"ผมคิดฝันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าวันหนึ่งผมควรจะมีกิจการเป็นของตัวเองบ้าง"
ธีระชัย เชมนะสิริ กล่าวเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างรัชดาพลาซ่าเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังรอการพิสูจน์ว่า "มือปืนรับจ้าง" อย่างเขาจะไปรอดหรือไม่
เมื่อต้องมานั่งเป็น "เถ้าแก่" ระดับพันล้านเสียเอง
ธีระชัย เชมนะสิริ ผู้มากมายด้วยอดีตวันนี้เขาอายุ 43 ปีพอดี ผ่านชีวิตและประสบการณ์มามากมายหลายด้านหลายมุมในฐานะลูกจ้างหรือนักบริหารมืออาชีพ
แต่ใบหน้าเขายังดูหนุ่มแน่น แววตายังเต็มไปด้วยความคิดความฝันท่วงทำนองของการพูดจาล้นเปี่ยมด้วยความตั้งใจจริง
ธีระชัยเป็นคนเชียงใหม่จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนมงฟอร์ตเชียงใหม่ และ
WILLIAM S. HART UNION HIGH SCHOOL, CALIFORNIA ก่อนที่จะมาจบรัฐศาสตร์การึคลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ว่ากันว่าเขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่งในยุคที่เรียนในรั้วจามจุรี
เขาจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากสถาบัน ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT (AIM)
ซึ่งที่นี่นี่เองที่ธีระชัยบอกว่าทำให้เขามีเพื่อนชาวต่างประเทศมากมายและปัจจุบันก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำ
ที่สำคัญเพื่อนที่จบจาก AIM. ล้วนแต่เป็นมันสมองสำคัญขององค์กรทางธุรกิจขนาดเบิ้ม
ๆ ในย่านเอเชียทั้งสิ้น
นอกจากนี้ธีระชัยยังจบหลักสูตร MANAGEMENT DEVELOPMENT จาก JL. KEL LOGG'S
GRADUATE SCHOOL OF MANAGEMENT แห่ง NORTH WESTERN UNIVETSITY USA.
ถ้ากว่า 30 ปีที่เขาทุ่มเทกับการศึกษาเล่าเรียนและแสวงหาประสบการณ์จากการทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่น
ซึ่งหลากหลายรูปแบบความรับผิดชอบนั้นทำให้เขา "ร่ำรวยประสบการณ์"
อยู่ในระดับเศรษฐีขึ้นมาได้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับ ถาวรพระประภา ใช้เวลากับการเก็บเศษเหล็กขายสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นคนขายรถที่ร่ำรวยมหาศาล
หรืออย่าง ดิลก มหาดำรงค์กุล สร้างเนื้อสร้างตัวจากการเก็บตะปูขาย ซ่อมนาฬิกาแล้วก็กลายเป็นนายห้างนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ต่างก็เป็นการสะสมทุนสู่ความเป็นเศรษฐี เพียงแต่ทุนของธีระชัยนั้นคือความรู้และประสบการณ์
แทนที่จะเป็นเงินทองกองแก้วอย่างเช่นถาวรหรือดิลกเท่านั้นเอง
ธีระชัยเคยทำงานกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยในตำแหน่งผู้จัดการฝึกอบรมวางแผน
และพัฒนาบุคลากรเขาเคยทำงานกับบริษัอิตัลไทยของ หมอชัยยุทธ กรรณสูต ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลก่อนที่จะมาอยู่กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลในส่วนงานการตลาดเป็นผู้บริหารอาวุโสของฝ่ายประชาสัมพันธ์
