|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อสีเริ่มกะเทาะออกจากฉากหน้าที่เคยสดสวยบาดตา
ปลายปีที่แล้ว ดูไบเพิ่งจัดงานเลี้ยงอย่างหรูหราอลังการซึ่งทุ่มทุนถึง 20 ล้านดอลลาร์ มีคนดังทั่วโลกไปร่วมงานมากมาย มีการจุดพลุฉลองอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา นั่นคืองานเปิดตัวรีสอร์ต สุดหรู Atlantis มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ บนเกาะรูปต้นปาล์มที่สร้างขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ผู้จัดบอกว่าจุดประสงค์ของการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้เพราะดูไบต้องการประกาศก้องให้ทั้งโลกได้รู้ว่า ที่นี่คือดินแดนมหัศจรรย์ที่ความฝันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความจริง และเป็นจุดหมายปลายทางแห่งความสุขสนุกสนานหาใดเปรียบปาน
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาแขกผู้มีเกียรติมากหน้าหลายตา มีหลายคนที่กลับรู้สึกเศร้า เพราะในขณะที่พลุกำลังแตกตัวอย่างสวยงามที่ดูไบนั้น เศรษฐกิจโลกก็กำลัง "แตก" เช่นกัน และดูไบซึ่งสร้างทรัพย์สมบัติทั้งมวลขึ้นมาด้วยการก่อหนี้จำนวนมหาศาลก็ไม่ได้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ว่าควรจะหันหน้าไปพึ่งใคร และห่วงชูชีพที่เคยเห็นว่ามีอยู่ก็ดูเหมือนจะกลับอันตรธานหายไปหมด
ผู้บริหารระดับสูงของหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของดูไบซึ่งมาร่วมในงานปาร์ตี้ด้วยบอกว่า จะมีคนจำนวนมากในดูไบต้องเจ็บปวด และความฝันอีกมากมายที่จะต้องพังภินท์ ไม่เพียงเศรษฐีผู้ดีเก่าที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐีใหม่ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการเก็งกำไรด้วย คนงานต่างด้าว กำลังถูกส่งกลับบ้าน ตึกระฟ้าที่ยังสร้างไม่เสร็จยืนตายซากอยู่กลางแสงอาทิตย์ เรือสินค้าจำนวนมากติดอยู่ที่ท่าเรือของดูไบ พร้อมกับเหล็กกล้าและคอนกรีตที่อัดแน่นมาเต็มลำแต่ไม่มีใครต้องการอีกต่อไป
แม้ดูไบอาจจะไม่สำคัญถึงขั้นที่จะบอกได้ว่า หากดูไบล่ม จะหมายถึงการล่มของโลกาภิวัตน์ด้วย แต่ยังไม่มีใครนึกภาพออกเลยว่า โลกาภิวัตน์ที่ไม่มีดูไบจะเป็นอย่างไร แม้ว่าดูไบจะเป็น เพียงรัฐหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แต่ดูไบเป็นเมืองที่มีความเป็นศูนย์กลางการค้าระดับโลกยิ่งเสียกว่าเมืองใดๆ ดูไบเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อจะดึงดูดเงินร้อนๆ ที่กำลังมองหาแหล่งที่จะสร้างผลกำไรสูงสุดและรวดเร็วที่สุด และจะย้ายหนีไปที่อื่นทันทีหากผลกำไรหดหาย เงินสดๆ ไหลทะลักเข้าไปยังดูไบจากชาติอาหรับเพื่อนบ้านซึ่งเป็นมหาอำนาจน้ำมัน โดยเฉพาะจากอาบูดาบีรัฐร่วมประเทศที่อยู่ติดกัน อาบูดาบีครอบครองแหล่งน้ำมันสำรองถึง 90% ของน้ำมันดิบทั้งหมดใน UAE นอกจากนี้เงินสดๆ อีกหลายพันล้านดอลลาร์ยังไหลเข้าไปยังดูไบจากอิหร่าน อินเดีย จีน รัสเซีย ยุโรปและสหรัฐฯ หรือที่จริงแล้วก็คือมาจากทั่วทุกมุมโลกนั่นเอง
