Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2532
โธ่……เกษมอีกแล้ว             
โดย สมชัย วงศาภาคย์ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
 

 
Charts & Figures

ปริมาณไฟฟ้าสำรองเพื่อความมั่นคง
การเปลี่ยนแปลงความต้องการไฟฟ้า


   
search resources

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เกษม จาติกวณิช
Electricity




เกษม จาติกวณิช อยู่กับ กฟผ.มา 30 ปี อยู่ ๆ ก็ถูกปลด โดยอำนาจทางการเมืองโดยไม่มีเหตุผลแน่ชัด พร้อม ๆ กับกรรมการ กฟผ.อีก 4 คน เพราะเหตุไร แม้เรื่องจะสงบ ด้วยการประนีประนอมไปพักหนึ่ง แต่หลายคนย่อมรู้ว่า ยุทธศาสตร์ครั้งนี้ พรรคชาติไทยชนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง ปริศนาก็คือ หลังพ้นยุคของเกษม อนาคตของ กฟผ. ทั้งในเรื่องการถูกบังคับให้แปรรูป และความเป็นรับวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดกำลังถูกต้อนให้จนตรอก ด้วยอิทธิพลทางการเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกษม จาติกวณิช กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความผูกพันกันมานาน 30 ปี ในฐานะที่เกษมเป็นผู้ว่าการคนแรกของกฟผ. เมื่อปี 2512 และเป็นรองผู้ว่าการการการไฟฟ้ายันฮีมาตั้งแต่ปี 2502 ก่อนหน้าที่การไฟฟ้ายันฮีจะถูกผนึกรวมเข้ากับการลิไนต์และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี 2512 ความยาวนานและบทบาทการเป็นผู้นำของเกษมในกฟผ. ทำให้ฐานะของเกษมเปรียดุจเป็นเสาหลักของกฟผ. ที่ปั้นกฟผ.ขึ้นมาจากศูนย์แม้กฟผ.จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะของตนเองก็ตาม

จึงไม่ผิดนัก ที่จะประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของเกษมในกฟผ.มีคุณค่าสูงเทียบเท่าเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีบารมีเทียบเท่า "ดุจสถาบัน" ในกฟผ.ไปแล้ว

ประจักษ์พยานจุดนี้จะดูได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เอง ที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ของกฟผ.ทุกคนได้ประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลที่ปลดกรรมการชุดเกษมออกทั้งชุด จนเหตุการณ์ลามปามสั่นสะเทือนความมั่นคงของรัฐบาล และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีต้องขอร้องให้เกษมออกมาปราบผู้ประท้วง ทั้ง ๆ ที่เกษมมีฐานะในกฟผ. เป็นเพียงแค่กรรมการและประธานคณะกรรมการพัฒนาไฟฟ้าของกฟผ.ที่ไม่มีอำนาจบริหารอะไรมากมายนักเหมือนเช่นสมัยเป็นผู้ว่าฯ ในอดีต

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เกษมในทุกวันนี้เขามีแต่บารมี แต่ไร้อำนาจในกฟผ.

เกษมเคยกล่าวว่า กฟผ.ในวันนี้ (ปี 2531) มีสินทรัพย์ตามงบดุล 110,377 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 7,000,000 กิโลวัตต์ มีพนักงาน 30,000 คน 10% เป็นวิศวกร ทำรายได้สุทธิปีละเกือบ 7,000 ล้านบาท ขณะที่มีทุนดำเนินการกว่า 30,000 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากการทุ่มเทของพนักงานและผู้บริหารทุกคนในอดีตที่เคี่ยวกรำกับกฟผ.มาตั้งแต่ทุนเพียง 600 ล้านบาทและผลิตไฟฟ้าได้เพียงปีละ 75,000 กิโลวัตต์เท่านั้น

แน่นอนความมีประสิทธิภาพในผลการดำเนินงานของกฟผ. แยกไม่ออกจากผลงานของเกษมเขาคลุกฝุ่นร่วมกับพนักงานระดับล่างมาตั้งแต่การพยายาม แก้ปัญหายกหม้อน้ำขนาดสูง 60 เมตรขึ้นไปติดตั้งในโรงไฟฟ้าบางกรวยเมื่อปี 2504 และเป็นคนแรกที่เจรจาเงินกู้ก้อนแรกจำนวน 66 ล้านเหรียญจากธนาคารโลกมาสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อผันน้ำเข้าไปผลิตไฟฟ้า

หรือแม้แต่การเป็นผู้เจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติจากยูโนแคลมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในราคาเพียง 1.04 เหรียญ/ล้านบีทียู เป็นผลสำเร็จในสมัยเป็นร.ม.ต.อุตสาหกรรมรัฐบาลเกรียงศักดิ์ จนทุกวันนี้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุด

กำธน สินธวานนท์ อดีตผู้ว่ากฟผ.และกรรมการกฟผ.ผู้เข้ามาร่วมงานในกฟผ.เมื่อปี 2503 หลังเกษมเพียงปีเดียว เคยกล่าวว่า "การผลิตไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุด" ถ้าหากว่าความข้อนี้เป็นความจริง สิ่งที่เกษมได้กระทำลงไปตลอดการเป็นผู้ว่าฯ และกรรมการมา 30 ปี ย่อมเข้าใจได้ว่าสิ่งที่กฟผ.สร้างหลักปักฐานจนเติบใหญ่และมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม จนสามารถกู้เงินทั้งจากสถาบันการเงินเอกชนในประเทศและต่างประเทศไม่จำเป็นต้องค้ำประกันเลยแม้แต่บาทเดยวนั้น ส่วนหนึ่งย่อมมาจากบารมีของเกษมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

กฟผ.ทำธุรกิจอย่างไรหรือจึงมีความสามารถทำรายได้สุทธิและสินทรัยพ์ได้มากมายก่ายกองล้ำหน้ารัฐวิสาหกิจอื่น ๆ แม้แต่การบินไทย

ในกม.พระราชบัญญัติการไฟฟ้า ปี 2511 ที่ร่างโดยเกษม, ด รงหยุด แสงอุทัย และเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกได้พูดถึงเจตนารมณ์ของกม.ในมาตรา 6 ไว้ชัดเจนว่าให้กฟผ.เป็น "ผู้ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่าย ซึ่งพลังงานไฟฟ้าอื่นตามก.ม.ว่าด้วยการนั้น ตลอดจนผู้ใช้ไฟฟ้าตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เช่น บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๆ ปูนซิเมนต์ ถลุงเหล็ก สังกะสี เปโตรเคมีคัล เป็นต้น รวมถึงหน่วยงานผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศใกล้เคียงด้วย"

เจตนารมณ์ของร่างกม.ในมาตรา 6 นี้ แม้จะไม่ได้ระบุไว้ชัดให้กฟผ.เป็นผู้ผูกขาดดำเนินธุรกิจนี้เพียงรายเดียว แต่สภาพความจริงที่อุตสาหกรรมการผลิตนี้ใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนสูง จึงไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาร่วมผลิตหรือทำธุรกิจนี้ด้วย

กฟผ.ก็เลยกลายเป็นผู้ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวมาตลอด เมื่อสินค้า คือพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการผลิตและการดำเนินชีวิตประจำวัน อุปสงค์หรือความต้องการพลังงานไฟฟ้าจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและการเติบโตของชุมชน

ปัญหาสำคัญของกฟผ.มีอยู่เพียงว่าทำอย่างไรจึงผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำและบริหารปริมาณการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอและสำรองเหลือใช้หรือที่เรียกว่า RESERVE MARGIN ได้ดีที่สุด ซึ่งตามมาตรฐานของธนาคารโลกกำหนดว่าวควรจะอยู่ในระหว่าง 15-30% ของการผลิตรวม

กฟผ.ซื้อก๊าซธรรมชาติจากปตท.ในราคา 70 บาท/1 ล้านบีทียู ขณะที่ปตท.ซื้อจากยูโนแคลในราคาประมาณ 65 บาท/1 ล้านบีทียู

ต้นทุนเชื้อเพลิงจากก๊าซระดับนี้ เมื่อคิดออกเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าต่อ 1 KWH. จะตกประมาณ 61-62 สตางค์/1 KWH. (กิโลวัตต์ชั่วโมง)

ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนจากน้ำจะตกประมาณ 93 สตางค์/1 KWH. ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเกือบ 60% มาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

มองจากแง่นี้ แสดงว่าต้นทุนการผลิตของกฟผ.ต่ำสุดเมื่อเทียบจากการเลือกใช้วัตถุดิบชนิดต่าง ๆ ซึ่งจุดนี้เชื่อมโยงกับบทบาทของเกษมอย่างแน่นอนเพราะเกษมเป็นผู้เจรจากับยูโนแคลให้นำก๊าซมาป้อนให้กฟผ.เป็นผลสำเร็จขณะที่ปตท.ยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป

การเลือกก๊าซเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า เป็นการตัดสินใจที่ถูกของเกษมในยุควิกฤติการณ์ราคาน้ำมันแพงครั้งที่สอง เพราะขณะนั้น (ปี 2523) กฟผ.ใช้น้ำจากเขื่อน น้ำมันเตาและลิกไนต์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้า เมื่อราคาน้ำมันเตาแพงก็ย่อมกระทบต้นทุนการผลิตของกฟผ.ด้วยการใช้น้ำจากเขื่อนก็เช่นกัน ตั้นทุนการลงทุนสร้างเขื่อนนับวันจะแพงขึ้นและจำกัดด้วยแรงกดดันจากกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ทำให้โครงการสร้างเขื่อนต้องลำบากมากขึ้น ส่วนการนำลิกไนต์มาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงทำไฟฟ้าก็เช่นกัน การลงุทนเปิดเหมืองหน้าดินต้องใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมูลค่าหลายพันล้านบาท ไม่นับค่าจ้างแรงงานของแรงงานที่ต้องใช้นับพันคน ในการทำลิกไนต์ออกมาใช้แต่ละจุดที่สำรวจพบ ที่ย่อมเกี่ยวพันกับต้นทุนการใช้จ่ายด้านเวนคืนที่ดินและปัญหาการเคลื่อนย้ายชุมชนในชนบท

ต้นทุนเหล่านี้มีราคาแพงมากทั้ง ๆ ที่กระบวนการการสำรวจและนำลิกไนต์มาใช้เป็นเทคนิคขั้นต่ำ

ดังนั้น ความสำเร็จของกฟผ.ที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจึงเท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว และดอกผลของมันก็ส่งมาถึงปัจจุบันที่ฐานะการดำเนินธุรกิจของกฟผ.มั่นคงมาก เพราะหนึ่ง - กฟผ.ไม่สามารถขึ้นราคาค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับกฟน., กฟภ. และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างปูนซิเมนต์และผาแดงฯได้ง่าย ๆ เนื่องจากราคาไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่ไม่สามารถสะท้อนตามกลไกราคาได้เสรี การเปลี่ยนแปลงราคาไฟฟ้าจึงทำได้ยากและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้นและสอง - กฟผ.มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายกำไรตามข้อตกลงที่ร่วมกันกับธนาคารโลก เจ้าหนี้รายใหญ่ของกฟผ.

"ธนาคารโลกกำหนดให้กฟผ.มีผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเทียบจากมูลค่าสินทรัพย์ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 8%" แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลังกล่าว ซึ่งกฟผ.สามารถทำได้ 10.11% ในปี 2531 สูงขึ้นจาก 8.27% ในปี 2527

การที่ราคาค่าพลังงานไฟฟ้าถูกควบคุมจากคณะรัฐมตรี ขณะที่ต้นทุนการผลิตของวัตถุดิบบางชนิดเช่น น้ำมันเตา ลอยตัวตามภาวะตลาด "ทุกวันนี้ กฟผ.ซื้อน้ำมันเเตาจากปตท.แพงกว่าราคามาตรฐานถึงลิตรละ 5 สตางค์อยู่แล้วขณะที่อุตสาหกรรมทั่ว ๆ ไปที่บโอไอให้การส่งเสริมสามารถซื้อได้ในราคาแพงกว่าราคามาตรฐานเพียงลิตรละ 1 สตางค์เท่านั้น" แหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงานพลังงานของรัฐเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความลักลั่นที่กฟผ.ได้รับจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยกัน และเป็นหลักฐานยืนยันถึงความถูกต้องที่เกษมได้ลงทุนเจรจาอย่างสุดฤทธิ์กับยูโนแคลที่จะนำก๊าซออกมาใช้ให้ได้

"ลองคิดในมุมกลับ ถ้าเกษมไม่สู้เรื่องก๊าซกับยูโนแคล ก๊าซก็ไม่ถูกนำขึ้นมาใช้อย่างมากมายก่ายกองอย่างทุกวันนี้ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากก๊าซเช่นเปโตเคมี 1, 2 ก็ไม่เกิด กฟผ.ก็ยังคงย่ำต๊อกกับน้ำมันเตาและน้ำเรื่อยไป ฐานะกฟผ.ไม่มีทางทำกำไรได้ปีละ 6,000-7,000 ล้านบาทอย่างทุกวันนี้ได้" แหล่งข่าวในวงการพลังงานเล่าเป็นเชิงข้อสังเกตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ 20 ปีของกฟผ.และเกษมในหน่วยงานแห่งนี้ จะถูกวิจารณ์อยู่บ้างในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่สร้างความหวั่นวิตกแก่กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ และหนี้สินต่อประเทศชาติในการลงทุน แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเกียรติภูมิของประชาชนที่มีต่อชาวกฟผ.และเกษมเลย

จะมีก็แต่เรื่อง การบริหาปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อความมั่นคงเท่านั้นที่ กฟผ.และเกษมถูกตีหนัก

หน้าที่ กฟผ.ตามกฎหมายเขียนไว้ชัดให้ผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ หรือพูดอีกนัยหนึ่งผลิตโดยไม่ให้ดับ หรือหมิ่นเหม่ต่อไฟดับ

เผอิญในระยะปี 30-32 ที่เชื่อมโยงไปถึงปี 33 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ๆ เกินเป้าหมายที่คณะทำงานพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่มีคนของกฟผ.นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยไปมาก

ขณะที่การลงทุนผลิตไฟฟ้าโดยการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แต่ละแห่ง (ขนาด 300 เมกะวัตต์) มันกินเวลานานถึง 4 ปี

เมื่อตอนแรก ๆ (ปี 29) คณะทำงานพยากรณ์ฯคาดว่า จากแนวโน้มในอดีตอัตราการเติบโตความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีมันเพิ่มแค่อย่างเก่งก็ 6%/ปี เวลาทำแผนลงทุนระยะ 10 ปี สร้างโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนาฉบับที่ 6 (2530-34) ก็เลยยึดตัวเลขพยากรณ์ตัวนั้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งคำนวณออกมาแล้ว มันตกประมาณ 68,000 ล้านบาท

พอมาในปี 30 ปรากฏว่า เศรษฐกิจมันโตทรวดพราด ความต้องการเฉลี่ย/เดือน มันสูงถึง 13% ก็มีการปรับเป้าหมายตัวเลขพยากรณ์ใหม่ โดยมีนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมชะนันท์ และดร.พิสิฏฐ์ ภัคเกษม รองเลขาฯสภาพัฒน์ (ขณะนั้น) เป็นกุญแจสำคัญในคณะทำงานฯชุดนี้พร้อมด้วยผู้แทนจากกฟผ.และกฟน.ม กฟภ. ก็นั่งเป็นกรรมการในคณะฯนี้ด้วย

"การปรับเป้าหมายตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า สมมติฐานในการนำมาคำนวณตัวสำคัญเลยดูที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจการลงทุนซึ่งเป็นดัชนีตัวฐานที่ใช้ในการคำนวณ แต่ก่อนสมมติฐานด้านปัจจัยทางภาวะเศรษฐกิจ คณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าชุดก่อน ๆ ละเลยมาตลอด" กรรมการคณะทำงานพยากรณ์ท่านหึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าขอกรรมการชุดใหม่ เมื่อตุลาคม 30 ระบุว่าช่วงตลอดแผน 6 จะเติบโตในอัตราปีละ 9.41% (วัดจากความต้องการฯที่มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง) ทำให้ยอดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในแผน 6 ได้ถูกปรับใหม่จาก 68,000 ล้านบาท เป็น 87,000 ล้านบาท

