Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2532
ผู้จัดฉากประชุมแบงก์โลก             
โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
 


   
search resources

International Monetary Fund (IMF)
World Bank
Banking
นิพัทธ์ พุกกะณะสุต




ไทยเป็นประเทศที่ 5 ของเอเชียที่ลงทุนจัดประชุมแบงก์โลกในเดือนตุลาคม 2534 เป้าหมายเพื่อ SYNERGY ที่จะได้กับประเทศไทย…นิพัทธ์ พุกกะณะสุต ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังคือบุคคลทีอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ แต่หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า การขาดแคลนคนบริหารงานประชุมขนาดใหญ่สุดยอดของโลกครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลไทยขายขี้หน้าก็เป็นได้…

มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่คณะกรรมการสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ จะลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของไทยที่จะเป็นผู้ขอจัดการประชุมประจำปีธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟขึ้นในปี 2534ทีกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 46 นับตั้งแต่มีการเปิดประชุมประจำปีมาตั้งแต่ 2489

สาเหตุก็เพราะว่า ตลอดการประชุมที่มีการจัดมา 45 ครั้ง ชาติเอเชียมีโอกาสได้จัดเป็นเจาภาพเพียง 4 ชาติเท่านั้น คือ อินเดียในปี 2501 ญี่ปุ่นในปี 2507 ฟิลิปปินส์ในปี 2519 และเกาหลีในปี 2528 นอกนั้นส่วนใหญ่จัดในกรุงวอชิงตันดีซี และประเทศทางแถบยุโรป

หลังปี 2495 เป็นต้นมา คณะกรรมการสภาผู้ว่าธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟได้ตกลงร่วมกันที่จะให้มีการประชุมประจำปีธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ นอกกรุงวอชิงตัน ทุก 3 ปี โดย 2ปีต่อกันจะจัดในกรุงวอชิงตัน และปีที่ 3 จะจัดในประเทศสมาชิกหมุนเวียนสลับกันไป ตามภูมิภาคต่างๆ (ดูตารางสถานที่ประชุม)

ประเทศสมาชิกธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ มีอยู่ 152 ประเทศตอนปี 2527 กระทรวงการคลังในสมัยของ สมหมาย ฮุนตระกูล เป้นรัฐมนตรีการคลังเคยเสนอให้คณะสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ พิจารณาประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปี 2531 มาแล้วโดยให้นิพัทธ์ พุดดะณะสุต ซึ่งเวลลานั้นอยู่วอชิงตันในฐานะบริษัทเศรษฐกิจประจำสถานทูตไทย เป็นผู้ดำเนินการประสานงานติดต่อ

สถานที่จัดประชุมขณะนั้น ทางสมหมายพิจารณาไปที่โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัล เพราะมี CONVENTION HALL และ EXHIBITION HALL ที่ใหญ่พอและความพร้อมทางด้านบุคลากรที่รองรับงานได้ เพราะมีคนของไฮแอทที่เคยมีประสบการณ์บริหารซุปเปอร์โดมที่สหรัฐฯมาก่อนชื่อโรเบิร์ต แฟนเดอมาร์ค มาเป็นผู้บริหาร CONVENTION SSERVICE ที่ไฮแอทเซ็นทรัล กรุงเทพฯ และตอนเปิดบริการเป็นครั้งแรกเมื่อพฤศจิกายน ปี 2526 โรเบิร์ตก็บริหารงานประชุมนานาชาติรังสีวิทยาภูมิภาคเอเชียน-โอเชียนนิคจำนวน 2,000 คน ได้อย่างเรียบร้อย

