|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ก่อนหน้านี้ นักการตลาดไม่ค่อยจะได้เห็นบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่นตกเป็นข่าวหวือหวาเท่าใดนัก และยังคงเป็นกิจการที่ติดกลุ่มผู้นำในด้านยอดขายด้านธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ 20 อันดับแรกของโลก แถมยังเป็นกิจการที่มีงบประมาณรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด 100 อันดับแรกของโลกด้วย
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ชาร์ปได้สร้างความประหลาดใจให้กับวงการตลาด ด้วยการมีข่าวว่าถูกทางการสหรัฐฯ ตัดสินให้เสียค่าปรับถึง 120 ล้านดอลลาร์ในฐานที่ผิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดเมืองมะกัน ในการเข้าไปกำหนดราคาของจอภาพแอลซีดี ซึ่งเงิน 120 ล้านดอลลาร์นี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของกำไรสุทธิทั้งหมดที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 60,000 ล้านเยนในปีนี้
การตัดสินให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าปรับครั้งนี้ นอกจากชาร์ปจะโดนระบุในรายชื่อดังกล่าวแล้ว บริษัทแอลจี ดิสเพลย์ของเกาหลี และบริษัทซุงหวา พิกเจอร์ ทิวบ์ของไต้หวันก็เป็นอีก 2 บริษัทที่โดนเล่นงานในข้อหาเดียวกันด้วย โดยถูกระบุให้จ่ายเงินค่าปรับ 400 ล้านดอลลาร์และ 65 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ รวมเป็นเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากกระบวนการรวมหัวกันผูกขาดครั้งนี้สูงถึง 585 ล้านดอลลาร์ทีเดียว
บริษัททั้งสามรายที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งชาร์ปได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในธุรกิจจอแอลซีดีในตลาดสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าการค้าในปี 2006 สูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์และเป็นธุรกิจหนึ่งของโลกที่อยู่ภายใต้รายการที่ถูกตรวจสอบโดย หน่วยงานที่ป้องกันการผูกขาดทั้งของญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป และเกาหลีใต้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2006
ในกรณีของคณะกรรมาธิการป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมของญี่ปุ่นได้ทำการออกคำสั่งให้บริษัท 10 แห่งที่มีฐานทางธุรกิจในญี่ปุ่นจัดทำรายงานและนำเสนอวิธีการปฏิบัติของกิจการ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งในบรรดาบริษัทที่ถูกตรวจสอบก็มีชาร์ป และสาขาของบริษัทซัมซุงในญี่ปุ่นด้วย
ยิ่งกว่านั้น หน่วยงานเฝ้าระวังการผูกขาดก็เคยเข้าไปตรวจสอบถึงสถานที่ทำการของบริษัทชาร์ปและฮิตาชิ ดิสเพลย์มาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหาหลักฐานว่ามีประเด็นที่จะสนับสนุนข้อสงสัยเรื่องการร่วมกันผูกขาดการตั้งราคาจอภาพแอลซีดีขนาดเล็กหรือไม่
ธุรกิจการจำหน่ายจอแอลซีดีในตลาดโลกในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ตลาดด้วยกัน คือ จอขนาดใหญ่และจอขนาดเล็ก โดยจอภาพขนาดใหญ่นั้นเป็นธุรกิจที่มีสภาวะการแข่งขันสูงมาก จนยากที่จะเกิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการทำการรวมหัวกันกำหนดราคาขายสูงเกินจริงได้ แต่กรณีของจอภาพแอลซีดีขนาดเล็ก มีผู้นำในตลาดอยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น
