เมื่อเกือบ 20 กว่าปีก่อน ไม่มีใครคาดคิดว่า ประเทศไทยจะขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ให้โชติช่วงชัชวาลอย่างเช่นปัจจุบัน
และคงจะไม่มีใครคาดคิดเช่นกันว่า ที่ดินชายเลนที่โล่งเตียนสุดลูกหูลูกตา
ซึ่งทำประโยชน์อะไรแทบจะไม่ค่อยได้แล้ว แถบมาบตาพุดและแหลมฉบังจะกลายเป็นแผ่นดินทองที่คลาคล่ำไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือการก่อสร้างในปัจจุบัน
และอีกไม่นานก็จะมืดไปด้วยโรงงาน มันจะกลายเป็นย่านอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคตอันใกล้นี้
มันช่างสมพงษ์กับชีวิตของชายคนนี้เสียนี่กระไร ดร.ไพรินทร์ ชูโชติช่วงถาวร
ทายาทน้อยของครอบครัวคนชั้นกลางธรรมดา ๆ เขาเอาความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง
รักการอ่าน ชอบการเรียน เพื่อพัฒนาชีวิตให้เกิดคุณค่า แล้วเขาก็ได้เข้ามาเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในจำนวนคนไม่กี่คนในการสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ซึ่งกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอยู่ในขณะนี้
ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นโลดโผนในชีวิตของเขา วันนี้ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติช่วงถาวร
อายุเพียง 33 ปีเท่านั้น เขาจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี
จาก TOKYO INSTITUTE OF TECHNOLOGY
จบปริญญาเอกแล้วเขาก็รีบกลับเมืองไทย เข้าเป็นอาจารย์สอนหนังสือด้านวิศวกรรมเคมี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อประมาณกลางปี 2528 แต่พอปลายปีเดียวกันเขาก็ลาออกเข้าร่วมงานกับบริษัทเปโตเคมีแห่งชาติ
ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมา เพื่อนำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเปโตเคมีของประเทศจากวัตถุดิบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ขุดค้นพบจากอ่าวไทย
"การเป็นอาจารย์อาจจะไม่ค่อยตรงกับบุคลิกของผมเท่าไหร่ ผมอยากจะทำงานที่มันเพิ่มคุณค่าให้มากกว่า
และก็เห็นรัฐบาลกำลังมีแผนจะพัฒนาอุตสาหกรรมเปโตเคมีจากก๊าซธรรมชาติที่ขุดค้นพบ
จะลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานนับเป็นหมื่น ๆ ล้าน เพื่อที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้
ผมก็สนใจ เพราะเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนมาโดยตรงด้วย" เขากล่าวถึงเหตุของการย้ายงานในขณะนั้น
แม้จะมองเห็นอยู่เหมือนกันว่า การผลิตวิศวกรเคมีออกมารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมก็สำคัญไม่น้อยกว่ากันนัก
แต่เขาให้เหตุผลว่า เขาชอบทำงานภาคธุรกิจมากกว่าราชการ
ที่เปโตเคมีแห่งชาติ ดร.ไพรินทร์ เข้าทำงานร่วมกับ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์
ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการศึกษาโครงการเปโตเคมีแห่งชาติ จนสุดท้ายก็สามารถผลักดันโครงการนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จกลายเป็นความหวังใหม่ของแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก
หลังจากโครงการที่เริ่มต้นมาพร้อมกันอย่างโครงการปุ๋ยแห่งชาติโดนคว่ำไปอย่างไม่เป็นท่าได้ประมาณเกือบปี
ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนบนชายฝั่งทะเลตะวันออกไปมากทีเดียว
ดร.ศิริ ซึ่งคนในวงการเดียวกันบอกว่า เก่งมากในด้านอุตสาหกรรมเปโตเคมี ได้ถูกทาบทามให้เข้ามาร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพ
โดย ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นคนเอ่ยปากชวนเอง เมื่อ ดร.ศิริ
ตัดสินใจตามคำชวนของชาตรี ดร.ไพรินทร์ ก็ติดตาม ดร.ศิริ มาด้วยพร้อมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง
ซึ่งในนั้นก็มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์เชาว์ รวมอยู่ด้วย เพราะเริ่มต้นมาด้วยกัน
ตั้งแต่แรกที่เปโตเคมีแห่งชาติ นอกนั้นก็มีวิศวกรและเศรษฐกรอีกร่วม 20 คน
ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ มองว่า อุตสาหกรรมเปโตเคมีจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความหมายมากที่สุดต่ออุตสาหกรรมทุกประเภท
ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดสำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทีเดียว กล่าวกันว่า
เขาสนใจอุตสาหกรรมนี้มานานเมื่อแผนการลงทุนทางภาครัฐบาลแจ่มชัด เขาจึงได้ดึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเปโตเคมีกลุ่มนี้เข้าร่วมงานทันที
เพื่อรองรับความคิดของเขาในทางปฏิบัติ
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญเปโตเคมีที่ชาตรีดึงเข้ามาร่วมงานนั้นได้เข้าไปฝังตัวอยู่ในฝ่ายวาณิชธนกิจที่เขาตั้งขึ้นมา
โดยรับปรึกษาและวิเคราะห์โครงการลงทุนของเอกชนในโครงการเปโตเคมีทั้งสองระยะ
โดยเขาดึงเอาลูกชายของเขา ชาติศิริ โสภณพนิช เข้ามาเป็นแกนนำสำคัญในการตัดสินใจต่าง
ๆ อยู่ด้วย ซึ่งปรากฏโครงการที่ฝ่ายวาณิชธนกิจของธนาคารกรุงเทพรับปรึกษาและวิเคราะห์
ตลอดทั้งให้การสนับสนุนทางการเงินสามารถได้รับการอนุมัติและส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลถึง
5 โครงการ ในโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้น 6 โครงการในปัจจุบันสำหรับระยะที่
1
นี่ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของทีมงานศึกษาโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเปโตเคมีของเมืองไทย
และในจำนวนนั้นก็มีโครงการลงทุนของกลุ่มธนาคารกรุงเทพเองถึง 2 โครงการ คือ
บริษัท บางกอกอินดัสเตรียลก๊าซ กับบริษัทเอส.เอ็ม.ซี ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซอุตสาหกรรมเกือบทุกชนิด
ส่วนในระยะที่สอง กลุ่มลงทุนของธนาคารกรุงเทพ ก็ได้รับอนุมัติและรับการส่งเสริมอยู่ด้วยเช่นกัน
คือ บริษัทบางกอกโพลิทีลีน ซึ่งเป็นโครงการผลิตเม็ดพลาสติก
คนในวงการ คาดกันว่า กลุ่มธนาคารกรุงเทพฯ หรือกล่าวกันให้ชัดเจนขึ้นก็คือ
กลุ่มโสภณพนิช จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเปโตเคมีที่ใหญ่มากกลุ่มหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้
"เพราะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องคนที่หากันยากมาก
แต่คุณชาตรีเขากว้านเอาผู้เชี่ยวชาญพวกนี้ไปอยู่ด้วยเกือบหมดแล้ว หรือแม้แต่ภาครัฐบาลก็อยู่ในเครือข่ายที่กลุ่มนี้เข้าถึงได้ทุกจุด
เรื่องเงินคงไม่ต้องพูดถึงว่า เขาเป็นกลุ่มที่มีกำลังมากที่สุดเวลานี้"
แหล่งข่าวในวงการ กล่าว
"พลาสติกจะเข้ามาแทนที่วัสดุเกือบทุกอย่างที่มนุษย์เราเคยใช้มาก่อน
พร้อม ๆ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นไม้ เหล็ก อลูมิเนียม
หรือแม้แต่ปูนซีเมนต์ และขณะนี้ประเทศทไยยังใช้พลาสติกน้อยมาก คือ เพียง
1 ใน 5 เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่ประเทศที่เจริญแล้ว ฉะนั้นอุตสาหกรรมเปโตเคมียังสามารถขยายตัวได้อีกมหาศาล"
ดร.ไพรินทร์ กล่าว
พร้อม ๆ กับการปรับพื้นที่ผิวบริเวณมาบตาพุดและแหลมฉบังอย่างขะมักเขม้น