9 เดือนต่อมา ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 31 ได้พุ่งพรวดเป็น 11% จากปี 30 ที่ตกประมาณ 8.5-9.6% คณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็มีการปรับตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 เป็นตลอดช่วงแผน 6 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.7% ทำให้มีการปรับยอดการลงทุนในแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของกฟผ. ในแผน 6 ใหม่เป็นประมาณ 100,000 ล้านบาท และอีกประมาณ 30,000 ล้านบาทในแผน 7

การที่ภาวะเศรษฐกิจโตพรวดพราดกว่า 10% เป็นตัวสะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่แจ่มชัด รายงานสำหรับผู้บริหารประจำเดือนพฤษภาคม 2532 ได้รายงานว่า "ในวันที่ 4 พ.ค. เวลา 19.30 นง (PEAK LOAD) มีค่า 6,043.40 เมกะวัตต์ สุงกว่าช่วงระยะเดียวกันของปีก่อน 637.28 เมกะวัตต์ แต่ต่ำกว่าค่าเดือนเมษายนปี 2532 ซึ่งถือว่าเป็นค่าความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดของปีงบประมาณ 2532 นี้ อยู่เพียง 37.60 เมกะวัตต์เท่านั้น"

เหตุภาวะเช่นนี้เองกดให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรอง (RESERVE MARGIN) ของกฟผ.เดือนเมษายนปี 2532 นี้ตกลงเหลือแค่ 4% เทียบกับเมษายนของปีที่แล้ว 20% จนเป็นเหตุหนึ่งที่กรรมการกฟผ.โดยเฉพาะเกษมถูกเฉลิม อยู่บำรุง รมต.สำนักนายกฯ ที่ควบคุมกำกับดูแลกฟผ. หาเหตุโจมตีเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวปลดเกษมและกรรมการกฟผ.ทุกคน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การบริหารปริมาณผลิตไฟฟ้าสำรองเป็นจุดที่เกษมถูกโจมตีมากไม่เพียงแต่เฉลิมเท่านั้น ในวงการนักเทคโนแครต ที่รับผิดชอบพลังงานของรัฐ ก็เห็นจุดบกพร่องในประสิทธิภาพที่อ่อนเปราะของกฟผ.จุดนี้ด้วย

จากแผนภูมิกราฟ จะสังเกตเห็นว่าในมกราคมปี 2531 ปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงเกือบ 30% และในปี 30 29 ปริมาณสำรองเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 40%

สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร นักเทคโนแครตพลังงานผู้หนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่า มันแสดงถึงการ OVER INVESTMENT ของกฟผ.ในอดีตและจุดที่สำคัญกว่านั้นคือ ในบางช่วงของแผนลงทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ควรเร่งกลับไม่เร่ง และที่ไม่ควรเร่งกลับไปเร่งลงทุนกันมากมาย จนสำรองเหลือนาน ซึ่งถ้าหากเป็นธุรกิจเอกชนที่มีสต็อกเหลือถึง 40-50% นี้เจ๊งไปนานแล้ว

แม้ข้อสังเกตนี้จะมีเหตุผล แต่แหล่งข่าวที่เป็นเทคโนแครตก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การ OVER INVESTMENT ของกฟผ.ในอดีต ก็ช่วยกู้สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ให้ไฟฟ้าดับ หรือขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าได้

ยิ่งในปี 2533 ทั้งในแหล่งข่าวของกฟผ. และหน่วยงานพลังงานของรัฐก็ยืนยันว่า ไฟฟ้าสำรองจะขยับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปีในระดับเกือบ 10% จะตกรูดลงมาจน -2% ในเดือนเมษายน แล้วค่อย ๆ ขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกือบ 24% เมื่อสิ้นปี 2533 เนื่องจากแรงดันของกำลังผลิตไฟฟ้าในโครงการต่าง ๆ ของกฟผ.ที่กำหนดเสร็จในปี 2533 อีก 570 เมกะวัตต์

และตรงนี้คือ TURNING POINT ของเกษมและกรรมการกฟผ. ทุกคนในสถานการณ์ใหม่ของกฟผ.ที่ไม่เคยประสบมาเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจนเป็นมูลเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่บีบรัดให้ยุทธศาสตร์การผลิตไฟฟ้าของกฟผ.เข้ามุมยอมรับให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตด้วย ตามแนวความคิด ล้มล้างระบบผูกขาดกฟผ.ในการผลิตไฟฟ้าด้วยนโยบายดึงเอกชนเข้ามาร่วมผลิต

แนวความคิดในเรื่องการแปรรูปหรือการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนในกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่พออกพอใจกฟผ.เป็นอย่างมาก และเป้าของความรู้สึกดังกล่าวตกอยู่ที่กรรมการของกฟผ.อย่างเกษม จาติกวณิชอย่างช่วยไม่ได้เลย

ว่ากันว่าคนในกระทรวงการคลังพยายามผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่ากระแสความคิดการแปรรูปจะสอดคล้องกับความจำเป็นในการลงุทนของกฟผ.ในช่วงเวลาปัจจุบันพอดี เพราะกฟผ.มีเป้าหมายที่จะลงทุนามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2530-2534 ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนโครงการขยายเมือง โครงการขยายระบบส่งพลังไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 35 โครงการ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 138,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 จำนวน 100,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้จากต่างประเทศ 53,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 38,000 ล้านบาทเป็นงบที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 7

สาเหตุที่กฟผ.ต้องเร่งระดมทุนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากมายหลายแห่งเช่นนี้ เป็นเพราะความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากความเติบโตของภาวะเศรษฐกิจในช่วงตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ดังกล่าวมาแล้วว่า ในบางช่วง (เมษายน) กระแสไฟฟ้าสำรองตกต่ำเหลือเพียง 4% ซึ่งนับเป็นอันตรายมาก หากโรงไฟฟ้าบางแห่งต้องหยุดเพื่อซ่อมแซม ก็อาจจะต้องมีการดับไฟฟ้าในบางจุด ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างหวาดเสียวไปตาม ๆ กัน หากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาจริง ๆ

16 กุมภาพันธ์ 2532 คณะกรรมการนโยบายพลังงาแห่งชาติซึ่งมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดแผนการลงทุนของกฟผ. และที่สำคัญให้ศึกรวมไปถึงลู่ทางการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเอกชน

เงินลงทุน 138,000 ล้านบาทเป็นเงินไม่ใช่น้อย ๆ เลย เรื่องของเรื่องก็มาถึงกระทรวงการคลังที่มีหน้าที่หาเงินและควบคุมการใช้จ่ายของกฟผ.และรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป

กระทรวงการคลังแต่งตั้งอรัญ ธรรมโน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานคณะทำงานศึกษาดังกล่าว กรรมการคนอื่น ๆ ประกอบด้วยพิศิฎฐ์ ภัคเกษม เลขาธิการสภาพัฒนฯ, เผ่าพัชร ชวนะลิขิกร ผู้ว่ากฟผ.ม ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและนิพัท พุกกะนะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กว่าคณะทำงานชุดนี้จะสามารถสรุปทางออกมาได้ วิวาทระหว่างคนจากกระทรวงการคลังและกฟผ.ก็หนักหนาเอาเรื่องทีเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกับแนวความคิดการแปรรูปอย่างชัดเจน

ทางซีกกระทรวงการคลังจะวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของกฟผ.ในการที่จะลงทุนอีก 138,000 ล้านบาทดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะทำงานจะวิเคราะห์ว่ากฟผ. จะไม่สามรถ่จัดหารรายได้จากการดำเนินงานมาร่วมทุนในสัดส่วน ที่กำหนดไว้ 25% ได้ แม้วาจะลดหลักเกณฑ์นี้เหลือเพียง 20% สำหรับปี 2533-2535 แล้วก็ตาม นอกจากจะไม่สามารถหาเงินของตนเองมาสมทบกับเงินกู้ได้เพียงพอแล้ว ถ้ากฟผ.จะคิดลงทุนต่อไป ฐานะทางการเงินของกฟผ. จะถึงขั้นติดลบ คือขาดเงินที่จะมาใช้หนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นไป ซึ่งภาระดังกล่าวจะกระทบไปถึงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 ซึ่งรัฐอาจจะต้องชดเชยด้วยการเพิ่มทุน ลดภาษีอากร งดเว้นการนำรายได้ส่งรัฐและสุดท้ายจะต้องปรับค่าใช้ไฟฟ้าให้สูงขึ้น

