ปตท.เตรียมปรับราคาเอ็นจีวีเป็น 11 บาทต่อกก.จาก 8.50 บาทต่อกก.วันที่ 1 ม.ค.52 อ้างแบกขาดทุนมา 3 ปีต่อเนื่องส่งผลให้กระทบต่อการลงทุนขยายปั๊ม ด้านสหพันธ์กรมขนส่งทางบกโวยยื่นรัฐไปแล้วขอชะลอ 2 ปียันจะคัดค้านถึงที่สุดเหตุปตท.มั่วปั๊มยังมีไม่ถึง 320 แห่งตามสัญญาแถมก๊าซขาดๆหายๆ ขึ้นราคาสวนนโยบายส่งเสริมรัฐ ด้านก.พลังงานยันปตท.ขึ้นต้องผ่านกบง.ก่อน
นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ.ปตท.เปิดเผยว่า วันที่ 1 มกราคม 2552 ปตท.จะทำการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือเอ็นจีวี เป็น 11 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 8.50 บาทต่อ กก.เนื่องจากต้นทุนการจำหน่ายเอ็นจีวีอยู่ในระดับที่สูงซึ่งตามต้นทุนที่แท้จริงควรจะอยู่ที่ประมาณ 14.50 บาทต่อกก.
" มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช.ให้ปรับเพิ่มราคาเอ็นจีวีไม่เกิน 12 บาทต่อกก.ในปี 2552 และราคาก๊าซเอ็นจีวีจะขึ้นไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซล การปรับขึ้นในอัตรา 11 บาทต่อกก. จึงถือว่าเหมาะสมเพราะ ปตท. จำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี มีปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด โดยปีนี้รับภาระขาดทุน 3,700 ล้านบาท ปี 2550 ขาดทุน 1,900 ล้านบาท และปี 2549 ขาดทุน 1,200 ล้านบาท ซึ่งการปรับขึ้นก็จะสามารถนำเงินไปขยายปั๊มหรือลงทุนได้ตามที่ปตท.เคยรับปากไว้"นายณัฐชาติกล่าว
นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดต่ำมาก ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมันลดลง ปัจจุบันยอดการติดตั้งเอ็นจีวีของรถยนต์อยู่ที่ 150-200 คันต่อวัน จากเดิมที่ในช่วงราคาน้ำมันสูงสุดกว่า 40 บาทต่อลิตร ยอดการติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 450-500 คันต่อวัน ดังนั้น เมื่อยอดติดตั้งลดลง ปตท.จึงอยู่ระหว่างการทบทวนแผนลงทุนทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้การเปิดสถานีจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวียังเป็นไปตามแผนเดิม คือ 300 แห่ง จากที่ขณะนี้มี 275 แห่ง ครอบคลุม 44 จังหวัด และในส่วนปริมาณความต้องการใช้อยู่ที่ 2,800-2,900 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายมีกว่า 3,000 ตันต่อวัน ส่วนแผนการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติที่มี คงต้องชะลอ เพราะความต้องการใช้พลังงานทั้ง 2 ส่วนได้ชะลอลง โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กระทรวงพลังงานได้ประกาศชะลอออกไป 1 ปี
โครงการก่อสร้างท่อก๊าซ ปตท.มี 3 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิมคือ 1.เส้นสายใต้ราชบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 22,000 ล้านบาท กำหนดเดิมจะก่อสร้างเสร็จในปี 2554 2. ท่อสายอีสาน สระบุรี-โคราช วงเงิน 16,000 ล้านบาท เดิมจะแล้วเสร็จปี 2553 และ 3.สายเหนือ พระนครศรีอยุธยา-นครสวรรค์ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิมจะเสร็จปี 2554
โวยปตท.สวนทางนโยบายรัฐ
นายทองอยู่ คงขันธ์ เลขาธิการสหพันธ์กรมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหพันธ์กรมขนส่งทางบกได้ทำหนังสือยื่นไปยังน.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งรมว.พลังงานแล้วที่ขอให้ชะลอการปรับขึ้น เอ็นจีวี ออกไปก่อน 2 ปีเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจึงไม่ควรจะขึ้นให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการ ประกอบกับปตท.เองไม่ได้ทำตามกติกาที่เคยให้ไว้คือการขยายจำนวนสถานีบริการเท่าที่ควรจะเป็นคือยังไม่ครบ 320 แห่งในปีนี้
"ข่าวที่ ปตท.บอกว่าจะขึ้นเป็น 11 บาทต่อ กก.ไม่เห็นด้วยและเราจะคัดค้านถึงที่สุดเพราะเห็นว่ามีหลายอย่างที่ ปตท.ไม่ได้ทำตามกติกาที่สัญญาไว้ทั้งการขยายสถานี ระบบขนส่งทางท่อ แต่กลับไปเพิ่มรถขนส่งแทนทั้งที่รู้ว่ามีต้นทุนที่สูง แถมราคาดังกล่าวเวลานี้หากเทียบกับดีเซลแล้วถือว่าราคาใกล้เคียงกันมากเพราะการใช้เอ็นจีวี 1.4 กก.จะเท่ากับอัตราดีเซล 1 ลิตร ซึ่งหากปตท.ขึ้นก็จะทำให้นโยบายพลังงานทดแทนสวนทางนโยบายรัฐที่บอกว่าจะส่งเสริมคนจะไม่ใช้แน่นอน แต่คนที่ติดตั้งไปแล้วก็จะรับกรรมเพราะการติดตั้งบางรายจะเปลี่ยนกลับไปใช้ดีเซลไม่ได้" นายทองอยู่กล่าว
นายชัชวาล กาจุมศรี กลุ่มรถแท็กซี่สายเหนือ(หมอชิต) กล่าวว่า ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ยอมรับได้หากจะปรับขึ้นเอ็นจีวีเพราะว่ามีแนวทางจะปรับขึ้นมานานแล้วเพราะเชื่อว่าในที่สุดน้ำมันก็จะกลับมาแพงได้ แต่ยอมรับว่าหากขึ้นจริงก็จะสวนทางนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนหรือไม่เพราะจะทำให้รถใหม่จะไม่หันไปใช้เอ็นจีวีอย่างแน่นอนเพราะปัจจุบันราคาน้ำมันค่อนข้างต่ำมาก
"ผมเห็นว่าช่วงที่น้ำมันแพงทุกคนก็เร่งไปติดตั้งแอลพีจี เอ็นจีวี เวลานี้ค่าติดตั้ง อุปกรณ์ถูกมากรัฐน่าจะใช้จังหวะนี้ในการส่งเสริมเพราะเมื่อน้ำมันกลับมาแพงอีกจะได้ไม่เกิดปัญหา"นายชัชวาลกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การขึ้นราคาเอ็นจีวีจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธานอนุมัติก่อนดังนั้นปตท.ไม่สามารถปรับขึ้นได้ทันทีแต่อย่างใด
|