ตลอดเวลาอย่างน้อย 10 ปีที่ผ่านมา การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์เป็นเสมือนเกมกีฬาประจำชาติของดูไบ ราคาบ้านและอพาร์ตเมนต์แม้กระทั่งที่ยังไม่ได้ลงมือสร้างเลยด้วยซ้ำ มีราคาพุ่งขึ้นถึง 43% แค่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพียงไตรมาสเดียว เงินกู้ซื้อบ้านได้มาโดยง่าย และนักเก็งกำไรก็สามารถจะเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ในมือให้กลายเป็นผลกำไรมหาศาลได้ในชั่วเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่วันเท่านั้น ก่อนที่จะถึงกำหนดผ่อนชำระหนี้ที่กู้มาซื้อบ้านในเดือนแรกเสียด้วยซ้ำ ใครๆ ก็อยากลงมาเล่นในเกมนี้ ประธานบริษัทขนส่งในดูไบคนหนึ่งบ่นว่า พนักงานแทบไม่เป็นอันทำงาน เพราะคิดแต่อยากจะไปเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
จนถึงเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ดูไบมีพื้นที่สำนักงานที่กำลังก่อสร้างมากถึง 42 ล้านตารางฟุต มากกว่าเมืองใดๆ ในโลก แม้กระทั่งเซี่ยงไฮ้ของจีน จากเมืองที่เคยมีแต่ทะเลทรายเปล่าๆ เมื่อ 20 ปีก่อน มาวันนี้กลับกลายเป็นเมืองที่หรูหราสวยงาม Hard Rock Cafe ที่สร้างตั้งแต่ปี 1997 ในที่ที่เกือบรกร้างว่างเปล่า บัดนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยตึกระฟ้า การถกเถียงกันว่าจะรื้อร้านดังกล่าวเพื่อเอาพื้นที่มาสร้างตึกสูงแห่งใหม่ ดำเนินไปอย่างร้อนแรงราวกับ Hard Rock เป็นโบราณสถานอันสูงค่า
แต่ดูไบไม่ได้เป็นแต่เพียงผู้รับเงินทุนจากทั่วโลกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นนักลงทุนระดับโลกรายใหญ่อีกด้วย ในปี 2006 บริษัท DP World ของดูไบเข้าซื้อสิทธิ์การบริหารท่าเรือขนส่งสินค้า ขนาดใหญ่ 6 แห่งในสหรัฐฯ แต่ถูกกระแสเกลียดกลัวนักลงทุนต่างชาติในรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อต้านจนข้อตกลงดังกล่าวต้องเป็นหมัน วันนี้ดูไบเป็นเจ้าของหุ้น 43% ใน NASDAQ OMX และหุ้น 20.6% ในตลาดหุ้นลอนดอน และยังมีรัฐวิสาหกิจที่ดูไบเข้าถือหุ้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างเช่น Travelodge ในอังกฤษ Mauser ในเยอรมนี และ Barney's and Loehmann's ในนิวยอร์ก
ต้นปี 2005 ผลกำไรมหาศาลอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความย่ามใจว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอด ไป ทำให้ความเจริญรุ่งเรืองในดูไบยิ่งรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จนเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงบางคนของดูไบเริ่มเตือนว่า ฟองสบู่กำลังเริ่มก่อตัว และพยายามจะกระจายการลงทุนให้หลากหลายที่สุด แต่ราคาน้ำมันก็ยังคงพุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เงินสดๆ ยิ่งไหลเข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปอย่างเสรีของดูไบมากยิ่งขึ้นอีก ประชาชนเริ่มรู้สึกมั่นใจว่า อย่างไรเสียก็คงจะปลอดภัยแม้เกิดวิกฤติใดๆ จึงไม่มีใครเลยที่เตรียมพร้อมรับราคาน้ำมันตกต่ำตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งราคาน้ำมันตกฮวบลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 ของราคาสูงสุดในช่วงกลางปีที่แล้ว ดูไบเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบ
ในโลกแห่งโลกาภิวัตน์ซึ่งเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงถึงกัน แรงกระเพื่อมจากวิกฤติในขณะนี้ยังแผ่ขยายออกไปไม่หยุด และเริ่มเผยให้เห็นด้านที่ไม่งดงามของความฝันของดูไบ การปลดคนงานในดูไบไม่เพียงส่งผลกระทบต่อดูไบเอง แต่ยังส่งผลต่อประเทศ ที่ส่งออกแรงงานมายังดูไบตั้งแต่ฟิลิปปินส์ เคนยาจนถึงอินเดีย แรงงานต่างด้าวนับพันๆ คนคงจะต้องถูกส่งกลับบ้านหลังปีใหม่ ความเดือดร้อนกำลังกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ขณะเดียวกัน ราคาบ้านและอพาร์ตเมนต์ที่แม้จะยังเป็นเพียงแบบร่างตกฮวบลงเกือบ 50% ในบางพื้นที่ เงินกู้ซื้อบ้านและอสังหาริมทรัพย์ถูกแช่แข็ง และโครงการขนาดยักษ์ต่างๆ ชะงักงันหรือลดขนาดลง เกิดข่าวลือไปทั่วว่า ดูไบอาจจะต้องขายหุ้นในสายการบินแห่งชาติ Emirates Airlines ซึ่งมีความสำคัญในการเชื่อมดูไบกับโลกภายนอก แม้เจ้าหน้าที่ดูไบจะปฏิเสธข่าวนี้แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครเชื่อ
ความรู้สึกไม่แน่นอนและความกลัวเพิ่มขึ้นมาก จนแม้กระทั่งตลาดค้าทองคำอันมีชื่อเสียงมานานของดูไบ เพราะเป็นศูนย์กลางการค้ามานานก่อนที่โลกจะมีคำว่าโลกาภิวัตน์เกิดขึ้น ก็ยังพลอยสับสนไปด้วย เจ้าของร้านทองแห่งหนึ่งบอกว่า ไม่เพียง แต่ราคาทองคำจะตกฮวบ แต่ทุกอย่างล้วนไม่มีความแน่นอนและ สับสนอลหม่านไปหมด แม้กระทั่งอ่าว Dubai Marina ย่านอาคารสูงหรูหรา อยู่ดีๆ ก็เกิดเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล อาคารต่างๆ ในย่านนี้จะต้องจ้างรถบรรทุกให้มานำน้ำเสียในอาคารไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย แต่คนขับรถอดทนรอคิวยาวหน้าโรงบำบัดไม่ไหว เลยพากันเทน้ำเสียลงทางระบายน้ำฝนที่ไหลลงทะเลโดยตรง
ดูไบพยายามจะฟื้นความเชื่อมั่นเพียงไม่กี่วันหลังจากงานปาร์ตี้สุดอลังการเปิดตัวโรงแรม Atlantis ด้วยการประกาศตั้งคณะที่ปรึกษาที่นำโดย Mohamed Alabbar ประธานบริษัท Emaar Properties กำลังก่อสร้างตึกสูงที่สุดในโลกอยู่ในใจกลาง ดูไบ ราคาหุ้นของ Emaar ดิ่งลงมากกว่า 80% ในปีนี้ ส่วนราคาขายอพาร์ตเมนต์หรูหราที่อยู่ในตึกสูงของดูไบก็ดิ่งลง 40%
Alabbar กล่าวต่อการประชุมที่ศูนย์กลางการเงินระหว่าง ประเทศของดูไบหลังจากรับตำแหน่งว่า ดูไบเป็นทั้งคนที่ยอมรับความจริงและมองโลกในแง่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่โลก เขาสัญญาว่าจะทำงานอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหาได้ยากในดูไบ และตอบคำถามเกี่ยวกับภาระหนี้ของดูไบซึ่งมีข่าวลือมานานว่ามีจำนวนมหาศาล Alabbar ระบุว่า รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจของดูไบมีหนี้สินรวมทั้งหมด 80,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีสินทรัพย์ 350,000 ล้านดอลลาร์ Alabbar ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า รัฐบาล ดูไบสามารถและจะชำระหนี้สินทั้งหมดนั้นได้อย่างแน่นอน
ตัวเลขที่ Alabbar เปิดเผยอาจถือได้ว่าเป็นตัวเลขกึ่งทางการ ซึ่งดูไบไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อนเลย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดมากกว่านี้ก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผย ทั้งเรื่องลักษณะ สภาพคล่องของสินทรัพย์เหล่านั้น ความไม่ชัดเจนว่าดูไบใช้อะไร เป็นฐานในการคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์ จึงยากที่นักวิเคราะห์จะตัดสินได้ว่า ดูไบมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จาก Citigroup ชี้ว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่การสนใจเรื่องสินทรัพย์กับหนี้สินของดูไบ แต่ควรสนใจว่าดูไบจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติ
สิ่งที่จะถือว่าเป็นข่าวดีก็คือ หากผู้นำดูไบจะเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ที่ยังอยู่ในช่วงต้นๆ ของวิกฤติ ในเดือนกันยายนและตุลาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางดูไบทุ่มเงิน 32,700 ล้านดอลลาร์ เข้าพยุงสถาบันการเงินของดูไบ ต่อมา Alabbar ประกาศในเดือนพฤศจิกายนว่า สถาบันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำคัญ 2 แห่งซึ่งกำลังจะไม่มีเงินเหลือ จะถูกยึดเป็นของรัฐ เขาสัญญาว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุด 3 แห่งของดูไบ ซึ่งควบคุม 70% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ จะจับมือกันช่วยรักษาตลาดให้อยู่ในความควบคุม Alabbar ยืนยันว่า สถานการณ์ที่ปั่นป่วนวุ่นวายในตอนนี้เป็นเพียงการ "ปรับตัวเพื่อให้ถูกต้อง" เท่านั้น
หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ที่แน่ๆ ชาวดูไบเองคงอยากจะขอ หยุดหายใจสักหน่อย ดูไบก็ดูเหมือนจำเป็นจะต้องแข่งกับตัวเอง เพียงเมื่อ 50 ปีก่อน ดูไบยังเป็นดินแดนห่างไกลความเจริญที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียงไม่กี่พันคน บนมุมหนึ่งที่ถูกลืมของคาบสมุทรอาหรับ 40 ปีก่อน หนึ่งในธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของดูไบ คือการลักลอบนำทองคำไปอินเดีย หลังจากกองกำลังอังกฤษถอนตัวออกไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 รัฐ 7 รัฐรวมทั้งดูไบได้รวมตัวกันเป็นประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีอาบูดาบีเป็นรัฐที่ร่ำรวยที่สุดเพราะได้ครองแหล่งสำรองน้ำมันที่มากที่สุด ในขณะที่ดูไบมีความเชี่ยวชาญด้านการประกอบการ
ในทศวรรษ 1980 ภายใต้การปกครองของ Sheik Rashid bin Saeed Al Maktoum ต่อด้วยบุตรชายคือ Sheik Mohammed bin Rashid Al Maktoum ดูไบได้สร้างท่าเรือเสรีขนาดใหญ่ ในขณะที่อิรักกับอิหร่านยังมัวแต่รบกันอยู่ สนามกอล์ฟจำนวนมาก ที่รักษาความเขียวขจีไว้ได้ด้วยน้ำจืดนับล้านๆ แกลลอนที่ผลิตขึ้นจากน้ำทะเล ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของดูไบจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมของความเป็นทะเลทราย ภายในทศวรรษ 1990 ดูไบได้สร้างรีสอร์ตอันหรูหรายิ่งใหญ่อย่างโรงแรม Burj Al Arab ซึ่งมีรูปร่างเหมือนใบเรือ
ดูไบยังได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้และสร้าง "เมือง" แห่งสื่อและอินเทอร์เน็ตเป็นพิเศษ เพื่อให้ดูไบเป็นศูนย์กลางการสื่อสาร นอกเหนือจากที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและการเดินทางทาง อากาศ ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี ตั้งแต่ปี 1995-2000 ประชากร ดูไบเพิ่มขึ้น 25% จนขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านคน ส่วนใหญ่ เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในทุกระดับชั้นในสังคมของดูไบ ตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ในปี 2007 UAE มีประชากรทั้งสิ้นเพียง 864,000 คน แต่มีคนต่างด้าวถึง 3.6 ล้าน คน แม้ว่าดูไบจะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังแพ้จำนวนคนต่างด้าวที่ไหลทะลักเข้าสู่ดูไบ