"ถ้าให้เขาดำเนินไปตามแผนโดยลำพัง ไม่ให้เอกชนเข้ามา กฟผ.อาจจะต้องขึ้นค่าไฟฟ้าอีก 13% ภายในปีสองปีนี้" แหล่งข่าวในคณะทำงานกล่าว

ด้วยภาระดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงเห็นวากฟผ.ต้องให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยเร็ว เพื่อหาเงินเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสียแต่ตอนนี้ ขณะที่กฟผ.ยืนยันหนักแน่นว่าไม่จำเป็น โดยเผ่าพัชรเป็นตัวแทนของกฟผ. ในคณะทำงานซึ่งเชื่อกันว่า เกษม จาติกวณิชในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาไฟฟ้าของกฟผ.เป็นผู้เสนอแท้จริงร่วมกับกรรมการกฟผ.คนอื่น ๆ

กฟผ.มองว่าตนเองเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่เชื่อถือและเป็นตัวอย่างทั่วโลกเพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างหรือให้เอกชนเข้ามา ปัญหาการเงินของกฟผ.ก็มีไม่มากเลี้ยงตัวเองได้และขยายงานได้ดีพอสมควร

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความต้องการไฟฟ้าในช่วงนี้สูงมากผิดปกติ ขณะที่โครงการขยายกำลังการผลิตในอดีตถูกชะลอไว้เนื่องจากการพยากรณ์ของคณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ดังนั้นในช่วงนี้จึงต้องลงทุนมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับให้ทัน ซึ่งพ้นจากระยะนี้ไป การลงทุนของกฟผ.คงต้องลดลง

นอกจากนั้นเรื่องเพดานเงินกู้นั้น กฟผ.ก็มองว่าเนื่อง่จากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากกว่าที่คาดหมายไว้เดิม ดังนั้นเพดานเงินกู้เงินตราต่างประเทศของรัฐก็น่าจะปรับขึ้นไปได้ และโดยฐานะของกฟผ.เองที่ความมั่นคง ดำเนินกิจการดี สมควรอยู่ในเพดานเงินกู้ต่างหากออกไป

"หรือจะให้กฟผ.ออกพันธบัตรเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังมาค้ำด้วย" กรรมการกฟผ.คนหนึ่งให้ความเห็น

ที่สำคัญกฟผ.เองอ้างอยู่เสมอว่า เป็นรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐษนที่สำคัญที่สุด รัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด รัฐควรพิจารณาความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบ เพราะเกี่ยวเนื่องกับเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

หลังจากผ่านการถกเถียงเกือบ 2 เดือน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานชุดดังกล่าวก็สรุปรูปแบบและแนววิธีการดำเนินการที่จะขยายบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมทุนหรือดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ 6 รูปแบบคือ

รูปแบบที่ 1 แปลงรูปกิจการของกฟผ.ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นบริษัทจำกัดแล้วขายกิจการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยการจำหน่ายหุ้น (SALE)

รูปแบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบการผลิตพลังความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (COGENERATION)

รูปแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้าง เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเอง (BUILDOWN-OPERATE : BOO) แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของกฟผ.

รูปแบบที่ 4 เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้าง เป็นเจ้าของ เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเอง แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไประยะหนึ่งจึงโอนทรัพย์สินให้กฟผ. (BUILD-OWN-OPERATE-TRANSFER : BOOT)

รูปแบบที่ 5 เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้าง เป็นเจ้าของ และให้เช่าโรงไฟฟ้าแก่กฟผ. เพื่อดำเนินการผลิตเอง (BUILD-OWN-LEASING : BOL)

รูปแบบที่ 6 กฟผ.เป็นผู้ลงทุนสร้างก่อนและขายโรงไฟฟ้าให้กับบริษัทเอกชนที่กฟผ.เป็นผู้จัดตั้งขึ้นโดยร่วมถือหุ้นข้างน้อยด้วยเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของกฟผ.เอง (SUBSIDIARY COMPANY : SC)

แต่เมื่อคนกฟผ.เห็นรูปแบบทั้งหกนี้เข้าก็มีแต่คนเบ้ปากว่า "ไม่เอา"

รูปแบบที่ 1 ซึ่งก็คือการเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องอีกยาวนาน ทั้งต้องเป็นเรื่องต้องถกเถียงอีกไม่รู้เท่าไร และในแง่ปฏิบัติเองก็ต้องมีการแก้กฎหมายสถานภาพของกฟผ.ก่อนจากองค์การเป็นบริษัทจำกัดและอื่น ๆ ในด้านเทคนิคหลายประการ ซึ่งคงจะใช้อีกหลายปีในขั้นการดำเนินงานว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้

"นั่นคือคุณต้องตกลงให้ได้ตอนนี้ แล้วเริ่มต้นในปัจจุบัน มันจะเป็นผลดีในอนาคตไม่ใช่เตะถ่วง" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังกล่าว

แต่กรรมการกฟผ.เห็นแย้งว่า "วิธีการแปรรูปโดยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่มีความจำเป็นแต่ถ้ารัฐบาลประสงค์กำหนดนโยบายนำรัฐวิสาหกิจที่เป็นธุรกิจแสวงหากำไรก่อน ส่วนรัฐวิสหกิจสาธารณูปโภค เช่น กฟผ. ควรศึกษาให้รอบคอบ"

"คุณต้องระวังเรื่องการตีราคาทรัพย์สิน ซึ่งกฟผ.มีมากมายมหาศาล หากตีราคาต่ำไปก็จะเกิดการกว้านซื้อหุ้นโดยนักการเมือง นอกจากนั้นราคาหุ้นก้จะสูงมาก อาจถึงหุ้นละ 1 ล้านบาท ใครจะกล้ามาลงทุนและอาจจะได้ปันผลน้อยมากหรือไม่ได้เลยเป็นเวลานาน เพราะคลังและกฟผ.ต้องเอาเงินไปลงทุนเพิ่มหรือชำระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่" กรรมการกฟผ.คนหนึ่งให้ความเห็นถึงอุปสรรค

ส่วนรูปแบบที่ 2 คือระบบโค-เจนเนอเรชั่นเป็นวิธีการที่กฟผ.เห็นด้วยมากที่สุดและประกาศตัวอยู่เสมอว่า เห็นด้วยกับวิธีการนี้มาตั้งนานแล้วแต่ในขั้นตอนการปฏิบัติก็ดูเหมือนจะล่าช้าไม่ใช่น้อย

"กฟผ.ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้เอกชนใช้เชื้อเพลิงหลายรูปแบบ เช่น วัสดุเหลือใช้และน้ำมันเชื้อเพลิง แต่กฟผ.อยากจะให้เอกชนใช้แต่วัสดุเหลือใช้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้สำหรับเอกชน เพราะช่วงใดที่เอกชนไม่มีวัสดุเหลือใช้ เช่น โรงงานน้ำตาลไม่มีชานอ้อยเหลือก็จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งก็จะไม่คุ้มกับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของตนเองกิจการประเภทนี้ก็จะไม่เกิดหรือไม่โตเลย นอกนั้นก็เป็นเรื่องราคาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งกฟผ.กำหนดส่วนต่างซื้อขายในอัตราค่อนข้างสูงถึง 60 สตางค์ต่อ KWH ทำให้ราคาไฟฟ้าสูง เอกชนที่อยากจะลงทุนและซื้อไฟฟ้าจากส่วนนี้ใช้ก็เลยแหยง จนต้องมีการปรับระเบียบและรายละเอียดกันใหม่ พอให้ระบบนี้มันเกิดขึ้นมาได้" แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าว