เพื่อก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติช่วงถาวร ก็ได้ย้ายออกมาจากการเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
เพื่อเข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกโพลิทีลีน ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ
หรือกล่าวเฉพาะโครงการนี้เป็นที่ทราบกันดีของคนใกล้ชิดว่า โครงการของชาติศิริ
โสภณพนิช ลูกชายคนโตของชาตรี ทายาทรุ่นที่ 3 ของโสภณพนิช
"คุณชาติศิริสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเปโตเคมีมาก ตัวเขาเองก็จบมาทางด้านนี้ด้วย
ทุกอย่างเลยประจวบเหมาะไปเสียทุกอย่าง" คนในแบงก์กรุงเทพ กล่าว
ก่อนที่จะย้ายออกมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ ดร.ไพรินทร์ ในบริษัทบางกอกโพลิทีลีน
เขาเองก็รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการมาตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว แต่แม้จะมานั่งประจำที่บริษัทซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอาณาจักรส่วนตัวของชาตรีและลูก
ๆ อันเป็นที่ตั้งของบริษัทเอเชียลิสซิ่ง ซิตี้เรียลตี้ ฯลฯ บนถนนสาธรนั้น
ดร.ไพรินทร์ก็ยังต้องเข้าไปนั่งประชุมงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพเกือบทุกวัน
"บางกอกโพลิทีลีน" เป็น 1 ใน 12 รายที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลเพื่อให้การส่งเสริมให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเปโตเคมีระยะที่
2 โดยให้เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกโพลีอีสทีน จากจำนวนผู้เสนอมาทั้งสิ้น 60
โครงการเมื่อปี 2531 โดยโครงการนี้มีกลุ่มฮั้วกี่เปเปอร์ 1 ใน 5 เสือกระดาษเมืองไทยเข้าร่วมทุนฝ่ายไทยอยู่ด้วย
คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จถึงขั้นผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยในปี
2535
ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเทคโนโลยีและผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งเจรจาผู้ร่วมทุนต่างประเทศ
ซึ่งคาดกันว่าคนที่จะมานั่งเป็นประธานกรรมการนั้นคือ ชาตรี โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพ
ดร.พิชิต นิธิวาสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเปโตเคมีของค่ายฮั้วกี่เปเปอร์นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
และ ดร.ไพรินทร์ นั่งเป็นรอง
ในวันนี้ถ้าจะเปรียบอุตสาหกรรมเปโตเคมีซึ่งกำลังก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาอยู่นั้นเป็นเสาสำคัญของอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท
ดร.ไพรนิทร์ ชูโชติช่วงถาวร ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นมาในอุตสาหกรรมนี้ก็นับว่าเป็นเสาสำคัญของทายาทรุ่นที่
3 ของโสภณพนิชทีเดียว โดยเฉพาะการย้ายออกมาจากแบงก์กรุงเทพอยู่ในบางกอกโพลิทีลีนของเขานั้น
คือ การกระโดดเข้าสู่อาณาจักรของ ชาติศิริ โสภณพนิช โดยแท้ยากยิ่งที่จะอธิบายเป็นอื่น
จากนักเรียนทุน อาจารย์มหาวิทยาลัย พนักงานรัฐวิสาหกิจ กระโดดสู่อาณาจักรของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นสำหรัเบขาและคนอื่น
ๆ มากมายนัก ความหมายสำคัญอยู่ที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญเปโตเคมีที่บุกเบิกมาตั้งแต่แรก
รู้ไส้ทะลุพุงโครงการทั้งหมดของภาครัฐบาลนั้น ไม่มีเหลอืให้คู่แข่งทางธุรกิจของโสภณพนิชหาตัวอีกแล้ว