และเป็นผู้จัดการ
เขาเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทเดินอากาศไทย ซึ่งปัจจุบันยุบไปรวมกับบริษัทการบินไทยแล้ว
และล่าสุดก่อนที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเองเขาเป็นกรรมการบริหารของบริษัทโอสถสภา
(เต็กเฮงหยู) อยู่ประมาณปีเศษ
นักบริหารมืออาชีพที่ย้ายงานบ่อย ๆ เรื่อย ๆ เช่นนี้ไพบูลย์ สำราญภูติ เคยใหฉายาว่า
"มือปืนรับจ้าง" โดยเฉพาะนักการตลาดอย่างเขา
กระทั่งงานทางด้านการเมือง ธีระชัย เชมนะสิริ ก็เคยให้ความสนใจถึงขนาดลาออกจากปูนซิเมนต์ไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในทีมของมงคล
สิมะโรจน์ แต่ก็พลาดท่าเสียทีให้กับกลุ่มรวมพลับของพลตรี จำลอง ศรีเมือง
จนได้
"คนกรุงเทพฯที่ไปใช้สิทธิยังไม่เข้าใจว่าการเลือกผู้ว่าฯ ก็เหมือนเลือกผู้จัดการเมือง
ที่จะเข้าไปวางนโยบายและทำการบริหารให้ได้เป้าหมายไม่ใช่เลือกพนักงานทำความสะอาดอย่างที่เขากำลังทำกัน
ก็ต้องรอจนกว่าคนกรุงเทพฯจะเข้าใจแนวคิดนี้เสียก่อน ผมอาจจะลงเล่นอีก"
ธีระชัยสรุปความพ่ายแพ้ให้กับ "ผู้จัดการ" ฟังก่อนที่จะเปรยถึงอนาคตทางการเมืองของเขา
ธีระชัยพูดถึงการสะสมทุนของเขาว่านอกจากการศึกษาเล่าเรียนและประสบการณ์จากการทำงานแล้วสิ่งหนึ่งที่เขาสะสมได้มากมายก็คือเพื่อน
นอกจากเพื่อนจากสถาบันการศึกษาแล้ว ยังเป็นเพื่อนจากที่ทำงานที่เขาเคยผ่านมา
โดยเฉพาะนายเก่าของเขาในแต่ละที่ยังคงให้ความรักความเอ็นดูเขาเสมอจนทุกวันนี้
และเพื่อนจากการที่เขาทุ่มเททำกิจกรรมทางสังคมอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของสมาคมด้านการตลาด
การบริหารงานบุคคล กิจกรรมด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกิจกรรมที่เขาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือหน่วยงานราชการต่าง
ๆ
"ที่ปูนซิเมนต์ไทยให้อะไรผมมากมายเหลือเกิน ให้ทั้งประสบการณ์ทำงาน
ให้ทั้งวัฒนธรรมที่ดีซึ่งส่งผลถึงบุคลิกภาพให้เป็นที่รักใคร่ศรัทธาของคนในวงการธุรกิจตลอดทั้งการได้รู้จักบุคคลต่าง
ๆ ในวงการผมก็ได้จากที่นี่มาก" ธีระชัยพูดถึงกำไรที่เขาได้จากการอยู่ปูนซิเมนต์ไทย
ธีระชัยกระโดดออกมาจากโอสถสภาฯเพื่อเริ่มต้นงานที่เขารักด้วยตัวเองโดยการตั้งควอลิตี้กรุ๊ป
ทำรายการโทรทัศน์เริ่มต้นด้วยรายการเยาวชนคนเก่ง ซึ่งเป็นรายการตอบปัญหาของเด็กนักเรียนทางช่อง
9 อ.ส.ม.ท. เป็นรายการที่สร้างคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชนไทยไม่น้อย จนได้รับรางวัลเมขลา
ประเภทแข่งขันตอบปัญหาดีเด่น 2 ปีซ้อน (2530-2531)
ปัจจุบันควอลิตี้กรุ๊ปมีบริษัทในเครือกว่า 15 แห่ง ซึ่งนอกจากจะทำกิจการทางด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เขาถนัดยังร่วมลงทุนทำเหมืองแร่การค้าระหว่างประเทศ