จุดที่มีการปรับระเบียบรายละเอียดกันใหม่ก็คือการเสนอรายละเอียดถึงวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีพลังไฟฟ้าที่จะขายให้กฟผ.กินความกว้างไปถึงขยะ ก๊าซชีวภาพ ไม้ฟืน นอกเหนือจากวัสดุทางการเกษตร เช่น แกลบหรือชานอ้อย แต่เพียงอย่างเดียวตามข้อเสนอของกฟผ. อีกจุดหนึ่งก็คือส่วนต่างราคาซื้อขาย (MAGIN) ของกฟผ. ควรจะอยู่ในช่วงอัตรา 10-30 สตางค์/ KWH ก็พอ และจุดสุดท้ายคือการรับผิดชอบความเสียหายของระบบไฟฟ้าอันเนื่องมากจากอุปกรณ์ไฟฟ้าของกฟผ. ไม่ควรให้เอกชนเข้ามารับภาระความเสียหายนั้นด้วย ขณะที่ในร่างระเบียบขอบกฟผ. ได้ระบุให้เอกชนรับผิดชอบความเสียหายจากกรณีอุปกรณ์ของกฟผ.ด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเอกชน

ผลของการปรับปรุงข้อตกลงและระเบียบก็คือกฟผ. ประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมพิจารณาระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนสำหรับระบบโค-เจนเนอเรชั่น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างภาคเอกชนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมี พิสิฎฐ์ ภัคเกษมเป็นเลขานุการและโต้โผใหญ่ของงาน

"เขาอ้างว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่ทำตามข้อตกลงในเรื่องร่างระเบียบ เขาก็เลยไม่มา แต่ก็ดีแล้วที่ไม่มาเพราะเขาจะถูกรุมจากเอกชนว่าใจแคบในเรื่องนี้ เอกชนหลายคนถึงกับเสนอว่า ถ้ามีระบบนี้เกิดขึ้นจริงก็ขอซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตเลยไม่ต้องผ่านกฟผ." แหล่งข่าวในที่ประชุมกล่าว

เกษมเคยกล่าวบ่อยครั้งว่าเห็นด้วยกับระบบนี้เป็นการผลิตร่วมกันที่ดี แต่ต้องไม่ทำไฟฟ้าขายแข่งกันกฟผ. แต่ด้วยความล่าช้าในขั้นปฏิบัติ เกษมถึงกับกล่าวว่าถ้าระบบโค-เจนเนอเรชั่นเกิดขึ้นได้จริงและสามารถต่อเข้าระบบของกฟผ.ได้ทันกลางปี 2533 ซึ่งกฟผ.จะประสบปัญหากระแสไฟฟ้าสำรองต่ำอีกครั้ง เกษมกล่าวว่าเขาจะทำโล่มอบให้เอกชนรายนั้นเลยเพราะเกษมคาดว่าไม่ทันแน่

"เรื่องมันช้าเพราะกฟผ.เองนั่นแหละ ตอนนี้เรื่องมันกลับมาอยู่ที่ กฟผ.แล้วเพื่อให้เขาพิจารณาในรายละเอียดในฐานะผู้ปฏิบัติ ที่มันช้าเพราะ ข้างในกฟผ.เองก็ยังตกลงเรื่องนี้กันไม่ได้" แหล่งข่าวกล่าว

เป็นเพราะฝ่ายปฏิบัติการเห็นด้วย แต่ฝ่ายร่างนโยบายและบริหารนโยบายคัดค้าน ก็เลยคารังคาซัง

ส่วนรูปแบบที่ 3,4 และ 5 นั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เปิดโอกาสให้เอกชนมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าด้วยตนเอง จะแตกต่างกันก็ตรงหลังจากสร้างเสร็จแล้วจะให้ใครดำเนินการผลิตไฟฟ้าแบบไหนเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบ กฟผ.แทบจะเปิดประตูรับเอาเสียเลย

เกษมค้านรูปแบบนี้อย่างหนักแน่น เขากล่าวว่า แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเขาก็จะค้านและต่อต้าน เพราะถือเป็นความขัดแย้งทางความคิดเห็นส่วนบุคคล

เกษมและกรรมการกฟผ.ให้เหตุผลคัดค้านว่า หนึ่ง - หนี้ต่างประเทศที่เกิดขึ้นเพราะการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศนั้นจะเปลี่ยนจากหนี้ของัฐมาเป็นหนี้ของเอกชนเท่านั้น เพราะถ้าให้เอกชนเข้ามา เอกชนก็ต้องกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของประเทศแต่อย่างใด

สอง - ภาคเอกชนที่มีความสามารถที่จะมาลงทุนในระดับแสนล้านหมื่นล้านก็จะเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นการเสี่ยงถ้าเอากิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญไปตกอยู่ในมือของต่างชาติ

สาม - เอกชนเข้ามาก็ต้องมาแย่งใช้เชื้อเพลิง เช่น ลิกไนต์ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง กฟผ.และรัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน และลงทุนเป็นเงินมหาศาล สมควรถือเป็นทรัพยากรของชาติ จึงไม่สมควรให้เอกชนมาเหมือนกับเป็นการชุบมือเปิบ

สี่ - เอกชนเข้ามาลงทุนจะมีปัญหาในการลงทุนในเรื่องสายส่งและเทคนิค ซึ่งต้องกลงทุนมหาศาลและเอกชนจะไม่ยอมเข้าใปลงทุนในเขตชนบทเพราะไม่คุ้มทุน และราคาค่าไฟฟ้าที่จะจำหน่ายก็อาจจะสูงขึ้นมา

ห้า - กรรมการ กฟผ.ระบุว่า วิธีให้นายธนาคารและกลุ่มพ่อค้าเครื่องจักรมาลงทุนแบบนี้นั้นใช้ได้แต่กับประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งประเทศเหล่านี้บริหารโครงการไม่เป็น และจนมาก ๆ เป็นความคิดของนายทุนที่ต้องการขูดรีดประเทศด้อยพัฒนา

"ระบบให้เอกชนมาสร้างโรงไฟฟ้าเองนี้เหมาะสำหรับประเทศในแอฟริกามากกว่า ที่ไม่มีระบบการบริหารและไฟฟ้าดับอยู่เสมอ" เกษมกล่าว

"คุณเกษมเถียงข้าง ๆ คู ๆ " แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าวโต้

เหตุผลเพราะว่า เรื่องหนี้ต่างประเทศก็เป็นความเข้าใจผิดของเกษม ไม่มีใครบอกว่าต้องการลดหนี้ต่างประเทศ แต่ต้องการแก้ไขปัญหาเงินกู้เกินเพดานเงินกู้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปค้ำเงินกู้ของกฟผ.ทุกรายการโดยทันที ถ้าปล่อยให้กฟผ.ลงทุนเอง จะต้องมีปัญหาเพดานเงินกู้อย่างแน่นอน

"กฟผ.กลัวว่าในอนาคต บริษัทเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นบริษัทใหญ่ แล้วเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกฟผ. ซึ่งถึงตอนนั้นจะมีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานในทุกด้าน แล้วตอนนั้นจะรู้เองว่า ที่กฟผ.คุยว่าทุกวันนี้ดำเนินงานมีประสิทธิภาพมันจริงหรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนั้น กฟผ.จะประสบปัญหา "มันสมองไหล" อย่างแน่นอน ถ้าภาคเอกชนทำได้ดีกว่า วิศวกรจำนวนมาก็จะไปสู่ภาคเอกชน ส่วนเรื่องราคาค่าไฟฟ้าก็ไม่มีข้อสรุปว่าจะแพงหรือถูกกว่าที่เป็นอยู่เรื่องการลงทุนสายส่งหรือเทคนิคก็ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติว่าจะเอาอย่างไร อยู่ที่การออกระเบียบ ออกมาตรการต่าง ๆ ของ กฟผ.ซึ่งจะกำหนดอำนาจในเรื่องเหล่านี้ตลอดจนเรื่องการควบคุมอย่างไรก็ได้