แต่ขอจัดเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมปี 2531 ของไทย ไม่ประสบผลสำเร็จ แพ้ข้อเสนอรัฐบาลท้องถิ่นของนครเบอร์ลินตะวันตก "ที่แพ้เพราะตั้งแต่ปี 2513 ที่เดนมาร์กเป็นเจ้าภาพ ยังไม่มีกลุ่มประเทศใดในยุโรปอีกเลยที่ได้จัด และอีกประการหนึ่งตามโปรแกรมปี 2528 เกาหลีก็ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดอยู่แล้ว ดังนั้นจะให้ไทยได้จัดอีกในปี 2531 มันก็จะเป็นการกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่เป็นนโยบายของคณะสภาธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ" แหล่งข่าวในภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจจัดประชุมนานาชาติเล่าถึงสาเหตุที่ไทยไม่ได้จัดใก้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นครเบอร์ลินดาตะวันตก มีศูนย์แสดงสินค้า และการประชุมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่โตมาก เทศบาลนครเบอร์ลินตะวันตกเป็นเจ้าของและบริหารศูนย์แห่งนี้ปีหนึ่งๆ นครเบอร์ลินตะวันตกจะมีการแสดงสินค้าและการจัดประชุมนานาชาติอยู่ตลอดทั้งปี จนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า รายได้หลักของนครเบอร์ลินตะวันตกอยู่ที่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจัดประชุมนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ การประชุมประจำปีธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟที่เทศบาลนครเบอร์ลินตะวันตก เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนั้นจึงเป็นเพียงการจัดประชุมนานาชาติโปรแกรมหนึ่งในหลายโปรแกรมๆ ที่มีอยู่ตลอดทั้งปี ดังนั้นความพร้อมทางด้านสถานที่ ประสบการณ์ทางด้านบุคลากรที่จัดประชุมนานาชาติจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะอยู่ในวิสัยจัดประชุมขนาดคน 12,500 คน อย่างธนาคารโลกฯได้

นอกจากนี้ ในปี 2531 นครเบอร์ลินมีอายุครบ 700 ปีพอดี ทางเทศบาลนครเบอร์ลิน ก็เลยจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พอทางเบอร์ลินดาเสนอตัวเข้ามาแข่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธนาคารโลกพร้อมไทย จึงได้งานประชุมนี้ไปอย่างง่ายดาย

ดูเหมือนความพยายามของรัฐบาลไทยจะไม่หมดไป ปี 2529 นิพัทธ์ ซึ่งกลับมาประจำที่กระทรวงคลังแล้วก็ได้เสนอโครงการจัดประชุมธนาคารโลกฯประจำปี 2534 ให้ ร.ม.ต.สุธี สิงห์เสน่ห์ พิจารณาอีก ก็พอดีทางธนาคารโลกฯก็ติดต่อผ่านมาทางวิบูลย์ อังสนันท์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารประจำกลุ่มไทยในธนาคารโลกฯถึงความสนใจที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธนาคารโลกฯอีกหรือไม่?

สุธี สิงห์เสน่ห์ รมต.คลังขณะนั้น พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงคลัง และ นิพัทธ์ ก็ยื่นหนังสือเป็นทางการแก่คณะสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟว่าไทยสนใจจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพฯ ในปี 2534 ขณะเดียวกันทางสิงคโปร์ โดยรัฐบาลนาย ลี กวน ยิว ทางรมต.คลังสิงคโปร์ ก็ได้ยื่นข้อเสนอจะเป็นเจ้าภาพแข่งกับไทยด้วย แต่ถอนตัวออกไปในเดือน มกราคม ปี 2530

"ที่สิงคโปร์ต้องถอนตัวหลังจากทราบท่าทีที่แน่ชัดจากรัฐบาลไทยในความมุ่งมั่นที่จะจัดประชุมก็เพราะว่าวิงคโปร์รู้ตัวดีงว่าเป็น COLONY ของอังกฤษ ถึงอย่างไรก็แพ้ไทยอยู่แล้ว เนื่องจากมาได้เป็นสมาชิกธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ" แหล่งข่าวในวงการธุรกิจจัดประชุมนานาชาติกล่าว

เมื่อคณะทำงานด้านสถานที่ของธนาคารโลกฯมาดูสถานที่ในไทย ทางนิพัทธ์ก็พามาดูตามโรงแรมชั้น 1 ต่างๆที่มี CONVERTION HALL ขนาดใหญ่ๆเช่นเซ็นทรัล โอเรียลเต็ล รอยัล อคิด เชอราตัน ดุสิตธานี ในที่สุดก็มาพอใจที่เซ็นทรัล โดยมีเงื่อนไขให้ปรับปรุง EXHIBITION HALL และชั้น 2 ของโรงจอดรถเป็นสำนักงานขนาด 600 ห้อง หรือไม่ก็ใช้ส่วนพื้นที่โรงแรมจำนวน 300 ห้อง และบางส่วนของธนาคารบริเวณชอปปิ้งพลาซ่า ปรับปรุงมาเป็นสำนักงานขนาด 600 ห้อง