ล่าสุดเขาจับมือกับยิวซูกรุ๊ป (YUE XIU ENTERPRISES) แห่งฮ่องกง สร้างมหานครแห่งใหม่ขึ้นริมถนนรัชดาภิเษกบนพื้นที่กว้างขวางถึง
40 กว่าไร่และด้วยเงินทุนดำเนินการไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท
ยิวซูกรุ๊ปเป็นหน่วยงานทางการค้าของเทศบาลเมืองกวางโจวแห่งจีนแผ่นดินใหญ่แต่มีสำนักงานดำเนินการอยู่ในฮ่องกง
ทำธุรกิจหลักคือนำเข้า-ส่งออกสินค้าและลงทุนในจีนโดยเฉพาะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานตามเขตชานเมืองกวางโจว
และทำกิจการโรงแรมในจีนหลายแห่ง
จากรายงานผลการดำเนินงานล่าสุด (2531) ของยิวซูกรุ๊ปมีการลงทุนขนาดใหญ่ในจีนไปแล้วกว่า
59 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนถึง 1.7 พันล้านบาทเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 4,000
ล้านบาท ซึ่งมีตั้งแต่โรงงานผลิตสารเคมี ของเด็กเล่นอุปกรณ์ถ่ายรูป แบตเตอรี่
อาหาร สิ่งทอ เหมืองแร่ เครื่องใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังเข้าไปดูลู่ทางการลงทุนในออสเตรเลีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
โดยมีสำนักงานตัวแทนตั้งอยู่ประเทศเหล่านั้นแล้วเรียบร้อย
ที่เมืองไทยก็มีควอลิตี้กรุ๊ปเป็นตัวแทน โดยโปรเจกต์แรกที่ได้เริ่มขึ้นแล้วคือโครงการ
"บางกอกรัชดาซันพลาซ่า" ซึ่งธีระชัยบอกว่ามันยาวเกินไปกำลังจะเปลี่ยนเป็น
"รัชดาพลาซ่า" เฉย ๆ เรียกง่ายกว่า
"รัชดาพลาซ่านับเป็นมหานครแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ริมถนนรัชดาฯ
ประกอบด้วยตึกสูงไม่น้อยกว่า 30 ชั้น 2 ตึก ซึ่งทั้งสองตึกนี้จะทำเป็นธรงแรมมุ่งกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มแยกออกจากกันคือ
กลุ่มท่องเที่ยวกับกลุ่มนักธุรกิจ ที่เหลือจะเป็นอาคารสำนักงานและชอปปิ้งเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้
เพราะตั้งอยู่ในเนื้อที่มากถึง 40 กว่าไร่ นับว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้"
ธีระชัยเล่าให้ฟังถึงโครงการของเขา
สัดส่วนการลงทุนนั้นยิวซูถือหุ้น 40% ที่เหลือเป็นของคนไทย 60% ซึ่งประกอบด้วยนายธนาคารและกลุ่มธุรกิจโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ
และครอบครัวของเขา
"ผมได้รับเงื่อนไขร่วมลงทุนที่ดีมาก คือนอกจากทางยิวซูจะร่วมลงทุนด้วย
40% แล้วเขาจะต้องหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและมีระยะเวลาการปลอดหนี้ 5 ปีเป็นอย่างน้อยและยิวซูจะต้องช่วยค้ำประกันให้ด้วย
สอง - เขาจะต้องมอบความไว้วางใจให้คนไทยบริหารทั้งหมด ที่สำคัญตัวกรรมการผู้จัดการจะต้องเป็นผมเท่านั้น"
ธีระชัยเผยถึงจังหวะที่เปิดให้เขาได้ก้าวขึ้นเป็นเถ้าแก่เองให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
ช่องทางที่สวยงามเช่นนี้เขาได้รับการแนะนำจากเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับเขาที่เรียนสถาบัน