"เขากลัวว่า พอสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ เอกชนจะทำไม่ได้แล้วหนี ก็ดีนะสิ เราจะได้ยึดเป็นของเราไปเลย เขาลงทุนให้เราก่อนแล้ว ส่วนเรื่องเชื้อเพลิงพลังงาน ก็เหมือนกัน ทุกวันนี้ กฟผ.ก็ต้องซื้อ ไม่แตกต่างจากเอกชนที่จะเข้ามา เรื่องเหมืองลิกไนต์ก็อยู่ที่ว่า กฟผ.ใจกว้างพอไหมที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมสำรวจและลงทุนร่วม ทุกวันนี้ กฟผ.ผูกขาดการสำรวจลิกไนต์ กฟผ. จะมีสิทธิ์ในเรื่องนี้ก่อนเสมอเรื่องแบบนี้ ใจกว้างพอไหม" แหล่งข่าวคนเดิมตั้งคำถาม

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พบว่า วิธีการให้เอกชนมาลงทุนในกิจการเช่นนี้มีด้วยกันในหลายประเทศ เช่น สวีเดน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มของข้อสรุปสำหรับรูปแบบทั้งสามนี้อาจจะเป็นรูปแบบที่ 5 คือ เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างเป็นเจ้าของ และให้เช่าโรงไฟฟ้าแก่ กฟผ. (BOL) ส่วนที่จะเป็นโรงไฟฟ้าใดก่อนนั้นก็อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 ไปแล้ว

ส่วนรูปแบบที่ 6 คือให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนสร้างก่อนและขายโรงไฟฟ้าให้กับบริษัทเอกชนที่ กฟผ.และเอกชนร่วมจัดตั้งขึ้น โดยจะถือหุ้น 49% และบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเองเพื่อให้เข้าระบบ กฟผ.

ลักษณะเช่นนี้ กฟผ.ประนีประนอมรับได้ โดยในขั้นต้นจะมีโครงการทั้งสิ้น 10 โครงการอยู่ในรูปแบบนี้

ทั้ง 10 โครงการ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 61,612 ล้านบาท แต่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน 30,000 -40,000 ล้านบาท

เป็นที่เชื่อกันว่า รูปแบบที่ 6 นี้เป็นการประนีประนอมของ กฟผ.และเป็นความจำเป็นรีบด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินเสียแต่ตอนนี้ว่าจะหาเงินลงทุนจากที่ไหนสำหรับ 10 โครงการนี้

"มันก็เหมือนกับโครงการอื่น ๆ ที่ กฟผ.เสนอเข้ามา แล้วมักจะบอกว่าไม่ทันแล้ว ๆ ต้องรีบลงทุนตอนนี้ รัฐบาลก็เลยต้องลงทุนเองมาโดยตลอด ทั้งที่กระทรวงการคลังเองอยากจะให้เอกชนมาลงทุนตลอด เพราะคิดว่ามันไม่ทันจริง ๆ ดร.ไพจิต เอื้อทวีกุล ในฐานะกรรมการสภาพัฒนาฯ ยังบ่นว่า จะไม่ยอมให้ลูกหลอกอีกแล้วสำหรับ 10 โครงการนี้รัฐบาลจะไม่ลงทุนเองอีก ต้องให้เอกชนเข้ามา เพราะเรายังเตรียมตัวทัน แม้ว่าจะไม่เต็ม 100% ก็ตาม" แหล่งข่าวกล่าว

ในเวลานี้สำหรับ 10 โครงการ กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาในรายละเอียดและเจรจากับรัฐบาลและสถาบันการเงินต่างประเทศ มี ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีคลังเป็นประธานเอง ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ผลจะลงเอยอย่างไร เอกชนจะเข้ามาได้จริงหรือไม่

ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา คือห้วงเวลาถกเถียงเรื่องการแปรรูปอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดและเริ่มมีข้อตกลงที่ชัดเจนดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด แต่ถึงกระนั้น เกษมก็ยังออกโรงมาคัดค้านเป็นระยะ ส่วนใน กฟผ.เองยังมีข้อสรุปที่หนักแน่นด้วยการพยายาจะให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาอย่างรอบคอบตลอดเวลา ดังนั้นแม้จะมีหลักการออกมาชัดเจนในขั้นตอนปฏิบัติก็ยังล่าช้าอยู่ดี

"ปัญหาของ กฟผ.คือ การผูกขาด ความคิดของเขาอาจจะก้าวในช่วงก่อสร้างตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาอยู่กับการผูกขาดมานาน ความคิดอาจจะไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบันไปบ้าง" กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าว ซึ่งแสดงถึงความไม่พอใจอย่างหนักหน่วงต่อท่าทีของกรรมการ กฟผ.ในเรื่องการแปรรูป

หากให้ "ผู้จัดการ" ประเมินการเปลี่ยนแปลงกรรมการ กฟผ.ในช่วงที่รัฐบาล พลเอกชาติชายเข้ามาแตะต้องนั้น ในใจของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหลายคนคงจะพอใจกับกรรมการชุดทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ มากที่สุด เพราะอย่างน้อยก็มีพิสิฎฐ์ ภัคเกษม ซึ่งสามารถคุยเรื่องแปรรูปได้สะดวกโยธินที่สุด

หรืออย่างน้อยการที่เกษม จาติกวณิช ต้องหลุดไปจากกรรมการ กฟผ.อย่างถาวร ก็ทำให้คนหลายคนในกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ปลุกปล้ำกับเรื่องแปรรูป กฟผ.มานาน ได้หายใจได้ทั่วท้องมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

การที่ เฉลิม อยู่บำรุง และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ปลดเกษม และนายช่างใหญ่ที่เป็นระดับกรรมการอีก 3 ท่านที่ประกอบด้วย จำรูญ วัชราภัย อำนวย ประนิช และทองโรจน์ พจนารถ รวมถึง สนอง ตู้จินดา นักกฎหมายอีก 1 ท่าน รวมเป็น 4 ท่าน ออกจากกรรมการ กฟผ.นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ง่ายนักว่าทำไมกรรมการทั้ง 5 ท่านที่คลุกคลีกับ กฟผ.มาเฉลี่ยคนละ 20 ปีทั้งนั้น และสร้างประโยชน์ลงหลักปักฐานให้กฟผ.มีสถานะความมั่นคงทุกวันนี้ จึงถูกปลดออกโดยที่ไม้แต่ พลเอกชาติชาย ซึ่งลงทุนเป็นคนควบคุมกำกับดูแล กฟผ.แทนเฉลิม ก็ไม่สามารถระบุความผิดของกรรมการทั้ง 5 ท่านนี้ได้

ตำแหน่งกรรมการ กฟผ.มันน่าพิศมัยมากมายเพียงใดหรือ

สนอง ตู้จินดา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น มันและไม่ได้กับหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาตัดสินงานประมูลหรือจัดซื้ออุปกรณ์ในธุรกิจของ กฟผ.ที่การประชุมแต่ละครั้ง มีเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่วงเงินแทบไม่ต้องพูดถึง เป็นหลายพันล้านบาท

มองจากความข้อนี้ กรรมการของ กฟผ.จึงต้องเป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้จริง ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาพรรคเอาพวก ที่วิ่งเข้ามาหากินกับธุรกิจของ กฟผ.

เกษม จาติกวณิช เขาต้องเป็นเป้าใหญ่ให้เฉลิมโจมตี ในลักษณะชี้ชวน ตามมาตรา 15 (1) ของ ก.ม.การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 2511 ที่ระบุว่า "ห้ามกรรมการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กฟผ.หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กฟผ.ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมเว้นแต่เพียงเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น"

เพราะเกษมมีภรรยา คือคุณหญิงชัชนี จาติกวณิชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทล็อกซเล่ยที่ขายอุปกรณ์และสินค้าหลายสินค้าแก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเอกชนมานานแล้ว

แต่ความจริงคือ ตลอด 10 ปี ที่เกษมเป็นผู้ว่าการฯ ล็อกซเล่ยขายอุปกรณ์ให้ กฟผ.มีมูลค่าเพียง 0.04% ของยอดลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์และจัดจ้างทั้งหมดของ กฟผ. 160,000 ล้านบาท และที่สำคัญการจัดซื้อและจัดจ้างของ กฟผ.กับล็อกซเล่ย์เป็นระบบประมูล ไม่ใช่จัดซื้อและจัดจ้างกันโดยเสน่หา