ข้อเสนอของธนาคารโลกฯเช่นนี้ ทางสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ก็ตอบตกลง ก็มีความเป็นไปได้อยู่มากที่รัฐบาลไทยอาจจะไม่มีโอกาสจัดประชุมได้ เพราะสถานที่จัดประชุมไม่พร้อม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทางกระทรวงการคลังมีข้อตกลงกับทางเซ็นทรัลอย่างไรบ้างเพื่อให้สัมฤทธิ์ยอมตกลงให้ใช้สถานที่เพ่อปรับปรุงตัวอาคารลานจอดรถทำเป็นอาคารสำนักงาน?

ประการแรก ทางสัมฤทธิ์ ยินดีให้กระทรวงการคลังใช้สถานที่ลานจอดรถปรับตัวเป็นอาคารสำนักงานตามที่ธนาคารโลกฯเสนอ โดยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตัวอาคารสำนักงานการสื่อสารโทรคมนาคม เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบทำความเย็น ซึ่งทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ทางกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ประการที่สอง ทางสัมฤทธิ์คิดค่าเช่าสถานที่ตระเตรียมความพร้อม 1 เดือน และหลังประชุมเลิก 1 สัปดาห์

ประการที่สาม ทรัพย์สินต่างๆที่คลังลงทุนก่อสร้างตัวสำนักงานทั้งหมดจะตกเป็นของคลังทุกชิ้น

พูดง่ยๆว่าข้อตกลงนี้อยู่ในกรอบที่ว่าเซ็นทรัลเป็นเพียงเพื่อให้เช่าสถานที่ทำสำนักงานเท่านั้น โดยมีคลังเป็นผู้เช่าและลงทุนสร้าง!

เมื่อเป็นดังนี้ ในเดือนตุลาคม ปี 2530 ทางเซ็นทรัลก็ส่งคนของตัวไปดูงานประชุมธนาคารโลกฯที่วอชิงตันดีซี มีดนัย วันสม พอล อีเลียต สุทธิเกียรติและอาภัสรา จิราธิวัฒน์ ร่วมสมทบไปกับคณะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังอีก 10 กว่าคน และในปี 2531 ก็ส่งคนไปดูงานธนาคารโลกฯ ที่เบอร์ลินตะวันตกอีก

ว่ากันว่าทั้งหมดที่เซ็นทรัลส่งไปดูงานประชุม 2 ครั้ง สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท!

การเตรียมการจัดประชุมดูจะเรียบร้อยไม่มีปัญหา แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมาจนได้ เมื่อสุทธิเกียรติ น้องชายสัมฤทธิ์ เสนอเงื่อนไขใหม่ให้คลังพิจารณา โดยบอกว่าเซ็นทรัลยินดีสร้างตึกใหม่เพื่อรองรับสำนักงานขนาด 600 ห้อง สำหรับการประชุมนี้ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนเกือบประมาณ 1,000 บาท แต่มีเงื่อนไขให้ทางรัฐบาลอุดหนุน(SUBSIDY) บ้าง เช่นการขอขยายเวลาเช่าที่ดินขนาด 40 ไร่ จากการรถไฟออกไปอีก 30 ปี โดยเสียค่าเช่าเป็นเงินก้อนเป็นจำนวน 60 ล้านบาท ขณะที่สัญญาเช่าที่เซ็นทรัลเช่าที่ดินจากการรถไฟตลอด 30 ปี จะเสียค่าเช่าหน้าดินปีละ 5 ล้านบาท และค่าหน้าดินอีก 16 ล้านบาท

"เวลานี้ราคาค่าเช่าพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกปีละ 200 ล้านบาท และค่าหน้าดินอีก 24 ล้านบาทแล้ว" แหล่งข่าวในการรถไฟกล่าวถึง ราคาค่าเช่าปัจจุบันที่ดินตรงเซ็นทรัลลาดพร้าวให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ถ้าหากการรถไฟไม่ต่อสัญญา เมื่อครบอายุ 30 ปี ในอีก 17 ปีข้างหน้า เฉพาะอาคารทรัพย์สินที่ปลูกสร้างตามราคาปัจจุบัน ซึ่งตกประมาณ 2,000 ล้านบาท จะตกเป็นของการรถไฟทันที

