เตียง จิราธิวัฒน์ มีพื้นเพเดิม มาจากเกาะไหหลำ ซึ่งมีวัฒนธรรมใน การสร้างครอบครัวให้ใหญ่
เขาจึงมีความฝันว่า สักวันหนึ่งเขาจะมีครอบครัว ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จ
เตียงเริ่มเปลี่ยนนามสกุลจากเดิม ที่ใช้ "แซ่เจ็ง" มาเป็น "จิราธิวัฒน์"
เมื่อปี 2493 โดยเขาได้ขอให้ผู้ใหญ่ ที่เขาเคารพนับถือผู้หนึ่งตั้งให้
ความหมายของคำว่า "จิราธิวัฒน์" มาจาก ศัพท์ 3 คำ คือ "จิระ"
หมายถึง ยืนนาน "อธิ" หมายถึง ความยิ่งใหญ่ และ "วัฒน์"
คือ วัฒนา
รวมความแล้ว จะหมายถึง ตระกูล ที่มีความยิ่งใหญ่วัฒนาอย่างยาวนาน
จากรุ่นที่ 1 คือ เตียง และภรรยาอีก 3 คน คือ หวาน, บุญศรี และวิภา ปัจจุบันตระกูลจิราธิวัฒน์
ก้าวมาถึงรุ่นที่ 4
ณ วันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา มียอดสมาชิกรวมทั้งสิ้น 164 คน
การจัดการตระกูลใหญ่ ที่มีสมาชิกถึง 164 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย
"จิราธิวัฒน์" ในวันนี้ จึงจำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ ที่จะนำมาใช้กับสมาชิกของตระกูล
และมีคณะกรรมการของตระกูล ที่เรียกว่า Family Council ที่มีการจัดองค์กรอย่างมีระบบ
และชัดเจน เป็นผู้มีอำนาจตามระเบียบ กฎเกณฑ์ดังกล่าว
Family Council ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาชิกในรุ่นต่างๆ
ที่มีการเลือกกันขึ้นมาประมาณ 10 คน โดยมีวันชัย ลูกชายคนที่ 2 ของเตียง
เป็นประธาน และดร.สุทธิพันธ์ ลูกชายคนที่ 7 ของบุญศรี ภรรยาคนที่ 2 ของเตียงเป็นเลขาธิการ
คณะกรรมการแต่ละชุด มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
โดยเลือกกันในการประชุมใหญ่ประจำของครอบครัว
ความจริงแนวคิด ที่จะมีการตั้ง Family Council และการออกระเบียบกฎเกณฑ์มาใช้กับสมาชิกในตระกูลจิราธิวัฒน์
เริ่มมีมาแล้วตั้งแต่ช่วง ที่สัมฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่
แต่การที่สัมฤทธิ์เป็นพี่ใหญ่ ที่น้องๆ ทุกคนให้ความเคารพนับถือ ประกอบกับจำนวนสมาชิกยังมีไม่มากนัก
กฎเกณฑ์ ที่นำมาใช้ในการปกครอง สมาชิกในตระกูลส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งที่สัมฤทธิ์กำหนดขึ้น
หลักการใหญ่ๆ ในการดูแลคนในตระกูลของสัมฤทธิ์ มีอยู่ด้วยกัน 8 ประการ ประกอบด้วย
1. การอยู่ร่วมกัน เป็นหลักพื้นฐาน ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ยุคของเตียง คือ
พี่น้องทุกคนจะต้องอยู่บ้านเดียวกัน กิน เล่น เรียน นอน และทำงานด้วยกัน
ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นพี่น้องต่างมารดา
2. การจัดลำดับอาวุโส เนื่องจากตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นตระกูล ที่ใหญ่ มีทั้งน้อง
ลูก และหลานรวมอยู่ด้วยกันหลายคน และหลานบางคนมีอายุมากกว่าผู้ที่เป็นอา
หรือน้า ดังนั้น จึงกำหนดให้ทุกคนเคารพกันตามหลักอาวุโสของอายุ แทนการนับตามศักดิ์ความเป็นอา-หลาน
3. กำหนดให้ในแต่ละครอบครัวต้องมีการอบรมสั่งสอนกันเป็นลำดับชั้น พ่อต้องสอนลูก
พี่ต้องสอนน้อง
4. การใช้หลักประชาธิปไตยกับสมาชิก โดยให้ทุกคนมีสิทธิ ที่จะแสดงความคิดเห็นได้
5. สัมฤทธิ์ได้กำหนดไว้เลยว่าในตระกูล ลูกผู้ชายจะต้องเรียน ที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ
ซึ่งเป็นโรงเรียน ที่สัมฤทธิ์เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ส่วนลูกผู้หญิงจะต้องเรียน ที่มาร์แตร์เดอีวิทยาลัย
และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถไปเรียนต่อระดับปริญญาในต่างประเทศ
6. การแบ่งงาน และความรับผิดชอบในกิจการของครอบครัว เป็นไปตามลำดับอาวุโส และความสามารถ
ไม่นับตามศักดิ์
7. เมื่อมีใครในตระกูลทำผิด จะมีการออก เป็นจดหมายเวียนถึงพี่น้อง เพื่อเป็นการประจาน
ไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง
8. เมื่อคนในตระกูลทำดี จะได้รับการชมเชยโดยการมอบหมายงานเพิ่มขึ้น โดยไม่มีการชมต่อหน้า
เพราะกลัวจะเหลิง