พิทักษ์ รังษีธรรม ส.ส.ตรัง อดีตเซลส์แมนขายอุปกรณ์ของบริษัทมารู่เบนนีญี่ปุ่นเคยกล่าวถึงเกษมว่าเป็นคนที่ผู้ใหญ่ในบริษัทมารูเบนนีที่ญี่ปุ่นยกนิ้วให้ในเรื่องความซื่อสัตย์ เถรตรงเป็นไม้บรรทัด "เจาะขายของให้ กฟผ.โดยผ่านเกษมยากที่จะสำเร็จยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา"

กรรมการบางท่านอย่างจำรูญ วัชราภัย อดีตวิศวกรใหญ่องค์การโทรศัพท์และผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ ผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของชาว ทศท.ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ว่ากันว่าช่วงเป็นกรรมการ กฟผ.ต้องเดินทางจากศรีราชา บ้านพักมาประชุมที่ กฟผ.เดือนละครั้งเป็นประจำ

ถ้าจะหวังเป็นกรรมการเพื่อความร่ำรวย คุ้มกันหรือกับชื่อเสียงเกียรติยศที่จำรูญสร้างมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนวัยชราอย่างทุกวันนี้ การหาคำตอบในข้อสังเกตนี้เป็นเรื่องเข้าใจกันได้

เฉลิม อยู่บำรุง อภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ในวาระถูกอภิปราบไม่ไว้วางใจได้พูดพาดพิงโดยไม่ระบุชื่อกรรมการ กฟผ.ว่า "มีกรรมการท่านหนึ่งในกรรมการ กฟผ.เป็นพี่ชายของผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ซีมา ที่ขาย BOILER ให้แก่ กฟผ.ทั่วประเทศ"

ข้อความอภิปรายตรงนี้ของเฉลิมทำให้กรรมการ กฟผ.ทุกคนถึงกับแปลกใจไปตาม ๆ กัน

"มีการสอบถามกันในหมู่กรรมการกันจ้าละหวั่นว่าเป็นใครกัน ก็หากันจนวุ่น ก็หาไม่พบ เข้าใจได้ว่าเป็นแท็คติกปล่อยข่าวของเฉลิมเท่านั้นเอง" สนอง ตู้จินดา กรรมการ (ผู้ถูกปลดออก) คนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังด้วยน้ำเสียงหัวเราะ

ประเด็นสาเหตุการปลดเกษมและกรรมการอีก 4 ท่าน ของเฉลิม และพลเอกชาติชาย ในมิติด้านการหาผลประโยชน์ของกรรมการบางท่าน จึงไม่มีหลักฐานเฉพาะชัดเจน หรือแม้แต่การที่เกษมและกรรมการ กฟผ.คัดค้านอย่างรุนแรงต่อเนื่องในมาตรการ PRIVATIZATION การผลิตไฟฟ้า แม้จะเป็นสิ่งที่ผ่านการยอมรับเป็นมติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกชาติชายนี้ไปแล้วก็ตาม

แต่การคัดค้าน PRIVATIZATION ของเกษมก็ไม่น่าเป็นเหตุการถูกปลด เพราะ "PRIVATIZATION IS A SMOKE-SCREEN" PAUL HANDLEY เขียนวิเคราะห์ไว้ใน THE REVIEWS, 13 JNLY 1989 โดยอ้างแหล่งข่าวข้าราชการอาวุโสระดับสูง และตอกย้ำประเด็นสาเหตุการปลดเกษมและกรรมการอีก 4 ท่านว่าเป็นกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล (พลเอกชาติชาย และเฉลิม) ที่มีเหตุจูงใจจาก "…IT IS NOTHING MORE THAN A PARCELLING OF INTERESTS"

ผลประโยชน์อะไรหรือที่ชวนให้สงสัยกันว่ารัฐบาลชาติชาย โดยเฉพาะเฉลิมต้องการใน กฟผ.

หัวใจสำคัญของธุรกิจใน กฟผ. คือการลงทุนขยายโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้า

ใน ก.ม.การไฟฟ้า ปี 2511 มาตรา 11 หมวด 3 ว่าอำนาจอนุญาตการสั่งซื้อระบุว่า "พัสดุที่มีราคาไม่เกิน 8 ล้านบาท ผู้ว่าการเป็นผู้อนุญาตได้เลย ส่วนที่เกิน 8 ล้านบาท ต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้อนุญาต"

กรรมการท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เป็นเชิงตั้งข้อสังเกตว่า เฉลิมเคยสอบถามความเห็นกรรมการท่านหนึ่งถึงตัวเผ่าพัชร ผู้ว่าการในเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ที่เฉลิมเห็นว่าไม่ดี เป็นจุดบอดของเผ่าพัชร แต่กรรมการท่านนั้นปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับเฉลิม

ตำแหน่งผู้ว่าการของเผ่าพัชร มีความสำคัญแค่ไหนใน กฟผ.เป็นที่เข้าใจรู้ได้ ไม่เพียงแต่มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อพัสดุในวงเงินไม่เกิน 8 ล้านบาท แล้วยังมีอำนาจลงนามในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อพัสดุด้วย

เฉลิมเคยสั่งปลดมนตรี เจนวิทย์การ ออกจาก ผ.อ.อ.ส.ม.ท. มาแล้ว และเอาราชันต์ ฮูเซ็น เข้ามาแทน

เป็นไปได้ว่า เฉลมิก็คงคิดเหมือนกับที่เขาทำกับมนตรีที่ อ.ส.ม.ท.เหมือนกัน แต่เผอิญกรรมการ กฟผ.ไม่ใช่กรรมการ อ.ส.ม. ชะตากรรมของเผ่าพัชร จึงไม่เหมือนมนตรี

เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่เฉลิมควบคุม กำกับ ดูแล กฟผ. เขาพยายามอภิปรายในสภาฯ เมื่อ 19 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้บริหาร กฟผ.ส่อเจตนาสงสัยไม่น่าไว้ใจในการเปิดประตูราคาเรื่องการเปิดหน้าดินเหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้ท้วงติงตลอดให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการเอง

ความตรงนี้ของเฉลิมเป็นข้อเท็จจริงที่เขาพยายามให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนดำเนินการเปิดหน้าดินเหมืองลิกไนต์มูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่จุดสำคัญคือถ้า กฟผ.ลงทุนเอง ต้องลงทุนเพราะค่าอุปกรณ์และเครื่องจักรเปิดหน้าดินอีกไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เผ่าพัชรได้รับโทรศัพท์จากเฉลิมยืนยันเรื่องการจัดหาอุปกรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งกรรมการในกรรมการท่านหนึ่งได้กล่าวให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เผ่าพัชรได้นำความเรื่องนี้มาบอกให้ที่ประชุมกรรมการทราบเช่นกัน

การหาผลประโยชน์โดยอาศัยสื่อช่องทางในการกำกับดูแลที่ฟังดูตามหลักการน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และรักษาผลประโยชน์ให้กรรมการอย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการปิดชอ่งทางทุจริตของเจ้าหน้าที่ เป็นแท็คติกชั้นสูงในการเดินเกมทางการเมืองเหนือขุมประโยชน์อันมหาศาลของ กฟผ.