ข้อเสนอของสุทธิเกียรติตรงประเด็นนี้ เมื่อขึ้นสู่บอร์ดคณะกรรมการจัดเตรียมงานประชุมธนาคารโลกที่มี ประมวล สภาวสุ เป็นประธาน ก็ต้องตกม้าตาย เพราะเห็นว่า ทางสุทธิเกียรติใช้เทคนิคต่อรองขอมากไปได้คืบแล้วจะเอาศอก โดยใช้เงื่อนไขเวลาที่ไล่กระชั้นเข้ามา ทั้งๆที่ข้อเสนอนี้สัมฤทธิ์เองก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ แต่เมื่อสุทธิเกียรติทำไปเองก็เลยตามเลย

จุดนี้คือที่มาของเหตุผลการตัดสินใจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับประมวลให้รัฐบาลลงทุนก่อสร้างอาคารประชุม และสำนักงานธนาคารโลกเสียเองแม้จะใช้เงินสูงถึงเกือบ 1,500 ล้านบาทก็ตาม เหมือนเช่นมาร์กอสตัดสินใจก่อสร้างหอประชุมสำหรับธนาคารโลกฯ เมื่อปี 2517 ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ปี 2519

ทั้งๆที่เวลานั้นการรถไฟเองก็ยังไม่ตกลงใจปฏิเสธข้อเสนอของสุทธิเกียรติเสียเลยทีเดียว

รัฐบาลตัดสินใจลงทุนก่อสร้างศูนย์อาคารประชุมและสำนักงานเอง มีเหตุผลในตัวมันเอง

มองในแง่เหตุผลทางการตลาด การมีหอประชุมนานาชาติของรัฐบาลที่เคยผ่านการจัดงานประชุมธนาคารโลกฯ ย่อมได้รับความเชื่อถือในการจัดประชุมนานาชาติอื่นๆได้ เนื่องจากประชุมธนาคารโลกถือเป็นสุดยอดของการจัดประชุมแล้ว

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว 3 ชาติในเอเชีย คือเกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกงได้รายงานโปรแกรม และจำนวนผู้คนที่จะเข้ามาร่วมประชุมใน 3 ประเทศดังกล่าว ตั้งแต่ในช่วงปี 2533-2540 เฉพาะโปรแกรมงานประชุมที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 1,000 คนขึ้นไปว่ามี 32 โปรแกรม รวมผู้เขาร่วมประชุมทั้งสิ้น 141,652 คนนี้ 80% เป็นชาวต่างชาติที่จะพากันหลั่งไหลไปยังเกาหลี ฮ่องกง และสิงคโปร์

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจจัดประชุมนานาชาติกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตลาดประชุมนานาชาติยังเปิดกว้างมาก เท่าที่ผ่านมาเฉพาะปี 2531 การประชุมระดับเกิน 500 คน ไทยมีสถิติการจัดเพียง 4 ครั้งเท่านั้น มีจำนวนผู้เข้าประชุม 3,414 คนเท่านั้น

เหตุนี้ตลาดประชุมนานาชาติที่มีดีมานด์สูงและโอกาสที่ประเทศไทยจะแย่งชิงมาได้นั้นหน่วยงานของรัฐบาล คือกระทรวงคลัง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวย่อมมองเห็นโอกาสนี้

ยกตัวอย่าง การประชุมของกลุ่มคณะแพทย์รังสีโลก ซึ่งเป็นภาคเอกชน กลุ่มสมาคมแพทย์รังสีของไทยมีความพยายามหลายครั้งที่จะดึงงานประชุมสมาคมรังสีโลกที่มีคนเขจ้าประชุมถึง 15,000 คนมาจัดที่ประเทศไทยให้ได้ แต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกกลุ่มสมาคมแพทย์รังสีไทยเสนอตัวเข้าแข่งกับฝลรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็แพ้เพราะฝรั่งเศสเสนอใช้พระราชวังแวร์ซายส์เป็นสถานที่จัดเลี้ยงประกอบฝรั่งเศสกำลังมีงานฉลองครบ 200 ปี ปฏิวัติจากระบอบกษัตริย์ ปีหน้า (1990) ก็แพ้สิงคโปร์อีก ดังนั้นการจัดประชุมธนาคารโลกฯปี 2534 นี้ จึงเป็นเครดิตที่ไทยอาจจะดึงการประชุมรังสีโลก 15,000 คนนี้มาที่ไทยได้

"สิงคโปร์ทียอมถอนตัวแข่งกับไทยออกไปตอนประมูลขอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธนาคารโลกฯเขาไม่สะเทือนหรอก เพราะถึงอย่างไรเสีย โปรแกรมและคนที่เข้าประชุมที่สิงคโปร์ก็มากอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2533-2540 เขามีโปรแกรม (ระดับเกิน 1,000 คน)รออยู่แล้ว 14 โปรแกรม (มีประชุมรังสีโลก 2533 อยู่แล้ว) มีคนเข้าร่วมประชุม 41,000 คน เหตุผลที่เขายื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการเจาะตลาดประชุมนานาชาติขึ้นไปอีกต่างหาก" แหล่งข่าวในการที่องเที่ยว (ท.ท.ท.) เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ท.ท.ท.เคยสำรวจตัวเลขการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติในไทยเมื่อปี 2531 พบว่าแต่ละคนจะใช้จ่ายประมาณ 3,300 บาท/วัน ถ้าปรับตัวเลขใช้จ่ายในปีนี้อีก 15% ( เพราะค่าที่พักแพงขึ้นเฉลี่ย 15% ) ก็จะตกประมาณ 3,800 บาท/วัน เป็นอย่างน้อย

นั่นหมายความว่า การประชุมในธนาคารโลกฯที่เมืองไทยปี 2534 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 8,000-9,000 คนพร้อมผู้ติดตามอีก 3,500 คน รวม 12,500 คนจะมีการใช้จ่ายสูงถึงเกือบ 500 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย

ยังไม่นับรวมผลประโยชน์ที่ยังมองไม่เห็นที่จะตกกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ และการจัดงานแสดงสินค้า ที่จะตามมาในอนาคตหลังงานประชุมธนาคารโลกฯอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้โครงการเงินกู้จากธนาคารโลกฯที่หน่วยงานรัฐบาลไทยคือกระทรวงการคลังไปกู้มาใช้ในโครงการต่างเช่น การพัฒนาปิโตรเลียม สร้างถนนทางหลวงต่างๆ ทางด่วน ชลปทานก็จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกฯและผู้แทนสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนทั่วโลกได้มาเห็นดอกผลโครงการนั้นๆ ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพพจน์ (CREDIT RATING) ให้กับประเทศไทยได้อีก

"พูดอีกนัยหนึ่งเป็นการลงทุนจัดที่ได้ดอกผลแบบ SYNEERGY แก่รัฐบาลไทย" คนในแบงก์ชาติกล่าว

เหตุผลเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังลงทุนจัดการประชุมเองนั้นคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นการตัดสินใจที่มองการณ์ไกล

เครดิตตรงนี้ยกให้ นิพัทธ์ เพราะนิพัทธ์เป็นคนเดียวที่รู้เรื่องรยละเอียดของงานนี้มากที่สุดตั้งแต่แรกเริ่ม

ด้วยเหตุนี้นิพัทธ์จึงกลายเป็นผู้อำนวยการสำนักงานจัดงานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ ประจำปี 2534 นี้ โดยคำสั่งแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีจากการเสนอของประมวล รมต.คลังและมีชัย มะระกานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงาน

ทั้ง 2 คนเวลานี้ถือเป็น KEY FIGURE ที่สำคัญที่สุดเท่าในการประสานงานบริหารจัดประชุมและงานก่อสร้างกับธนาคารโลกฯมีสำนักงานเฉพาะกิจอยู่ชั้น 7 ตึก สศค.กระทรวงการคลัง

ซึ่งถ้าหากว่างานจัดประชุมครั้งนี้ออกมาเละทั้ง 2 คนก็อาจเสี่ยงสูงต่อชื่อเสียงเพราะเป็นคนทำงานส่วนพนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลังซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการเตรียมงานการประชุมนั้นลอยตัวอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ใช่เป็นคนทำงานระดับปฏิบัติ

มันเป็นเรื่องน่าหวาดเสียวเมื่อย้อนดูจากประสบการณ์ที่คลังแบงก์ชาติจัดประชุม ADB

ทั้งนิพัทธ์และเริงชัยเคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ตอนกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ADB BANK ที่ดุสิตธานี เมื่อปี 2528 การประชุมครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมประมาณเกือบ 2,000 คน

การจัดประชุมครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการซ้อมครั้งใหญ่ของประเทศเจ้าภาพก่อนหน้าริอ่านจะจัดประชุมธนาคารโลกฯก็ว่าได้ เพราะ ADB BANK เป็นหนึ่งในหลายแขนขาของธนาคารโลกฯที่ดูแลกิจการด้านเอเชียแปซิฟิก มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

ผู้มีประสบการณ์จัดประชุมนานาชาติรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่ามันเละไม่มีดีเพราะกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเตรียมงานนี้จริงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้นทั้งที่อย่างน้อยควรจะเป็น 1 ปี "รถบัสที่ใช้มีหลายสีไปหมด ไกด์ที่ใม่ใช่ไกด์มืออาชีพที่ทำงานเฉพาะการประชุมก็ไปจ้างมาจากไหนก็ไม่รู้เด็กท้ายรถก็เอามาเป็นเด็กประจำรถ นุ่งกางเกงยีนส์มาต้อนรับผู้แทนที่เข้ามาร่วมประชุม"

ประสบการณ์แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทางกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติไม่มีความพร้อมในการบริหารงานประชุม ซึ่งจะให้เกิดขึ้นอีกกับการประชุมธนาคารโลกฯในปี 2534 ไม่ได้อีกเด็ดขาด

ปัญหามีอยู่ว่าทั้งนิพัทธ์และเริงชัยจะบริหารงานประชุมที่ละเอียดอ่อนและมีขนาดใหญ่นี้ได้อย่างไร?

ในหนังสือคู่มือการจัดการประชุมธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ ที่ออกมาเมื่อกุมภาพันธ์ 2532 ได้ระบุกลไกต่างๆ ถึง 22 จุดที่ที่จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานประชุม ที่นิพัทธ์และเริงชัยจะต้องจัดทีมประสานงานให้สอดคล้องกับคณะเจ้าหน้าที่ทำงานด้านจัดประชุมของธนาคารโลกฯ (ดูรายละเอียด FUNCTION งานต่างๆ ในล้อมกรอบ)

นอกจากนี้ในคู่มือยังระบุให้เจ้าภาพคือคลังและแบงก์ชาติจัดเตรียมบุคลากรเพื่อรับผิดชอบและทำหน้าที่ใน FUNCTION ต่างๆ ของงานประชุมอีก 13 จุด (ดูล้อมกรอบ) ซึ่งคงได้มีการระดมคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆในกรมศุลกากร ต.ม. คมนาคม กรมตำรวจ มาปฏิบัติงาน เนื่องจาก FUNCTION งานเกี่ยวพันกับหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ

"ที่เบอร์ลินตะวันตกเป็นเจ้าภาพเทศบาลนครเบอร์ลิน ได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ของเทศบาล 212 คนเป็นผู้ช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกฯใน FUNCTION ทั้ง 22 จุด โดยมีคุณสมบัติต้องพูดภาษาอังกฤษและเขียนได้" เอกสารฯคู่มือระบุไว้เช่นนั้น (ดูตารางจำนวนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ)

เช่นนนี้แล้วนิพัทธ์และเริงชัยจะเอาเจ้าหน้าที่ระดับข้าราชการที่ไหนซึ่งพอจะมีความรู้ความชำนาญในงานนั้นๆ ช่วยและประสานงานกับคนบริหารงานประชุมของธนาคารโลกฯ