เห็นได้ชัดว่า หลักการดูแลคนในตระกูล ทั้ง 8 ข้อของสัมฤทธิ์ ยังมีภาพเชิงซ้อนกันอยู่ระหว่างกฎ ที่นำมาใช้ในเรื่องของครอบครัวโดยเฉพาะกับกฎ ที่นำมาใช้ เพื่อธุรกิจของตระกูล
ดังนั้น เมื่อสัมฤทธิ์เสียชีวิตลง และวันชัย ได้ขึ้นเป็นผู้นำตระกูลแทน
ขณะที่จำนวนสมาชิกเริ่มเพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิดที่จะร่างกฎระเบียบให้ชัดเจน
รัดกุม และโปร่งใส และแยกให้ชัดเจน ระหว่างเรื่องของครอบครัว และธุรกิจ
"ตอนนี้เราเริ่มมีรุ่น 4 รุ่น 5 แล้ว เราเลยคิดว่าต้องแยกออกเป็น
2 วง คือ วงหนึ่งเป็นเรื่องของครอบครัว ก็จะมี Family Council ส่วนวง ที่ว่าด้วยธุรกิจ
ก็ต้องไปคุยกันในเซ็นทรัลกรุ๊ป" ดร.สุทธิพันธ์บอกกับ "ผู้จัดการ"
การร่างกฎระเบียบ เป็นขั้นตอน ที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน เพราะในคณะกรรมการ
Family Council ต้องการให้เป็นระเบียบ ที่มีความโปร่งใส และยุติธรรมที่สุดสำหรับทุกคนในครอบครัว
ดร.สุทธิพันธ์ ปัจจุบันเป็นคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 ที่มีส่วนร่วมน้อยมากในธุรกิจ ดังนั้น จึงมีความเหมาะสมที่สุดในการเป็นคน
กลางประสานงานในการร่างระเบียบกฎเกณฑ์ ดังกล่าว
นอกจากนี้ Family Council ยังเชิญคนนอกตระกูล เช่น เอนก สิทธิประศาสน์
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และวิโรจน์ ภู่ตระกูล อดีตกรรมการสภาอุตสาหกรรม
เข้ามาเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งไปศึกษาจากการจัดการของคน ตระกูลอื่นทั้งใน และต่างประเทศ
เช่น หวั่งหลี หรือร็อคกี้เฟลเลอร์ ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นตัวอย่าง ในการร่างกฎระเบียบนี้
"เรามีการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันมาหลายรอบ ก่อนที่จะนำกฎระเบียบนี้ออกมาใช้"
ดร.สุทธิพันธ์กล่าว
ตามระเบียบกฎเกณฑ์ ที่มีการร่างขึ้น และเริ่มมีการนำมาใช้บ้างแล้วนั้น ในเบื้องต้น
Family Council จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนที่อยู่ในตระกูลจิราธิวัฒน์
รวมทั้งกำหนดผลประโยชน์ ที่คนที่เกิดมาในตระกูลนี้จะได้รับจากครอบครัว
โดยเงินทุน ที่นำมาใช้ จะมาจากเงินปันผลที่ได้รับจากโฮลดิ้ง คัมปะนี ของตระกูล ที่ถือหุ้นอยู่ในเซ็นทรัลกรุ๊ป
ตัวอย่างผลประโยชน์ของคนในตระกูลจิราธิวัฒน์ จะได้รับจาก Family Council
ประกอบด้วย
- เมื่อแรกเกิด จะมีเงินทุนให้จำนวนหนึ่ง ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่าย ในการทำคลอด
- มีทุนการศึกษา ที่จะให้กับสมาชิกในตระกูล ในการให้การศึกษากับบุตรหลานในครอบครัว
- มีค่ารักษาพยาบาล ที่สามารถเบิกได้จาก Family Council กรณีเจ็บป่วย
- เมื่อสมาชิกในตระกูลคนใดเสียชีวิต Family Council ก็มีงบประมาณช่วยเหลือสำหรับค่าทำศพ
และจัดงานศพ
- หากบุตรหลานในตระกูล มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ Family
Council อาจพิจารณาเป็นพิเศษ ที่จะส่งเสริมให้สมาชิกผู้นั้น ได้รับการศึกษาในด้านดังกล่าวถึงขั้นสูงสุด
- หากสมาชิกคนใดในตระกูล มีปัญหาทางด้านการเงิน ก็สามารถมาขอความช่วยเหลือจากตระกูลได้
โดยการพิจารณาจาก Family Council
- เนื่องจากตระกูลจิราธิวัฒน์ มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ค่าใช้จ่ายส่วนกลางของบ้าน Family Council จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ฯลฯ
นอกจากนี้ Family Council ยังต้องพิจารณาให้ลึกลงไปถึงลำดับการให้ความช่วยเหลือคนในตระกูลในรุ่นถัดไป
โดยเฉพาะที่เป็นฝ่ายหญิง ซึ่งเมื่อได้แต่งงานออกไปใช้นามสกุลอื่นแล้ว จะได้รับความช่วยเหลือจากตระกูลได้ถึงระดับใด
"ส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นเรื่องของสวัสดิการ ซึ่งเราต้องมีบทบัญญัติ
กฎระเบียบที่ชัดเจน เพราะเราจะให้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่จ่ายไม่อั้น"
Family Council ของตระกูล "จิราธิวัฒน์" นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารครอบครัวในตระกูลขนาดใหญ่ ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง