาบียังคงมีกำไรมหาศาลและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทำนายว่า ราคาน้ำมันน่าจะสูงกว่านี้อีกมากในปลายปีนี้ (2009)
ทั้งหมดนี้หมายความว่าอาบูดาบียังคงสามารถจะอุ้มน้องรักอย่างดูไบได้อย่างสบายๆ แม้ว่าทั้งดูไบและอาบูดาบีจะไม่เคยยอมรับเรื่องนี้อย่างเปิดเผยเลยก็ตาม แต่หลายคนเชื่อว่า ผู้ปกครองอาบูดาบีได้ให้สัญญาที่จะช่วยปกป้องดูไบจากภาระหนี้สูงสุดถึง 5 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับดูไบที่อาศัยการก่อหนี้สูงในการสร้างความเจริญเติบโต และอันที่จริงแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการก่อหนี้สูงด้วยกัน ดูไบก็ยังไม่ถึงขั้นก่อหนี้เกินตัวมากเกินไปอย่างที่เป็นข่าว
ดูไบมีหนี้สิน 80,000 ล้านดอลลาร์เทียบกับอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่า 350,000 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้หากราคาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบอาจจะเจอปัญหาตกลงอย่างฮวบฮาบ แต่ดูไบก็จะไม่มีวันไปถึงจุดที่มีระดับหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่สูงเหมือนกับในสหรัฐฯ และบางส่วนของยุโรป ซึ่งกำลังทุกข์ทรมานจากภาระหนี้มหาศาล ส่วนหนี้สาธารณะของดูไบมีประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อ GDP 65,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นภาระหนี้ที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับหนี้ของสหรัฐฯ ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปรวมถึงญี่ปุ่น นอกจากนี้ หนี้สินส่วนใหญ่ของดูไบยังเป็นหนี้ที่ก่อโดยบริษัทเอกชน ซึ่งล้วนแต่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลดูไบ
ไม่เพียงมีเงินจากอาบูดาบีคอยหนุนหลังเท่านั้น แต่ดูไบยังมีเงินจากชาติที่ไม่ใช่ตะวันตกช่วยหนุนหลังอีกทางด้วย ชาติที่ไม่ใช่ชาติ ตะวันตกมองดูไบเป็นทางเลือกของระบบการธนาคารนอกเหนือจากสหรัฐฯ ดูไบยังได้รับการสนับสนุนด้านการค้าจากส่วนอื่นๆ ของโลกที่ไม่ใคร่ลงรอยกับชาติตะวันตกนัก อย่างเช่นปากีสถานและมาเลเซียไปจนถึงฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม การที่ดูไบต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านที่แสนร่ำรวยน้ำมันอย่างอาบูดาบี นับว่ากระทบกับความ เชื่อมั่นและความเย่อหยิ่งในตัวเองของดูไบไม่น้อย และขณะนี้กำลังเกิดความกลัวอย่างมากว่า ความฝันและโครงการใหญ่ยักษ์ทั้งมวลของดูไบอาจจะจบลงด้วยน้ำตา ความเสี่ยงที่ว่าฐานะการเงินของดูไบจะล่มสลายยังมีน้อยกว่าความเสี่ยงที่ว่า วิสัยทัศน์ที่ดูไบตั้งไว้อย่างสูงอาจจะหลงทางอยู่ภายในม่านหมอกแห่งความวิตกกังวล ซึ่งกำลังครอบงำส่วนอื่นๆ ของโลกอยู่เช่นกัน
แต่ดูไบยังเป็นที่ต้องการของเพื่อนร่วมภูมิภาค ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่เดือน ดูไบเพิ่งได้รับการประโคมว่าเป็นตัวอย่างอันสุกสกาวแห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นสถานที่ที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูง ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสภาพความหายนะและความแตกแยกทางศาสนาอย่างในอิรักเพื่อนร่วมภูมิภาค หรือ สภาพที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลและระบบเส้นสายที่ไม่โปร่งใสอย่างในอียิปต์ ไม่ว่าจะมีน้ำมันหรือไม่ก็ตาม ดูไบมองว่าตัวเองเป็นปราการแห่งตลาดเสรี เป็นเมืองที่มีกฎหมายที่ทันสมัยและสิ่งต่างๆ อันทันสมัยอีกมากมาย จึงทำให้ดูไบโดดเด่นเป็นพิเศษในภูมิภาคซึ่งความทันสมัยเป็นสิ่งที่ขาดแคลน
แม้ว่าความรุ่งเรืองของดูไบส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นมาจากอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ สำนักงาน สนามกอล์ฟและคอนโด ซึ่งสร้างไว้ขายชาวต่างชาติเป็นหลักส่วนใหญ่มาจากชาติอาหรับ แต่ดูไบเริ่มสร้างความเติบโตขึ้นมาจากการกำหนดวิสัยทัศน์ว่าต้องการจะเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของโลก วิสัยทัศน์ดังกล่าวช่วยให้ดูไบสามารถดึงดูดเงินทุนและชาวต่างชาติ ดูไบเองมีพลเมือง เพียง 200,000 คนแต่มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในดูไบถึง 1 ล้านคน และในอนาคตอันใกล้นี้ ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีที่ไหนในตะวันออกกลางที่จะสามารถเทียบชั้นกับดูไบได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากดูไบและผู้ปกครองดูไบรวมทั้งผู้ประกอบการและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบที่ไม่เคยหมดสิ้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยอมปรับวิสัยทัศน์และมองปัญหาหนักที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ว่าเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ โดยไม่มองเพียงว่าเป็นอุปสรรคที่ขัดขวาง ดูไบก็อาจจะจมลงสู่ห้วงแห่งความชะงักงันที่ยืดเยื้อยาวนาน แต่จะไม่ตกต่ำไปถึงขั้นที่เลวร้ายที่สุด เพราะอย่างน้อยยังเป็น ความจริงที่ว่า ดูไบสามารถจะฉวยคว้าความมั่งคั่งที่อยู่รอบๆ ในโลกแห่งความร่ำรวยจากน้ำมันมาเมื่อใด ก็ได้ แต่ดูไบสามารถทำได้ดีกว่าแค่เพียงพยายามเอาตัวให้รอดมากนัก ความมีวิสัยทัศน์ได้เคยส่งให้ดูไบก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ และความมีวิสัยทัศน์ก็จะนำพาดูไบให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้เช่นกัน
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 15 ธันวาคม 2551
|