แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ฉุดความมั่นใจนักลงทุน จนกระทบพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ล่าสุด "กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ 101 สโตร์เรจ" ค่ายบลจ.บีทีวืด นักลงทุนสถาบันมีปัญหา ระดมทุนไม่เข้าเกณฑ์ ส่งผลจัดตั้งกองไม่สำเร็จ สู้ต่อ เตรียมจับปัดฝุ่นใหม่กุมภาพันธ์ปีหน้า ขณะที่เอ็มเอฟซีปาดเหงื่อ ระดมทุนกอง "เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี2" ผ่านฉลุย 1 พันล้าน แม้ไม่เต็มมูลค่าโครงการ ระบุต้องเอาสินทรัพย์บางส่วนออกไป รอจังหวะลงทุนเพิ่ม ขณะที่ "TFUND" ใส่เงินซื้อโรงงานเพิ่ม หลังแผนเพิ่มทุนลงตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ 101 สโตร์เรจ (101 Storage Property Fund หรือ STOR) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด ซึ่งเปิดขายหน่วยลงทุนไประหว่างวันที่ 20 - 28 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าไม่สามารถระดมทุนตามเกณฑ์ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งกองทุนได้
รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องนักลงทุนสถาบันมีปัญหาทางด้านการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม บลจ.บีทียังไม่ยกเลิกแผนการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว โดยจะนำกลับเสนอขายอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ส่วนเงินลงทุนในส่วนที่นักลงทุนได้จองซื้อหน่วยลงทุนเข้ามา ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน บริษัทก็จะทยอยคืนเงินในส่วนนั้นกลับไป
สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ 101 สโตร์เรจ (101 Storage Property Fund หรือ STOR) มีมูลค่าโครงการ 603 ล้านบาท ลงทุนในโกดังสินค้าซึ่งตั้งอยู่ในซอยลาดพร้าว 101 บนเนื้อที่กว่า 39 ไร่ โดยจุดเด่นของกองทุนนี้ จะลงทุนในอาคารรับฝากสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนแรกของไทย โดยจะประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ 6 ปีแรก ในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 7 ต่อปีโดยมีการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ และผลตอบแทนของกองทุนจะจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
ด้านนายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า บริษัทสามารถขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี โดยระดมเงินทุนได้จากนักลงทุนสถาบันและรายย่อยกว่า 1,000 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากนั้นจะนำหน่วยลงทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้นเดือนมกราคม 2552 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต่อไป
อย่างไรก็ตาม เดิมที่มูลค่าโครงการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี2 นั้น จดทะเบียนไว้ที่ 1,329 ล้านบาท ซึ่งการกองทุนสามารถระดมทุนได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทหลังจากปิดขายไอพีโอนั้น เป็นผลมาจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ระดมทุนนั้น มีการชุมนุมปิดสนามบิน แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนยังสามารถจัดตั้งกองทุนได้ ถึงแม้จะไม่เต็มมูลค่าโครงการก็ตาม โดยจำนวนเงินที่ระดมทุนได้ดังกล่าว ทำให้กองทุนต้องเอาสินทรัพย์บางส่วนออกไป ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะกองทุนสามารถลงทุนเพิ่มได้ในอนาคต
ทั้งนี้ กองทุนรวม MNIT2 ได้เปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา มีมูลค่าโครงการ 1,329 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวจะลงทุนโดยซื้อกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (Freehold) ในทรัพย์สินประเภทบ้านเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 76 หลัง พร้อมที่ดิน แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง จึงทำให้สามารถระดมทุนได้ประมาณ 1,005 ล้านบาท ซึ่งกองทุนยังคงสามารถซื้อบ้านเดี่ยวและที่ดินได้จำนวน 58 หลัง ของโครงการ The Regent ที่นิชดาธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นชุมชนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
กองทุนรวม MNIT2 เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในโครงการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างชุมชนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยกองทุนจะได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ จากการปล่อยเช่าบ้านเดี่ยวเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีให้กับบริษัทนิชดา พร็อพเพอร์ตี้ และกองทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าเช่ารายเดือนตามที่ตกลงไว้ ซึ่งกองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ โดยกองทุนให้บริษัทนิชดาทำสัญญาเช่าโดยมีการวางหลักประกัน 9 เดือนของค่าเช่า ทั้งนี้การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในที่ดินและอาคาร (Freehold) กองทุนมีโอกาสที่จะได้รับมูลค่าเพิ่มในทรัพย์สิน โดยกองทุนมีสิทธิที่จะขายทรัพย์สินภายในกองทุนได้หลังจากปีที่ 3 เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนโดยไม่ถือเป็นการผิดสัญญาเช่ากับบริษัทนิชดา
ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิของกองทุน ซึ่งบลจ.เอ็มเอฟซี เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ MNIT 2 ในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาเอ็มเอฟซีได้ประสบความสำเร็จมาแล้วกับกองทุน MNIT ที่จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน จำนวน 13 ครั้ง เป็นเงินกว่า 229 ล้านบาท
ขณะที่นายสุธีร์ คันธารวงสกุล ผู้มีอำนาจในการรายงานสารสนเทศ บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน ซึ่งจัดการโดยบริษัทได้เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มทุนครั้งที่ 3 ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมและบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ได้จำนวน 195,200,000 หน่วย ในราคาเสนอขายหน่วยละ 10.25 บาท โดยมีจำนวนเงินที่ได้รับภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหน่วยลงทุนประมาณ1,967.9 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจัดการได้นำเงินจำนวนดังกล่าวรวมกับเงินที่ได้จากการขายโรงงานในครั้งก่อนอีกจำนวน 189.9 ล้านบาท ไปซื้อโรงงานและคลังสินค้า รวม 46 หลัง รวมเป็นเงิน 2,157.8 ล้านบาท
|