AIM. มาด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นมันสมองสำคัญของกลุ่มยิวซูในฮ่องกง
ทุกอีกส่วนหนึ่งที่เขาเพิ่งได้ใช้มันจริง ๆ จัง ๆ นั้นคือความเป็นเพื่อนรุ่นน้องของ
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สมัยเรียนที่มงฟอร์ตเชียงใหม่มาด้วยกัน
นั่นคือโครงการนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุนทุกอย่าง โดยมียิวซูกรุ๊ปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ทุกบาทเช่นกัน
"กลุ่มคนไทยอีก 4-5 กลุ่มที่จะเข้ามาร่วมกับเรานั้นก็เป็นเพื่อน ๆ
ที่รักใคร่ชอบพอกันมา โดยเฉพาะผู้ใหญ่หลายท่านที่ผมให้ความเคารพนับถือท่านให้การสนับสนุนด้วยดี"
อีกขั้นตอนหนึ่งของการก้าวขึ้นเป็นเถ้าแก่จากการเปิดอกของเขา
ส่วนทุนของครอบครัวของเขาที่เป็นตัวเงินจริง ๆ นั้นธีระชัยพูดอย่างเปิดเผยว่าของเขามีไม่มาก
ซึ่งได้มาจากการขายที่มรดกที่เชียงใหม่ที่ก่อหน้านี้เพียงสวนลำใย แต่เดี๋ยวนี้มันมีราคาพอ
ๆ กับทองคำทีเดียว เขาแบ่งขายที่ดินที่ได้รับมาหลายแปลงเพื่อเอามาลงทุนในโครงการนี้
"ผมยอมรับว่าโครงการมันใหญ่มาก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง มันเป็นกฎเกณฑ์การลงทุนอย่างหนึ่งที่ความเสี่ยงมากกำไรก็มาก
เสี่ยงน้อยกำไรก็น้อยด้วย แต่ผมไม่ใช่คนชอบเสี่ยง ถ้าอันไหนที่สามารถลดความเสี่ยงได้ผมก็จะลดผมกล้าพูดว่าผมไม่ใช่ประเภทซื้อมาขายไป
ผมเป็นนักบริหารหรือนักลงทุนถ้าโครงการนี้มันประสบความสำเร็จ มันก็เป็นสิ่งพิสูจน์อะไรหลายอย่างในตัวผม
โดยเฉพาะจะพิสูจน์ว่าอาชีพลูกจ้างอย่างเราจะเป็นเถ้าแก่ได้หรือไม่"
ธีระชัยกล่าวด้วยความระแวดระวัง
ไม่ว่า "เถ้าแก่" จะพัฒนาตัวเองให้เป็นนักบริหาร "มืออาชีพ"
หรือมืออาชีพต้องการพลิกผันตัวเองขึ้นมาเป็น "เถ้าแก่" ต่างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ๆ กันทั้งนั้น
ถ้า ดิลก มหาดำรงค์กุล ต้องการพัฒนาตัวเงอจากนายห้างขายนาฬิกาที่ร่ำรวยจากการสะสมทุนทีละเล็กทีละน้อยกว่า
40 ปี มาเป็นนักบริหารมืออาชีพ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครหลวงไทย
จนถึงวันหนึ่งเขาถึงรู้ตัวว่าเขาไปไม่ไหว ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับคนเป็นเถ้าแก่แล้วอยากเป็นนักบริหารมืออาชีพ
เช่นเดียวกันถ้าคนหนุ่มนักบริหารมืออาชีพอย่าง ธีระชัย เชมนะสิริ ที่สั่งสมประสบการณ์จากการเรียนหนังสือและทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่นมากวา
30 ปีแล้วอยากเป็นเถ้าแก่บ้าง ก็น่าเป็นย่างก้าวที่น่าจับตามองของคนในวงการธุรกิจทีเดียว
ไม่เฉพาะธีระชัยเท่านั้นยังรวมถึง ไกรฤทธิ์ บุญยเกียรติที่กระโดดออกมาทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออกนอกเอง
หรืออย่างมานิต รัตนสุวรรณ ที่ออกมาทำบริษัทจัดจำหน่ายเทปเสียเอง ก็หนีไม่พ้นข้อสังเกตเดียวกันว่า
จะไปรอดเหรอ?
ซึ่งของอย่างนี้จะต้องพิสูจน์กันด้วยกาลเวลา