ทางเลือกดูเหมือนมี 2 ทาง คือ หนึ่ง - เปิดประมูลให้บริษัทโรงแรมต่างๆ ที่มีประสบการณ์จัดบริหารงานประชุมมาแล้วอย่าง เชอราตัน ฮิลตัน (ซึ่งเคยจัดมาแล้วที่วอชิงตันและเกาหลีใต้) เข้ามา BID งานนี้ไปเลย หรือ สอง-ฝึกฝนอบรมเจ้าหน้าที่ข้าราชการคนไทยขึ้นมาเองใช้เวลาปีเศษๆ

ความขาดแคลนในบุคลากรที่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในการร่วมบริหารงานประชุมระดับนานาชาติยักษ์ให่ของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการจัดการประชุมครั้งนี้

ผู้รู้ในวงการจัดการประชุมนานาชาติท่านหนึ่งให้ข้อคิดกับ "ผู้จัดการ" ว่าตัวสถานที่จัดประชุมซึ่งมีเวลาเหลืออีก 17-18 เดือน ไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่เพราะอย่างไรเสียก็คงจะเสร็จทัน แต่จุดใหญ่อยู่ที่ตัว SOFTWARE คือ คน ที่จะเข้ามาประสานงานบริหารงานประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกฯใน FUNCTION ต่างๆ ซึ่งในภาคราชการเราไม่มีซักคนเลย

"มันเป็นความรู้เฉพาะด้าน ใช้ภาษาเฉพาะของมันตรงนี้ข้าราชการไทยทุกกระทรวง ทบวง กรมไม่เคยมีใครรู้เรื่องเอากันแค่หน้าที่ความรับผิดชอบ?เฉพาะตำแหน่งงานที่เรียก CONVENTION SERVICE MANAGER ทั้งนิพัทธ์และเริงชัยไม่มีทางทำได้เพราไม่มีความรู้ชำนาญพอ" แหล่งข่าวยกตัวอย่างเทคนิคการบริหารงานประชุมประกอบ

ตรงนี้มีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า นิพัทธ์คงเลือกทางเปิดประมูลให้บริษัทโรงแรมต่างๆ ที่มีประสบการณ์จัดบริหารงานประชุมนานาชาติเข้ามาประมูลการบริหารงานนี้มากกว่า เพื่อตัดปัญหาความไม่พร้อมด้านบุคลากรของทางราชการไป ซึ่งเสี่ยงเกินไปที่จะเอาปัญหานี้ไว้แลกกับชื่อเสียงและหน้าตาประเทศ

เหตุเพราะ หนึ่ง -โดยเนื้อแท้แล้ว กระทรวงการคลังเพียงแต่ต้องการเป็นกลไกควบคุมการจัดประชุมให้ดำเนินการเรียบร้อยไปเท่านั้น ไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวในการปฏิบัติการเลยเพราะรู้ตัวเองดีว่าไม่มีความชำนาญ สู้ภาคเอกชนไม่ได้ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล แชงกรี-ลา ฮิลตัน รอยัล ออคิด เชอราตัน มีบุคลากรพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้อยู่แล้วตั้งแต่ระดับ CONVENTION SERVICE MANAGER ไปจนถึงพนักงานบริการ สอง -หน้าที่ความรับผิดชแบหลักของคลังในฐานะเป็นผู้ติดต่อโดยตรงกับธนาคารโลกแต่เพียงผู้เดียว อยู่ที่งานด้านจัดอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองศุลกากรการขนส่งสื่อสาร การักษาความปรอดภัย ซึ่งเป็น FUNCTION งานที่อยู่นอกส่วนงานงานประชุมทั้งสิ้น งานเหล่านี้กระทรวงการคลังต้องประสานให้ดีกับกรมตำรวจ การท่าอากาศยานและอีกหลายหน่วยงานของราชการ ซึ่งยุ่งยากมากพอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้การประชุมธนาคารโลกฯปี 2534 ประมวล นิพัทธ์ พนัส กำจร และเริงชัย จึงเป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่สุดในการวางนโยบายและจัดการบริหารโครงการประชุมนี้จะขายขี้หน้า หรือรับเสียงตบมืออย่างที่ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เคยจัดประชุมรัฐสภาโลกคน 2,000 คน เมื่อปลายปี 2529 และได้รับเสียงตบมือว่าจัดได้เยี่ยมยอดหรือไม่?

ตุลาคม 2534 นี้ชี้ชะตา!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us