ไม่ง่ายนักซึ่งคนที่ถูกมองว่า "มลทิน" จากบริษัทหนึ่งจะสามารถสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมาหากินในธุรกิจเดิมที่ตัวมีชื่อ
"ฉาวโฉ่" ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แถมได้รับการต้อนรับอย่างดีอีกต่างหาก
มันอาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับหลายคน แต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ออกมาแล้วว่า
"ไม่ยาก" สำหรับหาญ เกียรติเฟื่องฟู อดีตกรรมการผู้จัดการบงล.สินอุตสาหกรรม
(ซิกโก้)
ภายหลังลาออกจากซิกโก้เพียง 4 เดือนเมื่อตุลาคม 2531 หาญหวนกลับมาสุ่วงการธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์อีกด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่บงล.เอกสินในเดือนกุมภาพันธ์
2532 แลเพียง 8 เดือนให้หลังเขาสามารถทำกำไรสุทธิให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งนี้
15 ล้านบาท
ก่อนที่เอกกสินจะมาเป็น "เอกสินของหาญ" อย่างในทุกวันนี้ ก็เป็นเพียงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เล็กๆ
ในชื่อเดิมว่า "กรุงทอง" เผชิญกับภาวะวิกฤติสถาบันการเงินในช่วงปี
2526 - 2529 ซวดเซและมีตัวเลขขาดทุนสะสมตลอดมานับจากนั้น
อย่างไรก็ดี กรุงทองไม่ได้เข้าร่วมในโครงการทรัสต์ 4 เมษา ด้วยเหตุนี้การเจรจาซ้อขายจึง
"ง่าย" กว่าทรัสต์ในโครงการจำนวนมากที่จนป่านนี้ก็ยังคงขายไม่ออก
ทั้งนี้ความสำเร็จในการเจรจาซื้อกรุงทองจากกลุ่มบริหารเดิมคือตระกูลใบมงคลและไทยยืนยงศักดิ์เป็นฝีมือของปิ่นเอกพาก
กรรมการผู้จัดการบงล.เอกธนกิจ
ปิ่นและเอกธนกิจถือเป็นภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จในธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ โดยในปี
2531 เอกธนกิจมีลูกค้าอยู่ในแผนกวาณิชธนกิจถึง 9 รายและค่าธรรมเนียมจากส่วนนี้ถือเป็นรายได้หนึ่งที่สำคัญของบริษัท
ในปีดังกล่าวเอกธนกิจมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและการบริการรวม 42,466,300
ล้านบาท
ในภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จของปิ่นและเอกธนกิจ เอกสินมีส่วนร่วมอยู่ด้วย
ชื่อเอกสินบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ในเครือเดียวกับเอกธนกิจ และปิ่นก็ถือหุ้นของเอกสินเอาไว้จำนวนหนึ่ง
กระนั้นก็ตาม "ตัวตน" ของเอกสินที่เกิดขึ้นอย่างเต็มภาคภูมิในวงการค้าหลักทรัพย์ครั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากชื่อแห่งความ
"หมองมัว" ของหาญที่ทำไว้ที่ซิกโก้ด้วย ทั้งนี้หาญเคยถูกกล่าวหาว่าเล่นพอร์ทของตนเองพร้อมกันไปกับพอร์ทของบริษัทในสมมัยที่อยู่ซิกโก้อันเป็นเหตุให้เขาลาออกจากซิกโก้
อย่างไรก็ตามบรรดาแขกเหรื่อที่มาร่วมงานแนะนำบงล.เอกสินอย่างเป็นทางการเมื่อจันทร์ที่