ถ้าหากกรรมการ กฟผ.ชุดเกษม ยังอยู่ต่อไปยุทธศาสตร์การเข้ามาใน กฟผ.ของการเมืองย่อมยากลำบาก เพราะ หนึ่ง-กรรมการชุดนี้แต่ละคน เก่าคร่ำครึกับ กฟผ.มานาน จนรู้ใจและสามัคคีกันแน่นแฟ้นมากเปรียบดังผนังทองแดง กำแพงเหล็ก สอง-กรรมการชุดนี้ กรรมการแต่ละท่าน ส่วนใหญ่เป็นกำลังที่วางหลักปักฐานให้ กฟผ.มาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งมักจะมีความคิดฝัน "หลงใหลกับความสำเร็จในหนทางที่เดินมาในอดีต" อย่างแน่นหนา จนยากต่อการปรับให้ยอมรับความคิดใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการแยกสลายโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และจารีตของ กฟผ.การคัดค้านนโยบาย PRIVATIZATION เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดสุด และ สาม-กรรมการชุดนี้มีองคมนตรี 2 ท่าน คือ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ กับ น.ต.กำธน สันธวานนท์ นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย การกระทำอะไรลงไปโดยมีเป้าหมายเฉพาะย่อมอาจส่งผลกระทบต่อฐานะขององคมนตรีทั้ง 2 ท่านนี้ได้

ความยากลำบากด้วยเงื่อนไขดังว่านี้ เป็นสภาพการณ์ที่ฝ่านการเมืองใช้กลยุทธ์ตีเฉพาะเกษม ผู้ซึ่งครบเกษียณอายุตาม ก.ม. กฟผ. 65 ปีใน ต.ค. ปี 2533 และครบเทอม 3 ปี การเป็นกรรมการใน 3 เดือนข้างหน้านี้

ทำไมเฉลิมและรัฐบาลชาติชายจึงพุ่งเป้าตีและแยกสลายเกษมจากกรรมการ เหตุผลเพราะทราบดีว่าเกษมเป็นผู้มีบารมีสูงสุดใน กฟผ.และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างไม่เป็นทางการในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการไฟฟ้า "เขาสำคัญขนาดเกษียณอายุจากผู้ว่าการฯแล้ว กรรมการยังตั้งคณะกรรมการพัฒนาไฟฟ้าฯขึ้นมาให้เขาเป็นประธาน คล้าย ๆ กับยังไม่อยากให้เกษมหลุดจาก กฟผ.ไปเลย" แหล่งข่าวในวงการพลังงานเล่าให้ฟัง

กรรมการชุดใหม่ที่ชาติชายแต่งตั้ง ไม่มีเกษมสนอง ตู้จินดา อำนวย ประนิช ทองโรจน์ พจนารถและจำรูญ วัชราภัย ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกรรมการพัฒนาไฟฟ้าด้วย (ยกเว้นสนอง) มองจากแง่นี้เป็นความสำเร็จ่ของรัฐบาลชาติชาย ที่เป้าหมายบรรลุผลสำเร็จแล้ว นั่นคือจำกัดเกษมและอิทธิพลของเขาจาก กฟผ.

การเมืองเหนือ กฟผ.ในอนาคต จะออกมาในรูปแบบใด หลังพ้นยุคเกษม เป็นประเด็นสำคัญอีกจุดหนึ่งที่บ่งบอกถึงแนวโน้มพฤติกรรมในองค์กร กฟผ.

มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ที่คนใน กฟผ.ต้องเผชิญหน้ากับภาวะแวดล้อมที่ต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ….

หนึ่ง - พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้รักษาการกำกับควบคุมดูแล กฟผ.ด้วยตนเองแทนเฉลิม อยู่บำรุง กฟผ.หน่วยงานที่มีกำลังแรงงานร่วม 30,000 คน ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 7,000 เมกะวัตต์ มีวิศวกรเกือบ 10% ในองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ด้วยลักษณะงานธุรกิจที่ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ โดยไร้คู่แข่งขัน จึงดูเป็นองค์กรที่ไม่มีลักษณะพลวัต ขณะที่ระบบบริหารยังคงติดยึดอยู่กับระเบียบแบบแผนราชการในฐานะรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นจัดซื้อจัดจ้างตำแหน่งขั้นเงินเดือน การบริหารทุนภายใต้การกำกับดูแลจากกระทรวงคลัง

สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขที่ทำให้พฤติกรรมองค์กร กฟผ. โดยเนื้อแท้ หยุดนิ่ง และเริ่มประสบปัญหามันสมองที่เป็นวิศวกรไหลออกสู่อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ในภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมเปโตรเคมี

ขณะเดียวกันในระดับสูงคือ กฟผ.ทุกคนมาจากข้าราชการทั้งสิ้น กระบวนการตัดสินใจจึงอยู่ในอาณาจักรของคิดแบบข้าราชการที่ไม่ยืดหยุ่นทันต่อโลก ขณะที่คนกำกับดู่แลคือนายฯชาติชายวิธีคือและการบริหารการตัดสินใจเขาสังกัดอยู่กับเอกชนเต็มตัว

สิ่งนี้เป็นปมเงื่อนไขที่ขัดแย้งกันอยู่ พฤติกรรมองค์กรใน กฟผ.ย่อมหลีกเลี่ยงการปะทะกับอำนาจการเมืองภายนอกไปไม่พ้น

สอง-พลเอกชาติชาย มีนโยบายแจ่มชัดในการ PRIVAIXATION กฟผ.และเขาเชื่อมมั่นในพลังของทุนเอกชนว่าจะสามารถลงทุนและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เครื่องกีดขวางในโครงการ PRIVATIZATION เช่น CO-GENERATION SCHEME ที่ผู้บริหารใน กฟผ.รวมถึงกรรมการ กฟผ.พยายามเตะถ่วงหรือตั้งแง่อย่างเต็มที่จะยืดเวลาออกไปได้ไม่เกินปี 2534 เพราะกรรมการชุดเกษม เช่น ดร.เชาวน์, กำธน, ครบเทอมเป็นกรรมการพอดี ซึ่งถ้าหากชาติชายหรือรัฐบาลจากผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายใน กฟผ.ไม่ว่าจะเป็นวิโรจน์ นพคุณ ผ.อ.ฝ่ายนโยบายพลังงาน หรือแม้แต่ เผ่าพัชร ชวนะลิขิกร ผู้ว่าการ ก็จะหมดพลังไปเอง

และนั่นก็คือ โครงการดึงเอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้ากับ กฟผ.ตามรูปแบบ 6 แบบ ก็จะเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่สะดวก

สาม - การดึง กฟผ.เข้ากระจายหุ้นสู่ตลาดหลักทรัพย์บางส่วน (25%) ย่อมเป็นไปตามทิศทางการลงทุนและสถานะการลงทุนของ กฟผ.ที่แปรเปลี่ยนไป

การกระจายหุ้น กฟผ.สู่ตลาดหลักทรัพย์มีผลให้ฐานะ กฟผ.เป็นบริษัทจำกัด ไม่ใช่องค์กรรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ระเบียบบริหารงานบุคคล การจัดซื้อย่อมเป็นแบบธุรกิจไม่ใช่ราชาการอย่างทุกวันนี้

อาการมันสมองไหลออกจาก กฟผ.จะหยุดไปเนื่องจาก กฟผ.เป็นธุรกิจที่ดำเนินงานแบบเอกชนจึงไม่มีความจำเป็นต้องออกไปอยู่เอกชนด้วยกัน

นอกจากนี้การระดมทุนเพื่อทำโครงการลงทุนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นออกหุ้นเพิ่มทุน หรือกู้จากตลาดการเงิน ก็สามารถปลดเปลื้องภาระการค้ำประกันจากรัฐโดยปริยาย

และ สุดท้าย - กฟผ.ได้มาถึงจุด TURNING POINT ที่จะทดสอบดูว่าประสิทธิภาพในกรอบของการแข่งขันจากภาคเอกชนเป็นตัวเทียบเคียง ที่กฟผ.ไม่เคยประสบมาก่อนในการวัดแบบนี้ จะเป็นจริงหรือไม่เพราะเท่าที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปี กฟผ.ผูกขาดผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ามาตลอด กำไรจากธุรกิจแบบนี้จึงไม่ใช่ตัววัดประสิทธิภาพที่แท้จริง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ กฟผ.ได้มาถึงยุคการพิสูจน์ประสิทธิภาพของตัวเองจริง ๆ แล้ว

4 เรื่องใหญ่ที่คนใน กฟผ.ตั้งแต่กรรมการลงมาถึงระดับล่างจะต้องประสบนับจากเวลา

นี้ไป น่าจะดำเนินไปภายใต้บรรยากาศการแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองภายนอกมากขึ้น

เกษม จาติกวณิช ได้จบประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของตัวเองไปแล้วใน กฟผ.หลังจากเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานให้กฟผ.มาอย่างมั่นคง เป็นเวลา 30 ปี

แน่นอน…ลึกลงไปแล้วเขาย่อมอาลัยในการจากมาองค์กรนี้อย่างไม่มีเหตุผลชอบธรรมเท่าไรนัก แม้จะรู้ว่าการเมืองได้เข้าเล่นงานเขาอีกเป็นครั้งที่ 3 นับจากกรณีแบงก์สยามและปุ๋ยแห่งชาติ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us