ดูไบคงจะผ่านพ้นวิกฤติไปได้ แต่คงจะไม่ใช่โดยปราศจากรอยขีดข่วน อาบูดาบีซึ่งคอยควักเงินสนับสนุนการเติบโตของดูไบอย่างเงียบๆ มานานหลายปี และเฝ้ามองดูไบก่อร่างสร้างชื่อเสียง ในด้านนวัตกรรมและความน่าตื่นเต้น ขณะนี้กำลังคิดที่จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในดูไบ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า อาบูดาบีคงจะไม่ประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่ "ความช่วยเหลือทางยุทธศาสตร์" จากอาบูดาบีคงจะเข้าไปถึงดูไบแน่ รวมถึงอำนาจการควบคุมที่มากขึ้นด้วย
เมื่อเดือนธันวาคม รัฐบาลกลาง UAE ซึ่งถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของอาบูดาบี ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ UAE เพื่อห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีของ UAE (ขณะนี้ดำรงตำแหน่งโดย Sheik Mohammed ของดูไบ) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง UAE ทำงานอื่นหรือทำธุรกิจ จุดประสงค์ก็เพื่อห้ามไม่ให้พวกเขาทำธุรกิจใดๆ กับรัฐบาลกลาง UAE หรือรัฐบาลของรัฐต่างๆ แต่ข้อห้ามนี้จะได้ผลหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ อย่างไรก็ตาม สำหรับดูไบแล้ว ตัว Sheik Mohammed ก็เท่ากับดูไบนั่นเอง คำสั่งห้ามดังกล่าวจึงชัดเจนว่า อาบูดาบีต้องการควบคุมดูไบ
สถานการณ์ในดูไบยังคงน่าเป็นห่วง ยกตัวอย่างเช่นโรงแรม Atlantis ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ โรงแรมนี้เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง Sol Kerzner นักพัฒนาที่ดินชาวแอฟริกาใต้กับบริษัท Nakheel บริษัทพัฒนาที่ดินของดูไบ ซึ่งเป็นผู้สร้างเกาะ รูปต้นปาล์ม Palm Jumeirah และโครงการอสังหาริมทรัพย์หรูหราอื่นๆ อีกมากมายตลอดแนวชายฝั่งของดูไบ แต่เพียงไม่กี่วันให้หลัง งานเลี้ยงฉลองโรงแรมอันหรูหรา Nakheel กลับประกาศลอยแพพนักงาน 500 คน หรือ 15% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด นักธุรกิจชาวเลบานอนถึงกับออกปากว่า Nakheel ยอมทุ่มเงินถึง 20 ล้าน ดอลลาร์ไปกับพลุที่จุดฉลองในงานเปิดโรงแรม แต่กลับไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงานของตัวเอง "นี่คือหายนะ" นักธุรกิจเลบานอน กล่าว
กระทั่งคนรวยในดูไบก็ไม่เป็นข้อยกเว้นสำหรับวิกฤติครั้งนี้ เจ้าของวิลล่าหรูหราสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนริมชายหาดของ Palm Jumeirah ซึ่งตั้งประจันหน้ากับ Atlantis ประกาศลดราคาวิลล่าหรูของตัวเองพรวดเดียวจาก 4.9 ล้านดอลลาร์เหลือ 3.6 ล้านดอลลาร์และสุดท้ายเหลือเพียง 3.13 ล้านดอลลาร์ แล้วยังจะแถม รถหรู Bentley ให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย ตัวแทนขายเปิดเผยว่า ลูกค้าคนนี้ร้อนเงินขนาดหนักเพราะเงินไปติดอยู่ในตลาดและต้องการเงินไปดำเนินธุรกิจต่อ แต่ถึงจะลดแลกแจกแถมขนาดนี้ก็ยังหาคนซื้อไม่ได้เลย ตัวแทนขายบอกว่า เห็นจะต้องแยกขาย Bentley ต่างหาก พร้อมกับบ่นทิ้งท้ายว่า ดูไบตอนนี้ไม่ใช่ดูไบที่เขาเคยรู้จักเสียแล้ว
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 15 ธันวาคม 2551
|
|
|
|
|