13 พฤศจิกายน 2532 ล้วนแต่บอกกับ "ผู้จัดการว่า" การที่ตัดสินใจลงทุนร่วมกับหาญหรือลงขันให้หาญครั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นเพื่อนกัน
วิชัย วาสนาส่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทยูนิเวสพร้อพเพอร์ตี้ กล่าวอย่างไม่ลังเลใจกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ผมเป็นเพื่อนกับคุณหาญ คนดีมีฝีมืออย่างนี้เมื่อถูกไล่ออกจากซิกโก้
เราก็ต้องช่วยกัน" แม้ว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่กลุ่มยูนิเวสสนใจในธุรกิจหลักทรัพย์
นอกจากพิชัยแล้ว ผู้ร่วมทุนคนอื่นๆ ก็ล้วนแต่เอ่ยอ้างว่าเป็นเพื่อนรักกับหาญทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ แห่งยูนิคอร์ดโดยถือไว้ในชื่อบริษัทสมบัติดำริห์
จำกัด กลุ่มสุขวิทธุรกิจของตระกูลจูตระกูลซึ่งเกี่ยวดองกับทางจักกะพาก บริษัทสัปปะรดไทย
จำกัดที่เอกสินเป็นนายหน้าจัดจำหน่ายและประกันการจำหน่ายหุ้นหรือกระทั่งบริษัทซิว
จำกัดของพรเสก กาญจนจารี
เรียกว่างานนี้ทุกคนพร้อมใจลงขันเพื่อเพื่อนโดยแท้ !
แม้แต่ธนาคารเชสแมนฮัตตันก็สนใจเข้าร่วมหุ้นด้วย 10% เนื่องเพราะมีความสัมพันธ์ในฐานะบริษัทคู่ค้าและปิ่นก็เคยมีความสัมพันธ์กับธนาคารเชสฯในฐานะศิษเก่าที่นี่มาก่อน
การหาผู้ร่วมทุนต่างชาติของเอกสินจึงเป็นเรื่องง่ายๆ อีกเรื่องหนึ่งสำหรับหาญ
ประกิตต์ เสกสรร รองกรรมการผู้จัดการบงล.เอกสินซึ่งเป็น "คู่หู"
ของหาญและเป็น 1 ใน 10 ที่ติดตามหาญออกจากซิกโก้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่าทางเอกสินกำลังมองหาแบงก์สักแบงก์เข้ามาร่วมทุน เพราะว่าจริงๆบริษัทไฟแนนซ์โกยทั่วไปควรจะมีแบงก์เข้ามาร่วมหุ้นด้วย
เอกสินและธนาคารเชสฯมีธุรกิจเกี่ยวข้องกันหลายอย่าง ประกิตต์เปิดเผยว่า
"หาญมีลูกค้าที่เป็นโบรกเกอร์ชาวต่างชาติพอสมควร และขณะเดียวกันเอกสินก็มีธุรกิจหลายอย่างเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีชาวต่างชาติมาลงทุน
ดังนั้นจึงมีการส่งธุรกิจบางอย่างให้แก่กัน"
การที่เอกสินเลือกร่วมทุนกับธนาคารเชสฯซึ่งมีบรนิษัทเชสแมนฮัตตัน (ประเทศไทย)
จำกัดอันเป็น FINANCAIL HOLDING COMPANY ของธนาคารเชสฯเข้าถือหุ้นนั้นก็เพื่อประโยชน์ของความสะดวกคล่องตัวในการร่วมกันทำ
SYNDICATED LOAN และที่สำคัญธนาคารเชสฯ สามารถทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของเอกสินได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนหุ้นที่แบ่งให้ 10% เรื่องของ KNOW-HOW ที่เอกสินสามารถส่งคนไปฝึกอบรมได้
รวมถึงเรื่องการบริหารที่ธนาคารเชสฯ ตกลงว่าจะไม่รบกวนหรือแทรกแซงเอกสินโดยเด็ดขาด
พิศดูเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว ธนาคารเชสฯ เป็นฝ่ายเสียเปรียบโดยสิ้นชิง !