กรณีของจอภาพแอลซีดีของชาร์ปนั้น ในส่วนของจอขนาดเล็กและขนาดกลางได้นำไปใช้ในสินค้าของกิจการอื่นๆ โดยเฉพาะการจำหน่ายแก่ลูกค้าหลักๆ อย่างเช่นบริษัทเดลล์ ที่ซื้อไปใช้ในคอมพิวเตอร์พีซี บริษัทโมโตโรล่าในส่วนประกอบของโทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่นเพลงไอพอดของบริษัทแอปเปิล ซึ่งเมื่อรวมยอดจำหน่ายให้กับกิจการอื่นๆ แล้ว จอภาพแอลซีดีทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางนี้ มีสัดส่วนทางการตลาดคิดเป็นกว่า 30% ของยอดการจำหน่ายจอภาพแอลซีดีทั้งหมดของชาร์ปทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ การตัดสินของกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบริษัทชาร์ปเลยก็ว่าได้ ยิ่งกว่านั้น จากอดีตที่ผ่านมากิจการที่เคยจ่ายค่าปรับเป็นยอดเงินสูงสุดคือบริษัทวายเคเค เป็นเงินราว 150.25 ล้านยูโรเมื่อปีที่แล้ว ในฐานผูกขาดการกำหนดราคาซิปติดเสื้อผ้าและรองเท้า
จากการดูประวัติการดำเนินงานของชาร์ปเป็นบริษัทเก่าแก่บริษัทหนึ่งของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1912 โดยชื่อของบริษัทตั้งขึ้นตามประดิษฐกรรมแรกของผู้ก่อตั้งบริษัท เป็นปากกาแมคคานิคที่ชื่อ เอเวอร์ ชาร์ป (Ever-Sharp) ที่นายโตคูจิ ฮายากาว่า คิดค้นได้เมื่อปี 1915
หลังจากนั้น ชาร์ปก็ได้พัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นบริษัทเครื่องไฟฟ้าชั้นนำของโลกบริษัทหนึ่ง และได้รับการจดจำอย่างดีเป็นพิเศษในอังกฤษในฐานะของสปอนเซอร์ทีมสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของอังกฤษระหว่างปี 1982-2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สโมสรฟุตบอลแมนยูประสบความสำเร็จในการแข่งขันอย่างสูงสุด
นอกจากการเป็นผู้จำหน่ายเครื่องไฟฟ้าแล้ว ชาร์ปยังเป็นหนึ่งในบริษัทของญี่ปุ่นที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาหุ่นยนต์มนุษย์ (Humanoid Robot) ทำหน้าที่ในการเก็บกวาดจานชามจากโต๊ะอาหารและส่งต่อสู่เครื่องล้างจานที่บริษัทพัฒนา ด้วยการเปิดประตูเครื่องล้างจาน เอาถ้วยชา จานข้าว และจานใส่อาหารเข้าสูงที่วางและปิดประตูเครื่องล้างจนเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ดูเหมือนว่าการลงโทษพฤติกรรมของผู้ประกอบการในการร่วมกันกำหนดราคาสินค้าที่สูงเกินจริงครั้งนี้ จะไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่กิจการไฮเทคจะต้องเผชิญหน้า
ในส่วนของผู้บริหารกิจการการดำเนินงานทางการตลาดยังคงมีแรงกดดันจากการที่นักลงทุนในตลาดทุนคาดหวังว่าผลประกอบการจะต้องออกมาดี ขณะที่สภาพการแข่งขันในตลาดและการเรียกร้องจากลูกค้าให้ปรับลดราคาสินค้ายังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้จ่ายเกินงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ
จึงไม่ใช่เฉพาะกิจการอย่างชาร์ปเท่านั้นที่เผชิญหน้ากับปัญหาทั้งด้านการตลาดและด้านการทำกำไร หากแต่การร่วมกันกำหนดราคาแบบนี้เป็นการดำเนินการนอกเกมทางธุรกิจที่มีข้อห้ามและการควบคุมอย่างเข้มงวด
ปัญหาที่เกิดกับชาร์ปครั้งนี้ มีแรงกระทบที่อาจจะกว้างกว่าที่คาดด้วยซ้ำเพราะมีข่าวออกมาหลังจากนั้นว่า ซันโย คู่แข่งจากญี่ปุ่นเหมือนกันจะเข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดบางส่วนไปจากชาร์ป ในช่วงที่ชาร์ปอ่อนแอลงไป และกว่าที่ชาร์ปจะฟื้นตัวและดึงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้ทั้งเวลาทั้งทรัพยากรและเงินอีกไม่น้อยทีเดียว
|
|
 |
|
|