แต่หากจะดูให้ลึก ๆ เงินจำนวน 34.6 ล้านบาทสำหรับหุ้นเอกสิน 10% หรือ 700,000
หุ้นที่ธนาคารเชสฯ ลงทุนออกจะดูเป็นจำนวนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ธนาคารเชสฯ
ต้องการและได้มาจากการลงทุนครั้งนี้
ธนาคารเชสฯ เคยมีเชสไฟแนนซ์เป็นธุรกิจในเครือที่รองรับลูกค้าซึ่งสนใจลงทุนค้าหลักทรัพย์ในไทย
ครั้นขายไปแล้วให้กับกลุ่มศรีมิตร ธนาคารเชสฯ ก็หมดเครือข่ายขณะที่ธุรกิจนี้กำลังรุ่งเรือง
ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ไทยโตวันโตคืนอย่างชนิดที่ดึงดูดผู้ถอนตัวออกจากวงการในช่วงตลาดฯ
ซบให้กลับมาสู่ตลาดฯ ได้เกือบหมด และธนาคารเชสฯ เป็นหนึ่งในนั้น
ประกิตต์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า เอกสินมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในวงเงินเดือนละกว่า
1,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งของวงเงินจำนวนนี้มาจากลูกค้าต่างชาติผ่านทางหาญและธนาคารเชสฯ
โดยธนาคารเชสฯ จะแนะนำลูกค้าที่สนใจตลาดหุ้นไทยให้ใช้เอกสินเป็นโบรกเกอร์
ขณะเดียวกัน กองทุนต่าง ๆ ที่ธนาคารเชสฯ ดูและเป็นคัสโตเดียนและผู้จัดการฯ
ก็อาจจะผ่านมาทางเอกสินได้ และในทางกลับกันลูกค้าต่างประเทศของเอกสินก็อาจจะใช้บริการเรื่องคัสโตเดียนและสินเชื่อต่าง
ๆ จากธนาคารเชสฯ
ประเด็นนี้เพียงอย่างเดียวก็นับว่าคุ้มพอแล้วกับการลงุทนกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้จะถูกจำกัดบทบาทการบริหารไว้เพียงที่ปรึกษาคณะกรรมการโดยให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเชสฯ
ประเทศไทย นั่งในตำแหน่งนี้ควบไปด้วยก็ตาม
ประกิตต์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" อีกว่า เอกสินมีนโยบายมุ่งธุรกิจด้านวาณิชธนกิจเป็นหลัก
และคาดว่าจะทำค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนี้เป็นรายได้หลัก โดยปัจจุบันเอกสินให้บริการคำปรึกษาทางด้านการเงินการปรับโครงสร้างทางการเงินให้บริษัทต่าง
ๆ การจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น การจัดเงินกู้แบบ SYNDICATED
LOAN และแม้เอกสินเพิ่งจะเป็น LEAD UNDERWRITE บริษัทสับปะรดไทยเพียงแห่งเดียวในปีนี้
แต่ยังมีอีก 4 บริษัทที่กำลังติดต่อดูแล โดยคาดว่า 4 รายนี้จะยื่นเข้าตลาดฯ
ในปี 2533
ในส่วนของเอกสินเองนั้นก็มีโครงการจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเช่นกัน
ประกิตต์กล่าวว่า "คงต้องให้เวลาหาญและทีมงานของเราอีกสัก 2 ปีเพื่อสร้างบริษัทให้มั่นคงมีอะไรต่าง
ๆ ที่เป็นระบบและเป็นที่ยอมรับของตลาดฯ เราคงนำเข้าไปเหมือนกัน"
และเมื่อถึงวันนั้น หาญและทีมงานคงได้ทำการพิสูจน์ให้วงการได้เห็นทั่วกันว่า
ความหมองมัวในอดีตฤาจะบดบังความชาญฉลาดและเครือข่ายเพื่อนฝูงในวงธุรกิจที่ยอมลงขันเพื่อให้เขาคืนกลับสู่สังเวียนอีกครั้งได้